พญาแถน, พญาคันคาก และบั้งไฟ

ทางอีศาน ฉบับที่๑๓ ปีที่๒ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ
Column: Easy… easy
ผู้เขียน: ปกรณ์ ปกีรณัม


เซิ้งบั้งไฟ…โอเฮาโอกะศรัทธาเฮาโอ ขอเหล่าเด็ดนำเจ้าจักโอ ขอเหล่าโทนำเจ้าจักถ่วย หวานจ้วย ๆ ถืกปากหลานซาย ตักมาญายนำกันให่มันคู ขั่นบ่คูตูข่อยบ่หนี ตายเป็นผีกะสินำมาหลอก…..

เดือน ๖ เริ่มบุญบั้งไฟ สมัยเด็กผมเห็นกลุ่มคนประมาณ ๓ – ๕  คน  ทาหน้าขาวหน้าดำ เซิ้งบั้งไฟรำป้อขอเหล้าอยู่หน้าบ้าน ถ้าไม่ให้เหล้าก็ต้องให้เป็นเงิน ชาวอีสานจึงมักจะหมักเหล้าสาโทไว้กินและเผื่อแผ่ทีมเซิ้ง ซึ่งค่อนข้างเปลืองเพราะวัน ๆ หนึ่งมีหลายทีมแวะเวียนมา ปกติทีมเซิ้งจะเริ่มเซิ้งก่อนวันจุดบั้งไฟ เป็นการบอกบุญในช่วงเตรียมงาน ตระเวนเซิ้งไปตามหมู่บ้าน และตำบลใกล้เคียง

การทำบุญบั้งไฟ เป็นประเพณี เพื่อจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาไฟแก่เทพเจ้าบนสวรรค์ผู้ดูแลน้ำฟ้า ที่ชื่อว่า วัสสกาลเทพบุตร ถ้าทำถูกใจท่าน ท่านก็จะประทานน้ำฝนให้ตามฤดูกาล

แต่ที่เป็นจารึกบนใบลานอักษรไทน้อย เป็นความเชื่อของคนลาวและไทยอีสานมากที่สุด เห็นจะเป็น นิทานเรื่องพระยาแถนและนิทานเรื่องพระยาคันคาก เป็นนิทานลาวที่แพร่หลาย นับเป็นตำนานของการทำบุญบั้งไฟ ในลาวและในอีสานของไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ชื่อว่า “พญาคันคาก หรือคางคกยกรบ” โดยมี ทวีศักดิ์ ใยเมือง เขียนภาพประกอบ พิมพ์เมื่อ ๒๕๔๗ โดยสำนักศิลปวัฒนธรรม ของสำนักพิมพ์มติชน

ความว่า ท้าวเอกราช ผู้ครองเมืองชมพู มีนางสีดาเป็นมเหสี ตั้งครรภ์ คลอดออกมาเป็นคันคากตัวผู้ผิวขรุขระ  ต่อมาเทพ เนรมิตปราสาทและแปลงร่างให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พร้อมนำเมียแต่ชาติปางก่อนมาเคียงคู่ด้วย ชาวบ้านชาวเมืองพอทราบว่าเป็นพญาคันคาก ต่างก็ศรัทธานบไหว้ บรรดาเมืองบริวารน้อยใหญ่ ในสังกัดต่างก็อุดมสมบูรณ์ ไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุข จนลืมการเคารพสักการะพญาแถน

พญาแถนเอะใจ ไฉนกลิ่นธูปกลิ่นกำยานเจือจาง เสียงสรรเสริญเยินยอลดลง ศรัทธาถูกท้าทาย ส่องทิพเนตรลงมา…เหวยไอ้เจ้าคางคก เราจะสั่งสอนเจ้า มนุษย์หรือเดรัจฉานหน้าไหน จะทานอาญาสวรรค์ได้ จึงสั่งงดไม่ไห้พญานาคเล่นน้ำในสระสวรรค์ ทำให้น้ำฟ้าน้ำฝนไม่หล่นลงมาโลกมนุษย์  เกิดความแห้งแล้งทุกยากแสนสาหัส

พญาคันคากรู้ความจริงจากพญานาคว่าเหตุเกิดจากพญาแถน ก็พิโรธโกรธกริ้ว สั่งบริวารสร้างถนนขึ้นไปถึงเมืองแถน ยกพลบุกสวรรค์ รบกันหลายยก จนกระทั่งพญาแถนยอมแพ้

มนุษย์คันคากอบรมบ่มนิสัยหัวหน้าเทพว่า “ให้ประพฤติอยู่ในธรรม เอาใจใส่ดูแลชาวแถนแลชาวมนุษย์จนสุดใจดินสุดใจฟ้า โลกมนุษย์และฟ้าแถนต้องพึ่งพาอาศัยกัน จึงจะดำรงอยู่ชั่วฟ้าดิน….ท่านควรจดจำ อย่าคิดเบียดเบียนผู้อื่น แถนต้องรักษาหน้าที่ปล่อยน้ำฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาล…ผิดคำพูดจะยกมาลงโทษอีกให้สาสม”

พญาแถนถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเมืองมนุษย์ต้องการน้ำเมื่อไหร่

พญาคันคากตอบว่า จะส่งสัญญาณให้ พญานาคขี่บั้งไฟ ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินได้เห็น ก็ให้ไขน้ำทำฝนลงมายังโลกมนุษย์ทันที

ก่อนกลับพญาแถนให้พันธุ์ข้าว ต้นเท่าต้นตาล เมล็ดเท่าลูกมะพร้าว มนุษย์มีหน้าที่เพียงสร้างยุ้งไว้รองรับ เมื่อเมล็ดแก่ มันจะหล่นบินเข้าที่ของมันเอง

นานเข้า มนุษย์สบายจนลืมสร้างยุ้งข้าว เมื่อเมล็ดข้าวหล่นไม่มีที่จะบินไป มันจึงหล่นเรี่ยราดตามนาไร่ และเข้าไปในบ้านเรือน ผู้คนก็เอามีดพร้าขวานสับจนแหลกกระจาย จนเหลือเมล็ดข้าวเท่าปัจจุบัน

ต่อมาพญาแถนเห็นว่ามนุษย์ไม่ซื่อตรง ลุ่มหลงแต่ความสบาย  เบียดเบียนกันเอง จึงแผลงศรตัดถนนที่ไปมาหาสู่กันให้ขาดสะบั้น ปล่อยให้มนุษย์ หักร้างถางพงปลูกข้าวกินเอง

ปัจจุบัน บางประเทศขอบคุณพญาแถน ที่ให้น้ำมาทำนาปีละหลายครั้ง จนได้อันดับต้น ๆส่งข้าวไปขายของพลโลก แลให้ผู้ปกครองประเทศรับจำนำบ้างประกันราคาบ้าง ร่ำรวยไปตาม ๆ กัน

ป่าดงพงไพรถูกบุกรุกถูกราน ลิงหมีเสือช้างต้องออกมาหาพึ่งพาที่มนุษย์ปลูกกันไว้ หากพวกมันพูดจากันรู้เรื่องเหมือนสมัยนั้น คงต้องตั้งเวทีเจรจากันยืดยาว

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com