พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: รายงาน “ทางอีศาน”
Column: Report : “Esan Way”
ผู้เขียน: วิวัฒน์ โรจนาวรรณ*

e-shann13_รายงานพิเศษ

บุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์ไม่มากแห่ง ในจำนวนนั้น มีพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในข่ายน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในแง่ตัวพิพิธภัณฑ์ และตัวผู้ก่อตั้ง ซึ่งก็คือ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน หนองบัวโคก ตั้งอยู่ที่หมู่ ๖ บ้านหนองตลาดควาย ตำบลหนองบัวโคก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

เจ้าของและผู้บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือนายทำนุ วรธงไชย หรือ อาจารย์ทำนุ โดยอาชีพหลักคือ อาจารย์สอนวิชาศิลปะในสาขาวิชาศิลปกรรม ของคณะมนุษยศาสตร์ฯมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ตำแหน่งทางวิชาการของท่านคือผู้ช่วยศาสตราจารย์

อาจารย์ทำนุและครอบครัว ได้ทุ่มเทสติปัญญา เวลา สถานที่ เงินทองของครอบครัว ถึงขนาดกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู มาสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคกจนสำเร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ในวันดังกล่าวนอกจากจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว อาจารย์ทำนุยังพิมพ์หนังสือเพื่องานอีก ๑ เล่ม ชื่อ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน หนองบัวโคก Nongbuakok Folk Museum” เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระดีเยี่ยม มีทั้งประวัติหมู่บ้านหนองบัวโคก และการปูพื้นให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตชาวอีสาน อันจะนำไปสู่เรื่องราวความเป็นมาของสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่นำมาแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์

อาจารย์ทำนุยังเขียนไว้ในหน้าคำนำ ของหนังสือเล่มนี้อีกว่า

“พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เกิดขึ้นจากการสะสมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านส่วนตัว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ด้วยการขอบริจาค ขอซื้อ รวมทั้งขอแลกเปลี่ยนจากชาวบ้าน ในเขตอำเภอลำปลายมาศแล้วขยายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามโอกาสที่มี โดยใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบสะสมแต่อย่างใด เมื่อเห็นว่ามีเครื่องมือเครื่องใช้พอสมควร สามารถจัดแยกหมวดหมู่ จึงได้เปิดให้ผู้อื่นมาชื่นชมได้”

อาจารย์ทำนุ ยังเขียนแนะนำการจัดการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกว่า

“อาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๒ เมตร แยกประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ ทำป้ายเขียนคำบรรยาย บอกชื่อหน้าที่การใช้สอยของเครื่องใช้แต่ละประเภท โดยต้องการให้เป็น แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของชาวบ้านในอดีต ซึ่งเป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง หากไม่เก็บรักษาไว้ มรดกเหล่านี้ก็จะผุพังสูญหายไปตามกาลเวลา จะเห็นอดีตที่มีเพียงการเล่าขาน”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ วารสารเมืองโบราณฉบับปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑ ประจำเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๔๙ ได้เขียนบทความแนะนำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ว่า

“เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนใหญ่ จัดแสดงอยู่ในอาคารไม้ชั้นเดียว ขนาด ๗ x ๑๘ เมตร บางส่วนจัดแสดงอยู่ภายนอกอาคาร สำหรับภายในอาคารจัดหมวดหมู่ออกเป็น ๕ ประเภท คือ

๑. เครื่องใช้ในครัวหรือเรือนไฟ ได้แก่ ครัวอีสาน ขีงไฟ ก้อนเส้า แอ่งดินหม่าข้าว หม้อดิน หม้อนึ่ง หวด โบม

๒. เครื่องมือหาอาหาร หรือเครื่องมือ ล่า ดัก จับสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก ได้แก่ โอ ปืนแก๊ป หน้าไม้ ซ่อม พุ ตุ้มปลา ซ่อน สาบ อีจู้ ลัน ร่วง

๓. เครื่องมือเครื่องใช้บนเรือน ได้แก่ พระไม้ กลัก โป๊ะตะเกียง กำปั่น

๔. เครื่องใช้การเกษตร ได้แก่ ไถ คราด เคียว ไม้ฟาดข้าว ม้ารองข้าว กะโซ่

๕. เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ได้แก่ ข้องทุกชนิด รางข้าวหมู ม้าซอยยา

หลังจากทำพิธีเปิดอย่างทางการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เปิดบริการแก่ผู้ที่สนใจเข้าชมแบบไม่เก็บค่าเข้าชม และไม่มีเจ้าหน้าที่นำชม เว้นแต่ต้องการความรู้ที่ลึกซึ้ง ขอวิทยากรนำชมได้ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่วิทยากรก็ไม่พ้นอาจารย์ทำนุ

แต่วันนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีเจ้าของและวิทยากรที่ชื่อทำนุอีกแล้ว เนื่องจากอาจารย์ทำนุถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ วันนี้จึงมีเพียง นางรำพึง และ นายธงธวัช ซึ่งเป็นภรรยาและลูกชายอาจารย์ทำนุ เป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลและบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต่อไป”

วันหนึ่งในเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ตัวแทน “ทางอีศาน” จึงเดินทางไปเยี่ยมชม และได้เห็นกับตาว่า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก ยังไม่ปิดฉากไปตามผู้ก่อตั้ง เพราะนางรำพึงกับลูกชายรวมทั้งแม่อาจารย์ทำนุ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของอาจารย์ทำนุอย่างเคร่งครัดว่า จะช่วยการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต่อไปอย่างสุดความสามารถ

จากการเดินสำรวจพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะหัวใจของพิพิธภัณฑ์ ก็คือ อาคารชั้นเดียวที่กว้าง๗ เมตร ยาว ๑๒ เมตร พบว่า เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ยังคงวางอยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนตอนเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่ ๆ เพียงแต่ขาดการทำความสะอาด และขาดการจัดวางให้เป็นระเบียบถูกหลักวิชาการ ซึ่งงานทั้งสองส่วนนี้จำเป็นต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ เงินทุน และแรงงานที่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาระที่ทุกคนในครอบครัววรธงไชย จะต้องจัดการต่อไป หากต้องการนำพาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคกให้อยู่รอดตรงกับความต้องการของอาจารย์ทำนุผู้จากไป

สมาชิกครอบครัววรธงไชย ได้ปิดฉากปีแห่งการสูญเสียไปแล้ว เตรียมตัวเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ อย่างมีความหวังที่จะช่วยกันพัฒนาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคกในหลาย ๆ ด้าน

ด้านแรก คือการหารายได้เสริม เพื่อนำมาจุนเจือกิจการพิพิธภัณฑ์ ด้วยการลงทุนสร้างห้องแถวชั้นเดียวด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งติดกับถนนหลวง เพื่อดึงดูดให้ผู้สัญจรไปมาแวะจับจ่ายใช้สอย

สำหรับสินค้าที่นำมาจำหน่าย นอกจากอาหารเครื่องดื่ม ของขบเคี้ยวแล้ว ยังมีงานฝีมือประเภท หม้อดินเผา โอ่งดินเผา กระถางต้นไม้ฯลฯ ไว้รองรับนักเดินทางด้วย

ด้านต่อมา คือการปรับปรุงภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ในเรื่องการจัดวางเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ที่อาจารย์ทำนุสะสมไว้เป็นจำนวนมากนั้น ให้เหมาะสมกับการเป็น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งทราบว่าจะมีมิตรสหายและลูกศิษย์ของอาจารย์ทำนุที่สนใจในด้านนี้ รับปากว่าจะเข้ามาหนุนช่วยในการจัดการในเรื่องนี้ ต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถึงจะก่อตั้งโดยอาจารย์ทำนุ และดูแลโดยทายาทอาจารย์ทำนุ แต่จะเข้ามาช่วยเหลือ เพราะไม่ต้องการให้ภูมิปัญญาของชาวบ้านสูญหายผุพังไปตามอาจารย์ทำนุ

(สำหรับท่านที่ต้องการไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อเดินทางออกจากตัวอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ให้ใช้เส้นทางบุรีรัมย์ – ลำปลายมาศ เมื่อเดินทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ก็จะเห็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งเด่นอยู่ริมถนนหลวงทางซ้ายมือ / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อนางรำพึง วรธงไชย ๐๘๙-๘๔๖-๙๗๔๓)

e-shann13_รายงานพิเศษ2

ผลงานชิ้นเยี่ยมของคนธรรมดาที่ชื่อ ทำนุ วรธงไชย

นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก ที่สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวแล้ว อาจารย์ทำนุยังเขียนหนังสือและพิมพ์แล้ว ๒ เล่ม ซึ่งเป็นผลงานเขียนที่ว่าด้วย เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านล้วน ๆ ที่คนในยุคนี้ ไม่มีโอกาสได้ใช้อีกแล้ว

หนังสือทั้ง ๒ เล่ม นอกจากแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณแล้ว ยังแสดงให้ถึงความเยี่ยมยอดทางภูมิปัญญาและการเป็นคนใจใหญ่ ของคนธรรมดาสามัญที่ชื่อ ทำนุ วรธงไชย อีกด้วย

เล่มที่ ๑ : พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองบัวโคก Nongbuakok Folk Museum พิมพ์ขึ้นโอกาสทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านฯ แห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เป็นหนังสือที่อาจารย์ทำนุ เขียน วาด ถ่าย ให้เห็นให้รู้จักเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต ซึ่งวันนี้เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นหมดหน้าที่ใช้สอย พลอยให้คนรุ่นหลังไม่รู้จัก เช่น เครื่องมือที่ใช้ในครัว เครื่องมือในการหาอาหาร (ล่าดักจับสัตว์) เครื่องใช้ในการเกษตร เครื่องมือเครื่องใช้บนเรือน และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด/หนา ๙๖ หน้า/ไม่มีจำหน่าย

เล่มที่ ๒ : ล่าดักจับ กับดักอีสาน เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเครื่องมือล่าสัตว์โดยเฉพาะโดยอาจารย์ทำนุ ทั้งเขียน ทั้งวาด ทั้งถ่าย เพื่อให้เห็นเครื่องมือที่ชาวอีสานใช้ในการยังชีพสมัยโบราณกาล โดยแบ่งเป็น เครื่องมือล่า เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องมือจับสัตว์/หนังสือหนา ๑๗๖ หน้า/จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)/ราคา ๒๐๐ บาท ผลงานเขียนของ ทำนุ วรธงไชย ทั้ง ๒ เล่มนี้ จะนำมาตีพิมพ์เสนอเป็นตอน ๆ ใน “ทางอีศาน” ต่อไป.

* อดีตผู้สื่อข่าว นสพ.มติชน ประจำจังหวัดบุรีรัมย์, อดีตนายกสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ฯลฯ ผู้รับรู้และให้คำแนะนำการก่อตั้ง “ทางอีศาน” มาแต่เริ่มต้น วันนี้ขยับปากกาเข้าร่วมงานเต็มกำลัง.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com