ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 4

ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 4

อีกวันหนึ่งในปีนี้, มีชายวัยประมาณสี่สิบปีเศษ หน้าตาคมสัน ร่างสันทัด ผิวสีดำแดงแกร่งก้าน ท่าทางมั่นอกมั่นใจในตนเองเป็นอันมาก เว้นแต่เสื้อผ้าที่สวมใส่เท่านั้นเป็นชุดเรียบ ๆ ง่าย ๆ บ่งบอกว่าเขาคงจะเดินทางมาจากบ้านนอก พาหนะที่ขับขี่มาก็เป็นรถกระบะรุ่นเก่า ประมาณได้ว่าใช้สมบุกสมบันมาไม่ต่ำกว่าหกเจ็ดปี แต่เจ้าของคงรักษาเครื่องยนต์กลไกไว้อย่างดี สีรถแม้จะถลอกปอกเปิก แต่เสียงรถยนต์ก็ดังราบเรียบ คนเป็นเครื่องกลจะรู้ทันทีว่าอยู่ในสภาพพอใช้ได้อีกนาน แต่ว่าเขาขับรถกระบะมาจอดที่ด้านหน้าคฤหาสน์ในใจกลางเมืองกรุง ดูจะไม่สอดรับกับบรรดายวดยานซึ่งจอดไว้ในโรงรถเอาเสียเลย แม้ว่าจะมีรถยนต์จอดไว้สามสี่คัน ถ้านับรวมราคาแล้วก็ไม่น่าจะต่ำกว่าสี่สิบห้าสิบล้านบาท เช่นรถโรลส์รอยซ์คันนั้นไม่น่าต่ำกว่ายี่สิบห้าล้านบาท เบนซ์อย่างต่ำก็ว่ากันหลักห้าล้านแปดล้าน มาเซราติสามล้านขึ้น และยังมีรถปอร์เช่ และออฟโรด ราคาล้านขึ้นทั้งนั้น ส่วนรถยนต์รุ่นเก่าแต่งเก็บสองสามคันนั้น เข้าใจว่ามีความงดงามคลาสสิก หาค่ามิได้

เมื่อเขาก้าวย่างไปตามทางเดิน สองข้างปลูกไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณอันเนรมิตขึ้นโดยนักตกแต่งจัดสวนอย่างมีศิลปะ มีต้นไม้ใหญ่จำพวกตะแบก อินทนิล พญาสัตบรรณ หมากเขียว หมากแดง หมากเหลืองขึ้นเป็นระยะตามถั่นแถวแนวเขตอันกว้างขวาง มีสระใหญ่อันดอกบัวบานอยู่สะพรั่งทั้งบัวสัตตบงกชและบัววิกตอเรีย ทั้งน้ำพุรูปปั้นและหินแกะสลักเป็นรูปสัตว์ รูปคน กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณคฤหาสน์ เขาได้ยินเสียงนกเสียงสัตว์เลี้ยงเสนาะสนั่นอยู่ทั่วไป สัตว์เหล่านี้น่าจะคุ้นกับคน เพราะปล่อยให้หากินเป็นอิสระ ยกเว้นนกยูงผู้เมียที่ขังกรงลวดตาข่ายไว้ เขาเดินเลยจากตัวคฤหาสน์หลังงามไปที่ด้านหลัง มีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ปลูกเรือนโล่งอย่างทันสมัยใช้เป็นห้องพบปะสังสรรค์ เคาน์เตอร์ยกขึ้นเป็นบาร์เครื่องดื่ม ถัดไปเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ประกอบอุปกรณ์ครัวทุกชนิดที่พร้อมสรรพเหลือเฟือ

แม้ว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งเรือนอาศัยมานับร้อยปี แต่สิ่งก่อสร้างอย่างทันสมัยก็แสดงว่ามีการรื้อโรงเรือนเก่าลงและปลูกสร้างตามมาตรฐานสถาปัตยกรรมที่เจ้าของต้องการ จะเหลือไว้ก็จะเฉพาะเรือนไม้สักทองรูปเรือนไทย ประตูหน้าต่างแกะลวดลายเครือเถาด้วยช่างฝีมือยุคต้นรัตนโกสินทร์ไว้เพียงหลังเดียว บนเรือนไทยหลังนี้เป็นที่เก็บสมุดหนังสือ สิ่งของ เครื่องใช้ ลายคราม เบญจรงค์ ตลอดจนรูปวาดสีน้ำมัน รูปถ่ายบรรพชน และของโบราณต่าง ๆ เป็นพิพิธภัณฑ์ของตระกูล

เขาเองถึงว่าจะทำสวนและทำไร่อยู่ปากช่อง ดงพญาเย็น แต่ก็เป็นลูกเหลนของตระกูลคนหนึ่งซึ่งไม่ตื่นเต้นไปกับสมบัติมรดกของตระกูล เขาเจียมเนื้อเจียมตนอย่างคนรู้จักเจียม สายเลือดดนัยมนัสราษฎร์ก็จริง แต่ฝ่ายหญิงที่เจ้าคุณทวดรับเป็นภริยา มีฐานะเพียงภริยาน้อยชาวป่าดง เทียบชั้นท่านผู้หญิงของบ้านไม่ได้ เรื่องนี้ได้เปิดเผยขึ้นเมื่อเจ้าคุณทวดสิ้นบุญไปหลายสิบปี จากบันทึกของจางวางดนัยมนัสราษฎร์เล่มนั้นจึงสามารถนับญาติประกาศเป็นสายเลือดสายตระกูล เมื่อมหาดเล็กถิ่นลูกชายเจ้คุณเมธาดนัยศักดิ์ ขึ้นมารับราชการกับพระยาพรหมกำแหงเจ้าเมืองนครราชสีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2407 แล้วได้ลูกสาวไอ้ขุนคอนชื่ออีแก้วเป็นเมียนอกสมรส เกิดบุตรีชื่อบุญมา เจ้าคุณทวดแม้จะรับราชการในเมืองนครราชสีมา แต่บั้นปลายชีวิตได้ทอดทิ้งครอบครัวด้านนี้ลงไปอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้กลับขึ้นมาอีก ทวดแก้วจึงให้บุญมาตกแต่งมีครอบครัวไปกับขุนขจรเทศน์วิเศษกล เกิดบุตรธิดาจำนวนมากนับได้ถึงแปด แต่พ่อของเขาเป็นบุตรชายคนโต ได้ชื่อว่า ต้น ขึ้นนามสกุลว่า ขจรเทศน์

บัดนี้, เจ้าของคฤหาสน์หลังงาม เชื้อสายดนัยมนัสราษฎร์ฝ่ายท่านผู้หญิง เป็นชายวัยหกสิบปีเศษ โดยศักดิ์ก็คือพี่ชายของเขาคนหนึ่ง ก่อนขึ้นไปโคราชมหาดเล็กถิ่นได้สมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงสดับและได้ลูกเป็นชายชื่อจรูญ ขึ้นนามสกุล ดนัยมนัสราษฎร์ พออายุได้ยี่สิบปีก็แต่งงานกับธิดาของพระประจักษ์สนิทนึก แล้วได้บุตรชายตั้งชื่อให้ว่า จำรัส อยู่ต่อมาไม่นานก็สิ้นบุญไป คุณนายประเอียงซึ่งหม้ายตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งเป็นลูกสาวคหบดีผู้มั่งคั่ง ได้พาจำรัสบุตรชายอพยพไปอยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สองสามปี

จำรัสเติบโตขึ้นในท่ามกลางวัฒนธรรมยุโรป ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในอังกฤษโดยตลอด จนกระทั่งคุณนายประเอียงพาเดินทางกลับประเทศเพื่อรับมรดก ซึ่งได้จากสองฝ่ายคือฝ่ายทวดปู่และทวดตา นับเป็นทรัพย์สินเงินทองมูลค่าพัน ๆ ล้านบาท มรดกเหล่านี้ส่วนมากก็คือ หุ้นส่วนบริษัทจำกัดที่ชื่อ สยามเอต์ฟรองซ์ฯ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ก่อการสำคัญ 3 คนคือ ฟรังซัวส์ ออร์ลียอง ซองแตร์ พระประจักษ์สนิทนึกและจางวางดนัยมนัสราษฎร์ ในคราวนั้นเองจำรัสก็ได้รู้จักกับอิสเบลล่า นักศึกษาวรรณคดีประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปารีส (ซอร์บอน) มีศักดิ์เป็นเหลนฟรังซัวส์ ออร์ลียอง ซองแตร์ อิสเบลล่าเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะความใฝ่ฝันในชีวิตที่จะทำความรู้จักดินแดนอินโดจีน ไม่ใช่เพราะว่าปู่ย่าของเธอเข้ามาปกครองดินแดนนี้เท่านั้น แต่ผลงานการค้นคว้าของศาสตราจารย์ยอชส์ เซเดส์ เรื่องอังกอร์วัด อังกอร์ธม อาณาจักรของชัยวรมันอันยิ่งใหญ่ ทำให้ความอยากของเธอไม่ได้หยุดลงตรงพิพิธภัณฑ์กีเมต์กรุงปารีสเท่านั้น แต่มุ่งมั่นว่าจะต้องเห็นของจริงให้ได้

ความใฝ่ฝันของอิสเบลล่าปรากฏเป็นความจริง เมื่อญาติฝ่ายลุงชื่อปิแอร์ โนลัง ถูกส่งตัวมารักษาผลประโยชน์บริษัทสยามเอฟรองซ์ฯ ในกรุงเทพฯ อิสเบลล่าขอติดตามและตั้งใจอยู่ไม่นาน เนื่องจากจะต้องกลับไปเสนอวิทยานิพนธ์ต่อมหาวิทยาลัย

ในงานสังสรรค์ผู้บริหารสยามเอต์ฟรองซ์ฯ ในกรุงเทพฯ ที่จัดขึ้น ณ คฤหาสน์ดนัยมนัสราษฎร์ คืนนั้นอิสเบลล่าก็ได้พบและรู้จักจำรัส จากนั้นความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวก็กลายเป็นความรัก จำรัสพาอิสเบลล่าไปในดินแดนต่าง ๆ ที่มีปราสาทและเมืองโบราณตั้งอยู่ ทั้งคู่ต่างค้นคว้าหาความรู้อย่างไม่เบื่อหน่าย เพราะจำรัสเองก็จากบ้านเมืองไปแต่ยังเล็ก การได้มาทำความรู้จักบ้านเกิดเมืองนอน ส่วนหนึ่งก็เป็นความต้องการของเขาเช่นกัน แต่ว่ายังมีหญิงที่เขารักเดินทางท่องเที่ยวไปเคียงข้าง การเดินทางจึงเต็มไปด้วยชีวิตชีวา

วันหนึ่ง, นางประเอียงเรียกบุตรชายเข้ามาหา แล้วบอกว่าหากเขาได้ขึ้นไปทางเมืองโคราชเพื่อนำแหม่มอิสเบลล่าไปชมปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน พนมรุ้ง และเขาพระวิหาร ขอให้ไปพักที่บ้านขจรเทศน์จะเป็นการดี แต่นางก็ไม่ได้บอกบุตรชายว่าเหตุใดจึงแนะนำไปที่นั่น เพียงแต่บอกว่าเป็นคนที่เคยรู้จักกัน มีบ้านหลังใหญ่ ข้าทาสบริวารมากและจะเป็นการสะดวกที่จะนำชมนำศึกษาไปดินแดนแถบนี้

จำรัสและอิสเบลล่านั่งรถไฟหัวรถจักรไอน้ำขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมา ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีถนนมิตรภาพ ทางรถยนต์จึงไม่สะดวกกว่าทางรถไฟ เมื่อไปถึงเป็นเวลาเย็นพอดี กำลังว่าจะจ้างสามล้อถีบให้ไปส่งบ้านขจรเทศน์ตามที่มารดาแนะนำ ก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถาม

“เป็นคุณจำรัส ดนัยมนัสราษฎร์ หรือไม่ขอรับ?” ชายคนนี้อายุประมาณสี่สิบห้าถึงห้าสิบปีเห็นจะได้

“ใช่ ฉันเอง” ชายหนุ่มบอก รู้สึกงง ๆ ที่จู่ ๆ ก็มีคนเข้ามาถามชื่อเสียงเรียงนาม

“ผมได้รับโทรเลขจากคุณพี่แจ้งว่าคุณจะมา” ชายคนนั้นแนะนำตนเองกลาย ๆ

“คุณพี่ที่ไหน?” จำรัสถาม

“คุณแม่ของคุณขอรับ” เขาบอก “ท่านเป็นเหมือนพี่สาวคนหนึ่งของผม”

“คุณแม่ไม่เคยได้บอกว่าผมมีน้องชายที่โคราช แต่ได้บอกให้ผมไปพักที่บ้านขจรเทศน์อยู่เหมือนกัน ไม่ทราบว่าคุณคือ…?”

“ขอรับผมคือต้น น้องชายคุณแม่ประเอียง” ชายคนนั้นบอกพลางกวักมือเรียกเด็กชายคนหนึ่งมาหา “ไหว้พี่ชายของลูก และจำไว้นี่คือคุณจำรัส ดนัยมนัสราษฎร์”

เด็กชายที่รูปร่างไปทางผอม ผิวดำเหมือนผู้เป็นพ่อ ใบหน้าเป็นเหลี่ยมคม คิ้วดก ริมฝีปากหนา เข้าลักษณะคนพื้นเมือง เขาเองไหว้พลางมองแหม่มฝรั่งพลาง ด้วยความพิศวง จนพ่อต้องบอกให้ไปช่วยยกข้าวยกของออกไปจากสถานีรถไฟ ทั้งหมดพานั่งรถสามล้อถีบที่ต้องจัดมาไว้รอรับสี่ห้าคันไปที่บ้านขจรเทศน์

บ้านของนายต้น ขจรเทศน์ ออกไปทางประตูเมืองด้านทิศเหนือ หลังจวนและศาลาว่าการเมือง อาณาบริเวณปลูกต้นหมาก ต้นพร้าวขึ้นแน่นหนา ตัวบ้านยกสูงด้วยเสาไม้จิกหรือไม้เต็ง ฝาเรือนและพื้นกระดานก็ปูด้วยไม้เนื้อดีทั้งหลัง หลังคาก็มุงด้วยกระเบื้องงดงาม ถึงจะดูโบราณไปหน่อย แต่บ้านช่องห้องหับก็สะอาดสะอ้าน ในห้องโถงใหญ่ไว้รับแขก มีรูปถ่ายจางวางดนัยมนัสราษฎร์คู่กับแก้วติดไว้ให้เห็นชัดบนผนัง คราวนี้เองจำรัสจึงเข้าใจได้เองว่าคุณทวดมีบ้านไว้ให้ภริยานอกสมรสของท่านที่นครราชสีมา หลังนี้

ตั้งแต่จำรัสได้รู้จักกับนายต้น เขาก็รู้สึกชอบอัธยาศัยเป็นอันมาก เพราะมีสายเลือดฝ่ายทวดคนเดียวกันนั้นเป็นข้อหนึ่ง แต่การปฏิบัติตนของนายต้นต่อจำรัสก็เป็นไปอย่างพี่ที่จะเลือกซื้อช่วยเหลือรับรองในทุก ๆ ทางเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าการนำพาไปชมปราสาทต่าง ๆ พาท่องเที่ยวไปในดินแดนที่ยังทุรกันดารเป็นอันมากในเวลานั้น หรือพาไปแนะนำต่อญาติโกโหติกาในจังหวัดต่าง ๆ ที่คนเหล่านั้นได้ออกครัวไปทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัว นับว่ากลุ่มของขจรเทศน์เป็นกลุ่มใหญ่ แตกลูกหลานไปทั่วแดนนี้ ส่วนการต้อนรับของพวกเครือญาติฝ่ายนี้ พวกเขาจะจัดบายศรีสู่ขวัญให้จำรัสและอิสเบลล่าทุกบ้านทุกครัวไป จากนั้นจัดสังสรรค์ป่าวเตินชาวบ้านมาให้รู้จักญาติพี่น้อง พวกเขาช่างภูมิอกภูมิใจยิ่งนัก อิสเบลล่าว่า เป็นคนซื่อ ๆ ง่าย ๆ ฉันประทับใจมาก

จากความประทับใจอันมิรู้ลืม อิสเบลล่าเดินทางกลับฝรั่งเศส เขียนวิทยานิพนธ์เสนอมหาวิทยาลัย แล้วเดินทางกลับมาแต่งงานกับจำรัสที่เมืองไทยแล้วเข้าเป็นอาจารย์บรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ต่อมาทั้งสองได้บุตรด้วยกัน อิสเบลล่าซึ่งปรับตัวให้เข้าได้กับวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มีความสุขอยู่กับบ้าน กับหนังสือ ตำนานต่าง ๆ เดินทางวนเวียนไปมาระหว่าง ปรางค์กู่ ปราสาทหิน เมืองโบราณกับบ้าน และคลุกดินกินฝุ่นกับการขุดค้นทางโบราณคดีในท้องที่ต่าง ๆ เพลิดเพลินไปจนกระทั่ง จรางนารี บุตรสาวอายุได้สิบเอ็ดขวบ มาดามอิสเบลล่าเกิดอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ ทำให้เสียชีวิต

นายจำรัสกลายเป็นบุรุษผู้อมทุกข์อยู่มิสร่าง แทนที่จะออกไปเริงร่าในวงสังคมกับเจ้านายและพ่อค้านักธุรกิจ ก็ดำดิ่งในตำรับตำราต่าง ๆ ภายในห้องสมุดของบ้าน แต่ความรักและความอบอุ่นที่มีให้แก่จรางนรี คงไม่ขาดตกบกพร่องไปได้ เวลาที่ลูกไปโรงเรียน จำรัสไปเข้าห้องสมุด เอาบทความและงานค้นคว้า ตลอดจนงานเตรียมการสอนของอิสเบลล่ามาอ่านเสมอ ๆ วันหนึ่ง, จำรัสก็คิดได้ว่า เขาน่าจะลงมือเขียนความทรงจำเกี่ยวกับชีวิต ความรัก และความจากพรากเอาไว้ เพื่อประโลมอาการโหยไห้แห่งหัวใจที่แสนเศร้า

“หากเธอได้อยู่คู่เคียง” จำรัสหวนไปถึงวันแรก ๆ ที่พบอิสเบลล่าที่คฤหาสน์หลังนี้ พลันใบหน้าอันงามพริ้มเพราก็แจ่มชัดขึ้น เธอเป็นผู้หญิงสวยไปทุกส่วนสัด ไม่ใช่แหม่มกระโดงโด่อย่างนั้น ผมและผิวเป็นสีทอง เนื้อเนียนละเอียดอุ่น ยามแย้มยิ้มริมฝีปากก็แย้มยวน ท่วงท่ากิริยาวาจาส่อแสดงความเป็นผู้ดีมีสกุลทุกกระเบียดนิ้ว

“โอ้ มหัศจรรย์…ฉันไม่นึกว่าจำรัสจะมีห้องสมุดใหญ่โตอย่างนี้” อิสเบลล่าตื่นเต้นกับจำนวนหนังสือหลายหมื่นเล่มที่บรรพบุรุษสะสมไว้ เอามือทาบหน้าอก ตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก

“ห้องสมุดของพระยาเมธาดนัยศักดิ์” เขาบอกเธอด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ “แล้วจางวางดนัยมนัสราษฎร์ก็รับมรดกต่อมา จนถึงพ่อผมก็ใช้ห้องสมุดนี้น้อยมาก จนมาถึงผมเพิ่งกลับจากอังกฤษ ยังไม่เคยเข้ามาอ่านหนังสือในห้องนี้เลย”

“โอ้โฮ หนังสือเก่าแยะเชียว” ยังไม่หายตื่นเต้น คนชอบอ่านหนังสือก็จะเป็นแบบนี้ “แล้วนั่น หนังสืออะไร เอาเชือกมัดไว้…”

“หนังสือผูกใบลาน” จำรัสอธิบาย “ตัวหนังสือเป็นตัวธรรม จารเรื่องชาดกต่าง ๆ รวมทั้งหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา ถ้าจารเป็นตัวไทยน้อย มักจะเป็นเรื่องความรู้และภูมิปัญญาต่าง ๆ ของชาวบ้าน เช่น ตำรายา ตำราดูลักษณะผู้หญิง นิทานชาวบ้านต่าง ๆ”

“ถ้าฉันได้อยู่ที่นี่ ฉันจะต้องหัดเขียนหัดอ่านตัวธรรม ตัวไทยน้อยนี้ให้ได้”

“ผมขอภาวนาให้คุณได้อยู่ที่นี่ ยินดีต้อนรับอย่างจริงใจ”

“จริงหรือ จำรัส?”

“จริงครับ” เขายืนยัน “เว้นแต่จะคิดว่าคนสยามไม่น่าสนใจตรงไหน ตัวก็เล็กแถมดำ ทั้งยึดมั่นในธรรมเนียมไทยจนแกะไม่ออก”

“ฉันไม่เคยคิดแบบจำรัส”

“เพราะเราไม่ฉลาดเหมือนพวกยุโรป”

“ดี, ปกครองง่าย” อิสเบลล่าพูดเป็นเย้ยเล่น ๆ แล้วหัวเราะเห็นฟันสีขาวไข่มุก “คนสยามฉลาดมีลักษณะเฉพาะ ผู้ปกครองนั้นยิ่งฉลาด”

“แต่ฉลาดไม่เท่ายุโรป”

“ไม่หรอก จำรัส, บ้านเมืองเธอมีอารยธรรมมานาน เป็นการชี้ให้เห็นว่าฉันพูดถูก ตอนที่นักล่าเมืองขึ้นเอาลัทธินี้มาชี้นำฝรั่งเศส ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นด้วยทุกคน ฉันคนหนึ่งที่ไม่ยอมรับลัทธิล่าเมืองขึ้น และฉันก็เห็นว่าสยามของคุณยิ้มสู้ หาทางผ่อนผัน หาทางประนีประนอม นี่คือความสามารถ เพราะฉลาดจึงไม่ตกเป็นเมืองขึ้น คนประเทศอื่นไม่มีลักษณะเฉพาะอย่างคนสยาม”

“แสนยานุภาพสู้อังกฤษ ฝรั่งเศสไม่ได้ ก็ต้องใช้กุศโลบายอย่างนั้น”

“ไม่จริง” อิสเบลล่าเถียง “กำลังเท่ากัน ทุกอย่างเท่ากันหมด แต่ก็ต้องมีผู้แพ้และมีผู้ชนะ อยู่ที่สมองต้องใช้คิดไม่ใช่คิดแต่จะทำสงคราม”

“คุณปู่ท่านเคยบอกผมว่า ธรรมดานักล่าย่อมประสงค์ต่อผลที่ล่า มันเป็นการยากที่จะขัดขวาง” จำรัสหยุดไปชั่วขณะ ก่อนที่จะกล่าวฉันบทว่า “ธรรมดามหาสมุทร มีคราวหยุดพายุผัน มีคราวสลาตัน ตั้งระลอกกระฉอกฉาน ผิวพอกำลังเรือ ก็แล่นรอดไม่ร้าวราน หากกรรมจะบันดาล ก็คงล่มทุกลำไป”

“คนสยามรักความเป็นไท รักอิสรภาพ และความมีเอกราช”

“แต่ลัทธิล่าเมืองขึ้นไม่คิดอย่างนี้” เขาว่า “ฝรั่งเศสอยากได้หลวงพระบางก็อ้างว่าเคยเป็นของญวนมาก่อน”

“ฉันว่านายเดอวิลล์อ้างถูกแล้ว” อิสเบลล่าเถียง “เมื่อมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีต่างประเทศจะให้คัดค้านได้ยังไง?”

“อ้าว…ถ้าจะว่าอย่างนี้ผมก็จะว่าอย่างลอร์ด ดัฟฟ์เฟอริน ฝ่ายอังกฤษเหมือนกัน ที่บอกว่าการอ้างสิทธิตามประวัติศาสตร์นั้นใครก็อ้างได้ หลวงพระบางเคยตกเป็นเมืองขึ้นญวน แต่หลวงพระบางเป็นลาวและขอมาอยู่กับไทย เหมือนกับแคว้นนอร์มังดี แคว้นกัสโคนีและแคว้นกิแอนของฝรั่งเศสเคยเป็นของอังกฤษ สิทธินี้เป็นสิทธิแห่งประวัติศาสตร์ แต่อังกฤษจะอ้างสิทธินี้ได้อย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ล่ะ?”

“แต่สยามไม่เสียดายหลวงพระบางไม่ใช่หรือ?”

“ถึงเสียดายก็จำเป็น” เขาว่า “หมาป่าจะกินลูกแกะ ต้องหาเรื่องกินจนได้”

“ขอโทษนะจำรัส ฉันแกล้งยั่วคุณเล่นเท่านั้นเอง”

“ไม่เป็นไรหรอก ผมพอจะเข้าใจอยู่” ความปรารถนาหรือความรักอย่างรุนแรง ทำให้จำรัสกล้าก้าวเข้าไปประชิดตัวอิสเบลล่า แล้วโน้มเธอเข้ามาในวงแขน จูบอย่างดูดดื่ม แล้วยังกระซิบที่ข้างหูว่า “ผมขอเป็นหมาป่ากินลูกแกะ”

อิสเบลล่ายิ้มอย่างชวนเสน่ห์ หัวใจของจำรัสโตพอง เต็มไปด้วยความดำฤษณา…

กำลังคิดไปเพลิน ๆ นายจำรัสเหมือนตื่นจากภวังค์ ยกมือรับไหว้ชายคนที่กำลังเดินเข้ามาพบในห้องสมุดพลางทักทายว่า “อ้าวโต…ไปยังไงมายังไง?”

“ผมลงมาจากปากช่อง มีของจะมอบไว้ให้คุณพี่” เขาคือนายโต ลูกชายของนายต้น ขจรเทศน์

“พ่อนายเป็นไงบ้าง?” จำรัสทักทายถามทุกข์สุขอย่างพี่น้อง

“ท่านเสียแล้วครับ” เขาบอกน้ำเสียงเรียบ ๆ “ท่านสั่งเสียไว้ให้ผมนำของสิ่งนี้มาให้คุณพี่ พอพวกญาติจัดฌาปนกิจเสร็จ ผมก็มาทันที”

เขายกห่อผ้าสีแดงลงยันต์ยื่นไปต่อหน้านายจำรัส ซึ่งยื่นมือมารับไปพลางพูดว่า “พี่ต้นจากไปในวัยอันเหมาะสม อยู่มานานถึงแปดสิบกว่าปี โตน่าจะแจ้งข่าวลงมา พี่จะได้ขึ้นไปเผา…”

“พวกผมไม่อยากจะรบกวนพี่”

“เฮ้ย, รบกวนอะไร พี่น้องกัน” เขาว่า “แต่ก็ช่างเถิด ไว้ทำบุญเก็บกระดูก พี่จะพาจรางนรีขึ้นไปโคราชสักวัน”

“พวกญาติเขาก็คิดแบบนี้เหมือนกัน” โตบอก “เขากำหนดวันเวลาไว้แล้ว ให้ผมมาเรียนเชิญคุณพี่ขึ้นไปร่วมงานบุญ”

โตสนทนาอยู่กับนายจำรัสในเรื่องงานทำบุญและเรื่องต่าง ๆ จนได้เวลาพอสมควร เขาจึงกลับออกมาทักทายบรรดาคนครัว คนสวน คนรถ คนทำความสะอาดนับสิบ ที่ล้วนแต่เป็นผู้ที่เขาเป็นคนจัดหาจัดส่งลงมาทำงานในคฤหาสน์มีทั้งสิ้น จากนั้นเขาจึงขับรถกลับไร่ที่ปากช่องในเย็นนั้น

นิตยสารทางอีศาน:ฉบับที่ 82

Related Posts

นวนิยายเรื่อง “ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน” กำลังเข้มข้นในนิตยสาร “ทางอีศาน”
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 11
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 10
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com