สาส์นจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี

สุชาติ สวัสดิ์ศรี e-shann38_cover1

สาส์นจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ไม่น่าเชื่อว่า นิตยสาร “ทางอีศาน” รายเดือน ที่มี ปรีดา ข้าวบ่อ เป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง และ โชติช่วง นาดอน เป็นบรรณาธิการวิชาการ โดยมี คำสิงห์ ศรีนอก คำหมาน คนไค ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สุจิตต์ วงษ์เทศ เสรี พงศ์พิศ ฟรานซิส คลิปส์ เจ้าของผลงานเรื่อง “ไหมอีสาน” ในอดีต และอีกหลายคน รวมทั้งผมเอง แม้ไม่ใช่คนอีสาน และแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่ก็ยินดีให้ชื่อไปเป็นที่ปรึกษา เพราะเห็นความตั้งใจมุ่งมั่นของคุณปรีดา ข้าวบ่อ ที่ต้องการจัดทำนิตยสารที่มีลักษณะเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์แห่ง “ความเป็นอีสาน” ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงปัจเจก

กล่าวคือ”ทางอีศาน” เป็นเหมือน Regional Magazine แห่งพื้นภูมิของคนอีสาน ที่มีคำขวัญบอกว่า “ของชาวอีสานและคนไทยทุกภูมิภาค” ผมเป็นห่วงความอยู่รอดของเขา เพราะขณะนี้ก็จัดทำมาเป็นฉบับที่ 38 ของปีที่ 4 แล้ว น่ามหัศจรรย์ยิ่งนัก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า บรรณาธิการผู้ก่อตั้งจะต้องพบกับอุปสรรคหนักหนาสาหัสอย่างไรบ้าง ในฐานะคนทำหนังสือด้วยกัน ก็เหมือนรับรู้ในอุปสรรคนั้นอยู่ในใจ มองตาคุณปรีดาครั้งใด ก็ให้เห็นความเด็ดเดี่ยวที่เขาอยากจะฝันฝ่าอุปสรรคดังกล่าวที่มีไปให้บรรลุ ความตั้งใจของเขาก็หวังอยากให้คนอีสานทั้ง 20 จังหวัด ( ผมเองยังละเมอว่ามี 16 จังหวัด ) ได้มีนิตยสารประจำภาคของตนสักเล่มหนึ่ง เป็นเหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่ง แสน ธรรมยศ ( นามปากกา “ส.ธรรมยศ” ) เคยเป็นบรรณาธิการจัดทำนิตยสาร “โยนก” รายเดือน ในฐานะ Regional Magazine เพื่อชาวจังหวัดภาคเหนือเมื่อช่วงทศวรรษ 2490 และหลังจากนั้นแล้ว แม้จนปัจจุบันก็ยังไม่เห็นมี Reginal Magazine ของชาวภาคเหนือปรากฏออกมาอีกเลย ส่วนภาคใต้ เท่าที่เคยทราบ ก็เห็นว่าเคยมี Regional Magazine มาบ้าง เช่น วารสาร “รูสะมิแล” และ “แลใต้” ซึ่งก็ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังจัดทำอยู่หรือเปล่า

ผมเองแปลกใจที่เราก็มี”วัฒนธรรมจังหวัด”ในกระทรวงวัฒธรรม แต่ก็ไม่ทราบว่าเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า Reginal Magazine เหล่านี้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งข้าราชการในจังหวัดของภาคต่างๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ฯลฯ รวมทั้งสถานศึกษาขั้นอุดมศึกษา ประเภทวิทยาลัยครูต่างๆในอดีต และปัจจุบันนี้กลายเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ไม่ทราบว่าจะเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ รับรู้ เรื่องราวในเชิง Regionalism ในภาค ในจังหวัดแห่งเนื้อในตนมากน้อยเพียงใด ทำไมไม่มีเส้นทางของเครือข่ายที่จะช่วยให้นิตยสารประเภทนี้ “อยู่รอด” เป็นหน้าเป็นตาแห่งภูมิภาคของตน บอกตรงไปตรงมาก็คือ ผมเกรงว่าคุณปรีดา ข้าวบ่อ จะหมดกำลังใจเสียก่อน ถ้าหากว่าเขาต้อง”ล้มไป” เพราะการกระทำเพื่อ Regional ของภาคอีสาน 20 จังหวัด ใครควรจะอับอายบ้าง – ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎต่างๆในภาคอีสาน วัฒนธรรมจังหวัดแห่งสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ( ไม่ใช่แห่งสังกัดกลุ่ม”ดาวดิน” ) ครูบาอาจารย์ กวี นักเขียน และนักอ่านชาวอีสาน ใครควรจะอับอายบ้าง หรือปล่อยให้ ปรีดา ข้าวบ่อ โดดเดี่ยวไปตามความอยากของมัน เอาเป็นว่าขอนักอ่านชาวอีสานสัก 200 คนต่อหนึ่งจังหวัดได้หรือไม่ ก็ให้มันรู้กันไปว่า ลูกหลานชาวอีสานนับแสนแสนจะแพ้พ่าย เพราะไม่อ่าน “ทางอีศาน”ที่เป็นเสมือนตัวแทนแห่งรากเหง้าของตนเอง

ผมไม่ใช่คนอีสาน แต่ก็พอมีเพื่อนพ้องและคนรู้จักที่เป็นคนอีสานอยู่บ้าง ไม่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ บอกตรงๆว่าผมเป็นห่วงคุณปรีดา ข้าวบ่อ ที่เหมือนต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อเป็นแสงแห่งปัญญาของ”ภูมิภาคอีศาน”

ปกที่ท่านเห็นนี้ คือฉบับล่าสุดของนิตยสาร”ทางอีศาน” รายเดือน ที่จัดทำมาเป็นปีที่ 4 ฉบับที่ 38 แล้ว และฉบับประจำเดือนมิถุนายนนี้ เป็นฉบับว่าด้วย “สภาพอีสานในห้วงปฎิวัติประชาธิปไตย 2475”

ชาวอีสานผู้นิราศไปอยู่แดนไกล รวมทั้งผู้สนใจที่อยู่ในทุกภูมิภาค ท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร”ทางอีศาน”ได้ โดยการสมัครเป็นสมาชิก สมาชิก 1 ปี 1,100 บาท ครึ่งปี 600 บาท สมาชิกตลอดชีพ ( ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีพของใคร ) 9,500 บาท ราคาจำหน่ายทั่วไปเล่มละ 100 บาท

ท่านผู้สนใจติดต่อได้ที่สำนักงานบริษัททางอีศาน เลขที่ 244 / 539 ถนนรามอินทรา เขตบางเขน กทม.10220 โทรศัพท์ 02 – 552-4070 E mail : chonniyom @ yahoo.com หรือ e-shann @ hotmail.com

ที่มา : เฟซบุ๊ก สุชาติ สวัสดิ์ศรี

Related Posts

สภาพเศรษฐกิจและการเมืองอีสานในห้วง ๒๔๗๕
“๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕” ต้นธารประชาธิปไตย
ฮีตเดือนเจ็ด
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com