ไขป่องเอี้ยมเยี่ยมเบิ่งลาว ตามฮอยศรัทธาญาคูขี้หอม (๕-จบ)

มหานทีสี่พันดอน

เช้าตรู่ของวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑

หลังนอนหลับฝันหวานถึงหมอลำสาว “อินแต่ง  แก้วบัวลา” กุหลาบปากเซที่ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วโลก (หมายถึงผลงานและชื่อเสียงของเธอที่เผยแพร่ในยูทูป) ตลอดทั้งคืน  ทำให้ตื่นขึ้นมาอย่างมีความสุข สดชื่น ความทุกข์มลายสิ้น เสียงลำอันไพเราะเพราะพริ้ง ยังดังก้องอยู่ในโสตประสาทมิเลือนหาย

ผมยังจำคำพูดของไกด์ที่นัดหมายก่อนเข้านอนได้ว่า “พรุ่งนี้เช้าอย่าลืมหมายเลข ๕๖๗”  ๕ หมายถึงตื่นนอน ๕ นาฬิกา เข้าห้องน้ำทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย  ๖ หมายถึง ๖ นาฬิกา เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า แล้วลากลงมารวมกันที่ข้างรถบัสคันเดิมที่ตนเองนั่งมา เพื่อให้เด็กรถเก็บกระเป๋าเข้าท้องรถ ก่อนจะไปรับประทานอาหาร ๗ หมายถึง ๗ นาฬิกา ล้อรถเลื่อนจากที่พักไปเที่ยวตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ 

ทุกคนมีความรับผิดชอบ และตรงต่อเวลา

อาหารเช้าผ่านไปด้วยดี ทุกคนอิ่มหน่ำสำราญ หลังจากนั้นก็ออกเดินทางสู่ “น้ำตกคอนพะเพ็ง” หรือ “มหานทีสี่พันดอน” ซึ่งเป็นไฮไลท์ สุดท้ายของทริปนี้

น้ำตกคอนพะเพ็ง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีหลายชั้น และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในภูมิภาคอินโดจีน ตั้งอยู่บนแก่งหินขนาดใหญ่ ขวางกั้นเส้นทางการไหลของแม่น้ำโขงทั้งสาย จัดเป็นน้ำตกที่ได้รับน้ำจากแม่น้ำโขงตอนล่าง

น้ำตกคอนพะเพ็งมีความสูง ๒๑ เมตร (๖๙ ฟุต) กระแสน้ำไหลเชี่ยว ๙.๗ กิโลเมตร (๖.๐ ไมล์) ปริมาณน้ำตกลงมาด้วยความเร็วประมาณ ๑๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที (๓๙๐,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุต/วินาที) แม้ว่าปริมาณสูงสุดในบันทึกได้ถึงกว่า ๔๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที (๑,๗๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุต/วินาที)

น้ำตกคอนพะเพ็งได้รับฉายาว่า “ไนแองการาแห่งเอเชีย” ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว ห่างจากเมืองปากเซประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อและสวยงามมากแห่งหนึ่งของประเทศลาว

คำว่า “คอน” หมายถึง “แก่ง” หรือ “เกาะ”  “พะเพ็ง” หมายถึง “พระจันทร์วันเพ็ญ” (จากวิกิพีเดีย)

 ที่ตั้ง อยู่ห่างจากบ้านนากะสังลงมาราว ๑๐ กิโลเมตร และห่างจากบ้านท่าม่วงลงมาราว ๘ กิโลเมตร แม้ชั้นของหินไม่สูงมากนัก แต่กระแสน้ำที่ไหนถาโถมลงมามีความรุนแรงมาก ด้วยแม่น้ำโขงทั้งสายไหลลงมา จากนั้นจะแยกออกเป็นหลายสาย สาเหตุเพราะแรงดันของน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่ากระหน่ำลงมาจากชั้นหินราวกับจะถล่มทลายแก่งหิน อย่างดุดันและเกรี้ยวกราด สร้างความตื่นตาที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวสมคำร่ำลือ

ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่กระโจนบิดตัวปะทะแก่งหินน้อยใหญ่ จนเดือดพล่านกระจายเป็นละอองไอน้ำแทรกตัวปกคลุมอยู่ตามแก่งหินแทบทุกอณูของบรรยากาศ

ภาพของน้ำตกคอนพะเพ็งที่น่าตื่นตาตื่นใจ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากศาลาไม้ที่สร้างไว้บนเหนือบริเวณที่กระแสน้ำไหลบ่าถาโถมลงมารวมตัวกันพอดี แต่หากต้องการสัมผัสความยิ่งใหญ่ของน้ำตกอย่างใกล้ชิดจากศาลาไม้ก็มีทางเดินลงมาชมบริเวณตัวน้ำตกในอีกมุมมองได้เช่นกัน

ชาวบ้านบางคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มักยอมเสี่ยงตายปีนบันไดไม้ไผ่ออกไปวางเบ็ด หรือบางคนลงไปทอดแหหาปลาบริเวณด้านล่างของน้ำตกคอนพะเพ็งอยู่เสมอ บริเวณน้ำตกมีร้านอาหารที่มีเมนูเด็ดอย่างปลาแม่น้ำให้เลือกมากมาย

นอกจากนี้แล้ว น้ำตกคอนพะเพ็งยังเป็นสถานที่อาศัยของสัตว์น้ำหายากหลายชนิด เช่น ปลาค้อคอนพะเพ็ง พบได้ในแถบนี้เท่านั้น และเป็นแหล่งอาศัยของโลมาหัวบาตร หรือ “ปลาข่า” ในภาษาลาว โลมาเพียงไม่กี่ชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของปลาบึก ปลาหนังน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

(http://www.oceansmile.com/Lao/ConPapeng.htm)

น้ำตกคอนพะเพ็ง

ระหว่างเส้นทางหมายเลข ๑๓ ที่นำพวกเราไปสู่น้ำตกคอนพะเพ็ง ผู้เขียนขอพูดถึงถนนหมายเลข ๑๓ อีกนิดว่า ถนนสายนี้สร้างขึ้นมาร้อยกว่าปีแล้วในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองลาว ครั้นพอมาในยุคสงครามอินโดจีนถนนสายนี้ก็เละ และมาในยุคที่พ่อค้าไม้ชาวไทยใช้ถนนสายนี้เป็นเส้นทางลำเลียงไม้จากเขมร ถนนหมายเลข ๑๓ ก็ยิ่งเละตุ้มเป๊ะยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่แล้ว หากใครที่มาใช้บริการในถนนสายนี้ ถ้ามาในหน้าแล้งถนนจะเต็มไปด้วยฝุ่น หลุม บ่อ คลื่น ลอน ดังโลกพระจันทร์ เวลานั่งรถจะหัวสั่นหัวคลอน ตัวกระดอนกระเด้ง เครื่องในแดนซ์กระจาย ส่วนใครมาในหน้าฝนนี่หากโชคร้าย เจอขบวนรถขนไม้ ติดหล่ม ตกหล่ม ก็ให้ร้องเพลง รอ ของวง Slot Machine ไปสัก ๑๐๐-๒๐๐ จบ บางทีอาจจะได้เดินทางต่อ

แต่นั่นมันคือเรื่องราวของอดีต ที่หากจะไปน้ำตกคอนพะเพ็งจากปากเซ ที่ในสภาวะปกติไม่เกิดเหตุการณ์อะไรก็ใช้เวลาประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง แต่ถ้าดวงแตกเกิดอุบัติเหตุ บางทีก็อาจจะได้ค้างคืนในบรรยากาศทุ่งนาฟ้ากว้าง อาบน้ำตามลำห้วยหรือตามท้องนา มีดาวและเดือน รวมถึงยุงเป็นเพื่อนยามหลับนอน

แต่ปัจจุบันนี้ ถนนหมายเลข ๑๓ มีสภาพดี ลาดยางตลอดเส้นทาง จากปากเซใช้เวลาเพียงแค่ ๑-๒ ชั่วโมง ก็ได้นั่งกระดกเบียร์ลาว หรือเบยลาว ชมความยิ่งใหญ่ของไนแองการ่าเอเชียที่ศาลาชมวิวแล้ว

และถึงแม้ว่าถนนสู่คอนพะเพ็งจะเปลี่ยนไป แต่กับสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนระหว่างทาง ก็ยังคงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งเมืองไทยย้อนยุคประมาณ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับสายน้ำแห่งคอนพะเพ็ง ที่ยังคงความยิ่งใหญ่สวยงามอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสายน้ำที่กราดเกรี้ยวดุดัน คลื่นน้ำที่ขาวฟูฟ่อง แก่งหินที่ใหญ่โตและแหลมคม เสียงขอน้ำตกที่ดังเซ็งแซ่อื้ออึง รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านบางส่วนที่ยังคงตกปลา เหวี่ยงแห ท่ามกลางสายน้ำที่เชี่ยวกรากแห่งคอนพะเพ็ง (ซึ่งเราดูจากสายน้ำที่ดุดันไม่น่าเชื่อว่าปลาจะอยู่ได้ แต่ประทานโทษ มีปลาอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวบ้านก็จับขึ้นมาขายให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวคอนพะเพ็งกันแทบทุกวัน)

สำหรับลักษณะพิเศษของน้ำตกคอนพะเพ็งที่ต่างไปจากบ้านเราก็คือ น้ำตกบ้านเราส่วนมากเกิดจากตาน้ำหลายสายไหลมารวมกันแล้วตกผ่านภูผา เทือกเขา แต่ว่าน้ำตกคอนพะเพ็งนี่เกิดจากการไหลบ่าอย่างเชี่ยวกรากของแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำของ ในภาษาลาว ที่เมื่อไหลมาจนถึงคอนพะเพ็งซึ่งเป็นคอนหินมหึมา สายน้ำก็จะไหลหักลงอย่างรุนแรงตามระนาบดิ่งของแก่งหิน เกิดเป็นน้ำตกใหญ่ขึ้นมา

นอกจากความงามและความยิ่งใหญ่ของน้ำตกคอนพะเพ็งแล้ว คอนพะเพ็งยังถือเป็นคอนที่สวยงามที่สุดในพื้นที่แม่น้ำโขงใต้สุดใน สปป.ลาว ที่ได้รับการขนานนามว่า “มหานที สี่พันดอน” เนื่องจากว่าบริเวณแถบนี้เต็มไปด้วยเกาะแก่งน้อยใหญ่มากมาย เมื่อแม่น้ำโขงไหลมาก็เกิดดอนขึ้นนับจำนวนไม่ถ้วน

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมองคอนพะเพ็งยิ่งใหญ่สวยงาม ดั่งฉายาไนแองการ่าแห่งเอเชียเหมือนกันหมดเสียเมื่อไหร่ เพราะในยุคล่าอาณานิยมที่ฝรั่งเศสปกครองลาวอยู่นั้น ได้มองคอนพะเพ็งเป็นอุปสรรคต่อการขนถ่ายทรัพยากรออกจากลาว เพราะชัยภูมิและลักษณะทางกายภาพของคอนพะเพ็งถือเป็นจุดสกัดที่ทำให้การเดินเรือในแม่น้ำโขงไม่ต่อเนื่อง

เมื่อคอนพะเพ็งเป็นอุปสรรค ก็ระเบิดมันทิ้งซะเลย… นั่นคือความคิดของฝรั่งเศสในสมัยนั้น แต่ว่าระเบิดในกาลครั้งนั้นไม่ทำงาน ซึ่งก็ทำให้ฝรั่งเศสปฏิบัติภารกิจระเบิดคอนพะเพ็งไม่สำเร็จ ส่งผลให้การขนส่งทางเรือไม่สามารถทำได้ ฝรั่งเศสจึงหันไปสร้างทางรถไฟสายสั้น ๆ ขึ้นบนดอนคอนแทน โดยวันนี้ทางรถไฟสายนั้นก็ยังคงอยู่แต่ว่าเก่าคร่ำใช้การไม่ได้

ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมระเบิดไม่ทำงาน ณ วันนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวลาวเชื่อว่า เกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในคอนพะเพ็ง ได้แก่ต้นมณีโคตร (มะนีโคด) ซึ่งเชื่อว่ามีพญานาคปกปักรักษาอยู่  เดี๋ยวนี้ต้นมณีโคตรได้โค่นล้มลงตามอายุขัย รัฐบาล สปป.ลาว ได้สร้างศาลาเก็บต้นมะนีโคดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เคารพกราบไหว้บูชาใกล้ ๆ น้ำตกคอนพะเพ็งนั่นเอง

เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไรคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่ที่พิสูจน์ได้จากการที่ระเบิดไม่ทำงานก็คือ ณ วันนี้ คอนพะเพ็งยังคงเป็นน้ำตกใหญ่ที่ยิ่งใหญ่สวยงาม เป็นน้ำตกที่มีคนแวะเวียนมาเที่ยวไม่ได้ขาด ส่งผลให้บริเวณรอบ ๆ ตัวน้ำตกมีคนนำของไปขายทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึก ของพื้นบ้าน ซีดี เสื้อผ้า มากขึ้นเรื่อย ๆ (จาก https://www.sanook.com/travel/๖๗๗๒๗๑/)

อันที่จริงดินแดนแถบนี้เคยเป็นของไทยมาก่อน แต่ไทยต้องเสียให้ฝรั่งเศสเมื่อ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๔๖ พื้นที่ ๒๕,๕๐๐ ตร.กม.  ในสมัย ร.๕ ไทยทำสัญญากับฝรั่งเศส เพื่อขอให้ฝรั่งเศสคืนจันทบุรีให้ไทย ฝรั่งเศสยอมถอนกำลังออกไปจากจันทบุรี แต่ไปยึดเมืองตราดแทนอีก ๕ ปี เมื่อฝรั่งเศสได้หลวงพระบางแล้ว ยังรุกล้ำบ้านนาดี, ด่านซ้าย จ.เลย และยังได้เอาศิลาจารึกที่ พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ไปด้วย

(จาก http://www.rungnapa-astro.com/Saranaru-ok/ThaiTerritory-Lost.htm)

ป้ายต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์มะนีโคด อีกมุมหนึ่งของน้ำตกคอนพะเพ็ง

ศาลเจ้า ต้นมณีโคตร (มะนีโคด)

หลังจุดธูปเทียน วางขันหมากเบ็ง กราบไหว้บูชาต้นมะนีโคด ที่ศาลมะนีโคด ตามความเชื่อของคนลาว และคนไทยอีสานแล้ว ทุกคนแยกย้ายไปเก็บภาพความสวยงามของน้ำตกคอนพะเพ็งตามมุมต่าง ๆ หลายคนลงบันไดไต่โขดหินไปถ่ายภาพใกล้ ๆ น้ำตก ซึ่งมองดูน่าเสียวไส้ แต่เหตุการณ์ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ทุกคนแฮปปี้กันถ้วนหน้า

๑๑.๓๐ น. ทุกคนมารวมตัวกันที่ศาลาอาหารแม่จันหอม ตั้งอยู่ริมฝั่งโขง ตรงกันข้ามกับน้ำตกคอนพะเพ็ง อาหารเมนูปลาน้ำโขง ส้มตำ ถูกจัดมาเสิร์ฟอย่างรวดเร็ว  ความเอร็ดอร่อยไม่ต้องพูดถึง ทุกคนลงมือรับประทานอาหารท่ามกลางเสียงน้ำตกที่ดังกึกก้องท้องนที เป็นบรรยากาศที่แสนจะโรแมนติก ไม่ผิดอะไรกับสวรรค์บนดิน

๑๒.๓๐ น. อำลาน้ำตกคอนพะเพ็ง ย้อนกลับเข้าเมืองปากเซ และมุ่งหน้าสู่ด่านช่องเม็ก ตามถนนหมายเลข ๑๖ E ถึงเมืองโพนทอง แวะลงเยี่ยมชมสำนักงาน “คณะดอกฟ้าเพชรโพนทอง” ของหมอลำสาว “อินแต่ง แก้วบัวลา”  พระอาจารย์มรกต อิสฺสโร พร้อม “อ้น แคนเขียว” และอีกหลาย ๆ คน ลงไปทักทายคุณพ่อ คุณแม่ ของหมอลำสาว ที่นั่งอยู่หน้าบ้าน โดยมิได้นัดหมาย  หมอลำสาวไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย คุณแม่ของเธอจึงโทรศัพท์หาหมอลำสาว ไม่นานหมอลำสาวสวย “อินแต่ง  แก้วบัวลา” ก็ออกมาต้อนรับ พูดคุยถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก่อนจะกล่าวอำลา “ดอกฟ้าเพชรโพนทอง” กลับเมืองไทย ทิ้งไว้แต่ความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือน

๑๕.๓๐ น. โดยประมาณ คณะของพวกเราก็มาถึงด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี แวะซื้อของฝากจากร้านคุณนายดาว เจ้าของกาแฟดาวอันลือชื่อ ก่อนจะเดินลงอุโมงค์ขึ้นไปยังด่านช่องเม็กให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ประทับตราในพาสปอร์ต อนุญาตให้กลับเข้าประเทศไทยได้โดยสวัสดิภาพ

เพียงก้าวแรกที่เหยียบผืนแผ่นดินไทย  ความรู้สึกอบอุ่น และปลาบปลื้มใจ ในพระคุณของแผ่นดินถิ่นเกิด  ก็แผ่กำซาบไปทั่วสรรพางค์กาย ไม่ว่าเราจะไปท่องเที่ยวประเทศไหน  ๆ ในโลก  พบความเจริญรุ่งเรือง หรือความล้าหลัง  สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกให้เรารู้ และอยู่ในจิตสำนึกว่า  ประเทศไหน ๆ ก็สู้ประเทศไทยของเราไม่ได้

จงภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย ซึ่งหลาย ๆ ประเทศอิจฉาเราจะตาย และจงช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน หากมัวทะเลาะเบาะแว้งแย่งกันเป็นใหญ่  ต่อไปจะไม่มีแผ่นดินให้ซุกหัวนอน

ระยะทางจากช่องเม็กถึงสกลนคร ๓๓๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๔ ชั่วโมง  และ ๔ ทุ่มกว่า ๆ คณะผ้าป่าศิษย์หลวงปู่ภูพาน ตามฮอย ศรัทธาญาคูขี้หอม ๘๐ กว่าชีวิตก็มาถึงสกลนครโดยปลอดภัย

อุโมงค์ผ่านด่านปากเซ จำปาสัก เข้าด่านช่องเม็ก

ด่านช่องเม็ก

Related Posts

เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
งาน “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา ฯ” ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – เที่ยงวันที่ 30 ถึงงานคอนเสิร์ต
ฟอสซิลปลาโบราณ “ภูน้ำจั้น” บ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com