ทางอีศาน 82 : ปิดเล่ม

๐ อย่าได้วาจาเพี้ยงเขาฮอขมขื่น     คำปากอย่าได้ตื้นคือหม้อปากแบน

อย่าได้แสนแพนหน้าวาจาเว้าอ่ง     ฝูงพี่น้องพงษ์เชื้อชิบ่มี ๐

(วรรณคดี “ย่าสอนหลาน”)

ดร.ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า “เพี้ยง คือ เสมอ  เหมือน แสนแพนคือทำหน้าตาสวยงาม การพูดจานั้นเป็นได้ทั้งส่วนดีและส่วนเสีย พูดจาไพเราะประสานสามัคคี พูดในสิ่งที่เป็นความสุขความเจริญเช่นนี้เป็นคำที่ควรพูด ส่วนคำใดที่พูดแล้วคนฟังรังเกียจเดียดฉันท์  แม้แต่คนที่รักใคร่พอใจก็ไม่อยากฟัง การพูดก็อย่าพูดทนงองอาจทำให้ผู้ฟังขี้เดียด คนพูดทนงตัว หยิ่งตัว จะขาดเพื่อนสนิทมิตรสหายที่รักใคร่นับถือกัน” (“ไขภาษิตโบราณอีสาน” ดร.ปรีชา  พิณทอง หน้า ๓๐๔)

คำโบราณสอนไว้ ให้ระมัดระวังคำพูดคำจา

สมัยโบราณพูดจากัน แม้ได้ยิน แพร่หลายในวงแคบ ยังต้องมีความระมัดระวัง

มาสมัยนี้ ผู้คนสามารถเขียนแสดงความคิดเห็นแพร่กระจายกันได้ง่ายได้กว้างอย่างโซเชียลมีเดีย ยิ่งต้องระมัดระวังกันมากขึ้น

ทุกเรื่องทุกราวมันโยงใยถึงกันได้หมด บางสิ่งดูไม่เกี่ยวเนื่องกัน  แต่เพียงคำพูดจาก็อาจส่งผลสะเทือนถึงกันได้ เช่น “ตีหัวปลาสะเทือนหัวนาค”   (ภาษิต โดย ดร.ปรีชา  พิณทอง)

“ปลากับนาคเป็นสัตว์น้ำด้วยกัน ถ้าเราไปจับปลาก็สะเทือนถึงนาค เพราะนาคเมื่อคนจับปลาได้ วันหนึ่งก็ต้องจับนาค ในทำนองเดียวกัน เราจะดุด่าว่ากล่าวลูกหลานหรืออบรมสั่งสอนเขา ก็ให้มองหน้ามองหลัง คนเรามีพ่อมีแม่ แหมีจิตมีจอม  หากพูดจาอะไรออกไปจะเป็นการข้วมหูหินปีนหัวกั่ว ทำให้เกิดความบาดหมางกันในระหว่างญาติพี่น้องก็อย่าทำ” (“ไขภาษิตโบราณอีสาน” โดย ดร.ปรีชา  พิณทอง  หน้า ๘๑)

“ทางอีศาน”  พยายาม “เขียน” แต่เรื่องดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม  สร้างมิตรให้มาก  “ฟันเฮือไว้หลายลำแฮท่า หม่าเข้าไว้เต็มบ้านทั่วเมือง” (วรรณคดี “เสียวสวาสดิ์”)

“ทางอีศาน” ยินดีน้อมรับคำแนะนำเสมอครับ

Related Posts

ปิดเล่ม ทางอีศาน 122
ปิดเล่ม
ปิดเล่ม ทางอีศาน 91
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com