จากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน สู่สังคมการปกครองตนเอง

จากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน สู่สังคมการปกครองตนเอง

ทางอีศาน ฉบับที่๔ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: บ้านเมืองเรื่องของเรา
Column: Our Country Is Our Business

Community culture

The continuous experience of social activists and developers as well as the active researches by the academics formed the concept of community culture. Looking back on the 30 years of the social movement, we will see that the aims of all those social activities are the survival of local communities with dignity and independence; the fi ght to protect the resources, which the communities rely on for their living; the participation in the development and management of natural resources; the maintaining of local identities. These have brought about the idea and the practice of decentralization, self-government and self-management, the formation of new institutions both in the government and in the private sectors, and also many independent organizations.

เพื่อนที่เป็นนักวิชาการชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ที่เมืองไทยนี้แปลกกว่าที่อื่นในยุคเดียวกัน การพูดถึงและให้คุณค่ากับความเป็น “ชุมชน” มีสูงมาก ทั้งในวงวิชาการ องค์กรชาวบ้าน แวดวงราชการ ในส่วนขององค์กรพัฒนาภาคเอกชนนั้นถือว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นกระแสคิดหลักของขบวนที่ยึดถือกันมาตลอดสองสามทศวรรษ แม้แต่พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงดำริเรื่อง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ หรือรูปธรรมในโครงการพระราชดำริทั้งหลาย

ขณะที่ในกระแสการพัฒนาทั่วโลกที่ชี้นำด้วยอุดมการณ์ทุนนิยมเสรีนั้น สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการล่มสลายของชุมชนเกษตรกรรม สังคมชุมชนถูกแยกสลายไปเป็นสังคมใหม่ที่นับถือคุณค่าปัจเจกนิยม การจัดตั้งทางสังคมก็เป็นการจัดตั้งกลุ่มองค์กรและเครือข่ายรายรอบโรงงานอุตสาหกรรมและย่านพาณิชยกรรม และเกิดสิ่งที่ “โชติช่วง นาดอน” เรียกว่า กลุ่มผลประโยชน์ย่อยใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างหลากหลาย

การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการสถาปนา “รัฐชาติ” ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองนั้น พบว่าแทบไม่มีที่ยืนที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับชุมชนท้องถิ่น แต่กลับมองชุมชนท้องถิ่นว่าไม่มีศักยภาพอย่างที่เกิดวาทกรรมสร้างให้ภาคเกษตรกรรมในชนบทนั้นล้าหลัง ตกอยู่ในภาวะ “โง่ จน เจ็บ” เป็นตัวสร้างปัญหาหรือเหนี่ยวรั้งการพัฒนา ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปลดปล่อยฉุดดึงเข้าร่วมกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมด้วยข้ออ้างของการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติ และต้องสลายแล้วผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐภายใต้ข้ออ้างของความเป็นชาติเดียวกัน จะว่ากันตรง ๆ ก็คือการดำรงอยู่ของชุมชนนั้นเป็นอุปสรรคโดยตรงของการพัฒนาในระบบทุนนิยม

สังคมไทยก็คงจะหลีกเลี่ยงกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ไปไม่พ้น แต่ไฉนกระแสการเคลื่อนไหวสร้างความเข้มแข็งของ “ชุมชน” จึงปรากฏตัวส่งเสียงดังอย่างนั้นในท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของทุนนิยมเสรี

มีข้อวิพากษ์มากมายต่อแนวคิดชุมชนเข้มแข็งบ้างถูกพิจารณาว่าเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสู้กับการพัฒนากระแสหลักของรัฐและทุนและแนวคิดนี้มิได้มาจาก “ชาวบ้าน” อย่างแท้จริงแต่เกิดจากการประดิษฐ์สร้างขึ้นโดยปัญญาชนภายนอกที่โรแมนติค บ้างว่าแนวคิดนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมสถานะบารมีและพยุงผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ที่แน่นอนในสังคมสมัยใหม่

ในทางวิชาการก็ยังมีข้อถกเถียงเข้มข้นว่าสำนักแนวคิดชุมชน มองความเป็นจริงด้านเดียวคือมองเห็นแต่ภาคส่วนดี ๆ ของชุมชน เน้นการอธิบายถึงโครงสร้างภายในชุมชนที่มีความกลมกลืนกันในชุมชน ความเป็นญาติมิตร ความมีน้ำใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสันโดษ ไม่ชอบความรุนแรง และมองชุมชนเป็นหน่วยความสัมพันธ์ที่เป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไร้ความขัดแย้งภายใน ฯลฯ จึงถูกมองว่ามีลักษณะของความเพ้อฝัน ขาดความสมจริง มองชุมชนหยาบไป ที่จริงแล้วทุกสังคมมีความขัดแย้งมีลักษณะชนชั้น และมีการต่อสู้ต่อรองกันอยู่ตลอดเวลา

การก่อเกิดของแนวคิด “ชุมชน” ในระดับสากล นั้นก่อเกิดมานาน ทุกที่ที่มีการกดขี่ ไล่ล่าแย่งชิงทรัพยากรไปจากมือของชาวชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ล้วนมีแรงต้านการต่อสู้ต่อรองจากชุมชนแม้ชุมชนท้องถิ่นที่ถูกรุกรานทั้งหลายจะลุกขึ้นต้านอำนาจภายนอกในทุกแห่งทุกหน แต่ด้วยความด้อยกว่าทางเทคโนโลยีและการควบคุมจัดการสมัยใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจึงอยู่ในภาวะถดถอยอ่อนเปลี้ย

แต่ท่ามกลางการพัฒนาที่คุกคามต่อชุมชนท้องถิ่นและการลุกขึ้นขืนต้านทั่วทุกมุมโลก ในที่สุดก็มีการค่อยๆ เผยให้เห็นว่า โดยแท้จริงแล้ว “ชุมชน” หรือหน่วยของการอยู่ร่วมกันของคนบนอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ นั้น เป็นการจัดตั้งตัวเอง มีข้อผูกพัน มีระบบระเบียบของการอยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน ยึดโยงให้เกิดความอยู่ร่วมกันได้โดยสงบและเมื่อมีภาวะขัดแย้งภายในระหว่างสมาชิกชุมชน ก็จะมีกระบวนการและกลไกในการแก้ปัญหาภายใน ชุมชนยังมีระบบจัดการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ชุมชนค่อย ๆ สั่งสมแบบแผนของการทำมาหากิน การดำรงชีวิตวิธีคิด ความเชื่อ อุดมคติ จนกลายเป็นวิถีหนึ่ง ๆ ขึ้นมา ตามลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์หรือตามฐานนิเวศที่เขาดำรงชีวิตอยู่ กล่าวได้ว่าชุมชนเป็น “ประดิษฐกรรม” ที่สำคัญของมนุษย์ทั่วโลก

สำหรับในสังคมไทยนั้น หลังจากมีประสบการณ์การพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมที่ทำลายล้างฐานทรัพยากรและสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาสองทศวรรษ นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ที่ผ่านการต่อสู้ทางสังคมและการพัฒนาชนบทมายาวนาน ได้สรุปประสบการณ์ยกระดับขึ้นเป็นแนวคิดวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม ในการสร้างทางเลือกใหม่เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมเรียกกันว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

ช่วงหลังปี ๒๕๒๐ องค์กรพัฒนาเอกชนได้ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศกล่าวได้ว่า ช่วงนั้นเป็นยุคของการปฏิบัติทดลองและค้นคว้าเกี่ยวกับทางเลือกของสังคมกันอย่างจริงจังหลังการเพลี่ยงพล้ำของขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทย มีการสร้างคำขวัญที่ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” โดยองค์กรพัฒนาเอกชนมีกระบวนการทำงานสำคัญคือการส่งผู้ปฏิบัติงานลงไปทำงานเกาะติดใกล้ชิดชุมชน กระตุ้นให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้และแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาของตน ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว มีการศึกษาประสบการณ์การพัฒนาชุมชนของต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะประสบการณ์งานพัฒนาของมูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทยซึ่งมีนักพัฒนารุ่นเก่าหลายคนยังมีบทบาทต่อเนื่องถึงช่วงนั้น

คำหลักที่แสดงเป้าหมายและกระบวนการงานพัฒนาในขณะนั้น เช่น การพึ่งตนเองของชุมชนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม องค์กรประชาชน การศึกษาชุมชน การสร้างผู้นำ กองทุนชุมชน ธนาคารข้าว ผ้าป่าข้าว ธนาคารยา ธนาคารวัวควาย ธนาคารน้ำ เกษตรผสมผสาน คุณภาพชีวิต ปุ๋ยปอ บ่อส้วมรวมกลุ่มประชุมสัมมนา ฯลฯ

แนวคิดประสบการณ์ตัวจริงจากพื้นที่ถูก ถ่ายทอดผ่านเวทีสัมมนา และมีวารสาร “สังคมพัฒนา” เป็นเวทีความคิดที่แหลมคม แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนถูกนำเสนออย่างเป็นระบบครั้งแรกในการสัมมนาเรื่อง “วัฒนธรรมไทยกับการพัฒนาชนบท” เมื่อ ๒๓ – ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๔ ที่สวางคนิวาส สมุทรปราการ จัดโดยสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา หลังจากนั้น ก็มีการจัดพิมพ์หนังสือหลายเล่ม เช่น “ศรัทธาพลังชุมชน” ของ บุญเพรง บ้านบางพูน (บำรุง บุญปัญญา :๒๕๒๗) “จารึกไว้ในยุคสมัยที่ซับซ้อน” และ “สายธารสำนึกและความทรงจำ” ของ อภิชาต ทองอยู่ (๒๕๒๘) “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในการพัฒนา” ของ บาทหลวงนิพจน์เทียนวิหาร (๒๕๓๐) ฯลฯ

กระแสความคิดและความเคลื่อนไหวสำคัญทั้งทางสากลและในประเทศที่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน คือ

(๑) ผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงการอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ จากการประชุมวาติกันที่ ๒ (๒๕๐๕ – ๒๕๐๘) พระสังฆราชทั่วโลกได้สร้างข้อตกลงใหม่ ในการอธิบายศาสนาว่าศาสนจักรต้องเกี่ยวพันกับโลกนี้ รับรู้แก้ไขปัญหาของมนุษย์ การยอมรับฐานะของความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยไม่จำเป็นต้องประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน และศาสนจักรต้องเป็นผู้รับใช้มิใช่ผู้อื่นมารับใช้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้นักบวชชายหญิงเข้าไปมีบทบาทเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายภูมิภาครวมทั้งประเทศไทย

(๒) การเพิ่มความช่วยเหลือจากทางสากลต่อองค์กรพัฒนาเอกชน ในช่วงหลังปี ๒๕๒๐ เกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวางขององค์กรพัฒนาเอกชน และ

(๓) ความตื่นตัวของปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย จากยุคประชาธิปไตยหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จนถึงช่วงความเพลี่ยงพล้ำของอุดมการณ์สังคมนิยมในสังคมไทย และจากการตระหนักถึงการคุกคามอย่างรุนแรงของทุนนิยมต่อชุมชนหมู่บ้าน ขณะที่เห็นว่าชุมชนหมู่บ้านยังมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอยู่

ขณะที่นักพัฒนาองค์กรเอกชนเคลื่อนไหวแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนท่ามกลางปฏิบัติการอย่างเข้มข้นในพื้นที่ ก็มีนักวิชาการได้เป็นแรงหนุนเสริมในการค้นคว้า พัฒนาทางทฤษฎีอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะจากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนักพัฒนาและชาวบ้าน โดยทำการวิจัยเพิ่มความชัดเจนของแนวคิดนี้ในมิติต่าง ๆ เช่น มิติประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชุมชน และมิติความเป็นสากล จนกระทั่งการพัฒนาข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ระดับชาติอย่างไรก็ดี ดูคล้ายกับว่าพลังการเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนกับพลังทางวิชาการของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจะเพิ่มแรงหนุนส่งซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี จน ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประกาศว่า “ปัจจุบันแนวคิดสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนสำคัญได้หลอมรวมเข้ากับแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนแล้ว”

ในที่นี้จะประมวลเอาหลักสำคัญ ๆ ของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่มีการนำเสนอจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

อุดมการณ์และหลักการของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

๑. ชุมชนมีวัฒนธรรมของตนอยู่แล้ว มีระบบคุณค่าที่รวบรวมมาได้จากประวัติความเป็นมาอันยาวนานของชุมชน คือให้คุณค่าแก่ความเป็น “คน” และแก่ “ชุมชน” ที่มีความผสมกลมกลืนคุณค่าของธรรมชาติ การเชื่อถือสิ่งเหนือธรรมชาติและคุณธรรมจริยธรรมตามหลักศาสนา วัฒนธรรมชุมชนยังคงอยู่และมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเพราะชุมชนมีกลไกผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม แม้มีปัจจัยใหม่เข้ามา แต่สิ่งเดิมก็ยังคงอยู่ สำนักวัฒนธรรมชุมชนเห็นว่า “วัฒนธรรม” เป็นพลังผลักดันการพัฒนาชุมชนที่สำคัญที่สุด จะใช้ประโยชน์ได้เมื่อมีการปลุกให้สมาชิกแห่งชุมชนมีจิตสำนึกรับรู้ในวัฒนธรรมของตน

๒. ชุมชนมีสถานะเป็นสถาบันหนึ่ง ที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีโครงสร้าง กลไกภายในเป็นระบบ ๆ หนึ่งของตัวเอง เป็นรูปแบบสังคมที่มีอายุยืนนาน ไม่ว่าธรรมชาติข้างนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรความเป็นหมู่บ้านหรือเป็นชุมชนก็คงทนมาเป็นเวลาหลาย ๆ ร้อยปี ลักษณะเช่นนี้ คือ มีความเป็นสังคมในตัวของมันเอง แสดงถึงความเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่เป็นอิสระ มีแบบแผนระบบการผลิต ระบบการจัดการทรัพยากร ระบบสุขภาพ ระบบความรู้ ระบบการเรียนรู้ศึกษา ระบบการปกครอง ระบบยุติธรรมของตนเอง จากการค้นคว้าของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แห่งสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ท่านได้พบความจริงที่กว้างขวางออกไปอีกว่า วัฒนธรรมชุมชนไทยเป็นวัฒนธรรมที่มีอาณาเขตครอบคลุมกว้างขวาง เป็นวัฒนธรรมกลางที่ชุมชนต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ตอนบนมีร่วมกัน ถือเป็นวัฒนธรรมนานาชาติที่ชุมชนหมู่บ้านชาติต่าง ๆ ใช้ร่วมกันอย่างสมัครใจ ถือเป็นวัฒนธรรมร่วม

๓. ชุมชนมีระบบเศรษฐกิจระบบหนึ่งของตัวเอง มีครอบครัวและชุมชนเป็นหน่วยการผลิต มีเป้าหมายของตัวเองคือมุ่งให้ครอบครัวพอเพียงที่จะดำรงชีพได้และชุมชนอยู่รอด และผลิตซ้ำตัวเองได้ ผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง แม้อาจผลิตเพื่อขายก็เพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวไม่ใช่ให้มีกำไรสูงสุดให้ร่ำรวย ใช้แรงงานสมาชิกในครอบครัวตัวเองเป็นหลัก มีน้ำใจและความเอื้ออาทร ความเป็นญาติมิตรเป็นเครื่องร้อยรัดส่วนต่าง ๆ ของระบบจัดสรรและแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์เอกชนไม่มีความเด็ดขาด ในหลายกรณีชุมชนและเครือข่ายชุมชนมีส่วนในการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรและผลผลิต

จากการค้นคว้าวิจัยอย่างกว้างขวางของสำนักวัฒนธรรมชุมชนยังพบอีกว่า ระบบเศรษฐกิจชุมชนดำรงอยู่คู่กับระบบทุนนิยมในปัจจุบันเศรษฐกิจชุมชนเป็นชีวิตการทำมาหากินของชาวไทยจำนวนมากที่สุด คิดในแง่ของจำนวนชีวิตใหญ่กว่าระบบทุน

สำหรับสังคมไทย ลักษณะการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบทุนนิยมมีความเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าด้วยปัจจัย ๓ ประการ คือ (๑) ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในอดีต (๒) ลักษณะชุมชนหมู่บ้านที่ให้ความมั่นคงและมีแรงยึดเหนี่ยวภายในสูง และ (๓) ลักษณะพิเศษของรัฐและทุนนิยมไทยที่ไม่เข้าไปจัดการการเปลี่ยนแปลงแบบแผนผลิตในชนบทเหมือนในประเทศยุโรป แต่เป็นลักษณะของการขูดรีดส่วนเกิน (ในปัจจุบันปัจจัยที่ ๑ และ ๓ อาจลดลง)

๔. ทางด้านสังคมการเมือง ชาวบ้านมีความสัมพันธ์กันผ่านระบบเครือญาติ มีการปกครองและการจัดการความสงบเรียบร้อยภายในโดยระบบอาวุโส มีผู้นำที่มีบารมีได้รับการเคารพยกย่องในชุมชน สมาชิกชุมชนมีความผูกพันกลมเกลียวเพราะมีความเคารพนับถือในผีบรรพบุรุษเดียวกัน และเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติที่คอยเป็นสิ่งควบคุมพฤติกรรมของคน ก่อให้เกิดกฎเกณฑ์ข้อห้ามให้ความชอบธรรมแก่การดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีระเบียบแบบแผน รวมทั้งคติทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ ที่เข้ามาผสมกลมกลืนในวิถีความเชื่อ พิธีกรรมและประเพณีของชุมชน สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้สมาชิกชุมชน “เป็นคนบ้านเดียวกัน” อยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลและประนีประนอม เมื่อเกิดความแตกแยกขัดแย้งก็จะมีกลไกภายในไกล่เกลี่ยตัดสิน คือ ระบบว่าความโดยผู้อาวุโสและเครือญาติ

๕. ชุมชนกับสังคมภายนอก ชุมชนมิได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นในท้องถิ่นเดียวกันในลักษณะ “เครือข่าย” และมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและทุนมาทุกยุคทุกสมัย การรุกคืบเข้ามาของระบบทุนนิยมและอำนาจรัฐราชการนั้นได้เข้ามาในลักษณะครอบงำบั่นทอนการดำรงอยู่ของชุมชนทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง ดึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพิงตลาด มีการทำลายล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นฐานดำรงชีวิตของชาวชุมชนให้เสื่อมโทรมลง ทำลายโครงสร้างการปกครองดูแลตนเองของชุมชนให้ขึ้นต่อการปกครองของรัฐและระบบราชการ ทางด้านสังคมวัฒนธรรมเกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม คุณค่าทาง วัฒนธรรมที่ดีงามในแบบแผนการดำเนินชีวิตถูกทำลายลง ถูกแทนที่ด้วยค่านิยมตัวใครตัวมัน แก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบ กอบโกยกำไร ความยกย่องนับถือคนดีถูกแทนที่ด้วยการนับถือเชื่อฟังคนรวย ฯลฯ สำนักวัฒนธรรมชุมชนเห็นว่าการใช้ “ความเจริญ” ตามแนวสังคมตะวันตกมาเป็นแบบแผนชี้นำการพัฒนาประเทศเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำลายชุมชนทำลายความดีงามในอดีต มากกว่าจะเป็นการพัฒนาให้สิ่งดีงามในอดีตเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

๖. ทางเลือกการพัฒนาตามแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชน เชื่อว่าแม้ฐานเศรษฐกิจของชุมชนและทรัพยากรจะถูกทำลายเสียหายลงไปบ้าง แต่ “จิตสำนึก” หรือ “พลังทางวัฒนธรรม” นั้นยังคงอยู่ สามารถสร้างความเข้มแข็งของชุมชนขึ้นมาใหม่ได้ เพียงแต่รูปแบบภายนอกอาจแตกต่างไปจากเดิม หลักสำคัญคือ เป็นการพัฒนาที่ไม่ทำลายล้างสถาบันชุมชน แต่มุ่งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและอยู่ร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีมีการเสนอทางเลือกดังนี้

๖.๑ การพัฒนาต้องเริ่มจากฐานวัฒนธรรมชุมชน ต้องรื้อฟื้นคุณค่าดั้งเดิมที่ชุมชนมีมาประยุกต์สร้างสรรค์ทางเลือกขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่การถอยหลังไปสู่สังคมเก่าในอดีตซึ่งเป็นไปไม่ได้ ต้องสร้างแบบแผนการผลิตและแบบแผนการดำรงชีวิตขึ้นมาใหม่ภายใต้คุณค่าที่ดีงามแบบดั้งเดิม เช่น การตั้งกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารข้าว กลุ่มออมทรัพย์เหล่านี้คือคุณค่าแห่งการสร้างหลักประกันความมั่นคงร่วมกันหรือสวัสดิการของชุมชน นักพัฒนาและปัญญาชนของชุมชนควรร่วมกับชาวบ้านวิเคราะห์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชุมชนทำให้ชาวบ้านตื่นและตระหนักในเอกลักษณ์และคุณค่าของตัวเอง ค้นพบจิตสำนึกอิสระของชุมชนเห็นคุณค่าของการรวมตัวเป็นชุมชน เห็นภัยจากการครอบงำจากวัฒนธรรมภายนอกที่เอารัดเอาเปรียบ กระบวนการนี้จะทำให้เกิดอุดมการณ์ต่อสู้ที่มีพลัง

๖.๒ การพัฒนาต้องเน้นกระบวนการกลุ่มการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อคงความเป็นชุมชนไว้ มิใช่เน้นปัจเจกชนนิยมที่คำนึงถึงแต่การต่อสู้แข่งขันทำลายล้างกันอย่างการพัฒนากระแสหลัก การรวมกลุ่มรวมตัวกันในรูปของการจัดการองค์กร เช่น สหกรณ์ สหพันธ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการช่วยเหลือกันและสร้างอำนาจในการต่อรองกับภายนอก สร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนและสร้างความร่วมมือกับคนกลุ่มอื่นในสังคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันแก้ปัญหา

๖.๓ ทางด้านการผลิตนั้นควรอยู่บนหลักการ “ผลิตเพื่อให้ทุกคนมีกินมีใช้ แล้วค่อยเอาส่วนที่เหลือส่งออก (ขาย)” จากนั้นก็มีการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมภายในประเทศ, เน้นใช้ทรัพยากรท้องถิ่น, การค้าขายแลกเปลี่ยนภายใน, เทคโนโลยีที่กำกับเองได้, พัฒนาคุณภาพประชากร, เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ หลักการนี้ถูกพัฒนามาอธิบายการสร้างทางเลือกการพัฒนาด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ธุรกิจชุมชน และอาชีพทางเลือกอื่น ๆ หลายด้านในเวลาต่อมา

๖.๔ ชุมชนต้องมีความสัมพันธ์และใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดูแลและรักษา มิใช่ทำลายล้างธรรมชาติอย่างการพัฒนากระแสหลัก เพราะธรรมชาติจะช่วยคงความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนไว้ได้

๖.๕ ข้อเสนอทางเลือกสำหรับสังคมไทยสำนักวัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะคณะ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้พัฒนายกระดับข้อเสนอทางนโยบายระดับชาติ ที่สำคัญ คือ

๑) การพัฒนาด้านวัฒนธรรมและยกระดับสถาปนาวัฒนธรรมชุมชนเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ เพราะ “ระบบชุมชน” ยังดำรงอยู่เป็นระบบใหญ่ที่สุดของประเทศ

๒) การประสานระบบเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับเศรษฐกิจทุนนิยม ประกอบขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจแห่งชาติเป็น “เศรษฐกิจสองระบบ”

๓) การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นมาสู่ “องค์การบริหารของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น” หรือคืนอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินชีวิตให้แก่ชาวบ้านนั่นเอง

ประสบการณ์อันต่อเนื่องของนักเคลื่อนไหวสังคมและนักพัฒนา รวมทั้งการค้นคว้าของนักวิชาการอย่างเอาจริงเอาจัง ได้ก่อรูปเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนนี้ขึ้น ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนทวนความเคลื่อนไหวทางสังคมในประมาณ ๓๐กว่าปีที่ผ่านมา ท่านจะเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีเป้าหมายสู่การดำรงอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรี การพึ่งตนเอง การลุกขึ้นสู้ปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นที่ชุมชนพึ่งพาอาศัยในการดำรงชีวิต การมีส่วนร่วมกับรัฐในการพัฒนาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการดำรงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น กระแสการกระจายอำนาจการปกครองตนเอง-การจัดการตนเอง การเกิดขึ้นของสถาบันใหม่ ๆ ทั้งองค์กรรัฐ เอกชน องค์การอิสระหลาย ๆ องค์กร

เหล่านี้กล่าวได้ว่า แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ได้แสดงตัวตนลื่นไหลเข้าไปในองคาพยพต่าง ๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราคงได้กล่าวถึงกันต่อไปถึงการเคลื่อนไหวในปริมณฑลต่าง ๆ ของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งการแตกตัวทางแนวคิดท่ามกลางการคลี่คลายของสถานการณ์ทางสังคม และข้อถกเถียงสำคัญ.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com