ปรากฏการณ์ภาษาอีสาน

ภาพจากละครเรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ”

A Thai proverb goes Accent reveals language, demeanor reflects family.  Learning a language therefore means getting to know one race. Trying to know various dialects is not meant only for communication or entertaining but it is a gain for life, because it widens our worldview.

To know one language is to see the world in one way; knowing other languages enables us to better   understand the world in other people’s life. The more tongues we learn, the wider perspective of life we get.

Learning different accents of languages in the Northeast, in the North and the South should be done with respect for the identity and the cultural heritage of every region. An access to the beauty of a language is a way to experience and understand the culture of the language speakers. Because language is a form of life and the soul of the people speaking that particular language.

ภาษาอีสานกำลัง “ฮิต” ทั้งในละครทีวี ในเพลงลูกทุ่ง สื่อวิทยุและสื่อสังคม นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ดาราน้อยใหญ่ที่ไม่ใช่ลูกอีสานต้องหัดออกเสียงสำเนียงอีสานให้ได้ นักร้องลูกทุ่งก็ต้องหาพี่เลี้ยงฝึกฝนจนร้องได้เนียน ๆ เหมือนคนอีสาน

เพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาอีสานดั้งเดิมอย่างคำแพง, คู่คอง, ผู้สาวขาเลาะ ติดอันดับยอดฮิตในยูทูป มีวิวสี่ห้าร้อยล้าน นอกนั้นก็มีเพลงที่มีเนื้อร้องแบบอีสานแท้ ๆ อย่าง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” และอื่น ๆ ที่ฮิตติดหูติดอันดับ ขึ้นเวทีประกวด เป็นที่ชื่นชอบไม่เพียงแต่สำหรับคนอีสาน แต่คนไทยภาคอื่น ๆ ด้วย

เพลงลูกทุ่งสไตล์อีสานกลายเป็นกระแสที่วงการเพลงต้องไหลตาม เพราะเพลงดัง ๆ ทั้งหลายไม่จำเป็นต้องไปสังกัดค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อีกต่อไป แค่แต่งเพลงร้องเองส่งขึ้นยูทูป ถ้าดังติดตลาดก็เหมือนว่าวที่ติดลมบน ผู้บริโภคคือผู้ตัดสิน ไม่ใช่ยัดเยียดโหมโฆษณาจ้างเปิดทั้งวันทางสถานีวิทยุอย่างที่ทำ ๆ กันมา

วันนี้เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลกแบบหักมุม ความต้องการ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นที่รับรู้ได้ผ่านสื่อสังคม ใช้สมาร์ทโฟนที่ “สั่งได้” ทำให้ผู้ผลิตต้อง “ตามใจ” ผู้บริโภค ทำให้ยักษ์ใหญ่ที่ผลิตเพลงต้องจ้างคนทำเพลงสไตล์อีสานจากเมืองหมอแคนไปเป็นที่ปรึกษาและทำเพลงให้  ทำให้คนทำละครต้องจ้างพี่เลี้ยงอีสานฝึกฝนการออกเสียงสำเนียงอีสานให้ตัวละครใน “นาคี” และละครอื่น ๆ ที่ผู้แสดงต้องพูดภาษาอีสานทั้งเรื่อง เป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็มีบ้างอย่าง “นายฮ้อยทมิฬ” และละครบางเรื่องในอดีต แต่ก็ไม่ได้ทำกันจริงจังอย่างวันนี้ พูด “อีสานทองแดง” ก็ไม่ว่ากัน แต่วันนี้ไม่ใช่

ความจริง ปรากฏการณ์ภาษาอีสานในสื่อไม่ได้เพิ่งเกิด ค่อย ๆ มีมานานแล้ว ในวงการเพลง โด่งดังติดตลาดมาตั้งแต่เพลง “อีสานลำเพลิน” กว่าสี่สิบปีก่อน ลำเพลิน ลำซิ่งต่าง ๆ เป็นอะไรที่ผู้คนทั่วไปชอบฟัง ไม่ว่าคนภาคไหน เพลงลูกทุ่งอีสานที่สอดแทรกภาษาถิ่นก็มีมานาน

นักแต่งเพลงคนอีสานอย่าง ครูสุรินทร์ ภาคศิริ ครูสลา คุณวุฒิ และอีกหลายท่าน แต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอีสานมานาน สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณของคนอีสาน ที่สื่อโซเชียลวันนี้ได้แพร่กระจายแบ่งปันกันไปทั่ว ทั้งในเมืองไทยและคนอีสานทั่วโลก เร้าความรู้สึกรักบ้านเกิด ปลุกสำนึกในรากเหง้าของตน

วันนี้จึงมีสถานี “อีสาน” ในกรุงเทพฯ ที่พูดอีสานทั้งวัน เปิดเพลงอีสาน โดยเฉพาะการลำการร้องสไตล์อีสานต่าง ๆ อีกหลายสถานีมีรายการ “อีสาน” บางช่วงบางเวลา

คนอีสานมาทำงานกรุงเทพฯ นานแล้ว ตั้งแต่ถีบสามล้อมาจนถึงขับตุ๊กตุ๊กและแท็กซี่ จับกัง ขนของแบกอิฐแบกปูน งานก่อสร้าง เป็นเด็กปั๊ม เด็กอู่ซ่อมรถ เป็นคนรับใช้ทำงานบ้าน กรรมกรโรงงาน วันนี้มีหลายล้านคน จำนวนมากได้พัฒนาตัวเองจากงานที่ว่ามาเป็นผู้ประกอบการที่เมืองหลวง หรือกลับไปบ้านเกิด

แม้จะมีจำนวนมากกว่าทุกภาคใน กทม.และปริมณฑล คนอีสานในอดีตก็มักไม่ค่อยพูดภาษาอีสานในที่สาธารณะ เนื่องเพราะกลัวคนดูถูก ความรู้สึกนี้เริ่มเปลี่ยนไป และดูเหมือนวันนี้จะมาถึงจุดที่พูดภาษาอีสานเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ไปแล้ว เช่นเดียวกับที่คนเหนือคนใต้พูดจาภาษาถิ่นของตนเองด้วยความมั่นใจมานาน

สังคมเปลี่ยนไป ผู้คนได้ความเชื่อมั่นที่หายไปกลับคืนมา คนเริ่มภูมิใจในรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของตัวเอง เริ่มแสดงออกทางเครื่องแต่งกายท้องถิ่น อาหารการกินพื้นบ้านที่รสชาติจัดจ้าน อาหารอีสานได้รับความนิยม มีขายกันทั่วประเทศ ขึ้นเหลาเข้าโรงแรมใหญ่ได้สบาย

ภาพยนตร์เรื่องผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ ภาค ๒

การฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การส่งเสริมโอทอป และอื่น ๆ มีส่วนสำคัญในกระบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรม ทรัพยากรท้องถิ่นในนามของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

ปรากฏการณ์อีสานจึงเกิดขึ้นในบริบทเช่นนี้ ตามวิวัฒนาการและวิภาษวิธีของสังคม ทำให้เกิดความรู้จากเพลง ดนตรี อาหาร เครื่องแต่งกาย และภาษาไปสู่การมองโลกมองชีวิตของคนอีสาน เข้าใจปัญหา ความต้องการ ความทุกข์ ความสุข ความใฝ่ฝันของคนอีสาน พรรคการเมืองใดที่จับประเด็นนี้ได้ก็ได้ใจคนอีสาน

อีสานในอดีตแห้งแล้ง แต่คนอีสานก็ดิ้นรนทำมาหากินพอเลี้ยงชีพได้ มีพออยู่พอกิน แต่เมื่อมีโครงการพัฒนาเกิดขึ้นมามากมาย ตั้งแต่ ๒๕๐๔ ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม คนอีสานกลับมีที่ไม่พออยู่ มีข้าวปลาอาหารไม่พอกิน ต้องอพยพย้ายถิ่นไปเมืองกรุง ไปต่างถิ่นต่างภาคเพื่อหาที่ทำกินใหม่

ทั้ง ๆ ที่อีสานฝนตกปีละ ๑,๕๐๐ มิลลิเมตร มากกว่าทุกภาคยกเว้นภาคตะวันออก แต่อีสานกลับมีแต่น้ำท่วมกับภัยแล้ง ไม่มีระบบชลประทานที่จะทำการเกษตรได้ทั้งปี ต้องพึ่งพาอาศัยเทวดาเท่านั้น อีสานจึงอยู่ได้ด้วยความเชื่อและศรัทธามากกว่าเหตุผล ด้วยตำนานมากกว่าความจริง

อีสานมีตำนานมากมายที่หลายครั้งไม่ได้แยกจาก “ประวัติศาสตร์” เพราะ “ตำนานสำคัญกว่าความจริง” จึงมีเรื่องพญานาคมากกว่าภาคอื่น ๆ เพราะสัมพันธ์กับน้ำ กับแหล่งน้ำ ที่ให้ชีวิตกับผู้คนตลอดมา

อีสานมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีหลายเผ่าพันธุ์ มีลาวกาว, มอญ, เขมร, ผู้ไท, ญ้อ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมเดียวกับชาวลาวในประเทศลาว คนอีสานในอดีตจึงมักเรียกตนเองว่า “ลาวอีสาน” ที่ต่อมาไม่ค่อยพูดกันอีก เพราะคำว่า “ลาว” ในบางกรณีถูกใช้เป็นการดูถูกดูหมิ่น

วันนี้อิทธิพลของละครและเพลงทำให้ภาษาอีสานได้รับความสนใจ จนมีคนถามไถ่ถึงความแตกต่างระหว่างสำเนียงอีสาน นับเป็นเรื่องดี เพราะแต่ละเผ่าพันธุ์ก็มีภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง

คนอีสานส่วนใหญ่พูดสำเนียง “ลาวกาว” ตั้งแต่อุบลฯ ไปจนถึงอุดรฯ ขอนแก่น ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ไม่มากเหมือนสำเนียงภูไท หรือผู้ไท ที่กระจายอยู่หลายจังหวัดอย่างมุกดาหาร นครพนม สกลนคร ที่มีเอกลักษณ์ค่อนข้างชัดเจน แม้แต่คนอีสานด้วยกันถ้าไม่คุ้นอาจต้องแปล เพราะสำเนียงและศัพท์เฉพาะที่ไม่เหมือนภาษา “ลาว” ทั่วไป

สำเนียงญ้อ แถวสกลนครและนครพนม ก็แปลกแตกต่างไปจากสำเนียงลาวกาวและผู้ไท คนอีสานทั่วไปบอกว่าเป็นสำเนียงที่เพราะดี (คุยกับแท็กซี่คนร้อยเอ็ด ส่งภาษาบ้านเกิด แท็กซี่บอกว่า มาจากสกลนครใช่ไหม ผมบอกเขารู้ได้ยังไง แกเล่าว่า มีเพื่อนคนหนึ่งคนร้อยเอ็ดมีเมียคนสกลนคร เมียแกด่าทีไรแกจะหัวเราะชอบใจ บอกว่า “ม่วนหลาย” คงอยู่กันยืดเพราะชอบให้เมียด่า)

สำเนียงที่แปลกเป็นเอกลักษณ์ คือ สำเนียงที่เลยและทางเหนือของเพชรบูรณ์ ที่เป็นสำเนียงเดียวกับที่หลวงพระบาง บรรพบุรุษคงอพยพมาจากทางโน้น และได้อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเมืองหลวงเก่าของลาว ฟังเผิน ๆ คล้ายสำเนียงคนใต้แถวสุราษฎร์ธานี

มีสำเนียงโคราช หรือไทยโคราชที่กึ่ง ๆ ระหว่าง “ไทยกลาง” กับ “ไทยอีสาน” อย่างเป็นเอกลักษณ์ นอกนั้นก็เป็นภาษาเขมรที่พูดกันทางอีสานใต้ชายแดนกัมพูชา ที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ

ภาษิตไทยบอกว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล การเรียนรู้ภาษาหนึ่งเท่ากับรู้จักเผ่าพันธุ์หนึ่ง ชนชาติหนึ่ง ความสนใจในภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่เป็นเพียงเพื่อการสื่อสารหรือความสนุกสนาน แต่เป็นกำไรชีวิต เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์ชีวทัศน์ของเราเอง

รู้ภาษาเดียวก็มองโลกมองชีวิตแบบเดียว รู้ภาษาอื่นก็ได้กำไรชีวิต เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตของคนอื่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งรู้หลายภาษา ยิ่งเปิดโลกทัศน์ชีวทัศน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

การเรียนรู้สำเนียงภาษาของภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ซึ่งแต่ละภาคก็ยังมีความแตกต่างกันอีก เป็นเรื่องที่ควรทำด้วยความเคารพในเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น  ยิ่งเข้าถึงความละเมียดละไมของภาษาที่สะท้อนความละเอียดอ่อนของชีวิต ก็ยิ่งเข้าใจและได้สัมผัสวัฒนธรรมเจ้าของภาษานั้นได้ลุ่มลึก เพราะภาษาคือรูปแบบชีวิต (form of life) คือ “วิญญาณ” (soul) ของผู้คนที่พูดภาษานั้น

การส่งเสริมให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าท้องถิ่น การทำอาหารท้องถิ่น การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมดีงาม จะทำให้เราเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตของกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ คือเอกภาพในความหลากหลาย

ไม่ใช้ความแตกต่างสร้างความแตกแยก อ้างความชอบธรรมทางอำนาจและการเมือง ด้วยอคติทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง นำไปสู่สงครามและการรบราฆ่าฟันเพื่อมุ่งทำลายล้างให้สูญพันธุ์ อย่างการฆ่าชาวยิวโดยนาซี และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกหลายครั้งหลายพื้นที่ทั่วโลก

 

ภาษาหนึ่งจึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือสื่อสาร แต่คือโลกของผู้คนเผ่าพันธุ์หนึ่ง ชนชาติหนึ่ง เชื้อชาติหนึ่ง รู้ภาษาหนึ่งจึงเหมือนเดินผ่านประตูสู่อาณาจักรหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวดี ๆ ที่เราจะได้ค้นพบ

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com