ห้องเสื้อวิภาวี
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: เฮาอยู่ยะลา
Column: Esan natives in Yala
ผู้เขียน: สฤษดิ์ ผาอาจ : เรื่องและภาพ

e-shann11_yala

เธอเป็นช่างแต่งหน้าทำผมฝีมือดี รับเหมาให้บริการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ยามพวกเขาเหล่านั้นมีกิจกรรมที่ต้องโชว์ความสวยความงาม และเธอยังเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของค่ายนางงาม

แวดวงความสวยความงามในยะลาหากเอ่ยชื่อ “ป้าวิ” ทุกคนจะร้อง “อ๋อ”

“ในร้านวิมีทุกอย่าง ไปหาเอาโลด ยกเว้นแฟน” เธอเอ่ยถึงตัวเองแล้วหัวเราะ

เธอลงมาอยู่ยะลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มาร้องเพลงอยู่ที่โรงแรมยะลามายเฮาส์พร้อมกับเพื่อนอีก ๓ คน ตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทเทปแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เธอเคยเป็นนักร้องประกวด ผ่านเวทีต่าง ๆ มาอย่างโชกโชน ตั้งแต่เวทีภูธรจนถึงรายการทีวีในเมืองกรุง อย่าง “ลูกทุ่งสิบทิศ” ของ ดำรง พุฒตาล และ “ชุมทางคนเด่น” ของ นายห้างประจวบ จำปาทอง รายการแรกเธอชนะเลิศ รายการที่สองเธอได้รองชนะเลิศ

ก่อนหน้านั้น ในยุคที่นักจัดรายการวิทยุอย่าง “เซียงบัว อายสาว” “สาวสี สามสลึง” และ “อ้ายทิดเสน” กำลังเฟื่องฟูในคลื่นเอเอ็ม วปถ.๗ ที่ส่งกระจายเสียงไปทั่วเขตจังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งเป็นของคู่กัน

และ เด็กหญิงวิมลพร พั้วแพง ที่เพิ่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่สามจากโรงเรียนตลาดน้อยหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีก็ได้รับการชักนำให้เข้าประกวดกับเขาด้วย

“ตอนนั้นยังเป็นเด็กน้อย บ่ได้รางวัลอิหยังกับเขาดอก” เธอเล่าพลางยิ้มพลาง “ซุมโฆษกเพิ่นบอกว่าเสียงดี ใจถึงอยู่ แต่ว่าตกอักขระ ร้องเกลือกกลั้ว เป็น เกียกกั้ว”

เธอติดสอยห้อยตามวงดนตรี ศักดิ์สยามเพชรชมภู เดินสายทั่วภาคอีสานตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี ทำหน้าที่ตัดเย็บ ซ่อมแซมชุดนักร้องและหางเครื่อง จนรถบัสของวงประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำศักดิ์สยามยุบวง เธอจึงบ่ายหน้าเข้ากรุงเทพฯ เป็นนักร้องประกวด เมื่อเสียงดีมีแววจึงได้ทำสัญญาสังกัดบริษัทเทป แต่ไม่ได้บันทึกเสียงเป็นชิ้นเป็นอัน และในปี ๒๕๓๒ นั่นเองที่ชีวิตของเธอผกผัน

ช่วงปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๗ เธอวนเวียนอยู่ในแวดวงคนร้องเพลง จากคนเคยร้องกลายมาเป็นผู้จัดการนักร้อง มีรถรับส่งนักร้องไปตามโรงแรมและห้องอาหารต่าง ๆ ในเขตยะลา ปัตตานี นราธิวาส เธอขายตรงเครื่องสำอางค์ พร้อมแต่งหน้าทำผมให้กับนักร้องไปด้วย

ประสบการณ์ชีวิตในช่วงนี้เองที่ส่งผลให้เธอมีอาชีพที่ดี มีความมั่นคง เป็นที่นับหน้าถือตามาจนทุกวันนี้…

แดดสายต้นเดือนกุมภาพันธ์ร้อนแรงแสบผิวหนัง ผมขับมอเตอร์ไซค์ผ่านด่านตรวจเข้าไปในถนนรวมมิตร ถนนสายนี้ทอดขนานอยู่ตรงกลางระหว่างถนนสายหลักของเมืองยะลา คือถนนสิโรรสและถนนพิพิธภักดี ย่านที่พักอาศัยและสถานประกอบการร้านค้าในบริเวณนี้ถูกกันไว้เป็น “เซฟตี้โซน” เนื่องจากเคยถูกวางระเบิดมาแล้วสี่ครั้ง หากท่านผู้อ่านท่านใดมีโอกาสแวะเวียนมายะลาลองเดินชมถนนรวมมิตรบ้างนะครับ ท่านจะทึ่ง ระคนแปลกใจ ปนหวาดเสียวคล้ายกำลังเดินเข้าไปในสมรภูมิ

“ห้องเสื้อวิภาวี” ตั้งอยู่ในบริเวณนี้

เดินเข้าไปในร้าน จะสะดุดตากับหุ่นสามตัวที่ประดับประดาด้วยชุดไทยสดใสเลื่อมระยับในตู้โชว์และภายในร้านเต็มไปด้วยชุดแฟนซีและเครื่องประดับต่าง ๆ มากมายหลากสีสัน

“ชุดพวกนี้วิสะสมมานานแล้ว ตั้งแต่เริ่มกิจการเมื่อปี ๓๘ วันเปิดร้านวันแรก วิทยาลัยเทคนิคเปิดเพลงธรณีกันแสง ฮ่วย ! มาคือลางบ่ดีแต่ตำอิดตำก่อแท้น้อ” เธอเริ่มเล่าด้วยรอยยิ้มพวกเรานั่งคุยสบาย ๆ อย่างคนกันเอง “ออกแบบตัดเย็บเองก็เยอะ ของพวกนี้ต้องหมั่นดูหมั่นศึกษาต้องดัดแปลงตกแต่งให้ใหม่อยู่เสมอ” ช่วงนี้ลูกค้ามีไม่มากนัก เราจึงคุยกันได้โดยไม่มีใครขัดจังหวะ

งานของเธอจะไปหนักเอาช่วงเดือนพฤษภาคมยาวไปถึงเดือนสิงหาคม

“พอโรงเรียนเปิดเทอม นักเรียนนักศึกษาเริ่มจับสีแข่งกีฬา ช่วงนี้ล่ะงานสิแล่นตำจนหัวสักหัวข่วม” เธอเล่าถึงงานที่วิ่งชนจนหัวหมุนอย่างคนมีอารมณ์ขัน

แม้ไฟใต้จะยังคงคุกรุ่นและลุกโพลงอย่างต่อเนื่อง แต่กิจกรรมการแข่งขันกีฬายังคงดำเนินต่อไป ทั่วทุกสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงขั้นอุดมศึกษา ทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐต่างจัดการแข่งขัน ทั้งแข่งขันกันเองภายใน และแข่งขันกับสถาบันการศึกษาอื่น

“วิรับเหมาดูแลเสื้อผ้าหน้าผม ให้ริ้วขบวนพาเหรด ดรัมเมเยอร์ กองเชียร์… ครูบางคนเพิ่นบ่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฮาก็ให้คำปรึกษา ถ้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวที่ให้เช่ามีไม่พอ เราก็วัดตัวเด็กเพื่อตัดชุดเพิ่ม”

นอกจากโรงเรียนในเขตเทศบาลนครยะลาแล้ว เธอยังรับงานจากโรงเรียนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเมืองอีกด้วย เธอเคยไปนอนค้างที่บ้านพักครูในโรงเรียนในเขตอำเภอธารโตที่อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาถึง ๖๐ กิโลเมตร พื้นที่สีแดงอย่างโรงเรียนในอำเภอบันนังสตาก็เคยไปนอนค้างเช่นกัน เพื่อตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วแต่งหน้าทำผมใส่ชุดให้กับนักเรียนหรือคุณครูแสดงโชว์ในงาน หรือกิจกรรมกีฬาในวันรุ่งขึ้น

“ครูเขาจะเหมาชุดการแสดงหรือชุดริ้วขบวนพาเหรดพร้อมกับให้ช่วยแต่งหน้าทำผม ไปแต่ละครั้งได้มาครั้งละสองสามหมื่น คนอื่นเขากลัว มีวินี่ล่ะบ่ย่าน แต่ว่าครูต้องนอนเป็นเพื่อนนะ”

เธอมีลูกน้องประจำร้าน ๒ คน เป็นไทยพุทธและมุสลิม แต่บางครั้งเมื่อต้องให้บริการลูกค้าเป็นจำนวนมากพร้อมกัน เธอก็ต้องควานหาเครือข่ายมาช่วย

“กลุ่มนักศึกษาราชภัฏนี่ล่ะที่มาช่วย ส่วนมากเป็นกระเทย วิโชคดีที่ได้รู้จักกับกลุ่มกระเทย” เธอยิ้ม “วิได้ไอเดียหลายอย่างมาจากน้อง ๆ ซุมนี้ล่ะ”

เธอดูแลเครือข่ายและทีมงานเป็นอย่างดีนอกจากจ่ายค่าจ้างให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วยังซื้อใจด้วยการพาไปเลี้ยงสังสันทน์

“เด็กน้อยซุมใด๋มักฮ้องเพลงวิก็พาไปฮ้องซุมใด๋อยากกินลาบกินตำหมากหุ่งก็พาไปกิน”

เมื่อเครือข่ายบางคนของเธอเรียนจบ พวกเขายังวนเวียนมาหาเธออยู่มิได้ขาด บางคนได้ทำงานเป็นครูแล้วยังหางานมาให้ บางคนที่เป็นหญิงแท้ยังกลับมาให้เธอแต่งหน้าทำผมเพื่อให้สวยสุดในวันแต่งงาน

“ลูกค้าบางคนโด่งดังมีชื่อเสียงเขายังบ่ลืมเฮา” มีลูกค้าคนหนึ่ง รูปร่างหน้าตาสะสวย มาใช้บริการห้องเสื้อวิภาวีตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนผดุงประชาพานิชการ และเมื่อปี ๒๐๐๔ ลูกค้าคนนี้ได้ครองตำแหน่งมิสไทยแลนด์เวิลด์ เธอคือ นิกัลยา ดุลยา “ตอนที่นิกัลยาแต่งงาน ยังเอาซองมาให้วิ เฮาก็ดีใจเนาะ เขายังบ่ลืมเฮา”

“ที่เฮายืนหยัดจนมาฮอดทุกวันนี้ได้ก็เพราะว่าลูกค้าประจำเฮามีหลาย บางคนมาใช้บริการเฮาตั้งแต่รุ่นแม่ฮอดรุ่นลูก เขาประทับใจฝีมือเฮาแล้วบอกต่อกันปากต่อปาก”

จากปากต่อปากทำให้เธอมีโอกาสได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา และเป็นที่มาของการเป็นเจ้าของค่ายนางงาม “ห้องเสื้อวิภาวี”

ในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในสมัยนั้นได้ฟื้นฟูการจัดประกวดเทพีขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างสีสันให้กับงานกาชาด หรืองานหลักเมืองยะลา

“เริ่มต้น เขาเห็นว่าเฮามีฝีมือในการตัดเย็บและออกแบบเสื้อผ้านำ เขาเลยให้เฮาตัดเย็บสายสะพายส่งให้เขาครั้งละหกสิบสาย”

การตัดเย็บสายสะพายบางครั้งมีข้อผิดพลาดต้องติดต่อประสานงานกันวุ่นวาย เจ้าหน้าที่เขารู้สึกยุ่งยาก เปรย ๆ กับเธอว่าทำไมไม่หัดเล่นอินเทอร์เน็ต จะได้มีอีเมล์แอดเดรสไว้คอยรับส่งคอยแก้ไขงาน

“เฮ็ดจั่งใด๋ล่ะทีนี้ เฮาเรียนบ่จบฮอดประถมสี่” ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สาม เธอตกต้นมะยม ไม่สบายอยู่หลายเดือน พ่อตัดสินใจบอกว่าไม่ต้องไปโรงเรียนแล้วล่ะ แต่ด้วยความที่อยากให้ลูกสาวได้วุฒิประถมสี่พ่อจึงเอาเชือกมัดแข้งมัดขาไก่ชนสองตัวไปหาครูใหญ่ “จบปอสามก็ได้เอาไก่แลกออก” เราต่างหัวเราะครื้นเครง

“แมนอีหลีเด้อ วิยังจำติดตาตอนอิพ่อเพิ่นอุ้มไก่ตีไปหาครูใหญ่”

ด้วยความขัดใจและด้วยนิสัยใฝ่เรียนรู้ เธอจึงลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คราคาหนึ่งหมื่นเก้าพันบาทมาไว้ที่ร้านพร้อมติดตั้งระบบออนไลน์ไว้เสร็จสรรพ จ้างอาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคยะลามาช่วยสอนวิธีการใช้ สาวอีสานเมืองอุดรปอสามครึ่งจึงโลดแล่นอยู่ในโลกออนไลน์ได้อย่างไม่เคอะเขิน ผู้อ่านท่านใดอยากพูดคุยกับเธอทางเฟซบุ๊คให้พิมพ์คำว่า “ห้องเสื้อวิภาวี” แล้วขอเป็นเพื่อนได้เลย เธอบอกว่ายินดีเป็นเพื่อน ของสวย ๆ งาม ๆ มีให้ชมในนั้นครับ

e-shann11_yala2

จากแค่ส่งสายสะพายนำไปสู่คำร้องขอจากเจ้าหน้าที่ให้ช่วยหานางงามส่งเข้าประกวด

“ลูกค้าเฮามีทั้งเด็กน้อย มีทั้งผู้สาว เขาขอร้องว่าให้หานางงามส่งเข้าประกวดให้ด้วย ครั้งละห้าคนสิบคน เขาให้หัวละห้าพันบาท”

เงินห้าพันบาทต้องดูแลนางงามตั้งแต่รองเท้ายันปลายผม ค่าเช่าชุด ค่าแต่งหน้า และค่าใช้จ่ายอื่นจิปาถะ

“เฮาต้องเสียค่าน้ำมัน และแบ่งให้นางงามนำวิก็เลยวิ่งหาสปอนเซอร์”

เธอมีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจสปอนเซอร์บางรายได้เพิ่มมาอีกห้าพัน บางรายได้เป็นหมื่น “ตอนนางงามมาเตรียมตัวหัดไหว้ หัดเว้าที่ร้าน วิบอกให้สปอนเซอร์มาเลือกเอาเลยว่าจะสนับสนุนนางงามคนไหน อย่างร้าน แซปอีสาน ของน้อง ชัยก็เคยสนับสนุน แต่ว่าตกรอบแรก” เธอยิ้ม (เรื่องราวของแซปอีสาน และ ชัย ผู้เขียนเล่าไว้ใน “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒ ; ผู้เขียน)

“ชัยบ่นว่านางงามอิหยัง เว้าไทยบ่ค่อยชัดตอบคำถามบ่เป็น”

นางงามค่ายป้าวิมีทั้งพุทธและมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มาใช้บริการในร้านและมีบางคนที่ได้รับการบอกต่ออีกทอดหนึ่ง แต่กว่าจะขึ้นเวทีได้ต้องฝึกฝนกันพอสมควร ทั้งการตอบคำถาม การเดิน การไหว้

“นางงามของวิ การันตีได้เลยว่าไหว้สวยทุกคน”

กว่าจะได้นางงามส่งประกวดแต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เธอต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่าการประกวดนางงามยะลาไม่มีการใส่ชุดว่ายน้ำและเธอต้องกรองก่อนว่าพ่อแม่ยินยอมไหม มีแฟนหรือเปล่า ไม่ใช่พอกำลังก้าวขาขึ้นเวทีแล้วแฟนมาดึงมือยื้อยุด

“เด็กบางคนอยากประกวด แต่ว่าพ่อแม่ไม่ยอมก็มี ส่วนมากเป็นเด็กมุสลิม มีอยู่ครั้งหนึ่งพากันไปประกวดที่ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์จังหวัดปัตตานี เป็นงานบ้าน ๆ ดอก นางงามวิกำลังจะขึ้นเวทีอยู่แท้ ๆ จู่ ๆ มีผู้ชายวัยรุ่นจากไหนไม่รู้มาลากมือขึ้นมอเตอร์ไซค์หายจ้อยไปต่อหน้าต่อตา”

“ทำอย่างไรล่ะทีนี้จึงจะไม่ให้เสียชื่อ เงินค่าสนับสนุนนางงามก็เบิกมาแล้ว เลยบอกเขาว่านางงามท้องเสียกะทันหัน…”

ในกรณีนี้ไม่ต้องคืนเงินให้กับผู้จัดประกวด “เลยซำบายอีเผิ่ง…” เธอและผมได้หัวเราะกันอีกยก

จังหวัดยะลาในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ อีกด้านหนึ่งยังคงมีเรื่องราวความรุนแรงให้เศร้าสะเทือนใจอยู่เป็นระยะ อีกด้านหนึ่งชีวิตของผู้คนยังคงก้าวเดินต่อไปหากปล่อยให้ความหวาดกลัวเข้าครอบงำจนนิ่งเงียบกันทั้งขบวน บ้านคงไม่เป็นบ้าน เมืองคงไม่เป็นเมือง

เดือนเมษายนใกล้เข้ามาแล้ว ร้อนแล้งปีนี้ยังคงมีการประกวดหนูน้อยสงกรานต์ เดือนถัดไปเป็นการประกวดธิดากาชาด ข้ามไปเดือนสิงหาคมผลไม้หลากหลายชนิดของยะลาเริ่มให้ผล จะมีงานเทศกาลผลไม้และการประกวดธิดาผลไม้

และเมื่อเดือนสิบสองน้ำนองตลิ่ง จังหวัดยะลาก็เช่นเดียวกันกับจังหวัดอื่นอีกหลายจังหวัดที่จัดงานลอยกระทง หน่วยงานเอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าโคลีเซียมจะจัดประกวดหนูน้อยนพมาศขึ้นภายในห้าง และเทศบาลนครยะลาได้กำหนดปฏิทินท่องเที่ยวของเมืองไว้แล้วว่า ในงานลอยกระทงปีนี้ยังคงมีการประกวดนางนพมาศเหมือนเช่นเคย

และ “ห้องเสื้อวิภาวี” โดยสาวอุดรผู้ไม่เคยจ้อนซิ่นแล่นอย่าง วิมลพร พั้วแพง จะยังคงใช้ความสามารถ และพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวอย่างหลากหลายมาช่วยสร้างสีสันบรรยากาศให้กับเมืองยะลาให้คงน่าอยู่อีกต่อไป

Related Posts

(กลอนไขผญา) ลิง
ฮีตคอง แผนที่ชีวิต เข็มทิศชุมชน
อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) ผู้เปิดดินแดนอินโดจีนสู่สังคมโลก

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com