ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๑)

ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๑)

วันที่ ๒๒ – ๒๕ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มูลนิธิทางอีศาน จัดรายการทัศนศึกษาแหล่งโบราณสถานประเภทปราสาทหิน ซึ่งมีสถานะเป็น “ทิพยวิมาน” หรือ “เทวาลัย” ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู และพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน

เป็นรายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจพอสมควร คณะทัวร์ ๒๘ ชีวิต สัญจรเป็นวงรอบอีสานใต้ จากจังหวะสระแก้ว สู่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ แล้ววกกลับนครราชสีมา เที่ยวชมเทวาลัยสำคัญของอีสานใต้  รวมจากปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว สู่ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีสะเกษ ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปราสาทพิมาย อ.พิมาย ปราสาทบ้านปรางค์ และวัดนกออก หรือวัดปทุมคงคา อ.ปักธงชัย นครราชสีมา ก่อนปิดท้ายด้วยการเปลี่ยนบรรยากาศไปชมความงามของหมู่บ้านอีสาน ณ ฟาร์มจิม ทอมป์สัน ณ ปักธงชัย

นับเป็นการเดินทางที่มีความสุข เพราะถึงแม้เพื่อนร่วมทางจะมาจากภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ แต่มีหัวใจเดียวกัน คือความปรารถนาจะท่องเที่ยวแบบ “เพลิน” คือ Play + Learn ทำให้ตลอด ๔ วันเต็มบนมินิบัส ๔๐ ที่นั่ง มีทั้งเสียงหัวเราะจากการตอบคำถามชิงรางวัล เสียงเพลงที่ขับกล่อม และเสียงลมหายใจยามตั้งใจฟังวิทยากรบรรยาย ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นผู้กระหายในการเรียนรู้

ผมในฐานะวิทยากร ร่วมกับ อ.ทองแถม นาถจำนง ถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ทางโบราณคดี ที่สั่งสมมาหลายทศวรรษอย่างเบิกบานใจเป็นที่สุด เมื่อเห็นแววตาของคณะทัวร์จดจ้องมาที่เราอย่างกระหายใคร่รู้ และรู้สึกภาคภูมิใจที่ “ยามหนุ่มเราลงมือทำ (และศึกษาค้นคว้า) ครั้นยามแก่เราพึงถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นหลังอย่างสุดจิตสุดใจ”

ในโอกาสนี้ ขอหวนรำลึกถึงทริปท่องเทวาลัยอีสานใต้ ด้วยการรวบรวมภาพในความทรงจำมานำเสนออีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าถึงแม้นครวัด นครธม ในกัมพูชาจะยิ่งใหญ่ปานใด แต่เทวาลัยขนาดเล็กในเขตอีสานใต้ของไทย ก็ไม่น่าพลาดชม ด้วยประการทั้งปวง

(ภาพ ๑) การเดินผ่านเสานางเรียง ขึ้นสู่สะพานรุ้ง หรือสะพานนาคราช แล้วค่อย ๆ เห็นปรางค์ประธาน ปราสาทวนัมรุง หรือพนมรุ้ง ซึ่งสร้างด้วยหินทรายสีชมพู บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับมอดแล้ว ค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาอย่างสง่างาม เป็นฉากที่ตราตรึงใจไม่ด้อยไปกว่าการเดินขึ้นสู่ปรางค์ประธาน มหาปราสาทนครวัด หรือ “บรมวิษณุโลก” ในกัมพูชา

(ภาพ ๒) นาคเป็นสัญลักษณ์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ ตามคติความเชื่อของชาวฮินดู นอกจากนั้น ชาวฮินดูยังเปรียบสายรุ้งที่โค้งฟ้าเป็นสะพาน หรือบันไดขึ้นไปสู่ทิพยวิมานของเทพเจ้า ดังนั้น เมื่อเดินถึงสะพานนาคราช ถือเป็นสัญลักษณ์ว่าเรากำลังข้ามเขตแดนมนุษย์สู่แดนสวรรค์แล้ว สังเกตศีรษะนาคทรงกระบังอย่างวิจิตรตา จัดเป็นนาคศิลปะนครวัดที่งดงามอลังการ

(ภาพ ๓) บุคคลสำคัญที่ปรากฏ ณ หน้าบันของ “โคปุระ” หรือซุ้มประตูทิศตะวันออก ปราสาทพนมรุ้ง นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า คือพระศิวะมหาเทพ ในภาคโยคทักษิณามูรติ หรือพระศิวะปางรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และยังหมายถึง “นเรนทราทิตย์” ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้งถวายเป็นทิพยวิมานของพระศิวะบนโลกมนุษย์ ด้วยพระองค์ทรงประกาศว่าเป็น “อวตาร” หรือการแบ่งภาคมาเกิดของพระศิวะ

(ภาพ ๔) กรอบหน้าบันเป็นกรอบซุ้มแบบโค้งเข้าโค้งออก ปลายกรอบเป็นรูปนาคมีรัศมีและพังพานเป็นแผ่นเดียวกัน ตามแบบนครวัด เหนือกรอบหน้าบันมีใบระกาที่ตกแต่งด้วยลายก้านต่อดอก ที่ก้านดอกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ด้วยการขีดเป็นร่อง 2 ร่อง ลักษณะลายก้านต่อดอกนี้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยบาปวน ภายในกรอบหน้าบันสลักภาพเล่าเรื่องเต็มพื้นที่ตามแบบนครวัด ถัดลงมาด้านล่างสุดของหน้าบันมีการสลักขื่อปลอมหักตั้งได้ฉากตามแบบนครวัด

(ภาพ ๕) ที่โคนเสาของมณฑปทิศตะวันออกของปรางค์ประธานปราสาทพนมรุ้ง (ด้านเดียวกับหน้าบันศิวนาฏราช และทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์) มีภาพแกะสลักสตรีกำลังหยิบเมล็ดพันธุ์พืชไปหว่านโปรย โดยมีพราหมณ์ยืนกำกับพิธีกรรมที่เรียกว่า “ปูรณะธัณยกา” อันหมายถึงการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตามคติความเชื่อว่าสตรีคือผู้ให้กำเนิดชีวิต ให้ความอุดมแก่แผ่นดิน ด้วยคำว่า “ธัญ” หากเป็นคำนาม แปลว่า ข้าวเปลือก ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า รุ่งเรือง มั่งคั่ง

ดังเช่นอวตาร ๑ ใน ๙ ปางของพระศรีอุมาเทวี ชายาพระศิวะ มีสถานะเป็น “พระแม่อันนาปูรณะ” หมายถึง ผู้ทำให้ข้าวงอก หรือผู้ประทานธัญญาหารอันอุดม

ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๒)

ท่องทิพยวิมานอีสานใต้ ประทับไว้ในดวงจิต (๓)

(โปรดติดตามตอนต่อไป ฉบับหน้า)

อ้างอิง

เว็บไซต์ ฐานข้อมูลโบราณสถานสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com