ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๒)

วันที่ ๒๒ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มูลนิธิทางอีศาน จัดรายการทัศนศึกษาแหล่งโบราณสถานประเภทปราสาทหิน ซึ่งมีสถานะเป็น “ทิพยวิมาน” หรือ “เทวาลัย” ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู และพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน

โอกาสนี้ ขอหวนรำลึกถึงทริปท่องเทวาลัยอีสานใต้ ด้วยการรวบรวมภาพในความทรงจำมานำเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าถึงแม้นครวัด นครธม ในกัมพูชาจะยิ่งใหญ่ปานใด แต่เทวาลัยขนาดเล็กในเขตอีสานใต้ของไทย ก็ไม่น่าพลาดชม ด้วยประการทั้งปวง

(ภาพ ๑) แสงและเงายามสายช่วงปลายฝนต้นหนาว หนุนส่งให้ “เทพอัปสร” ประดับซุ้มประตูปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดดเด่น แม้จะสัญจรรอนแรมมาเพ่งพิศนวลนางสักกี่คราแล้วก็ไม่เคยเบื่อ ฝีมือช่างท้องถิ่นท่านนี้ต้องยอมค้อมคารวะให้ และจัดว่าเป็น “ภาพพิศเจริญ” คือดูได้นานแต่ไม่น่าเบื่อ หากยิ่งดูยิ่งถือเป็นบุญตา โดยเฉพาะฝีมือแกะรูปนกแก้วบรรจงเกาะก้านบัว กับเจ้ากระแตขี้เล่น ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วลายก้านขดแสนงดงามวิจิตรตา

(ภาพ ๒) เกือบเผลอใจไปว่าเทพอัปสรแปลงร่างมาให้เห็นจริง ๆ เมื่อนักท่องเที่ยวสาวสวยชาวกัมพูชาอนงค์นางนี้  มายืนโพสต์ถ่ายภาพคู่ภาพแกะสลักนางอัปสรา ชวนให้หวนคิดถึงความทรงจำเมื่อผมประทับรอยเท้าแรกบนแผ่นดินกัมพูชา พ.ศ.๒๕๓๒ หรือเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา ครานั้นได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของ น.ส.เจิม เทวี (หรือคุณเทวี นามสกุล เจิม) นาฏศิลป์สาวผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “เอกอัปสรา” คือผู้ยืนตำแหน่งศูนย์กลางของ “ระบำอัปสรา” ซึ่งถือเป็น “เอกลักษณ์ชาติ” ของกัมพูชา มาตราบจนวันนี้

“ท่ารำอัปสราตลอดจนเครื่องแต่งกาย มีต้นเค้ามาจากภาพแกะสลักนางอัปสรากว่า ๑,๕๐๐ องค์ ที่ปราสาทนครวัด ชาวกัมพูชาถือว่านางอัปสรา คือตัวแทนภาพลักษณ์ของกุลสตรี ฉันจึงภูมิใจมากที่ได้รับการคัดเลือกให้มารำอัปสราต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง”


(ภาพ ๓  และ ๔) นางรำผู้มีชื่อเป็นมงคลนามว่า “เทวี” ทั้งยังมีความงามตามพิมพ์นิยมของชาวกัมพูชา นั่นคือใบหน้าเหลี่ยม ริมฝีปากหนา หูยาว ทั้งยังลำคออวบอิ่มเป็นปล้อง ๆ ตามคติชาวขะแมร์ว่าเป็นคุณลักษณะของ “ผู้มีบุญ” โดยแท้

ทว่า หลังจากผมสัมภาษณ์เธอออกรายการสารคดีโลกสลับสี ตอน “นครวัด นครธม” ได้เพียงสองเดือน ผมก็ต้องตะลึงกับข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ที่รายงานว่า นาฏศิลป์สาวชาวกัมพูชาคนหนึ่ง ไปแสดงรำอัปสราเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่สหรัฐอเมริกา แล้วถูกชายคนหนึ่ง ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาใช้มีดจี้และบังคับให้เธอยื่นเรื่องขอลี้ภัย  ด้วยเวลานั้น การสู้รบระหว่างเขมรสี่ฝ่ายยังไม่จบสิ้น ข่าวรายงานว่าในที่สุด เธอก็ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในอเมริกาจริง ๆ

ข่าวระบุชัดว่า นาฏศิลป์สาวคนนั้นชื่อ “เจิม เทวี” ซึ่งบัดนี้ กาลเวลาผันผ่านถึง ๓๐ ปีแล้ว ชีวิตเธอเป็นเช่นใด ยังใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา หรือกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ท่านใดทราบโปรดเล่าสู่กันฟังด้วยความขอบคุณยิ่ง

(ภาพ ๕) ลายจำหลักรูปครุฑ หรือพญาสุบรรณ พาหนะทรงของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ที่หัวเสาประดับโคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้าปรางค์ประธานปราสาทศีขรภูมิ ท่ามกลางลายพฤกษานานาพรรณที่ช่างบรรจงแกะละเอียดยิบ วิจิตรตระการตายิ่งนัก

(ภาพ ๖)

นาค สัญลักษณ์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ นิยมนำมาประดับเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น นาคปลายกรอบหน้าบันปราสาทศีขรภูมิชุดนี้ บ่งบอกความเป็นนาคศิลปะนครวัดอย่างชัดเจน เพราะมีกระบังแผ่นใหญ่ประดับอยู่เหนือเศียรนาค ต่างจากนาคศิลปะบา-ปวน ซึ่งไม่มีกระบังจนถูกเรียก “นาคหัวลิง”

ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๑)

 ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๓)

(โปรดติดตามตอนต่อไป ฉบับหน้า)

อ้างอิง 

เว็บไซต์ ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Related Posts

วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
งาน “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา ฯ” ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – เที่ยงวันที่ 30 ถึงงานคอนเสิร์ต
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com