บุญเดือนห้า

Wat That(Wat Nua) is an ancient temple of Khon Kaen that belongs to Khon Kaen governer for more than a century.

The first governer of Khon Kaen, Phraya Nakorn Sri Borirak Barom Raja Phak Dee(Thao Phia Muang Pan), had built the temple while Khon Kaen was establishing in B.E. 2332.

Phra That Chedi is a sacred place located in Wat That, that is why the temple is called “Wat That” but people usually call it “old town temple” (“Wat That Muang Kao” or “Wat That Nakorn Derm”)

Since many chedis in the temple were broken without any artifact left, the temple’s committee assigned Thawil Akhad to be the head of designing the new “Phra That” covering all the ruined brick of old chedis. Technician Chatchawal and his team had built larger basement and taller height of the new “Phra That” while technichian Ken Amataraj and his team had built body part of it following the design.

The new “Phra That” is fi nished in early B.E. 2524.

This new “Phra That” was named “Phra That Nakorn Derm” for conservation of confi dence and sacredness.

Panomporn


“ตู ตู๊ ตู่… หมอคร้าบ ผมลากิจ ๒ มื้อเด้อ” อ้ายนิรัญ หนุ่มใหญ่เจ้าของกิจการรถขายไอศกรีมที่มีเสียงเพลงอันเป็นเอกลักษณ์แจ้งข่าวให้ทราบโดยทั่วกัน

“หนีเที่ยวสงกรานต์บ่อ้าย” ฉันสัพยอก

ไอศกรีมรสโปรดสองแท่งถูกยื่นมาให้ พร้อมรอยยิ้มเก้อเขินยามบอกว่าจะไปสรงน้ำอัฐิธาตุของบุพการีที่บ้านภรรยา อ้ายนิรัญเล่าว่า เป็นชาวขอนแก่นนี่ละ แต่แต่งเข้าบ้านภรรยาที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อถึงเทศกาลงานบุญใด ๆจึงต้องตามภรรยาที่เคารพกลับไปด้วย

ด้วยความสูงของดั้งจมูกที่พอจะมีอยู่บ้างแบบลาวกะเทิน ทำให้อยากรู้ว่าอีสานแท้ ๆ นั้นเขาปฏิบัติเช่นไร อ้ายนิรัญได้บอกชนิดสำเนาถูกต้องเหมือนกับทุก ๆ คนที่ฉันไปถามข้อมูลว่า

“ชาวอีสานเราก็ง่าย ๆ ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมาก อาศัยความจริงใจเป็นหลัก

“อย่างที่บ้านนี่เวลาจะไปก็เรียกญาติพี่น้องโดยผู้น้อยจะเป็นผู้ชักชวนผู้ใหญ่ไปสรงน้ำอัฐิธาตุที่ธาตุบรรจุอัฐิตามวัด

“น้ำที่ไปสรงก็เป็นพวกน้ำอบลอยดอกมะลิจะเตรียมแป้งฝุ่นไปด้วยก็ได้ ถ้ามีญาติที่เสียไปหลายคน ขันก็จะใหญ่หน่อย ธาตุหนึ่ง ๆ อาจจะมีอัฐิของญาติหลายคนมาเก็บร่วมกัน หรืออัฐิของบางบ้านอาจจะอยู่คนละที่กันด้วยเนื้อที่จำกัด หรือเสียชีวิตไม่พร้อมกันก็ได้

“สำหรับชาวอีสานจะถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสังขารล่องหรือวันปลง จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานในบริเวณที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้และสรงน้ำในวันที่ ๑๔ เมษายน ซึ่งอยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่จะเรียกวันเนา วันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันสังขารขึ้น ถือเป็นวันปีใหม่ กิจกรรมหลัก ๆ คือการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระภิกษุและผู้อาวุโส ในบ่ายวันวันที่ ๑๖ เมษายน จึงอัญเชิญพระพุทธรูปกลับไปประดิษฐานที่เดิม และช่วงเวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ น. พระสงฆ์ท่านจะตีกลองเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านมาร่วมกันก่อกองทรายที่วัด”

ไอศกรีมสองแท่งในมือเริ่มมีพรายน้ำหยด จริงสิวันพรุ่งนี้ฉันก็ต้องไปสรงน้ำพระเช่นกัน

เสียงจ้อกแจ้กจอแจอันวุ่นวายไม่คล้ายเขตอภัยทานถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ผู้คนมากมายทั้งชาวชุมชนศรีธาตุเองและจากที่อื่น ล้วนต้องการที่จะมานมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดหนองแวงแห่งนี้ ฉันและครอบครัวพากันเร้นกายออกจากสถานที่แสนสับสนเพื่อไปยังวัดที่สงบเงียบกว่า ผู้คนวุ่นวายน้อยกว่าถึงขั้นบางตา แต่เป็นที่ประดิษฐานของพระคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น… หลวงพ่อพระลับแห่งวัดธาตุ พระอารามหลวง

ฉันเขย่งปลายเท้าหลบน้ำเจิ่งนองเป็นหย่อมซึ่งเป็นผลจากความสามัคคีกันขัดถูทำความสะอาดพระพุทธรูปทองเหลืองที่ประดิษฐานรายรอบองค์พระธาตุนครเดิม

วัดธาตุพระอารามหลวง (วัดเหนือ) เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่น ด้วยเป็นวัดสำหรับเจ้าเมือง มีเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดสืบต่อกันมากกว่าศตวรรษ เจ้าอาวาสอาจจะมีตำแหน่งเป็นพระครูหลักคำ พระครูสังฆราช พระครูด้าน พระครูฝ่าย พระครูยอดแก้วหรือพระครูลูกแก้ว ตามศักดิ์ที่ใช้เรียกตำแหน่งสมณศักดิ์ในสมัยนั้น

พระยานครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี หรือท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองขอนแก่นได้สร้างวัดธาตุขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒

วัดธาตุมีปูชนียสถานสำคัญ คือ พระธาตุเจดีย์เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ‘วัดธาตุ’ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดธาตุเมืองเก่าบ้าง วัดธาตุนครเดิมบ้าง และเนื่องจากภายในวัดมีพระเจดีย์หลายองค์ ทุกองค์ชำรุดทรุดโทรมพังทลายไปเกือบหมดสิ้น จนไม่สามารถจะสังเกตได้ว่าองค์ไหนคือพระธาตุองค์เดิมที่เจ้าเพียเมืองแพนได้สร้างขึ้น หลักฐานใด ๆ ก็ไม่มีปรากฏคณะกรรมการวัดจึงมอบหมายให้นายช่างถวิลอัคฮาด เป็นหัวหน้าคณะช่าง ออกแบบสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบองค์เดิมไว้ทั้งหมด ต่อมานายช่างชัชวาลย์และคณะ ได้วางฐานโครงสร้างพระเจดีย์ให้กว้างออกไปโดยสร้างให้ใหญ่และสูงกว่าองค์เดิม วัดรอบพระเจดีย์ได้ ๒๕ เมตร มีส่วนสูงวัดจากยอดสุดลงมา ๔๕ เมตร และ นายช่างเคนอมตราช พร้อมด้วยคณะได้ก่ออิฐองค์พระเจดีย์ตามโครงสร้างที่วางไว้ หุ้มด้วยกระเบื้องเคลือบสีทองอร่ามทั้งองค์

เสร็จสมบูรณ์เป็นองค์พระเจดีย์เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และได้ประกอบพิธียกฉัตรขึ้นสู่บนยอดพระเจดีย์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๔ เวลา ๑๐.๑๐ น. โดย พระราชปริยัติโมลี รองเจ้าคณะภาค ๘ วัดมัชฌิมาวาส อุดรธานี เป็นประธานและเพื่อรักษาศรัทธาปสาทะและความศักดิ์สิทธิ์ไว้จึงให้ชื่อว่า ‘เจดีย์พระธาตุนครเดิม’ ตามที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ปกติแต่ละปีที่ผ่านมา มาสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่พระธาตุนครเดิมครั้งใดมักจะได้กราบไหว้อยู่แต่เพียงชั้นนอก แต่ปีนี้ทางวัดได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปสักการะถึงข้างในพระเจดีย์ ทำให้เกิดความประหลาดใจอยู่หลายส่วน

“เมื่อก่อนไม่ได้เปิดให้เข้ามาสักการะภายในเพราะไม่มีผู้ดูแล พอดีหลวงพ่อมาบวชที่นี่ เลยวานให้มาช่วยดูแลบริเวณพระเจดีย์” แม่ใหญ่นามไพเราะ ‘ศรีเสน่ห์’ ขยายความ ขณะที่ฉันหย่อนค่าดอกไม้ธูปเทียนตามกำลังศรัทธาลงในกล่องรับบริจาค

“หนูทราบที่มาของพระบรมสารีริกธาตุแต่ละองค์ ที่บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์หรือไม่” แม่ศรีเสน่ห์ถาม

“อ้าว! ตามประวัติว่าทรุดโทรมมากจนพังทลายระบุไม่ได้ ไม่ใช่เหรอคะ” หน้าผากของฉันคงจะมีเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเริ่มแปะอยู่ ไม่ต้องเอ่ยปากแม่ใหญ่ตรงหน้าก็เล่าให้ฟัง

“ใช่ แต่ต่อมาภายหลังหลวงปู่เจ้าอาวาสรูปก่อน คือ หลวงปู่พระธรรมวิสุทธาจารย์ ท่านได้รับการแบ่งถวายมาให้จาก ๓ แหล่ง สำคัญด้วยกัน” แม่ใหญ่เว้นช่วงการเล่าเพื่อสังเกตว่า ฉันอยากฟังต่อหรือไม่ เมื่อเห็นฉันวุ่นวายกับการหากระดาษและปากกามาจดบันทึก คนเฒ่าจึงมีกำลังใจเล่าต่อ…

“แหล่งแรกเป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนอุรังคธาตุ จำนวนหกสิบองค์ ได้มาจากวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระราชปรีชาญาณมุนี (พระธรรมปริยัติมุนี) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมแบ่งถวายให้

“แหล่งที่สองได้มาจากตระกูลสิงหเสนี สกุลตระกูลของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘เจ้าพระยาปราบฮ่อ’ โดยท่านได้รับมอบพระพุทธรูปเชียงแสนครั้งเมื่อไปหัวเมืองเหนือแต่ไม่ทราบว่าในเศียรของพระพุทธรูปนั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี ทายาทตระกูลเป็นผู้พบ แล้วนำมาถวายหลวงปู่เพื่อสืบทอดพระศาสนา แต่ไม่ได้ระบุจำนวนไว้

“ส่วนแหล่งสุดท้ายดอกเตอร์จิณวิภา มุ่งการดี นักปฏิบัติธรรมและวิปัสสนา มอบถวายห้าร้อยองค์”

คำที่ว่า ‘เป็นคนเฒ่า นั่งเล่าความหลัง’ นั้นฉันเพิ่งจะเห็นแจ้งแก่ใจเอาก็ตอนที่ได้มาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อลงรายละเอียด ซึ่งผู้ที่เป็นแหล่งข้อมูลหากไม่เป็นภิกษุชราก็เป็นพ่อใหญ่แม่ใหญ่ทั้งสิ้น บางทีพวกท่านเหล่านั้นอาจจะกำลังเหงาด้วยลูกหลานนิยมมุ่งไปตายดาบหน้ากับความศิวิไลซ์ของเมืองหลวง เมื่อฉันเข้าไปซักถามชักชวนพูดคุยถึงเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ไปเก็บข้อมูล ผู้เฒ่าล้วนถ่ายทอดให้ฉันได้ฟังโดยไม่อำพราง ในฐานะคนรุ่นหลังฟังแล้วจินตนาการตามยังพลอยตื่นใจกับการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

นั่งฟังแม่ศรีเสน่ห์ถ่ายทอดภาพความทรงจำเก่าทว่าสีสันยังไม่เลือนอยู่อีกครู่ใหญ่ ก็ถึงเวลาที่ทางวัดได้นิมนต์หลวงพ่อพระลับขึ้นรถแห่ไปตามถนนกลางเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล ฉันจึงได้ลากลับเพื่อไปสรงน้ำพระคู่บ้านคู่เมืองบ้าง ถนนตลอดสายเปียกปอนทว่ากรุ่นกลิ่นหอมไปด้วยน้ำอบไทย

หมายเหตุ

ในส่วนเรื่องราวประวัติของหลวงพ่อพระลับนั้น จากการค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับพระพุทธรูปสำคัญในภาคอีสาน ระบุเอาไว้ว่า…

หลวงพ่อพระลับ จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว ‘สกุลช่างเวียงจันทน์’ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยพระเจ้าโพธิสาร มหาธรรมิกราชาธิราช

เมื่อพระยาธรรมิกราชสิ้นพระชนม์ กลุ่มของพระยาแสนสุรินทร์ขว้างฟ้าได้เข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ เจ้าศรีวิชัยผู้เป็นพระโอรสจึงหลบหนีพร้อมนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จำนวนหนึ่งซึ่งมีหลวงพ่อพระลับรวมอยู่ ไปอาศัยอยู่กับท่านพระครูหลวง (เจ้าอาวาสวัดโพนสะเม็ด) เจ้าศรีวิชัยมีโอรสอยู่ ๒ พระองค์ คือ เจ้าแก้วมงคล หรืออาจารย์แก้ว หรือแก้วบูธม และเจ้าจันทร์สุริยวงศ์

ราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๒๓๓ ท่านราชครูหลวงได้อพยพชาวเวียงจันทน์บางส่วนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไปบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม แล้วพาครอบครัวเวียงจันทน์ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโขงเนื่องจากท่านราชครูได้รับความเคารพจากประชาชนมาก สองพี่น้องชื่อนางเพา นางแพง ซึ่งปกครองดูแลเมืองจำปาศักดิ์ได้อาราธนาท่านให้ไปปกครองนครจำปาศักดิ์ ไม่ขึ้นต่อเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง

แล้วต่อมาจึงได้อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ หรือเจ้าหน่อคำ มาเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ปกครองนครจำปาศักดิ์ ทรงมีพระนามใหม่ว่า ‘เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร’ (พ.ศ. ๒๒๕๖-๒๒๘๐) และได้ให้เจ้าแก้วมงคลอพยพครอบครัวพร้อมประชาชนพลเมืองนำเอาพระพุทธรูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากเวียงจันทน์ไปสร้างเมืองทง หรือ เมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)

จากนั้นเมืองสุวรรณภูมิก็มีเจ้าเมืองสืบต่อมาจนถึงท้าวภู ในช่วง พ.ศ. ๒๓๒๖ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระรัตนวงศา’ ได้แต่งตั้งให้ ท้าวศักดิ์ ไปดำรงตำแหน่ง ‘เมืองแพน’ มียศเป็น ‘เพีย’ เทียบเท่าพระยาฝ่ายทหารให้ไปตั้งรักษาการณ์อยู่ริมแม่น้ำชี สถานที่นั้นเรียกว่า ‘ชีโหล่น’

ต่อมา พ.ศ. เมืองใหม่ที่ชายแดนด้านเหนือเขตเมืองสุวรรณภูมิกับเขตเมืองร้อยเอ็ด ในขณะนั้นท้าวศักดิ์ซึ่งมีตำแหน่งเพียเมืองแพน ก็อพยพประชาชนพลเมืองประมาณ ๓๓๐ ครอบครัว พร้อมนำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ไปไว้สักการะเป็นมิ่งขวัญเมือง

ด้วยเห็นว่าบึงบริเวณนั้นมีต้นบอนเกิดขึ้นมากเป็นทำเลดีอยู่ใกล้ลำน้ำชี สองฝั่งบึงเป็นเนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง จึงตั้งบ้านใหม่เรียกว่า ‘บ้านบึงบอน’ และได้ก่อสร้างหลักเมืองฝั่งตะวันตกบึง (อยู่ที่คุ้มกลางเมืองเก่า)

เมื่อสร้างบ้านเรื่อนอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้น ๔ วัด คือ ‘วัดเหนือ’ สำหรับให้เจ้าเมืองและลูกไปทำบุญอุปัฏฐาก ‘วัดกลาง’ สำหรับให้เสนาอำมาตย์พร้อมลูกหลานไปทำบุญอุ‘วัดใต้’ สำหรับให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทำบุญอุปัฏฐาก ‘วัดถ่าแขก’ หรือ ‘วัดท่าแขก’ อยู่ฝั่งบึงด้านทิศตะวันออก สำหรับพระภิกษุอาคันตุกะจากถิ่นอื่น ๆ มาพักประกอบพุทธศาสนพิธี (ปัจจุบันเป็นศาลเจ้าบ้านโนนทัน)

วัดที่สร้างด้วยไม้ไม่แข็งแรงมั่นคง จึงได้นำเอาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดไปซ่อนไว้โดยถือเป็นความลับเพราะกลัวขโมยหรือพวกอันธพาลมาทำลาย

เมื่อสร้างวัดเหนือแล้วจึงสร้างธาตุมีอุโมงภายใน นำเอาพระพุทธรูปไปเก็บซ่อนไว้อย่างลับที่สุด รู้แต่เจ้าอาวาสวัดเหนือเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ‘พระลับ’ หรือ ‘หลวงพ่อพระลับ’ สืบมาจนถึงทุกวันนี้

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๔๐ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ตั้งให้ท้าวศักดิ์ ซึ่งเป็นท้าวเพียเมืองแพน เขตเมืองสุวรรณภูมิเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก มีนามว่า ‘พระนครศรีบริรักษ์’

ส่วนการปกปิดพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้ในธาตุไม่มีใครเห็นจึงไม่ทราบว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้ก็เรียกว่า ‘พระลับ’ คนรุ่นต่อมาขยายบ้านเมืองมาตั้งบ้านขึ้นใหม่ด้านเหนือเมืองเก่าจึงเรียกว่า ‘บ้านพระลับ’ ทางราชการย้ายมาตั้งที่ว่าการอำเภอ เรียกว่า ‘อำเภอพระลับ’ อยู่ในท้องที่ ‘บ้านพระลับ’ เป็น ‘ตำบลพระลับ’ ย้ายศาลากลางมาตั้งที่บ้านพระลับ เรียกว่า จังหวัดขอนแก่น

ปัจจุบันพระลับกลายเป็นเทศบาลนครขอนแก่นเหลือเป็นอนุสรณ์ ‘ตำบลพระลับ’ อยู่ทางตะวันออกเมืองขอนแก่น เมื่อได้เป็นจังหวัดขอนแก่นแล้ววัดเหนือเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดธาตุพระอารามหลวง’ วัดใต้ ตั้งอยู่ริมหนองน้ำที่มีต้นแวงขึ้นมาก จึงเรียกว่า ‘วัดหนองแวงพระอารามหลวง’

ครั้นถึงสมัย ‘หลวงปู่พระเทพวิมลโมลี’ (เหล่าสุมโน) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นรองเจ้าคณะภาค ๙ (มหานิกาย) รองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่นท่านมีอายุได้ ๘๖ ปี เกรงว่าต่อไปจะไม่มีใครรู้จัก ‘หลวงพ่อพระลับ’ ท่านจึงได้เชิญนายกวี สุภธีระ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น มาเป็นสักขีพยานเปิดเผยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ให้เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองขอนแก่น ให้สาธุชนรู้จักและทำพิธีเป็นทางการเมื่อวันออกพรรรษาปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ (๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗) นาม ‘หลวงพ่อพระลับ’ จึงเป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

บุญเดือนห้า
ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: หลงฮอยอีศาน
Column: Passion of E-shann Culture Trail
ผู้เขียน: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม : เรื่องและภาพ

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
งานสงกรานต์ของคนอีสาน
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com