บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 7

บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 7

บันทึกการเดินทางในลาว(ดินแดนภาคอีสาน) เอเจียน แอมอนิเย (ผู้บันทึกการสำรวจ) ปี พ.ศ. 2438-2440 ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
เรียบเรียงโดย : Kay Intarasopa
1 กรกฎาคม 2558

พระแก้วขาวหรือพระแก้วบุษยรัตน์ฯ ที่พระยากลาโหมราชเสนา นำมาจากวัดพระแก้ว จำปาสัก ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

จากบันทึกการเดินทางในลาว ของเอเจียน แอมอนิเย ได้กล่าวถึงเมืองยโสธรไว้ว่า “ยโสธร ซึ่งมาจากภาษาวันสกฤตว่า ยโสธรา ซึ่งแปลว่า เชิดชูเกียรติ เมืองนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งโล่งเตียน มีวัด 5 วัด แต่ละวัดมีพระภิกษุ 15-20 รูป มีกระท่อมประมาณ 500 หลัง ซึ่งแออัดพอสมควร ประชาชนเป็นคนลาว มีคนสยาม คนจีน และพม่า(กุลา)เล็กน้อย พวกเขารับเอาแบบอย่างจากสยามเหมือนกันในกรณีทรงผม เจ้าเมืองนี้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรวงศา”

ข้าพเจ้าเห็นว่าเมืองนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับพี่น้องสองฝั่งโขง จึงขอนำเอาประวัติศาสตร์เมืองยโสธรมาเล่าสู่กันฟัง

ขอท้าวความไปตั้งแต่ในอดีตว่า ดินแดนแถบเมืองยโสธรนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มานมนาน ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีการขุดค้นพบข้าวของเครื่องใช้ กระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในถิ่นแถบนี้ อีกทั้งหลักฐานของซากโบราณวัตถุโบราณสถาน เช่น ธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งน่าจะเป็นพระธาตุที่สร้างมาตั้งแต่สมัยขอม และได้รับการต่อเติมเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยอาณาจักรล้านช้างของคนลาว ที่เข้ามามีอิทธิพลในช่วงหลัง

ความเป็นบ้านนามเมืองในชื่อยโสธรนี้ เริ่มต้นตั้งแต่กลุ่มพระวอพระตาได้อพยพผู้คนออกจากเมืองเวียงจันทน์ หลังจากมีความขัดแย้งทางการเมืองกับพระเจ้าสิริบุญสารเจ้านครเวียงจันทน์ กลุ่มเจ้าพระวอได้อพยพเรื่อยมา ล่องมาตามน้ำชี พักที่บ้านสิงห์ท่าซึ่งมีเจ้าคำสูเป็นผู้ปกครอง จากนั้นจึงล่องตามน้ำมูลไปตั้งบ้านเมืองที่ดอนมดแดง และขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงธนบุรีของสยาม พระเจ้าสิริบุญสารให้พญาสุโพนำกำลังเข้าตีกระทั่งสังหารเจ้าพระวอได้ จึงเป็นเหตุให้สยามใช้เป็นข้ออ้างในการทำศึกยึดดินแดนและกวาดต้อนผู้คนของอาณาจักรล้านช้าง

จากนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมดอนมดแดง เจ้าคำผง น้องชายเจ้าพระวอ ได้พาผู้คนขยับมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง (บ้านห้วยแจระแม) ตั้งชื่อเมืองว่า อุบลราชธานี เพื่อให้สอดคล้องกับเมืองหนองบัวลุ่มภูที่ตนเคยอาศัย เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล มีราชทินนามว่าพระปทุมราชวงศา ต่อมารัชกาลที่ 1 ตั้งเป็น“พระประทุมวรราชสุริยวงศ์” (คำผง) เจ้าครองเมือง เมือง”อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช”

ในราวปี พ.ศ.2329 เจ้าหน้าหรือเจ้าฝ่ายหน้า น้องชายเจ้าคำผงและท้าวคำสิงห์ผู้เป็นหลาน ได้นำไพร่พลส่วนหนึ่งไปตั้งมั่นเป็นกองนอกอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า

ในปี พ.ศ.2334 เกิดเหตุกบฏอ้ายเซียงแก้วที่อาณาจักรล้านช้างจำปาสัก พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ซึ่งชราภาพมากแล้ว ไม่สามารถรับมือได้ จึงหนีมาพึ่งเจ้าคำผงที่เมืองอุบล เจ้าหน้าได้ร่วมมือกับพระประทุมราชวงศา (คำผง) เจ้าเมืองอุบล ผู้เป็นพี่ชาย ยกทัพไปปราบกบฏอ้ายเชียงแก้วจนราบคาบ และจับอ้ายเชียงแก้วประหารชีวิตที่แก่งตะนะ

ความดีความชอบในครั้งนี้ ทำให้เจ้าฝ่ายหน้าได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระวิไชยราชขัตติยวงศา” เจ้าผู้ครองนครจำปาสักลำดับที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2335 พระวิไชยราชขัตติยวงศาจึงแบ่งไพร่พลเข้ามาอยู่ที่เมืองจำปาสัก และตั้งให้ท้าวคำสิงห์ผู้หลานเป็นราชวงศ์

หลังจากเกิดกบฏอ้ายเซียงแก้ว เมืองจำปาสักเดิมที่ตั้งอยู่ที่บ้านศรีสุมัง ถูกเผาทำลาย พระวิไชยราชขัตติยวงศาได้ย้ายเมืองจำปาสัก มาตั้งอยู่ในบริเวณบ้านคันเกิง อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามปากแม่น้ำเซโดน (ปัจจุบันเรียกว่า เมืองเก่าคันเกิง อยู่ในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว) เมื่อ พ.ศ.2339 ให้ก่อกำแพงเมืองและสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระแก้วผลึกหรือพระแก้วขาวที่ค้นพบตั้งแต่สมัยพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร คือวัดพระแก้ว(ปัจจุบันคือวัดหลวงหรือวัดหอพระแก้ว)

ปี พ.ศ.2348 พระวิไชยราชขัตติยวงศาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่1 เพื่อขอโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านนายอนขึ้นเป็นเมืองสะพาดตามคำขอนั้น

พระวิไชยราชขัตติยวงศา (เจ้าฝ่ายหน้า) ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1173 (พ.ศ.2354) ครองเมืองนครจำปาสักได้ 21 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงแทนพระองค์ ไปพระราชทานเพลิงศพพระวิไชยราชขัตติยวงศ์ และจัดการราชการบ้านเมืองนครจำปาสัก เมื่อทำการปลงศพของพระวิไชยราชขัตติยวงศาเสร็จแล้ว พระยากลาโหมราชเสนาพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาในเมือง จึงก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดเหนือ (ปัจจุบันคือวัดหอพระแก้วหรือวัดหลวง) ในเมืองเก่าเกิง (บ้านเมืองเก่า เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก) เรียกกันทั่วไปว่า “ธาตุหลวงเฒ่า” วัดนี้ชาวบ้านก็เรียกกันว่า วัดหลวงเฒ่า

จากเหตุการณ์นี้เอง พระยากลาโหมราชเสนาได้พบเจอพระแก้วขาว ที่วัดพระแก้ว จึงได้มีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 2 จึงโปรดฯให้นำพระแก้วขาวลงมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระแก้วขาวองค์นี้ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างเพื่อทำการปฏิสังขรณ์พระแก้วขาว และพระราชทานนามว่า “พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งอัมพรสถานของไทย (เคยกล่าวไว้แล้ว)

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้เจ้านู บุตรเจ้าหน่อเมือง หลานเจ้านครจำปาสักองค์เดิม (เจ้าหลวงไชยกุมาร) เป็นผู้ครองนครจำปาสักสืบไป ฝ่ายเจ้าราชวงศ์สิงห์ หลานพระวิไชยราชขัตติยวงศาไม่พอใจที่จะอยู่ในการปกครองของเจ้านู จึงขอกลับมาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่า และนำอัฐิของพระวิไชยราชขัตติยวงศากลับมาด้วย และนำมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ซึ่งยังปรากฏอยู่จนปัจจุบัน

พ.ศ.2357 รัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็น “เมืองยศสุนทร” ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์ เป็นเจ้าครองเมืองมีราชทินนามว่า “พระสุนทรราชวงศา” เจ้าเมืองคนแรกของเมืองยศสุนทรหรือเมืองยโสธรในเวลาต่อมา

พ.ศ.2433 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดรูปการปกครองใหม่ แบ่งหัวเมืองออกเป็นมณฑล ลดฐานะเมืองยโสธรลงเป็นอำเภอยโสธร สังกัดมณฑลลาวกาวหรือมณฑลอุบลราชธานีในเวลาต่อมา มีกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวง (คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด) ต่างพระองค์คนแรก ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบลขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

พ.ศ.2443 กระทรวงมหาดไทยได้รวมยโสธรเข้ากับเมืองอุบลโดยแยกออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภออุทัยยโสธร ภายหลังเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอประจิมยโสธร ภายหลังจึงรวมเป็นเป็นอำเภอยโสธรดังเดิม

พ.ศ.2494 กระทรวงมหาดไทยได้ริเริ่มขอตั้งอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัด จังหวัดยโสธรได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515 ยกอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2515 เป็นต้นมา เป็นจังหวัดที่ 71 ของประเทศไทย มี 6 อำเภอดังนี้คือ อำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว

เจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ลำดับที่ 3 (พ.ศ. 2335 – 2354) ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวว่า ชาวเมืองจำปาสักเรียกเจดีย์นี้ว่า “ธาตุหลวงเฒ่า” (ภาพจาก สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ลำดับกษัตริย์ลาว.) ลักษณะของธาตุมีศิลปะคล้ายกับธาตุก่องข้าวน้อย ที่ยโสธร หรือบ้านสิงห์ท่าแต่เดิม ธาตุทรงปราสาทยอดเหลี่ยม ทางด้านทิศตะวันออกของสิม ที่วัดหอพระแก้ว จำปาสัก

อ่านในเว็บ e-shann.com
ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
ตอนที่ 8 จากยโสธรไปกุดสิน ธาตุพนม

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com