เพลงอีสานลำเพลิน (ไม่ธรรมดา) (๔๑)

พ.ศ.๒๕๑๑ ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีฉายาว่า “เสือปืนไว” ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “ชาติลำชี” เป็นภาพยนตร์บู้ บังเอิญช่วงนั้นเพลง “วอนลมฝากรัก” ที่ผู้เขียนแต่งให้ บุปผา สายชล ขับร้องกำลังดัง ไปสะดุดหูผู้กำกับรังสีฯ จึงอยากได้ไปประกอบในภาพยนตร์ ได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากผู้เขียน สุดท้ายเลยสร้างเป็นหนังเพลง ติดต่อ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา มาแต่งเพลงเพิ่มจนครบ ๘ เพลง มีเพลง “วอนลมฝากรัก” เป็นเพลงนำ ทำรายได้ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “ชาติลำชี” มากจนเกินคาด ทำให้ผู้สร้างผู้กำกับรังสี ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เพลงจริง ๆ คือเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” บรรจุเพลงถึง ๑๔ เพลง จนกลายเป็นตำนานอมตะของวงการภาพยนตร์ไทย ปักหลักฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยม โรงเดียวถึง ๖ เดือน ทำรายได้สูงสุดในยุคนั้นคือ ๖ ล้านบาท

พ.ศ.๒๕๑๕ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ได้รับฉายาอีกฉายาคือ “ผู้กำกับที่มีสายตาอันยาวไกล” จึงหันมาสร้างภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับภาคอีสานอีกหลายเรื่องเช่นเรื่อง “มนต์รักนักรบ”

พ.ศ.๒๕๑๖ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “บัวลำภู” เนื้อเรื่องเป็นการปฏิบัติจิตวิทยาในยุคที่มีคอมมิวนิสต์ มีเพลงประกอบแค่ ๒ เพลง คือเพลง “หมอลำสาว” ขับร้องโดย “สไบแพร บัวสด” และเพลง “อีสานลำเพลิน” ขับร้องโดย “อังคนางค์ คุณไชย” ภาพยนตร์ทำเงินได้แต่ไม่ดัง แต่เพลงประกอบกลับดังคือเพลง “อีสานลำเพลิน” ดังจากภาคอีสานกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จนถึงปัจจุบันนี้ถูกนำไปบันทึกเสียงใหม่ถึง ๓๐ ครั้ง

ต่อมาเพลง “อีสานลำเพลิน” ดังไปถึง ออสเตรเลีย ดังไปถึงประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.๒๕๕๗ กลุ่มนักเขียนชาวญี่ปุ่นได้เดินทางมาศึกษา ไปพบกับผู้ขับร้องคือ อังคนางค์ คุณไชย และมาพบกับผู้เขียน สัมภาษณ์ประวัติเพลง ประวัติชีวิตอย่างละเอียด เพื่อขออนุญาตไปเขียนรวบรวมเป็นเล่มออกจำหน่ายเป็นภาษาญี่ปุ่นชื่อว่า “อีสาน” ในเล่มนี้จะมีประวัตินักแต่ง นักเขียน นักร้อง และหมอลำ คนดังทางอีสานอยู่หลายคน

พ.ศ.๒๕๕๘ เขาได้จัดพิมพ์หนัง “อีสาน” ออกจำหน่าย เขาได้เชิญ อังคนางค์ คุณไชย กับลูกสาวน้องพลอย “สุนิตา คุณไชย” ไปโชว์และเปิดตัวหนังสือ ได้รับการต้อนรับจากชาวญี่ปุ่นผู้ชื่นชอบหมอลำ โดยเฉพาะแฟนพันธุ์แท้เพลง “อีสานลำเพลิน” อย่างมากมาย

พ.ศ.๒๕๕๙ คณะผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้มาขอลิขสิทธิ์เพลง “อีสานลำเพลิน” เพื่อไปประกอบภาพยนตร์ประเภท “หนังสั้น” อีกครั้ง

พ.ศ.๒๕๖๐ ทีมนักข่าวนักเขียนด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้เชิญ อังคนางค์ คุณไชย พร้อมลูกสาว – สุนิตา คุณไชย และหมอแคน “อ้นแคนเขียว” ไปโชว์ที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้เขาให้ อังคนางค์ น้องพลอย – สุนิตา และอ้นแคนเขียว ไปโชว์เพลง “อีสานลำเพลิน” บนลานหน้าศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดกลางกรุงโตเกียวคือศูนย์การค้า “ชินจูกุ” เป็นที่ฮือฮาแก่ชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก  หลังจากนั้นอังคนางค์ และทีมงานถูกเชิญไปโชว์อีกหลายครั้ง ทุกครั้งจะได้รับการต้อนรับจากชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

พ.ศ.๒๕๖๒ วันที่  ๒๕ – ๒๘ ม.ค. ผู้เขียนได้รับเชิญจากกลุ่มนักเขียนด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ไป “ทอล์คโชว์” เรื่อง “การแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์” ณ สภาวัฒนธรรมแห่งกรุงโตเกียว โดยมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักแม่น้ำมูล” ด้วย กลุ่มผู้จัดงานยังถามถึงภาพยนตร์เรื่อง “บัวลำภู” ที่ยังหาต้นฉบับไม่ได้ ฝากให้ผู้เขียนช่วยหาให้ด้วย


กลุ่มนักเขียนชาวญี่ปุ่น มาสัมภาษณ์เรื่องเพลง “อีสานลำเพลิน” เมื่อ ๗ มิ.ย. ๕๗


อังคนางค์ – สุนิตา – และอ้นแคนเขียว ได้รับเชิญไปโชว์ “อีสานลำเพลิน” ที่ลานศูนย์การค้าชินจูกุ ในชุด “อีสานลำเพลินอินโตเกียว” เมื่อ ๒๙ เม.ย. ๖๐

จบการ “ทอล์คโชว์” แฟน ๆ ชาวญี่ปุ่นมาดักรอขอลายเซ็น และขอถ่ายรูปที่หน้าโรงภาพยนตร์อย่างมากมาย บางคนยังสนใจขออนุญาตสอบถามเพิ่มเติม มีคู่สามี ภรรยา อุ้มลูกน้อยทารกมาขอให้ผู้เขียนให้พลังแก่ลูกเขาด้วย ล่ามแปลให้ฟังว่าเขาฟังประวัติของผู้เขียนทำงานหลายอาชีพเป็นข้าราชการ เป็นนักแต่งเพลง เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นหัวหน้าวงดนตรี และร้องเพลงด้วย เขาทึ่งว่าเอาพลังมาจากไหน จึงอยากให้ผู้เขียนส่งพลังให้กับลูกเขาด้วย ผู้เขียนนึกถึงการเป่ากระหม่อมตามธรรมเนียมไทย แต่ไม่กล้าทำได้แต่เอามือแตะที่หัวของเด็กน้อยคนนั้น

ยังมีกลุ่มนักดนตรีฮิปฮอป มาขออนุญาตสัมภาษณ์ต่อด้วยความอยากเรียนรู้จริง ๆ เรื่องที่เขาอยากรู้มากก็คือ เพลงอีสานลำเพลิน นอกจากคำร้องทำนองไพเราะสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว คือการนำเอาหมอลำพื้นเมืองโบราณสมัยเก่า มาผสมกับเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ให้กลมกลืน และทำให้ทุกคนยอมรับได้ แถมยังเป็นต้นแบบของเพลงแนว “ลูกทุ่งอีสาน” เพลงแรกด้วย ซึ่งวงดนตรี “ฮิปฮอป” วงนี้กับนักอนุรักษ์เพลงเก่าของญี่ปุ่นกำลังร่วมกันทำอยู่ และไม่แน่ใจจะสำเร็จเหมือนเพลง “อีสานลำเพลิน” หรือเปล่า

ผู้เขียนก็ได้แต่ให้แง่คิดเขาไปว่า ให้นำสิ่งที่ดี สิ่งที่มีความโดดเด่น และเข้ากันได้มาผสมกันอย่างมีศิลปะ การเอนเตอร์เทน การประชาสัมพันธ์ก็มีส่วนสำคัญทำให้แฟน ๆ ผู้ฟังเข้าใจและยอมรับในที่สุด

 คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างจริงจัง เขาไม่ได้ศึกษาเพื่อให้รู้เท่านั้น เขาต้องทำให้ได้ด้วย เมื่อเขารู้เรา เราควรรู้เขาด้วย


บนเวทีทอล์คโชว์หลังการฉายภาพยนตร์


ท่ามกลางแฟน ๆ กลุ่มศิลปินนักเขียนชาวญี่ปุ่น หลังการทอล์คโชว์ เรื่อง “แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์” ที่โรงภาพยนตร์สภาวัฒนธรรมแห่งกรุงโตเกียว เมื่อ ๒๗ ม.ค. ๖๒

Related Posts

กินข้าวป่า (๑)
หนี้กรรม เพลงหักปากกาเซียน
อมตะอีสาน ไม่รู้จบ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com