กาลอันล่วงเลยมาจนไม่สามารถกำหนดช่วงเวลา กำหนดวัน  กำหนดเดือน  กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้  และไม่สามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้  โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

กาลสมัยหนึ่ง นานแสนนานไม่สามารถที่จะนับเป็นปีได้ ตั้งแต่โลกนี้เริ่มก่อตัวใหม่ ๆ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต การถือกำเนิดแห่งสิ่งมีชีวิตและพืช  ง้วนดินถือได้ว่าเป็นอาหารชิ้นแรกของมนุษย์แล้วมีดอกบัวเป็นพืชชนิดแรกบนโลกนี้ ต่อมาก็มีดวงอาทิตย์เกิดขึ้น ดวงจันทร์เกิดขึ้นมาตามกัน ต่อมาเป็นดาวนักษัตรโดยกำหนดการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของโลก ต่อมาก็เป็นการถือกำเนิดของมนุษย์  ถือได้ว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกนี้ ต่อมาก็มีข้าวเกิดขึ้นเพื่อเลี้ยงมนุษย์ทั่วโลก  มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างก็กินข้าวเป็นอาหารแทบทั้งสิ้น

หลังจากที่โลกพัฒนาการมาอีกระบบหนึ่ง  โลกยุคนั้นมีแม่น้ำอยู่หนึ่งสาย เกิดมาเพื่อเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงมนุษย์ให้ดำรงอยู่ได้  ที่บริเวณแหล่งน้ำแห่งนี้เองเป็นแหล่งอาหารให้กับมนุษย์  โดยพระอินทร์ได้ส่งสังข์หรือมังสังมาเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ในโลกยุคแรก ๆ แต่ก่อนมนุษย์มีจำนวนไม่มากเหมือนในปัจจุบัน  แต่ก่อนมนุษย์ยังไม่ได้กินปลาและเนื้ออื่น ๆ หรือแม้แต่พืชผักทุกชนิดเป็นอาหาร  มนุษย์กินแต่มังสังเป็นอาหารเท่านั้น เพราะพระอินทร์ได้ส่งมังสังมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์โดยเฉพาะ จึงไม่อาจจะฝืนคำสั่งของพระอินทร์ได้

มังสังที่พระอินทร์ส่งมานั้น จะนอนขวางสายน้ำไว้ ปลาที่อาศัยเหนือน้ำจะลงมาข้างล่างหรือไหลมาตามสายน้ำก็ไม่ได้ เมื่อมนุษย์ต้องการอาหารเมื่อใดก็จะมีมีดหรือเครื่องมืออื่น ๆ มาชำแหละหรือเฉือนเอาชิ้นเนื้อของมังสังไปเป็นอาหาร  เฉพาะเป็นวัน ๆ เท่านั้น จะไม่มีการสะสมไว้เพื่อเอาไปทำเป็นอาหารเฉพาะเท่านั้น วันใหม่ค่อยมาเฉือนเอาใหม่ แต่สิ่งที่ประหลาดที่สุดมังสังเองจะไม่มีส่วนบกพร่อง เมื่อส่วนไหนถูกเฉือนไปแล้วก็จะมาเต็มอยู่อย่างเดิม มนุษย์จะกินเท่าไหร่ไม่มีวันหมดจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป

อยู่มาวันหนึ่ง ปลาที่อยู่ทางเหนือน้ำเกิดความสงสัยอยากไปข้างล่าง ปลาทั้งหลายจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า

“เราจะลงไปทางใต้น้ำ แต่ว่าตอนนี้มังสังได้นอนขวางทางสายน้ำไว้อยู่ จึงทำให้พวกเราลงไปข้างล่างไม่ได้”

“ถ้าอย่างนั้นพวกเราส่งตัวแทนไปเจรจากับมังสังจะดีไหม หากว่ามังสังจะเปิดทางให้พวกเราไปก็ได้ ถ้าหากพวกเราพูดกับท่านดี ๆ ” ปลาตัวหนึ่งเสนอขึ้น  เพื่อนปลาทั้งหลายที่อยู่ในนั้นก็เห็นด้วย

“ถ้าอย่างนั้นเราไปตอนนี้เลยจะดีไหม จะได้ไม่เสียเวลา” ปลาที่เสนอแนวคิดพูดขึ้น ปลาทั้งหลายจึงพากันไปหามังสัง แล้วกล่าวขึ้นว่า

“ท่านมังสังที่มีใจเป็นบุญเป็นกุศล ท่านนอนอยู่นี้ก็นานหลายปีแล้วท่านไม่อยากขยับไปไหนมาไหนเลยหรือไร”

“เราไปไหนมาไหนไม่ได้  เพราะพระอินทร์ท่านได้ส่งให้เรามาอยู่ที่นี้ ก็อยากจะไปเหมือนกัน  พวกปลามีอะไรหรือ ไม่เคยเห็นพวกปลา ๆ มารวมกันมากมายขนาดนี้เลย” ฝ่ายมังสังผู้ใจบุญถามขึ้น

“พวกเราปลาทั้งหลาย  อยากลงไปเล่นน้ำข้างล่างโน้น แต่ว่าลงไปไม่ได้เพราะท่านนอนขวางอยู่อย่างนี้  ที่พวกเรามาในวันนี้ก็อยากจะขอทางท่านลงไปข้างล่างโน้น” พวกปลาพูดขึ้นด้วยอาการอ้อนวอนอยากให้มังสังเปิดทางให้

“พวกท่านลงไปไม่ได้หรอก  เดี๋ยวมนุษย์จับไปเป็นอาหารหมด”  มังสังท้วงขึ้นไม่อยากให้ปลา ๆ ทั้งหลายจะต้องลำบาก พวกปลาทั้งหลายเมื่อได้ยินดังนั้น จึงปรึกษากันว่า

“ถ้าเป็นอย่างนั้นพวกเราจะเอาอย่างไร  เราจะอยู่หรือว่าจะไป” พวกปลาทั้งหลายเงียบอยู่พักหนึ่ง  เพราะต่างก็กลัวตายกันทั้งนั้น  เสียงก็เลยแตกเป็นสองฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งลงไปหาสิ่งแปลกใหม่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยากไปอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว ส่วนฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่มีเสียงมากกว่า เมื่อให้ลงมติจึงเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้นจึงมีมติลงไป จึงได้บอกมังสังว่า

“พวกเราทั้งหลายได้ตัดสินใจแล้วมีความประสงค์ที่จะไปอย่างแน่นอน”

“ถ้าอย่างนั้นให้ตัวแทนมากับเรา จะพาไปหาพระอินทร์ให้ท่านเป็นผู้จัดการให้ถึงจะไปได้” มังสังบอกพวกปลา ๆ ทั้งหลาย

เมื่อมังสังกับปลาไปถึงที่อยู่ของพระอินทร์  พระองค์จึงถามขึ้นว่า

“มังสังกับปลามาหาเราเพื่ออะไร มีเรื่องเดือดร้อนอะไร  จึงได้มาหาเราถึงที่นี้”

“คืออย่างนี้พระเจ้าข้า  พวกปลาทั้งหลายอยากลงไปใต้น้ำ ข้าพเจ้าห้ามแล้วก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ก็อยากไปอยู่ท่าเดียว ขอพระองค์ทรงพิจารณาด้วยเถิด”  มังสังกราบทูลรายงาน

“จริงหรือพวกปลา…?” พระอินทร์ถามขึ้นด้วยเสียงอันดัง

“จริงพระเจ้าข้า…ข้าพระองค์มีความต้องการอย่างนั้นจริง ๆ ” ปลาตอบขึ้นด้วยความตั้งใจ

“ถ้าพวกเจ้ามีความประสงค์อย่างนั้นจริง ๆ ข้าจะปล่อยพวกปลาลงไป  แต่มีข้อแม้ว่า  ต่อไปหน้าที่ของพวกเจ้าจะต้องเลี้ยงมนุษย์  ก็คือเป็นอาหารของมนุษย์นั้นเอง พวกปลาจะรับไหวไหมล่ะ…?” พระอินทร์ตรัสไปแล้วได้ตั้งข้อแม้ให้ด้วย

“ได้ พวกข้าพระองค์ พวกปลาจะรับหน้าที่ในการเป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ทั้งโลกเอง ต่อไปนี้จะถือว่าเป็นหน้าที่หลักของพวกข้าพระองค์เลย…!” พวกปลา ๆ ตอบขึ้นด้วยความสมัครใจ

“เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน เราจะให้พวกปลาทั้งหลายเมื่อถึงเวลาวางไข่จะให้วางไข่ทีละมาก ๆ จะได้มีจำนวนที่มาก ๆ จะเลี้ยงมนุษย์ได้ทั่วถึงกัน  และอีกอย่างหนึ่ง ฝนตกมีน้ำอยู่ที่ใดพวกเจ้าจงไปอยู่ในที่นั้น ๆ ด้วย ตกลงนะ…” พระอินทร์พูดขึ้นด้วยเสียงอันดัง    

“ข้าพระองค์จะทำตามทุกอย่างเลย แล้วแต่พระองค์จะมีคำบัญชามา ข้าพระองค์จะน้อมรับด้วยความเต็มใจ  ถ้าอย่างนั้นข้าพระองค์ขอลาไปทำหน้าที่ของข้าพระองค์ต่อไป” เมื่อพวกปลาพูดจบจึงลงมายังแม่น้ำต่อไป

“มังสัง ต่อไปหมดหน้าที่ในการเลี้ยงมนุษย์แล้ว เจ้าจงกลับมาอยู่บนสวรรค์กับเราก็แล้วกัน” พระอินทร์ตรัสกับมังสัง

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  มังสังก็ไม่กลับมายังโลกมนุษย์อีกเลย  ส่วนปลาเมื่อกลับมาแล้วก็ทำหน้าที่เลี้ยงมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ฝนตกมีน้ำขังที่ไหนจะปรากฏว่ามีปลาที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นที่สูงบนภูเขา หรือในป่าเขาลำเนาไพรต่าง ๆ จะมีปลาอาศัยอยู่แทบทั้งสิ้น ตามคำสั่งที่พระอินทร์ให้ไว้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

 นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้  ได้เสนอแนวคิดในเรื่องการสร้างความชอบธรรมให้กับมนุษย์เอง โดยให้ปลามาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงมนุษย์ด้วยความสมัครใจ หรือโดยความเป็นธรรมชาตินิยม ก็คือความเป็นลูกโซ่หรือความเป็นนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ 


 ขอบคุณภาพจาก : http://www.pixabay.com

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
มะเขือในครัวไทย
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com