คอลัมน์ : จดหมาย
Column : Letters
โดย : “สรัญญา”, นพพล ไชยสน
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๕๙
ปีที่ ๕ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๖๐
ฉบับ กราบสมเด็จพระสังฆราช

“ทางอีศาน” ฉบับที่ ๕๗ หน้า ๒๒

ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองในประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา ได้มาถึงจุด “สังเคราะห์” ที่ คสช. เข้ามาหา “ข้อสรุป” และคงไม่ใช้เวลาเพียงปีเดียวเหมือนหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ แต่จะอยู่ยาวทั้ง “ทางตรง” และ “ทางอ้อม” เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ “สังเคราะห์” มานั้นจะเป็น “ตัวตั้ง” ได้นาน

คือคนเขียนบทความชอบรัฐบาลทหารเชียร์ คสช. ให้อยู่ยาว ๆ ใช่ไหมคะ? และจุดยืนของทางอีศานก็คือสนับสนุน คสช. ใช่หรือไม่

อ่านทั้งบทความก็เห็นด่าประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง แต่เรารักประชาธิปไตย และเกลียด คสช. จึงเสียความรู้สึกมากที่เห็นบทความนี้ในวารสารที่ลองชิมลางเป็นครั้งแรก

ส่วนย่อหน้าสุดท้ายของบทความที่เชิญชวนให้รักความพอเพียงและมีเมตตาธรรม ขอบอกว่าเราเป็นคนนึงที่ไม่ต้องการแค่นั้นในชีวิต

เราเป็นคนเลว ๆ คนนึงที่อยากได้…อยากมีอยากเป็นตามแบบฝรั่งเขา เราไม่อยากเป็นคนดีค่ะ

“สรัญญา”

“ทางอีศาน” : เนื้อหาบทความของผู้เขียน – เสรี พงศ์พิศ ที่คุณ “สรัญญา” ยกมากล่าวถึงนั้น ผู้เขียนเพียงแต่เอ่ยอ้างถึงหลักคิดและยุทธศาสตร์ ของ คสช. เท่านั้น

ตั้งแต่นิตยสาร “ทางอีศาน” ก่อเกิดบนบรรณพิภพ จนถึงฉบับที่ ๕๙ นี้ ข้อเขียนของ เสรี พงศ์พิศ เจ้าของคอลัมน์ “ส่องเมือง” มีลงพิมพ์เผยแพร่แทบทุกฉบับ ซึ่งก็ได้รับความนิยมติดตามอ่านจากผู้อ่านเป็นอย่างมาก ด้วยการพูดถึงประเด็นต่าง ๆ อย่างแจ่มชัด กระชับ มีเหตุผลและรอบด้าน

สำหรับย่อหน้าส่งท้ายของบทความ ผมว่าทุกคนมีปรารถนาสูงสุดของชีวิตด้วยกันทั้งนั้นแต่ในสภาพความเป็นจริงของบ้านเมือง เป็นไปได้ไหมที่ผู้เขียนเพียงหวังให้ทุกคนได้ประสบเป้าหมายชีวิตที่ดีงามเป็นเบื้องต้น.

——————————————

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๕๐ ปีที่ ๕ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ฉบับ : แกะรอยคำว่า “เงือก” ภูมิปัญญา “คณะราษฎร” ๒๔๗๕/หน้า ๖๒ เสียงเมือง – “ทิดโส สุดสะแนน” เซิ้งผมว่าเขียนข้อมูลคลาดเคลื่อน ประมาณร้อยละ ๘๐ เลยนะ

“เซิ้ง” ไม่ได้หมายถึง รำ นะครับ หมายถึงการขับร้องอย่างหนึ่ง มีต้นเสียง มีหางเสียง ใช้ร้องเป็นแถวขบวนรอบหมู่บ้าน เช่น เซิ้งนางด้ง เซิ้งนางแมว เป็นต้น แต่ในนิตยสารกล่าวว่า มีเซิ้งศรีโครต เซิ้งภูไท เซิ้งกระติ๊บข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งเหล่านี้ เป็นการนำคำมาใช้ผิดและไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง ดั่งเช่นคนภาคกลางเมื่อได้ยินคำว่าเซิ้งก็จะตีความหมายว่า ฟ้อน หรือ รำ ดังนั้น เซิ้งจึงหมายความว่าร้องอย่างหนึ่งของคนอีสาน เช่น เซิ้งบั้งไฟ จะมีต้นเสียงร้องว่า โอ้เฮาโอ ศรัทธา เฮาโอ – ก็จะมีเสียงลูกขบวนร้องรับตามกันว่า โอ้เฮาโอ ศรัทธาเฮาโอ

เซิ้ง ใช้ร้องประกอบพิธีกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การขอฝน เท่านั้นครับ คือเซิ้งบั้งไฟนางแมว นางด้ง พวกเซิ้งแหย่ไข่ เซิ้งภูไท พวกนี้ เป็นชุดการแสดงที่พากันรังสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งสิ้นโดยความเข้าใจผิด ไม่รู้จุดประสงค์และความหมาย จนเกิดการนำมาใช้กันอย่างไม่ถูกต้อง ในปัจจุบัน

นพพล ไชยสน

“ทางอีศาน” : ขอบคุณที่ท่านติดตามอ่านหนังสือของเรา และมีนํ้าใจติติงมา แต่ที่ติงมาจะคนละประเด็นหรือไม่

ข้อเขียนของ “ทิดโส สุดสะแนน” พูดถึงการฟ้อนเซิ้ง รำเซิ้ง คำว่าเซิ้งผู้ไท เซิ้งกระติ๊บ คนทั่วไปน่าจะเข้าใจกันหมดว่าหมายรวมถึง การฟ้อนและร้องด้วย ไม่งั้นเขาคงเรียก “เต้นผู้ไท” “เต้นกระติ๊บ” “เต้นสวิง” ฯลฯ

ขับร้องเซิ้ง คือ การร้องกลอนเซิ้งฟ้อนเซิ้ง คือ การรำการร้องไปตามทำนองและจังหวะ

ในการใช้คำว่า เซิ้ง มันมีทั้งการฟ้อนรำและการขับร้อง ควบคู่กัน

และคำว่า เซิ้งผู้ไท เซิ้งสวิง เซิ้งศรีโคตรบูร “ทิดโส สุดสะแนน” ไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเองเสียด้วย ปราชญ์ชาวอีสานเขาเรียกขานกันมาแต่โบราณแล้ว

ถึงกระนั้นก็ตาม ต่อประเด็นนี้และเนื้อหาเรื่องราวอื่น ๆ เราเปิดกว้างให้ผู้อ่านทุกท่านแสดงความคิดเห็น สมทบส่วนความรู้ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน.

——————————————

ติดตามเนื้อหาในเล่มได้ที่…
ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ซีเอ็ด นายอินทร์
สั่งซื้อ: 02-552-4070
อีเมล: e-shann@hotmail.com

อีบุคราคาเพียง 60 บาท ที่
MebMarket
4Dbook
DDeBook

นิตยสาร “ทางอีศาน” เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปอ่านหัวข้อข่าว เรื่องราวเด่น ๆ หรือดาวน์โหลดใบสมัครสมาชิก รวมถึงร่วมเสนอความคิดเห็น อ่านรายละเอียดและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ https://e-shann.com/

Related Posts

ฮูปแต้มวัดไชยศรี บ้านสาวะถี
ตํานานพระธาตุในลุ่มแม่นํ้าโขง
เบอร์เดียวกัน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com