วรรณกรรมไทยจากมุมมองญี่ปุ่น ผ่านข้อเขียนของ โช ฟุกุโทมิ

อ่านจาก “อ่าน”
วรรณกรรมไทยจากมุมมองญี่ปุ่น
ผ่านข้อเขียนของ โช ฟุกุโทมิ
(นักศึกษาปริญญาเอกด้านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย)
ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: สดับหู สะดุดตา สะกิดใจ
Column: Ear-pricking, Eye-catching, Mind-blowing
ผู้เขียน: เวิน วรรณยุทธ์

aan

ผมตั้งใจจะนำเอาเรื่องสั้นจากหนังสือ “ชายคาเรื่องสั้น” ของ “คณะเขียน” มาพูดถึงแต่ทว่าผมยังอ่านไม่ทั่วและยังอ่าน “ไม่ถึง” พอจะเขียนให้ครอบคลุมลุ่มลึกได้ จึงเอาไว้โอกาสหน้าบังเอิญว่าผมหยิบวารสาร “อ่าน” ฉบับล่าสุด คือปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖ มาพลิก ๆ ดู เห็นหัวข้อน่าสนใจจากข้อเขียนชิ้นที่ว่า “เมื่อวรรณกรรมไทย (อาจจะ) กลายเป็นวรรณกรรมโลก : มุมมองจากญี่ปุ่น” ก็เลยขอพูดถึงก่อน

ต้องขออนุญาตผู้จัดทำวารสาร “อ่าน” และโช ฟุกุโทมิ ผู้เป็นเจ้าของข้อเขียนที่ผมจะพูดถึงถือเป็นมุมมองกลับจากผู้อ่านไทยคนหนึ่งก็แล้วกัน

ข้อเขียนของโช ฟุกุโทมิ นักศึกษาปริญญาเอกด้านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาต่างประเทศ มีความยาวกว่า ๑๐ หน้ากระดาษหนังสือ “อ่าน” มีภาพประกอบเป็นปกหนังสือวรรณกรรมไทย ที่ได้รับการนำไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นกว่า ๒๐ ปก มีตั้งแต่นวนิยายของนักเขียนใหญ่ฝ่ายขวาคือ “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “คู่กรรม” ของ “ทมยันตี” งานของนักเขียนใหญ่ฝ่ายก้าวหน้า (หรือฝ่ายซ้าย) คือ “แลไปข้างหน้า”, “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรี บูรพา”, “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์, “ฟ้าบ่กั้น” ของ “ลาว คำหอม” ฯลฯ เรื่อยลงมาถึงรุ่นชาติ กอบจิตติ, วิมล ไทรนิ่มนวล, วินทร์ เลียววาริณ ฯลฯ กระทั่งรุ่นหนุ่มมาก ๆ อย่างปราบดาหยุ่น

กล่าวได้ว่า มีงานวรรณกรรมไทยได้รับการแปลเป็นภาษาเจแปน ไปอวดเนื้อหาสาระ และแสดงฝีมือความสามารถพอสมควรที่พอจะประเมินค่าได้

ถ้าเปรียบกับงานวรรณกรรมของนักเขียนญี่ปุ่นที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ดูเหมือนของเราจะมากกว่าก็ไม่แปลก เพราะคนไทยอ่านหนังสือน้อยนั่นเอง!

โช ฟุกุโทมิ ได้ลำดับเรื่องจากความเป็นวรรณกรรมโลก, วรรณกรรม “โลก” ในญี่ปุ่น ฯลฯ เรื่อยมาถึงความสนใจของคนอ่านญี่ปุ่นที่มีต่อวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งได้การยอมรับว่าเป็นวรรณกรรมโลก รับอเมริกาและรัสเซียเข้าไว้ด้วย

ถึงทศวรรษนี้ (๒๐๐๕-๒๐๐๖) สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นนำเอางานแปลเก่าที่หมดสัญญาอย่าง “เจ้าชายน้อย” มาแปลใหม่พิมพ์ออกจำหน่ายกว่า ๑๐ สำนวน ที่น่าตื่นเต้นคือการนำเอา “พี่น้องคารามาซอฟ” ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ มาแปลใหม่ พิมพ์เป็นชุด ๕ เล่มจบ ได้รับการต้อนรับจากนักอ่านญี่ปุ่นอย่างเกรียวกราวขายได้นับล้านเล่ม

ส่วนวรรณกรรมไทยนั้น ได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นน้อยมาก เว้นแต่งานเขียนของนักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่อย่างปราบดา หยุ่น ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแทบทุกชิ้น และคนอ่านญี่ปุ่นให้การต้อนรับค่อนข้างมาก เพราะอะไร เดี๋ยวค่อยพูดถึง

โช ฟุกุโทมิ ชี้ว่า คนญี่ปุ่นมองวรรณกรรมไทยอย่างเป็น (แค่) “ไกด์บุ๊ค” ซึ่งก็คือหนังสือนำเที่ยวนั่นเอง !

คำว่า “แค่” ในวงเล็บนั้นผมเติมใส่เอง ดูเหมือนโช ฟุกุโทมิ จะพยายามเขียนให้กระทบกับความเป็น “ไทย” น้อยที่สุด เขาเพียงประมวลเอาความสนใจของคนญี่ปุ่นมาพูดถึงแค่เท่านั้น และไม่วิจารณ์ตรง ๆ ว่างานวรรณกรรมไทยทั้งหลายที่นำไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นนั้น “ยังไม่เข้าขั้น” หรือยังไม่ถึงชั้นที่จะได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นในฐานะวรรณกรรม เป็นได้แค่วรรณกรรมศึกษา หรือเอเชียศึกษา หรือว่าเป็นคู่มือนำเที่ยว ที่ไม่ “ครอบคลุม” เสียอีกด้วย

เราคนไทยอาจจะเห็นแย้ง หรือไม่ยอมรับก็ได้แต่ก็น่าจะนำมาเป็นคันฉ่องส่องงานเขียนของนักเขียนไทยเราว่า ยังไม่ถึงระดับอย่างที่เขาว่า หรือถึงแต่คนญี่ปุ่นมองอย่างมี “อคติ” กันไปเอง อย่างน้อยเราจะได้พิถีพิถันในการแนะนำหรือคัดสรรงานที่ส่งไปแปลแล้ว “ไม่อายสาวญี่ปุ่น” เขา

โช ฟุกุโทมิ อาจจะท้าวความถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจทางการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นชาติที่พัฒนาก้าวหน้ากว่าชาติเอเชียด้วยกันในทุกด้าน ความรู้สึกเหนือกว่าทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความคิดชาตินิยม อย่างที่เขาใช้คำว่าลัทธิ “บุรพนิยม” ขึ้นมา ถึงแม้ญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้ลงในสงครามโลกและถูกอเมริกาควบคุมเข้มในด้านการทหาร แต่ในด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นก็พัฒนารุดหน้า เป็นชาติมหาอำนาจทัดเทียมกับชาติในยุโรป หรือเหนือกว่าจนได้เปรียบดุลการค้ากับอเมริกาด้วยซ้ำ ความรู้สึกแบบ “บุรพนิยม” ยังมีอยู่ และมีมากขึ้นอีกด้วย งานวรรณกรรมจากชาติที่ด้อยกว่า ก็ยิ่งด้อยหนักขึ้นไปอีกในสายตาคนญี่ปุ่น แม้ว่างานนั้นจะเขียนถึงชายญี่ปุ่นเป็น “พระเอก” อย่างโกโบริ ใน “คู่กรรม” ก็ตามที

เรื่องนี้เราคนไทยรู้ดีอยู่แก่ใจ มีเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม (อุส่าหากรรม) ใดในประเทศไทย ที่ไม่มีคนญี่ปุ่นเกี่ยวข้องบ้าง เมื่อนักเขียนไทยเขียนถึงแต่เรื่องท้องถิ่นไทย เขียนแบบไทย ๆ ด้วยมุมมองแบบไทย ๆ และด้วยภาษาไทย ความสนใจของคนญี่ปุ่นจึงน้อยที่สุดที่จะน้อย

แต่ผมว่า ถึงจะเขียนด้วยภาษาอังกฤษ หรือเขียนด้วยภาษาญี่ปุ่นโดยตรง แต่ถ้าเรื่องไม่ดี ฝีมือไม่ถึงขั้น ก็คงไม่ได้รับความสนใจอยู่ดี

มันไม่ใช่เรื่องไทย ภาษาไทยอะไรหรอก มันเป็นเรื่องของ “ถึงหรือไม่ถึง” ระดับโลกต่างหากถ้าถึงแล้วจะได้รับการแปลหรือไม่แปล จะมีต่างชาติอ่านหรือไม่อ่าน มันก็ถึงอยู่นั่นเอง !

ส่วนที่งานของปราบดา หยุ่น ได้รับความสนใจค่อนข้างดีในญี่ปุ่น โช ฟุกุโทมิ ชี้ว่า น่าจะมาจากว่าปราบดาเขียนงานที่เป็นขนบแบบไทย ๆ น้อย มีประเด็นนำเสนอที่เป็นสากล (หรือเป็นแบบโพสต์โมเดิร์น) ไม่จำกัดหรือตีกรอบตัวเอง แต่พยายามนำเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็มองเห็นความพยายามในการฉีกตัวเองออกจากความซ้ำซากของงานเขียนแบบไทย ๆ ทำให้คนอ่านญี่ปุ่นตื่นตาตื่นใจได้

อีกประเด็นหนึ่ง อาจเป็นเพราะทัศนคติด้านดีที่ปราบดามีต่อประเทศญี่ปุ่น ดังเห็นได้จากหนังสือ “เขียนถึงญี่ปุ่น” ของเขา

นั่นคือความเห็นของโช ฟุกุโทมิ ซึ่งก็น่ายินดีไปด้วยกับปราบดา หยุ่น ที่เป็นเสมือนผู้บุกเบิกงานวรรณกรรมไทยรุ่นใหม่ไปสู่สายตาของนักอ่านในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น

โช ฟุกุโทมิ สรุปในข้อเขียนตอนท้ายว่า ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง ปรารถนาที่จะสัมผัสกับวรรณกรรมไทย ที่ลงหลักปักฐานหรือมีรากฐานบนดินแดนของประเทศไทย และขณะเดียวกันก็สัญจรทั้งในโลกจริง และโลกจินตนาการอย่างอิสระมากกว่านี้ และในฐานะนักวิจัยคนหนึ่งปรารถนาที่จะแนะนำผลงานในลักษณะนี้ให้คนญี่ปุ่นได้รู้จัก

เพราะ “ผลงานชิ้นหนึ่ง ๆ จะสามารถโลดแล่นอย่างทรงพลังในฐานะวรรณกรรมโลกได้ ก็ต่อเมื่อไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนไหน หรือห้วงเวลาใดก็ตาม มันสามารถปรากฏตัวขึ้นอย่างมีพลังในระบบวรรณกรรม ซึ่งอยู่นอกเหนือวัฒนธรรมอันเป็นต้นกำเนิดของตัวมันเท่านั้น”

ผู้สนใจอ่านข้อเขียนของโช ฟุกุโทมิ เต็ม ๆ กรุณาหาอ่านได้จากวารสาร “อ่าน” อันเข้มข้นทุกข้อเขียนนี้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com