มองเครือข่ายชาวบ้านราษีไศล

มองเครือข่ายชาวบ้านราษีไศล
“ที่ซึ่งมีการทำลายย่อมมีการบ่มเพาะพลังสร้างสรรค์”
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: บ้านเมืองเรื่องของเรา
Column: Our Country Is Our Business
ผู้เขียน: สนั่น ชูสกุล

A look into the network of the people of Rasi Salai

The movement of the people affected by the Rasi Salai Dam is similar to that of any other areas threatened by outside changes. They set up their own organization to fight for their rights and for fairness in dealing with the current issues. Amidst the fight for particular demands, many significant learning processes occurred. The learning through research works, the initiation of skill development facilities, money savings and fund raising activities, the resources management and the upgrading into the association as it is now, all these actions are essential tools critical for the long-term movement and for the ability to develop their intrinsic resources into a stable organ in the long run. Another crucial condition is the ability to recruit supports and mobilize forces from various organizations, whether governmental, private, local, regional or any other independent entities, to successfully help push forward the work plans in each phase.

e-shann12_ourcountry

ชาวชุมชนท้องถิ่นที่มีการจัดตั้งตัวเองอย่างแข็งแรง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปรากฏตัวให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่เผชิญวิกฤติการณ์สำคัญมาแล้วเกือบทั้งนั้นทั้งวิกฤติการณ์ภายในและภัยคุกคามจากภายนอกทั้งจากรัฐและทุน เช่นเดียวกับร่างกายคนเราถูกคุกคามด้วยโรคก็เกิดภูมิต้านทานนั่นเอง เราจะเห็นตัวตนของชุมชน เราจะเห็นพลังที่เคยแฝงฝังอยู่อย่างชัดเจนเมื่อมีภัยคุกคาม เมื่อมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น เราจะเห็นแบบแผนระบบสิทธิดั้งเดิมของชุมชนแสดงตัวออกมาเป็นพลังต่อต้านทัดทานกับการคุกคาม ขณะเดียวกับที่มันจะถูกพัฒนาต่อยอดให้เข้มข้นแข็งแรงขึ้นเพื่อการอยู่รอดในสถานการณ์ใหม่

เมื่อชาวชุมชนตื่นตัวลุกขึ้นสู้ปกป้องฐานทรัพยากร ฐานอาชีพและสวัสดิการของตนเองผู้นำธรรมชาติจะปรากฏตัวขึ้นมา เกิดการเรียนรู้ค้นคว้าวิเคราะห์ปัญหา เกิดการจัดตั้งองค์กร สร้างเครือข่าย หาพันธมิตรสนับสนุน เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวผลักดัน กดดัน ในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น การชุมนุม การเดินขบวน การปิดล้อมการเจรจาต่อรอง ไกล่เกลี่ย เกิดการแสวงหาทางเลือกทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในนั้นอาจเกิดนวัตกรรมในการต่อสู้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาขึ้นมาอย่างมากมาย จนกระทั่งถึงการสร้างสำนึกใหม่ต่อโลกและสังคม

ผู้เขียนกล้ากล่าวว่ายุคของความเปลี่ยนแปลง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนอีสานที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบและถูกปล้นชิงทรัพยากรท้องถิ่นจากรัฐและทุนจนถึงที่สุด สถานการณ์ได้บีบบังคับให้เขาลุกขึ้นสู้ พวกเขาได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ปรากฏพลังสร้างสรรค์ต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย และเกิดสำนึกใหม่ เกิดการตื่นตัวทางการเมืองและสร้างบรรทัดฐานการเมืองภาคประชาชนให้แก่สังคมไทยอย่างสำคัญ แต่ก็ยังมีคำถามใหญ่ที่ตอบกันไม่เสร็จ คือ พลังสร้างสรรค์และสำนึกใหม่ทำไมไม่มีการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

เมื่อมีการลุกขึ้นมาจัดตั้งตัวเอง เคลื่อนไหวจนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเสร็จสิ้นลุล่วงไป เครือข่ายจำนวนมากก็กลับที่ตั้ง แตกสลายตัวกันไป อาจมีคำตอบหยาบ ๆ ว่า ขบวนการรวมตัวของชาวชุมชนท้องถิ่นยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดภายในและการคุกคามบ่อนเซาะทำลายจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ “สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน” (สกย.อ.) กำลังเคลื่อนไหวอย่างมีอำนาจต่อรองสูงสุดนั้น พวกเขาพยายามคิดค้นงานเศรษฐกิจโดยการตั้งสหกรณ์ในหลายพื้นที่ ในขณะที่ผลจากการต่อสู้เดียวกัน สหพันธ์สหกรณ์ภาคอีสานก็ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากรัฐในการยกระดับการดำเนินงานของสหกรณ์หลายสิบแห่งแต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่ายุทธศาสตร์นี้แผ่วเบาลง พื้นที่รูปธรรมกระจัดกระจาย เมื่อถึงยุคของสมัชชาคนจนและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ถึงแม้จะประกาศเป้าหมายและยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างและการแสดงตัวเองเป็นองค์กรเครือข่ายที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องก็ตาม แต่ความจริงที่สุดที่ดำรงอยู่ก็คือ กลุ่มองค์กรเครือข่ายพื้นฐานที่มาร่วมในขบวน เมื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องเฉพาะหน้าเฉพาะกิจของตนเสร็จสิ้นลง ก็พร้อมแยกทางกันไปเป็นส่วนมาก มีเพียงส่วนน้อยที่จะดำเนินการต่อเนื่องและเป็นเหตุโดยตรงให้ขบวนใหญ่ที่เคยเกรียงไกรค่อย ๆ มีบทบาทน้อยลง

ชาวชุมชนเขตรอยต่อจังหวัดศรีสะเกษสุรินทร์และร้อยเอ็ด ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาแห่งโครงการโขง ชี มูล ที่ปัจจุบันพวกเขาคือ “สมาคมคนทาม” ก็ยืนอยู่บนภาวะท้าทายนี้เช่นกัน

เขาเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์และตรวจสอบโครงการรัฐมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ นับถึงวันนี้เป็นเวลา ๒๐ ปีเต็ม เริ่มจากการรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้เดือดร้อนในพื้นที่ แล้วในปีที่ ๓ ของการเคลื่อนไหวได้เข้าร่วมขบวนคนทุกข์ทั่วประเทศประกาศจัดตั้ง “สมัชชาคนจน” การเคลื่อนไหวที่คึกคักเข้มแข็งของสมัชชาคนจนที่มีแนวร่วมและพันธมิตรอย่างกว้างขวางในขณะนั้น ส่งผลให้การแก้ปัญหารายกรณีมีความคืบหน้าไปมากมาย ทั้งปัญหาการสร้างเขื่อน ที่ดิน ป่าไม้ เกษตรกรรมทางเลือกและประเด็นอื่น ๆ

ผลกระทบอันรุนแรงกว้างขวางจากโครงการโขง ชี มูล-เขื่อนราษีไศล ที่เราได้อภิปรายไปแล้วใน “ทางอีศาน” ฉบับก่อน เป็นเชื้อไฟแห่งการต่อสู้ที่อุดมสมบูรณ์ การทยอยได้รับค่าชดเชยในที่ดินทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ของชาวราษีไศลที่ต่อเนื่องกันมา ๙ ครั้งเป็นเงิน ๑,๘๐๐ กว่าล้านในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องแสดงบรรทัดฐานสิทธิชุมชนและเป็นการเพิ่มต้นทุนและเดิมพันในการต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาตลอดสองทศวรรษเต็ม ๆ

เป้าหมายแรกในการลุกขึ้นสู้ของชาวราษีไศลก็คือ การตรวจสอบโครงการโขงชีมูลที่วางแผนไว้อย่างหละหลวม ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนการก่อสร้าง การให้ข้อมูลเท็จแก่ชุมชนว่าจะสร้างฝายยางสูง ๔.๕ เมตร อ่างเก็บน้ำ ๑๒,๕๐๐ ไร่ (สร้างจริงเป็นเขื่อนคอนกรีตสูง ๙ เมตร อ่างเก็บน้ำ ๙๓,๐๐๐ ไร่) ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมใด ๆ จากชุมชนและไม่มีการเปิดเผยข่าวสารข้อมูลต่อสังคม ข้อเรียกร้องสำคัญของชุมชนคือการให้เก็บกักน้ำระดับ ๔.๕ เมตรตามที่ประกาศไว้ และให้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ชาวบ้านถูกต่อต้านอย่างหนักด้วยข้อหาขัดขวางการพัฒนาและด้วยนานาวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้น ตลอดจนมีการจัดตั้งม็อบมาชนม็อบ

จึงต่อมามีการปรับเป้าหมายการเรียกร้องมาเป็นการจ่ายค่าชดเชย ท่ามกลางความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นม็อบชนม็อบระดับไล่ล่ากันไม่สิ้นสุดนั้น พี่น้องกลุ่มสมัชชาคนจนได้แหวกวงล้อมความขัดแย้งระดับท้องถิ่นสู่การเจรจากับตัวแทนรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จนได้รับการจ่ายค่าชดเชยท่ามกลางการอารักขากันอย่างหนาแน่น ต่อมากลุ่มที่ถูกจัดตั้งมาต่อต้านสมัชชาคนจนจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์บ้าง และยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันประเด็นการเรียกร้องต่อรัฐในปัจจุบันคือ การจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ และการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมหลังการก่อสร้าง โดยมีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา พร้อมการฟื้นฟูชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว

ท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์อย่างยืดเยื้อนั้น สมัชชาคนจนราษีไศลได้ริเริ่มงานพัฒนาภายในองค์กรหลายอย่าง โดยการสนับสนุนของทั้งทางหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอิสระ เงินช่วยเหลือจากทางราชการบางรายการถูกนำใช้เป็นกองทุนพัฒนาอาชีพ เช่น การทอเสื่อ การทำเกษตรผสมผสาน การตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และยังมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าทามเป็นป่าชุมชนในหลายพื้นที่ ต่อมามีงาน “วิจัยไทบ้าน” ที่ศึกษาระบบนิเวศบุ่งทามโดยนักวิจัยชาวบ้าน และงานวิจัยท้องถิ่นที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกหลายโครงการ

งานเหล่านี้มีพลังสำคัญอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งภายใน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านเพื่อเท่าทันสถานการณ์ภายนอกและการสร้างสำนึกในนิเวศวัฒนธรรมของท้องถิ่น สร้างการตระหนักในศักยภาพของตนเอง ที่สำคัญคือระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมและการผลักดันการแก้ปัญหาต่อรัฐอย่างยืดเยื้อนั้น ต้องมีการสะสมความพร้อมและพละกำลังโดยการสร้างงานเศรษฐกิจของสมาชิก การสร้างความกลมเกลียวสามัคคีภายในขบวน โดยใช้กิจกรรมเหล่านี้สร้างเงื่อนไขให้สมาชิกไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ งานวิจัยได้สร้างองค์ความรู้เรื่องป่าทามขึ้นมาให้เกิดตัวตนที่ชัดเจนและพบว่ามันเป็นวาทกรรมเพื่อการต่อสู้ที่มีพลังจนสังคมวิชาการ หน่วยงานรัฐยอมรับการมีอยู่จริงของป่าทาม และเพิ่มน้ำหนักให้แก่ขบวนการต่อสู้ของชาวราษีไศลอย่างสำคัญ

ยังมีกระบวนการเรียนรู้อีกหลายประการที่เป็นแบบแผนของสมัชชาคนจนราษีไศล การประชุม “พ่อครัวใหญ่”หรือตัวแทนจากทุกหมู่บ้านเป็นเวทีประจำเดือนที่ไม่เคยขาด จัดเป็นเวทีหมุนเวียนไปในแต่ละพื้นที่ และพบว่างานวิจัยไทบ้านและวิจัยท้องถิ่นนั้นยังเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่สมาชิกที่มาเรียนรู้แบบรวมหมู่ได้เป็นอย่างดี งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือสลายความขัดแย้งในหมู่คณะและภายในชุมชนได้อีกด้วย เพราะเป็นการชวนกันมาเริ่มศึกษารวบรวม “ของดีบ้านเรา” งานวิจัยถูกใช้เป็นฐานความรู้เพื่อขยายไปสู่การสร้างกิจกรรมพัฒนา เช่นการจัดตั้งป่าชุมชน การสร้างแหล่งอนุรักษ์สัตว์น้ำการสร้างการเรียนรู้แก่คนรุ่นใหม่โดยพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียน การเขียนโครงการขอการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นต้น และกระบวนการนี้ ได้สร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบให้นักวิจัยไทบ้าน หลายคนพัฒนาภาวะผู้นำขึ้นมาเป็นคนแถวหน้าของขบวนด้วยกระบวนการวิจัยไทบ้านนี่เอง

การได้มีเวทีเรียนรู้รวมกันกับองค์กรเครือข่ายใน “สมัชชาคนจน” ในหลายภูมิภาค ซึ่งมีการหมุนเวียนกันไปประชุมและเยี่ยมเยียนเรียนรู้กันเป็นประจำ รวมทั้งการได้เรียนรู้จากนักวิชาการที่ปรึกษาเป็นประจำ เป็นการเพิ่มเสริมการเรียนรู้แก่ผู้นำได้เป็นอย่างดี

การชุมนุมแบบปักหลักหลายรอบทั้งที่เขื่อนศาลากลางจังหวัด ที่หน้ากระทรวง หน้าทำเนียบรัฐบาล แม้กระทั่งในท้องอ่างเก็บน้ำ เป็นกระบวนการเรียนรู้สำคัญของทั้งแกนนำและสมาชิก ทั้งด้านการฝึกวินัย การวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผน การแบ่งภารกิจกันทำงาน การเรียนรู้ข้อมูลและประสบการณ์จากผู้รู้ในเวทีอภิปราย การจัดทำข้อมูล การสื่อสารต่อสาธารณะ และการเจรจาต่อรอง

การชุมนุมปิดล้อมหัวงานเขื่อนเป็นเวลา ๖ เดือนในปี ๒๕๕๒ ปีที่ ๑๖ ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวราษีไศลและเขื่อนหัวนาเป็นช่วงเวลาแห่งการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ระหว่างการชุมนุม มีสมาชิกและแกนนำเสียชีวิตลง ๑๑ คน จึงมีการสมทบเงินฌาปนกิจศพขึ้นและเขาได้พากันเหมารถไปดูงานกองทุนสวัสดิการออมวันละบาทและเชิญวิทยากรมาบรรยาย จนที่สุดมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการออมวันละบาทขึ้นในที่ชุมนุม โดยเป็นกองทุนสำหรับช่วยเหลือสมาชิกยามเกิด แก่ เจ็บ ตาย และสวัสดิการอื่น ๆ ในชีวิต กองทุนสวัสดิการนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะอธิบายถึงการอยู่ร่วมกันระยะยาวของสมาชิกทั้งขบวน ต่อเนื่องถึงหลังการชุมนุมและตลอดไป ในระหว่างการชุมนุมครั้งนี้ยังมีการไปศึกษาดูงานพัฒนาและกลับมาดำเนินการอีกหลายอย่าง เช่น เรื่องป่าชุมชน ชลประทานชุมชน เกษตรอินทรีย์ การจัดการขยะ พลังงานทางเลือก และมีนักวิชาการ นักพัฒนามากมายที่มาเยี่ยมมาถ่ายทอดความรู้

ต่อมาเมื่อเสร็จการชุมนุม มีแนวคิดการหาสถานที่เพื่อสร้าง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีการเชื่อมโยงการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และในที่สุดเกิดการเจรจากับกรมชลประทาน จนมีการมอบที่ดิน ๒๓ ไร่ ให้แก่องค์กรสมัชชาคนจนในการดำเนินการสร้างศูนย์เรียนรู้และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ได้มีการจดทะเบียนเป็น “สมาคมคนทาม” เป็นองค์กรนิติบุคคลของเครือข่ายสมัชชาคนจนราษีไศล-หัวนา

การเคลื่อนไหวที่สำคัญในห้วงเวลาเดียวกันคือการผลักดันให้เกิดแผนฟื้นฟู อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ซึ่งการศึกษาทั้งสองเขื่อนที่ผ่านมามีกระบวนการสำคัญอยู่ระหว่างการชุมนุม ๖ เดือนดังกล่าวสมัชชาคนจนได้ผลักดันให้แผนฟื้นฟูตามรายงานผลการศึกษามีแผนภาคประชาชน ที่จะดำเนินการโดยภาคประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรายงานทั้งสองฉบับด้วย ซึ่งมีผลในเวลาต่อมาให้ภาคประชาชนสามารถใช้งบประมาณดังกล่าวในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งภายใน และเกิดทางเลือกการพัฒนาที่สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวภาคประชาชนด้วย

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนานั้น ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับพื้นที่ที่เกิดภัยคุกคามจากภายนอกกรณีอื่น ๆ ที่มีการจัดตั้งตัวเองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องสิทธิ์ตามประเด็นที่เกิดขึ้น แต่ท่ามกลางการต่อสู้ตามข้อเรียกร้องเฉพาะนั้น เกิดกระบวนการเรียนรู้สำคัญหลายอย่างขึ้น ทั้งด้านการสร้างความรู้และกระบวนการเรียนรู้โดยการวิจัย การริเริ่มงานพัฒนาด้านอาชีพ การออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการ การจัดการทรัพยากร และการยกระดับการจัดตั้งจนเป็นสมาคมในปัจจุบัน กิจกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องมือ และเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสามารถสร้างความเคลื่อนไหวที่ยาวนาน และสามารถพัฒนาทุนภายในให้เติบโตเป็นองค์กรที่มั่นคงต่อเนื่องในระยะยาวได้ เงื่อนไขสำคัญอีกอย่างคือความสามารถในการระดมความร่วมมือจากพันธมิตรหลายองค์กร ทั้งจากหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรอิสระเพื่อสนับสนุนแผนงานในแต่ละระยะได้อย่างเหมาะเจาะ

คำพูดที่ว่า “ที่ซึ่งมีการทำลายย่อมบ่มเพาะพลังสร้างสรรค์” นั้นเป็นจริงอย่างแน่นอน และถ้าพลังสร้างสรรค์ของประชาชนที่เกิดขึ้นนั้น สามารถได้รับการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะเจาะ ก็จะยังประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนได้ ดั่งกรณีที่ผู้เขียนได้หยิบยกกรณีราษีไศลในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาเป็นกรณีศึกษา ณ ที่นี้

อย่างไรก็ดี ชาวราษีไศลต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปว่า จะสามารถใช้ต้นทุนต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อก้าวทะยานไปสู่ความเข้มแข็ง มีสิทธิอำนาจจริงของภาคประชาชน ได้หรือไม่

Related Posts

งานสงกรานต์ของคนอีสาน
‘เบญจมินทร์’ ราชาเพลงรำวง
ผู้หญิงแนวหลัง

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com