การเตรียมลูกหลานที่ดี คือการวางใจในอนาคต ๓

การเตรียมลูกหลานที่ดี คือการวางใจในอนาคต ๓

ทางอีศาน ฉบับที่ ๕ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: อุษาคเนย์เห่กล่อม
Column: Southeast Asian Lullaby
ผู้เขียน: จินตรัย


เราทุกคนตระหนักอยู่เสมอในการที่จะทำให้ลูกหลานเป็นคนดีที่สุด

แต่ในบางเวลา บางความคิด และในบางพฤติกรรมที่แสดงออกในความหวังดีเหล่านั้น มันไปปลูกฝังเสริมส่งให้ลูกหลานของเราเป็นคนที่ไม่เต็มคน เป็นคนไทยที่มีนิสัยไม่พึงประสงค์ (ดู facebook ?ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย? สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เดือนมีนาคม – พฤษภาคม ๒๕๕๕ หัวข้อ ลักษณะนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ของคนไทย) ได้แก่ เป็นคนฟุ่มเฟือย ชอบวัตถุนิยม ไม่สัตย์ซื่อ ติดสินบน ชอบติดเกม ชอบเล่นการพนัน ติดยาเสพติด เห็นแก่พวกพ้อง ขาดการคิดวิเคราะห์ คิดแตกแยก ขาดความสามัคคี มีความเชื่อที่งมงาย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่เคารพกฎ(หมาย)และกติกาของสังคม ขาดระเบียบวินัย ไร้จิตสาธารณะ จะเห็นชัดเจนจากการแย่งกันขึ้นรถเมล์ การยื้อแย่งรับของบริจาค (จากมูลนิธิการกุศล รับของบริจาคน้ำท่วม แถมมีการเวียนมารับของอีกหลายเที่ยว) จนเกิดบาดเจ็บแทบเสียชีวิตก็มี เรามีนิสัยเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าห่วงใยสำหรับการวางใจในอนาคตอย่างยิ่ง !

ลักษณะนิสัยเหล่านี้เป็นต้นทุนพื้นฐานสำคัญในการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การแข่งขันบนเวทีภูมิภาคอย่างประชาคมอาเซียนปี ๒๕๕๘ และเวทีโลก ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันทุกประเทศในโลกนี้ ประชากรไม่ได้แข่งขันกับคนในประเทศของตนอย่างเดียวแล้ว

การเตรียมความพร้อม คนไทยจักต้องปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัยดังกล่าวข้างต้นให้ดีขึ้นเสียโดยเร็ว เป็นคนที่มีลักษณะนิสัยที่มีวินัย และรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน รากเหง้าน่าจะอยู่ที่ความเชื่อ ทัศนคติ และวัฒนธรรมนิยมบางอย่างของคนในสังคม อันมีผู้หลักผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ รวมทั้งนักการเมืองในสังคมไทยเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนซึ่งเราต่างจะปฏิเสธไม่ได้

คนไทยได้รับยกย่องจากฝรั่งมาแล้วในอดีตว่าเป็นดินแดนแห่งการยิ้มแย้ม มีน้ำใจ มีอัธยาศัยดีซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเรา หากผู้หลักผู้ใหญ่จักต่อยอดโดยการสอนลูกหลานเสียใหม่ให้มีวินัยในตนเองด้วยแล้ว คนไทยก็จะไม่น้อยหน้ากว่าชนชาติใดในโลก เป็นที่ทราบกันดีเมื่อต้นปีที่แล้วประเทศญี่ปุ่นเกิดภัยพิบัติสึนามิมีความเสียหายอย่างมหาศาล แต่สิ่งที่ทั่วโลกประหลาดใจพร้อมกับชื่นชมชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมากก็คือ ความมีสติ ความมีวินัย ถึงแม้จะหิวโหยขาดปัจจัยต่าง ๆ แต่เมื่อมารับของบริจาคพวกเขาต่างเข้าแถวยาวเหยียดรับสิ่งของบริจาคอย่างเป็นระเบียบ

เราลองมาเจาะลึกดูการเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น ว่าเขาเลี้ยงอย่างไรถึงมีวินัยที่น่าชื่นชมเช่นนั้น… จากปากคำของหญิงไทยสะใภ้ญี่ปุ่นเล่าว่า เมื่อลูกอายุ ๓ ขวบจะเริ่มปลูกฝังวินัยในบ้านด้วยการสอนให้ลูกทำตาม เช่น ตื่นเช้าสอนอาบน้ำ ใส่เสื้อผ้าเอง และจัดการกินอาหารเช้าให้เรียบร้อยพร้อมที่จะไปโรงเรียน พอกลับจากโรงเรียน สอนการวางรองเท้าให้ถูกต้อง ทำความสะอาด สอนความรับผิดชอบงานในหน้าที่อย่างใกล้ชิด ทำตามที่บอก พร้อมกันนั้นผู้ใหญ่ก็ปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้เขาเห็นอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอด้วย การเข้าแถวรับบริการหรือทุกกิจกรรมก็ฝึกมาตั้งแต่อนุบาลเคารพสิทธิของคนอื่น รับบริการตามลำดับคิวของตนเสมอ

หลักการเลี้ยงลูกให้มีวินัยง่าย ๆ เช่นนี้พ่อแม่คนไทยก็สามารถทำได้ นำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากเลย โดยเริ่มต้นจากการแสดงความรักต่อลูกอย่างเปิดเผย เช่น การโอบกอด หอมแก้มให้ลูกรู้ว่ารักลูก และในเวลาที่ลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟังก็ไม่ควรใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการดุ ด่า หรือตี นั่นเป็นสิ่งที่ผิด แต่จะตีให้ถูกเวลา มีเหตุผล และเหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่พร่ำเพรื่อ ขณะเดียวกันพ่อแม่ควรเปิดใจรับฟังลูกจะทำให้ลูกเข้าหา และใกล้ชิดกันมากขึ้นกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ต้องให้โอกาสลูกได้พูดได้บอกสิ่งที่เขาคิด จะทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น เวลาฟังลูกพูด ไม่ตัดบท อย่าแปลความด้วยความคิดของเราเอง ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้กับลูกทุกวัยเริ่มตั้งแต่ที่ลูกพูดได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องฝึกฝนมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก สม่ำเสมอจนเขาโตเป็นผู้ใหญ่

ไม่ตามใจลูกเกินไปจนลูกได้ใจ สอนให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัวตั้งแต่เล็กไม่ว่าช่วยหยิบช้อน ถ้วย ตะเกียบ แก้วน้ำ รวมทั้งช่วยเสิร์ฟบริการผู้อื่น ไม่ดูโทรทัศน์เวลารับประทานอาหาร ช่วยเก็บสำรับกับข้าวเมื่อกินเสร็จหรือเก็บของเล่นทันทีเมื่อเล่นเสร็จ เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฎกติกาต่าง ๆ ในครอบครัว เช่น การดูโทรทัศน์ การเล่นเกม ซึ่งทุกคนก็ร่วมปฏิบัติด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ควรมีห้องเฉพาะ ไม่มีเสียงรบกวนการทำงาน ทำการบ้านของลูก ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเคารพสิทธิของลูกด้วยเช่นกัน

การเลี้ยงลูกต้องเอาใส่ใจ ปรับปรุง ปรับตัว รับผิดชอบ และพัฒนาก้าวหน้าไปด้วยกัน จะทำให้ลูกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รู้จักรับผิดชอบ ช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย รู้จักการวางแผนชีวิต รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม มีเหตุมีผลไม่ใช้อารมณ์ จักไม่ส่งผลทำให้การดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน ของลูกหลานประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลไปถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และตลอดจนไปถึงการพัฒนาประเทศชาติอีกด้วย

การเลี้ยงดูและปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยเชิงบวกที่จำเป็นดังกล่าว พึงตระหนักว่าไม่ง่าย ต้องใช้เวลาการดูแล ซึ่งไม่ต่างจากการปลูกต้นไม้ที่ต้องเตรียมดินที่ดี ปราบวัชพืช รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินป้องกันและกำจัดโรคอย่างเหมาะสม และเราจะได้ต้นไม้ ลูกหลาน เติบโตขึ้นอย่างสง่างาม ผลิดอกออกผล เป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพน่าชื่นชมในที่สุด

อีกประการหนึ่ง ก็ยังมีความห่วงใยเยาวชนไทยรุ่นเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์วางตัก (tablet) ไม่แน่ใจว่าที่พวกเขาเหล่านั้นได้รับแจกฟรีไปนั้น จะเกิดผลดีมีประโยชน์ในการเรียนรู้จริงหรือไม่ อาจก่อปัญหาการศึกษาใหม่หรือเกิดโรคใหม่ที่เป็นภัยตามมา เพราะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้บรรลุนิติภาวะเกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในวงการศึกษาระดับโลก ต่างก็ไม่มั่นใจในนวัตกรรมใหม่นี้ว่ามีประโยชน์อย่างสำเร็จรูปเหมือนบางคนปักใจเชื่ออย่างงมงายในทันทีทันใด เพราะถ้าย้อนกลับไปดู ?โรคสมาธิสั้น? จำได้ว่าเพิ่งเกิดเมื่อประมาณ ๒๐-๓๐ ปีมานี่เอง อันเนื่องจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีอิทธิพลครอบงำ ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้ยินโรคนี้มาก่อน

เพราะเหตุว่า เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ใดก็ตามจะใช้ได้ผลอย่างคุ้มค่าทั้งปัจจุบันและอนาคตจะต้องมีคู่มือการใช้ แต่ในวงการศึกษาของไทยที่ตัดสินใจว่าให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ใช้คอมพิวเตอร์วางตัก แล้วเชื่อว่าจะเสริมส่งให้การเรียนรู้ได้ผลดีเลิศนั้น ได้ผ่านการวิจัยจนมั่นใจมารองรับหรือยัง ๑ ได้เตรียมความพร้อมครูผู้สอนนักเรียนกลุ่มนี้หรือยัง ๑ และได้เตรียมผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มนี้หรือยัง อีก ๑ ทั้งสามปัจจัยนี้ครบถ้วนแล้วจึงจะเป็นคู่มือการใช้หรืองานวิชาการรับรองความคุ้มค่าของคอมพิวเตอร์วางตัก สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้นั่นเอง ดูเหมือนถ้าจำไม่ผิดปีกลายนี้ทางจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้วิจัยเรื่องนี้ออกมาว่า คอมพิวเตอร์วางตักใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ได้ผลดีกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ แล้วผลงานวิจัยนี้ก็ถูกมองข้ามผ่านเลยไปอย่างไร้ประโยชน์สิ้น

ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเตือนสติทั้งผู้ปกครองครัวเรือนและผู้ปกครองบ้านเมือง โปรดได้รอบคอบ มองการณ์ไกล ใฝ่พัฒนาสังคมก้าวหน้า พร้อมท้าทายขันแข่งกับเวทีโลกได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่พยายามสร้างภาพว่าประเทศเราก้าวหน้าไม่ล้าหลัง เป็นกลุ่มประเทศโลกที่สองไม่ เป็นประเทศโลกที่สามที่ล้าหลังแล้ว แต่… แต่… เท่าที่ผ่านมาเราเป็นประเทศโลกที่สองแต่รูปแบบเปลือกภายนอกเท่านั้น ส่วนเนื้อหายังล้าหลัง… ยังเป็นประเทศโลกที่สามอย่างไม่เสื่อมคลาย…

ฉบับหน้าคอยพบกับ… วันครูแห่งชาติลาว (ขอบคุณ : ข้อมูลการเลี้ยงลูกสไตล์ญี่ปุ่น จาก คอลัมน์แฟมิลี ของบุษกร ภู่แส นิตยสารกรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับที่ ๑๑๔ วันที่ ๕-๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com