โพธิ์สามัคคี ลดหนี้มีแต่สุข

โพธิ์สามัคคี ลดหนี้มีแต่สุข

ความเป็นอีสาน คือศูนย์รวมแห่งความหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาหารการกินและอื่น ๆ อีกมากมาย เหล่านี้คือมนต์เสน่ห์แห่งความเป็นอีสานบ้านเรา

คนอีสานโดยปกติเป็นคนรักสนุก ขยัน แต่ความขยันในการประกอบอาชีพภายใต้โครงครอบของสังคมที่ไม่เป็นธรรมทุกด้าน การเมืองขาดวิสัยทัศน์ งานเศรษฐกิจถูกผูกขาด จึงทำให้รายรับไม่พอรายจ่าย จนต้องหยิบยืมทรัพย์สิน บางทีก่อให้เกิดหนี้สินต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้หลายคนหลายครอบครัวต้องจากถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมืองหลวงเพื่อทำงานมาใช้หนี้นั้น ๆ แต่ก็ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยที่มีการจัดการเรื่องหนี้สินได้ทั้งชุมชน รวมถึงมีระเบียบปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และมีเป้าหมายจัดการหนี้สินให้เป็นศูนย์ ที่แห่งนี้คือ “บ้านโพธิ์สามัคคี” หมู่ที่ ๘ ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

“บ้านเราพูดภาษาถิ่นกูยศรีสะเกษ มีอยู่ ๑๒๘ ครัวเรือน ทำนาเป็นหลัก ก่อนหน้านี้ชาวนาเราก็กู้หนี้ยืมสินเพื่อเอามาทำนานี่ล่ะ หน่วยงานไหน องค์กรไหน หรือกลุ่มในหมู่บ้านมีอะไรมาให้กู้ ก็กู้กันหมด ตอนจะใช้คืนเขาก็วิ่งหาเงินกู้จากตัวนี้เอาไปโปะตัวนั้น กู้อีกตัวเอาไปโปะอีกตัว เป็นอย่างนี้มาตลอด” คำบอกกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้เงินของชุมชนจาก ประจวบ สุขเมือง สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมายเหนือ และเป็นสภาผู้นำชุมชนบ้านโพธิ์สามัคคี

ด้วยเพราะเป็นชุมชนที่มีผู้นำมีแนวคิดดี ๆ เลยได้นำเรื่องเหล่านี้มาช่วยกันผลักดันหาทางออกร่วมกันโดยใช้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนเป็นตัวตั้ง และได้ดำเนินการร่วมกัน

“เราคิดและทำร่วมกันมาหลายอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องเยาวชน เรื่องกลุ่มต่าง ๆ ในบ้านเรา รวมถึงมีการจัดการขยะ และล่าสุดนี้ก็คือเรื่องการจัดการหนี้สิน ผนวกกับกิจกรรมการออมเพื่อให้ครอบครัวอบอุ่น โดยขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทุกกิจกรรมหรือโครงการที่ผ่านมา ล้วนเป็นมติร่วมกันของสภาผู้นำชุมชนและชาวบ้านทั้งสิ้น” บุญมี สุขเสน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโพธิ์สามัคคี ให้ข้อมูลการจัดการชุมชนที่ผ่านมา

การจัดการชุมชนร่วมกันที่ว่าด้วยเรื่องหนี้สิน เริ่มด้วยการสำรวจข้อมูลการกู้หนี้ของแต่ละครัวเรือนว่ามากหรือน้อยเพียงไหน หนึ่งครัวเรือนมีการกู้หนี้จากองค์กรและหน่วยงานไหนมากน้อยเท่าไหร่ แล้วนำมาสรุปร่วมกัน

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าต่อว่า “หลังจากได้ข้อมูลมาแล้ว พวกเราเองก็หาทางออกด้วยการไปศึกษาดูงาน ดูพื้นที่ที่เขาจัดการได้ จนได้มติร่วมกันคือ หนึ่งครัวเรือน หนึ่งสัญญา คือ แต่ละครอบครัวกู้ได้หนึ่งสัญญาเท่านั้น”

หนึ่งครัวเรือน หนึ่งสัญญา” เป็นมติจากที่ประชุมของชุมชนเพื่อลดการมีหนี้สินที่ไม่สิ้นสุด นอกจากนั้น สภาผู้นำชุมชนเองจัดการเพื่อตอบโจทย์ให้กับชุมชนก้าวไปสู่ครอบครัวอบอุ่น นั่นคือจดบันทึกรายรับ รายจ่าย ในแต่ละวัน ในแต่ละเดือนด้วย

วัน สุภาทิพย์ สภาผู้นำชุมชนบ้านโพธิ์สามัคคี หยิบสมุดเล่มเล็กที่เขียนว่า “สมุดสัจจะสะสมทรัพย์” และสมุดเล่มใหญ่ที่เขียนว่า “สมุดบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่าย” มาให้ชมและอธิบายให้ฟังว่า “นอกจากเราจำกัดสัญญาการกู้หนี้ยืมสินมาเหลือครอบครัวละหนึ่งสัญญาแล้ว เราก็ยังมีการออมเป็นปกติเดือนละครั้ง ซึ่งพ่อเองก็ออมเดือนละ ๕๐ บาท ไปออมกับสมาชิกในทุกวันที่ ๕ ของเดือน และก็มีการบันทึกการใช้จ่ายแต่ละวันเขียนจดใส่ในสมุดเล่มใหญ่เอาไว้ ซึ่งทำให้รู้ได้ทันทีว่าเรามีเงินเข้าแทบทุกวันเลย เพราะว่าพ่อเองก็ทำเกษตร ขายผักบ้าง ผลไม้บ้าง สัตว์เลี้ยงบ้าง ได้มาก็นำมาเขียนใส่สมุดเอาไว้ ส่วนเราจ่ายอะไรก็มาเขียนไว้เหมือนกัน”

แต่ละคุ้มของชุมชนแห่งนี้ มีการจัดการเป็นสัดส่วน มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จัดทำเป็นแปลงเกษตรในพื้นที่สวนของตัวเอง รักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยตามถนนหนทางและบ้านเรือน

นอกจากทำเกษตรแบบครอบครัวและจดบันทึกบัญชีครัวเรือนกันอย่างจริงจังแล้ว การออมอีกรูปแบบหนึ่งที่ดูไม่เหมือนจากที่อื่นนัก นั่นก็คือ การออมใส่กระบอกไม้ไผ่ ซึ่ง แจ้ง เหล่าเลิศ สภาผู้นำชุมชนผู้สูงวัยแห่งบ้านโพธิ์สามัคคี ได้อธิบายให้ฟังว่า “กระบอกอันใหญ่นี้ จะดูหนักหน่อย เพราะเอาไว้หยอดเหรียญ ส่วนกระบอกอันเล็กนี้คือธนบัตรล้วน ๆ ก่อนหน้านี้ก็มีการหยอดใส่กระปุกออมสินทั่วไปที่เราต้องซื้อเขามา แต่พอชุมชนเรามีมติในการออมใส่กระบอกไม้ไผ่แบบนี้ ก็ดูสวยและประหยัดไปอีกแบบ อีกอย่างกระบอกไม้ไผ่พวกนี้ก็ไม่ต้องซื้อด้วย สองกระบอกที่เห็นนี้ตัวล่าสุดแล้ว ก่อนหน้านี้มันเต็มก็ผ่าแล้วนำไปเปิดบัญชีเอาไว้บ้าง เอาออกมาใช้สอยตามโอกาสบ้าง”

“ในกระบอกออมสินไม้ไผ่แบบนี้ เราไม่ได้จดบันทึกนะ ตัวที่เราคิดว่านอกเหลือจากที่เราจดบันทึกแล้วเราก็นำมาหยอดเอาไว้ แต่ก่อนนั้นหยอดใส่กระบอกไม้ไผ่ลำเดียวกัน แต่เหรียญมันทับธนบัตรทำให้เกิดขาดและชำรุด เลยต้องทำเป็นสองแบบอย่างที่เห็น แยกออกจากกันชัดเจน และในกระบอกไม้ไผ่นี้ถ้าเราต้องการซื้ออะไรที่ฉุกเฉินหรือเกิดความจำเป็น ก็นำมาผ่าใช้สอยได้ ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ ลูกสาวก็ต้องเรียนด้วย เลยได้ทุบไปก่อนแล้วบ้าง” แจ้ง เหล่าเลิศ อธิบายเพิ่มเติม

นี่คงเป็นการจัดการหนี้สิน และมีการวางฐานให้ผู้คนในชุมชนได้ร่วมคิด ร่วมออกแบบ วางแผนและดำเนินการเพื่อปลดจากหนี้ได้อย่างถาวร ตั้งแต่การลดบัญชีหนี้สินจากหลาย ๆ สัญญา ให้เหลือเพียงหนึ่งสัญญาต่อหนึ่งครัวเรือน ออมทรัพย์ด้วยกลุ่มของชุมชนและจดบัญชีรายรับรายจ่าย รวมถึงนวัตกรรมออมสินใส่กระบอกไม้ไผ่ที่มีทุกครัวเรือน

“จากการดำเนินการที่ผ่านมา ชุมชนเราแม้จะมี ๑๒๘ ครัวเรือน แต่ก็มีบางครัวเรือนที่ไม่ยอมกู้หนี้สินไม่มีสัญญาใด ๆ ผูกมัด ซึ่งก็มีสัญญาในชุมชนเราเพียง ๗๘ สัญญา นั่นหมายความว่า มีเพียง ๗๘ ครัวเรือนเท่านั้น” ประจวบ สุขเมือง กล่าวสรุปให้ฟัง ขณะเปิดเอกสารแฟ้มบัญชีการกู้ยืมของสมาชิกในชุมชนบ้านโพธิ์สามัคคี

สอดคล้องกับที่ ถิระโรจน์ จารุรัศมีวงศ์ สภาผู้นำชุมชนบ้านโพธิ์สามัคคี คนรุ่นใหม่ที่มองชุมชนของพวกเขา “ในอนาคตสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากเห็นชุมชนของพวกเราปลอดจากหนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชการที่ ๙ นอกจากนี้ก็อยากเห็นสุขภาพของชาวบ้านเราแข็งแรง มีภูมิต้านทานในทุก ๆ เรื่อง รวมไปถึงการเป็นชุมชนน่าอยู่ มีครอบครัวที่อบอุ่นและยั่งยืน”

จากการระดมความคิดร่วมกัน และขับเคลื่อนชุมชนร่วมกัน แก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ชุมชนบ้านโพธิ์สามัคคี หมู่ที่ ๘ ตำบลพิมายเหนือ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ คงเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านตัวอย่างที่ควรแก่การชื่นชมและศึกษาดูงานในด้านต่าง ๆ ต่อไป

บรรยายรูป

๑. กระบอกออมสินไม้ไผ่

๒. แฟ้มเอกสาร หนึ่งครัวเรือน หนึ่งสัญญา

๓. สมุดบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่าย

๔. เกษตรพอเพียง

Related Posts

เมืองเสือพยัคฆภูมิพิสัย “ชื่อน่ากลัวแต่ตัวน่ารัก”
จาก “นายผี” ถึง “ทางอีศาน”
ทนง โคตรชมภู มนุษย์ผู้หัวใจไม่ยอมแพ้
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com