The God of Gipom

ทางอีศาน ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: วิถีไทบ้าน
Column: Thai Folkways
ผู้เขียน: มาโนช พรหมสิงห์
ภาพโดย: art-culture.cmu.ac.th

ฉบับที่แล้วที่ผมเขียนถึง ?พายุปีกผีเสื้อ? มันทำให้ผมคิดย้อนไปถึง ?จิป่ม? จิ้งหรีดสีน้ำตาลตัวขนาดข้อนิ้วมือในช่วงปลายฝนต้นหนาว… คิดย้อนไปถึงงานวิจัยเรื่องอาหารพื้นบ้านอีสานที่ผมมีส่วนร่วมหาข้อมูลบางด้าน… คิดย้อนไปถึงงานเขียนแบบ British India เล่มที่คว้ารางวัล Booker Prize ชื่อ ?เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (The God of Small Things)? …คิดย้อนไปถึงนักเขียนแอคทิวิสต์หญิง (writer activist) ที่ชื่ออรุณธตี รอย (ผู้มิได้หลงใหลได้ปลื้มกับมงกุฎเกียรติยศของรางวัล กลับดำรงตนเป็นนักวิพากษ์สังคมและนโยบายระหว่างประเทศ เธอเข้าร่วมกับชาวพื้นเมืองในแคว้นมัธยประเทศ คัดค้านการสร้างเขื่อนนรมทา จนถูกจับขังคุก เขียนหนังสือการเมืองเปิดโปงและคัดค้านสิ่งที่รัฐกระทำย่ำยีคนเล็กๆ ย่ำยีสัตว์พืชเล็กๆ จนถึงธรรมชาติอันไพศาล ไม่ว่าจะเป็นความเรียงชื่อ จุดจบแห่งจินตนาการ (The End of Imagination) เรื่องการทดลองนิวเคลียร์ของอินเดีย, The Greater Common Good เรื่องเกี่ยวกับเขื่อนขนาดใหญ่ และวิวาทะว่าด้วยการพัฒนาหรือ Power Politics: The Reincarnation of Rumpelstilskin เกี่ยวกับการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานหลัก อย่างเช่น น้ำ, ไฟฟ้า) และสุดท้ายผมคิดถึง ชายชาวบ้านจากชัยภูมิคนหนึ่ง

แมลงเล็ก ๆ ที่เป็นอาหารซึ่งคนลาวอีสานนิยมชมชอบมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่อว่า ?จิป่ม? ประดานักเสาะหาของป่าผู้เป็นชาวบ้านตาดำ ๆ ต่างระดมหา/ ขุดขวย(หรือขุยดิน) จับใส่ครุถังมานั่งนับขายในตลาดยามปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ สนนราคาร้อยละ ๑๐๐ – ๑๒๐ บาท ขายดีจนกระทั่งบางทีเมื่อหิ้วครุถังพ้นป่า คนที่เทียวทางไปมาก็เหมาหมด จึงไม่ได้เดินทางไปถึงตลาดจนแล้วจนรอด หน้านี้จิป่มมีไข่เต็มท้อง หยิกก้นดึงขี้ออกตั้งไฟคั่วโรยเกลือสักนิดหรือเจียวใส่ไข่หรือใส่ลงในแกงหน่อไม้ก็อร่อยจนเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม-ปานนั้นแหละจากการได้มีส่วนหาข้อมูลด้านอาหารอีสานมาประกอบงานวิจัยชื่อ ?โครงการอาหาร ข้าว ปลาอาหารอีสานมั่นยืน? ทำให้ผมได้พบปะสัมภาษณ์คนขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผู้ใช้เวลาว่างช่วงบ่ายตระเวนขุดจิป่มในเขตพื้นที่มณฑลทหารบกที่ ๒๒ เพื่อให้เมียไปนั่งขายในตลาด หรือ น้าสาวน้าบ่าวกลุ่มใหญ่แห่งหมู่บ้านปลูกผัก – เกษตรพัฒนาที่แบกเสียมเข้าป่า สปก. ผืนใหญ่ที่เจ้าของปล่อยเป็นป่ารกไม่ทำประโยชน์ ตั้งแต่เช้าตรู่ยันเย็นย่ำ จนกระทั่งป่าแถบนั้นพรุนไปด้วยหลุมขุด ทว่ามีเพียงพื้นที่เขตอภัยทานของวัดป่าเท่านั้นที่อุดมไปด้วยขวยจิป่ม กลับไม่มีผู้ใดล่วงเกินกล้ำกราย มิใช่ว่ากลัวบาปกรรมเท่านั้น แต่ที่ลึกล้ำกว่าก็คือความเมตตาต่อสิ่งเล็ก ๆ ที่อุทิศร่างเป็นเนื้อหนังมนุษย์ชาวบ้านต่างซาบซึ้งในพระคุณของแมลงเล็ก ๆ จึงปล่อยให้มันได้แพร่พันธุ์อาศัยอยู่ร่วมผืนป่าร่วมโลกไปด้วยกันกับคนตราบนานเท่านาน…

เสียงกรีดเหมือนเสียงร้องของมันระงมอยู่ในลมหนาวช่วงหัวค่ำ มันทำให้ผมคิดถึงบ้านเสมอ ในทุกคราวครั้งที่ต้องนอนค้างอ้างแรมคืนอยู่ไกลบ้านเหมือนกับยามแว่วยินเสียงว่าวสะนูหรือเสียงแคนมันคิดถึงจนทำเอาน้ำตาซึมเงียบ ๆ อยู่คนเดียวหลายครั้ง อย่างเช่น การเดินทางไปผาแต้ม อ.โขงเจียม ในช่วงฤดูหนาวของปีหนึ่งนานมาแล้วเพื่อดูฉากเขียนเรื่องสั้นให้ชัด ๆ อีกครั้ง ทั้งที่คุ้นเคยและไปนอนกางเต็นท์มาแล้วจนนับครั้งไม่ถ้วนหรืออีกครั้งเมื่อเข้าไปพักอาศัยในหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน หมู่บ้านม็อบของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลกับเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ.

คราวที่ไปนอนในหมู่บ้านคัดค้านเขื่อนปากมูลนาน ๒ สัปดาห์ พอดีกับที่ช่วงนั้นมีสถานการณ์คับขันไม่น่าไว้วางใจ ข่าวการเข้าสลายหมู่บ้านจับกุมแกนนำจับกุมชาวบ้านแพร่สะพัด การ์ดต้องฝากผมไว้กับลูกศิษย์วัดจากชัยภูมิคนหนึ่ง ให้คอยดูแลหรือพาหนีถ้าจวนตัว ชายชาวบ้านจากชัยภูมิคนนี้แหละที่ก่อไฟต้มน้ำชงกาแฟให้ หุงหาอาหารขุดจิป่มมาสู่กิน สอนผมฉีกซองบะหมี่สำเร็จรูปเมื่อไม่มีมีดหรือกรรไกร (เรื่องง่าย ๆ ที่คนเมืองโง่ ๆ อย่างผมจนปัญญา) และอื่น ๆ อีกสารพัด เพื่อผมจะได้อยู่อย่างปลอดภัยและเก็บข้อมูลครบถ้วนเพื่อนำไปเขียนเรื่องสั้น ครั้นเมื่อออกจากหมู่บ้านมาไม่นาน ผมก็ได้เขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลที่ก่อกรรมย่ำยีวิถีชีวิตชาวบ้าน / ชุมชนเล็ก ๆ ให้ย่อยยับอย่างมิอาจปฏิเสธได้ และสอดใส่วิถีชีวิตชายชาวบ้านคนนี้ไว้ในตัวละครตัวหนึ่ง

ได้ยินเสียงกรีดหาคู่ของจิป่มครั้งใด ผมคิดถึงวันคืนแสนหนาวในหมู่บ้านริมสันเขื่อนคราวนั้น และคิดถึงเขา เชื่อมโยงต่อให้ผมคิดว่า เขาเป็นเทพผู้พิทักษ์คุ้มครองผม เทพเจ้าของสิ่งเล็กๆ

เทพเจ้าของสิ่งเล็ก ๆ The God of Small Things ของอรุณธตี รอย

ผู้หญิงหน้าเศร้าผู้เกิดในรัฐเกรละ อินเดีย(ตอนใต้) ผู้จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม เคยเป็นครูสอนเต้นแอโรบิค เคยออกแบบ / เขียนบทภาพยนตร์ แล้วนวนิยายเล่มแรกในชีวิตก็ทำให้เธอโด่งดังเป็นพลุ ผู้กล้าจะจริงใจ / ซื่อสัตย์กับความรู้สึกและมโนสำนึกอันแรงกล้าที่มีต่อคนรอบตัวและมนุษยชาติ ผู้เคยเขียนอธิบายตนเองบนกระดาษเช็ดปากยื่นให้กับเพื่อนคนหนึ่งว่า

?จงรักและเป็นที่รัก อย่ามองข้ามความสำคัญของตน อย่าวางเฉยชินชากับความรุนแรงสุดพรรณนาและความบัดซบสามานย์ของชีวิตรอบข้าง จงแสวงหาความสุขใจในแหล่งที่มีทุกข์ลำเค็ญ จงติดตามสิ่งสวยงามไปจนถึงรังของมันอย่าทำเรื่องซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่ายดาย และอย่าทำเรื่องเรียบง่ายให้กลายเป็นความซับซ้อนจงค้อมคารวะความเข้มแข็ง แต่จงเชิดหน้าใส่อำนาจ เหนือสิ่งอื่นใด จงเฝ้าระวัง เพียรพยายาม ทำความเข้าใจ ไม่เผลอไผลและไม่หลงลืมเป็นอันขาด?

กาลเวลาผ่านไปนานแล้ว ผมเขียนเรื่องสั้นเรื่องนั้นจบลงนานแล้ว ผมยังคิดถึง / จริงใจ / ซื่อสัตย์ต่อชายชาวชัยภูมิคนนั้นเหมือนเดิมหรือเปล่าหนอ หรือว่าผมเผลอไผลหลงลืมเขาไปแล้วหรือว่า (นั่นน่ะมันนานมาแล้ว คนเขาลืมกันไปแล้ว) บัดนี้ ชาวบ้านแพ้อย่างราบคาบแล้ว ใครจะอยากจมอยู่กับผู้แพ้ จึงควรที่ทุกคนจะละเลยลืมเลือนชาวบ้านตัวเล็ก ๆ เหล่านั้นเสียให้สิ้น

ค่ำหนาวระงมเสียงจิป่ม ผมเฝ้าแต่เอ่ยถามมโนธรรมสำนึกของตนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com