ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 5

นายจำรัสแก้เชือกมัดห่อผ้าสีแดงลงยันต์ออก พบสมุดบันทึกเก่าคร่ำคร่า หน้าปกเป็นสีฟางซีด เขียนด้วยหมึกดำ อักษรปรากฏชัด มิได้ซีดไปอย่างกระดาษ  บนหน้าปกอ่านได้ความว่า “บันทึกของจางวางดนัยมนัสราษฎร์” พร้อมมีลายเซ็นสวยงามของดนัยมนัสราษฎร์กำกับไว้ด้วย จำรัสอดไม่ได้ที่จะมองขึ้นไปบนผนังห้องซึ่งแขวนรูปบรรพบุรุษไว้รายเรียง รูปหนึ่งนั้นเป็นเค้าหน้าของพระยาเมธาดนัยศักดิ์อัครมนตรี รูปหนึ่งเป็นท่านผู้หญิงเฟื้อนภริยา รูปหนึ่งเป็นจางวางดนัยมนัสราษฎร์ รูปหนึ่งเป็นรูปท่านผู้หญิงภริยาท่าน นอกนั้นเป็นรูปถ่ายคู่ ถ่ายหมู่ ถ่ายเดี่ยว ในสถานที่นับจากพระบรมมหาราชวัง จวนข้าหลวง ศาลาว่าการ ที่ทำการมณฑล สถานีรถไฟ หมู่บ้าน แม่น้ำ ช้าง ม้า ศาสตราวุธ ผู้คนที่ท่านได้คบค้าสมาคม เจ้านายเชื้อพระวงศ์ กระทั่งไพร่ข้า คนรับใช้  รูปต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งใส่กรอบแขวนและตั้งไว้ภายในห้องสมุด  อีกจำนวนมากเก็บไว้ในสมุดเก็บภาพ

โดยเฉพาะรูปของผู้บันทึกในชุดเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ใบหน้านั้นเข้ม กร้าว แววตามองมายังลูกหลานราวกับดุดันแต่แฝงไปด้วยความเมตตาเอ็นดู ความอ่อนโยน หนวดเฟิ้มบนริมฝีปากสอดรับกับปากคอคิ้วคางที่ประกอบขึ้นเป็นการวางท่าอย่างผู้มียศ

นายจำรัสเปิดสมุดบันทึกหน้าแรกขึ้นแล้วอ่านไปจนจบ…

ฉันคือจางวางดนัยมนัสราษฎร์ ชื่อเดิมว่า ถิ่น ถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บิดา มารดา ปู่ย่า ตาทวดสืบเชื้อสายขุนนาง เสนาบดี มาทั้งตระกูล ไล่เรียงขึ้นไปได้ถึงในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงผู้เป็นบิดาของฉันคือ พระยาเมธาดนัยศักดิ์อัครมนตรี  ข้างฝ่ายมารดาคือท่านผู้หญิงเฟื้อน ธิดาของพระยาสุรสีหไกรเกรียง ส่วนฉันก็ได้สมรสกับหม่อมราชวงศ์หญิงสดับ  ในพระองค์เจ้าขัตติยาภากับหม่อมเจิม และได้บุตรคือจรูญ คนหนึ่ง  กับฉันได้เสียเป็นผัวเมียด้วยแม่แก้ว ลูกสาวขุนคอน เสมียนสักเลกเมืองขุขันธ์ ได้บุตรีชื่อ บุญมา คนหนึ่ง ฉันไม่ได้บอกให้คุณหญิงสดับได้รู้เพราะถ้ารู้ในเวลานี้เกรงว่าจะรับแม่แก้วไม่ได้ ด้วยว่าเป็นหญิงสาวเกิดอยู่ป่าดงในแดนทุรกันดาร แต่ฉันนั้นหลงรักแม่แก้วไม่ย่อหย่อนกว่าเมียหลวง และฉันก็รับเอาบุญมาเป็นลูกอย่างออกหน้า

เมื่อฉันขึ้นมารับราชการที่เมืองนครราชสีมา อายุได้เพียง 25 ปีคราวนั้น จนเวลานี้ใกล้เกษียณเต็มแก่ ก็เดินทางขึ้นลงระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองโคราชเป็นประจํา พาหนะเป็นเรือ เป็นช้าง ม้า จนในเวลานี้ก็มีรถไฟขึ้นจากหัวลำโพง ทางผ่านเข้าดงพญาเย็นกว่าจะผ่านทับกวาง ผาเสด็จ หินลับก็มืดค่ำ รถไฟจอดเติมน้ำเติมฟืนวิ่งเข้าปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ถึงโคราชเป็นเวลารุ่งเช้าพอดี  เร็วกว่าขี่ช้างขี่ม้า ใช้เวลานานห้าวันเจ็ดวันถึงสิบห้าวัน แล้วแต่จะเอาอย่างเร็วหรืออย่างช้า ๆ

ฉันเป็นถึงลูกพระยาอัครมนตรี ถ้าหากท่านบิดาไม่ฝากมากับพระยาพรหมกำแหงเจ้าเมือง ก็คงรับราชการอยู่กรุงเทพฯ และคงไม่ได้พบเห็นเรื่องราวทั้งดีและร้ายในดินแดนส่วนนี้เป็นแม่นมั่น ฉันเองไม่เข้าใจเหมือนกันว่า จะเป็นเพราะพรหมลิขิตหรือเพราะพรหมกำแหงผลักดัน จึงสามารถไต่เต้าทางราชการขึ้นมาสูงสุดได้ดั่งลูกขุนน้ำขุนนางท่านอื่น ๆ เมื่อจะมาโคราชครั้งแรกท่านผู้หญิงแม่และคุณหญิงเมีย ต่างเข้าไปกราบกรานวานไหว้มิให้ท่านเจ้าคุณพ่อส่งลูกออกไปยังแดนกันดาร ด้วยถือว่าเป็นเมืองไกลปลายแดน ต้องอยู่อาศัยคบค้าพวกลาว พวกเขมรป่าดง และคนทั้งหลายก็วาดภาพว่าเป็นดินแดนป่าเถื่อน เต็มไปด้วยผู้ร้ายอ้ายขโมย ค่ำก็ไม่ได้ยืนคืนก็ไม่ได้นอนจะต้องทนถ่างตาอยู่เวรยาม มิฉะนั้นจะต้องถูกปล้นฆ่าถึงแก่ความตายได้

แต่เวลานั้นเจ้าคุณพ่อไม่ได้ฟังความผู้ใด ยืนยันว่าฉันจะต้องไปท่าเดียว ท่านเรียกฉันเข้ามาบอกว่า ลูกผู้ชายจะต้องเก่งกล้ามีวิชาและก้าวหน้าในราชการ สมัยนี้ถ้าไม่มีทุนไปศึกษายังต่างประเทศอย่างลูกท่านหลานเธอ ก็ต้องไปรับราชการในหัวเมืองที่มีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ ๆ อย่างเมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครศรีธรรมราช เมืองนครราชสีมา และเมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นต้น  ท่านบอกฉันว่าเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นไม่ใช่เมืองป่าเถื่อนแดนกันดาร แต่เป็นเมืองที่คนกรุงเทพฯ ได้พึ่งพาอาศัย ยามเกิดศึกเหนือเสือใต้ก็จะเป็นหน้าด่านให้ ยามสงบก็จะเป็นที่รวบรวมส่วยสาอากรจากหัวเมืองชายแดนและเมืองประเทศราช ที่อยู่ห่างไกล ส่งเข้าไปที่กรุงเทพฯ คนบางกอกไม่เคยขึ้นไปก็ว่าป่าเถื่อนไกลปืนเที่ยง ผู้คนคบไม่ได้ ซึ่งมิใช่ความจริง เจ้าคุณพ่อท่านได้บอกฉันว่า ท่านเคยเดินทัพไปรบถึงเวียงจันทน์สมัยกบฏอนุวงศ์ ท่านเคยพักทัพที่เมืองชลบถและเมืองภูเวียง ซึ่งเป็นเมืองลูกของนครราชสีมา ผู้คนพลเมืองมีความจงรักภักดี มีจิตใจโอบอ้อมอารี ทั้งการทำมาหากินก็ไม่ขาดแคลน ถ้าเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณก็จะขอยศขอตำแหน่งได้ง่าย เพราะผู้จะไปทางนี้ต่างผูกจิตไปในทางร้ายไว้ก่อน ไม่ชอบที่จะอาสาไป

เมื่อฉันขึ้นมารับราชการใหม่ ๆ หัวเมืองด้านนี้เรียกว่า หัวเมืองลาว แบ่งออกเป็น 4 ภาคคือ ฝ่ายตะวันออก, ฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ, ฝ่ายเหนือและฝ่ายกลาง  ฉันมารับราชการอยู่หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง มีนครราชสีมาเป็นเมืองเอก และมีเมือง 11 เมืองขึ้นตรงได้แก่พิมาย รัตนบุรี นครจันทึก ปักธงชัย พุทไธสง ตะลุง สูงเนิน กะโทก มีข้าหลวงคนแรกคือพระพิเรนทรเทพ ข้าหลวงของหัวเมืองลาว 4 ภาคที่ฉันกล่าวมาแล้วนั้น ทั้งหมดจะต้องขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่สูงสุดคือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี มีสำนักว่าราชการอยู่ที่นครจําปาศักดิ์ จนกระทั่งปี 2434 นี้ดอก จึงได้จัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองหัวเมืองทั้ง 4 ภาคนี้เสียใหม่ รวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกกับตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเป็นหัวเมืองลาวกาว มีกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ อยู่เมืองอุบล หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ เป็นหัวเมืองลาวพวน มีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ ตอนแรกตั้งอยู่หนองคาย เมื่อฝรั่งเศสได้ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจึงย้ายที่ว่าการมาที่เมืองอุดร อีกหัวเมืองลาวพุงขาว ได้รวมเอานครหลวงพระบาง 12 พันนา ลื้อ 12 จุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก มีพระยาฤทธิรงค์รณเศษ เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ที่นครหลวงพระบาง  สุดท้ายหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง เป็น หัวเมืองลาวกลาง มีกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ อยู่ที่นครราชสีมา

เหตุผลอันใดจึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหัวเมืองลาวเหล่านี้เล่า? ตอบอย่างง่าย ๆ และสั้นก็เพราะลัทธิล่าเมืองขึ้นได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้งด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ฉันจำได้ว่าในปี 2405 ก่อนฉันขึ้นไปนครราชสีมา 2 ปี ฝรั่งเศสบังคับให้พระเจ้าตีดึกเซ็นสัญญากับนายพลเรือชาแม ยกเวียดนามเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส ปีต่อมาฝรั่งเศสล่าเมืองขึ้นโดยพระเจ้านโรดมแห่งเขมรยอมยกให้เฉย ๆ แค้นใจที่ไทยแบ่งเอา เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ นครวัด นครธม ไปอยู่ในความปกครองของพระยาอภัยภูเบศร์ ขอแยกทางไปอยู่ในความอารักขาฝรั่งเศส จนถึงปี 2426 ฝรั่งเศสได้เวียดนามทั้งหมด เป็นดั่งนี้ ไทยเราก็หวั่น ๆ ว่าฝรั่งเศสจะมาแย่งเอาหัวเมืองลาวไปบ้าง จึงจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหัวเมืองลาวเสียใหม่ ดังฉันได้บอกไปแล้ว

เรื่องที่ไทยหวั่น ๆ ว่าฝรั่งเศสจะมาแย่งเอาหัวเมืองลาวไป เกิดเป็นความจริงจนได้ ฉันคงจะได้บันทึกในตอนต่อ ๆ ไป ตอนนี้ขออธิบายตำแหน่งปกครองหัวเมืองลาวไว้พอให้เข้าใจว่า ฝ่ายไทยมีตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ โปรดเกล้าฯให้ไปกำกับ แต่หัวเมืองลาวก็จะมีเจ้าเมืองปกครองเป็นเมือง ๆ ไป มีรองเจ้าเมืองที่เรียกว่า อุปฮาด รองลงไปเรียกว่า ราชวงศ์ รองลงไปเรียกว่า ราชบุตร ซึ่งเป็นเชื้อสายหรือญาติกับเจ้าเมือง  แล้วยังมีพวกกรมการเมือง มีคำนำหน้าชื่อว่า เพีย ซึ่งทางฉันสันนิษฐานเอาว่า คงจะมาจากคำว่า พีระ หรือ เพียร เมืองใดเป็นเมืองใหญ่ ราชการมากก็จะมีเพียมาก และมีชื่อตำแหน่งมาแต่โบราณนานนมเช่นว่า เพียจันทรส เพียซามาด เพียชานุชิด เพียแก้วดวงดี เพียสุวรรณไมตรี เพียอัครวงศ์ เพียวุชิพงษ์ เป็นต้น ในเวลานั้นฉันเองได้คบค้าสมาคมกับท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นประจำ

จากตำแหน่งในเมืองเอก ก็มีตำแหน่งในเมืองรองที่ขึ้นตรง จะเรียกว่าอำเภอก็ได้ เจ้าเมืองจะจัดส่งท้าวฝ่าย หรือ นายเส้น ลงไปกำกับดูแล ในส่วนตำบลก็มีตำแหน่ง ตาแสง หรือ นายแขวง ดูแลกำกับ  ในหมู่บ้านก็มี นายบ้าน หรือ กวานบ้าน กำกับดูแล  คราวนั้นเท่าที่ฉันรู้ ผู้ปกครองบ้านเมืองทุก ๆ คนจะต้องรู้จักคอง 14 เป็นอย่างดี ส่วนคนทั้งหลายก็จะต้องมีฮีต 12 ไว้เป็นแนวทางทุก ๆ ตัวคน จึงเรียกคล้องจองไปว่า ฮีต 12 คอง 14 ฉันมาถึงตอนแรกยังไม่รู้จักใคร ก็ต้องมาทำความรู้จักฮีตรู้จักคองของบ้านเมืองเป็นปฐมบทไว้ ซึ่งเปรียบไปก็เป็นทั้งประเพณีวัฒนธรรมและเป็นทั้งกติกาหลักของการปกครองบ้านเมืองนั่นเอง ฉันได้ฟังข้าราชการบอกแนวทางในการปกครอง เป็นข้อความง่าย ๆ แต่กินใจฉันเหลือเกินว่า “เจ้าเมืองบ่ดีเห็นแก่เงินแสนไถ้ เจ้าเมืองดีเห็นแก่ไพร่แสนเมือง” แล้วยังมีอีกตอนหนึ่งว่า “ขุนพลกล้าครองเมืองจั่งเฮืองฮุ่ง ขุนขี้ย้านครองบ้านบ่เฮือง” โอ้…มันช่างลึกซึ้งคมคายอะไรปานนั้น และกว่าที่แนวทางเหล่านี้จะประกาศมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจผู้ปกครอง ฉันว่าคงผ่านความจัดเจนครั้งแล้วครั้งเล่านับร้อย ๆ ปี อย่างเดียวกับการค้นพบสมุนไพรรักษาพยาธิ

คราวนั้น ฉันได้ตั้งความหวังในการรับราชการไว้ว่า ฉันจะต้องทำการสนองพระเดชพระคุณบ้านเมืองให้ดีที่สุด และฉันจะต้องสืบต่อความเจริญในตระกูลของฉันตลอดไป ทั้งจะไม่พิลาปรำพันเมื่อพบอุปสรรคทุกข์ยาก แต่ฉันนี้ก็มีทั้งดีและเลวคู่เคียงกันไป เพราะชีวิตของฉันก็ใช่จะแน่นอนอะไร ฉันเป็นนายคนก็จริง แต่ฉันก็ไม่สามารถกำหนดชะตากรรมตนเองได้ พรหมลิขิตชีวิตฉันไว้แล้ว ฉะนั้นฉันจะชั่วจะดี บางทีมันก็สุดแต่เวรและกรรม

ฉันได้ผ่านพบเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย แม้ในเวลาที่บันทึกนี้ กำลังเขียนก็ได้พบเหตุการณ์เกิดขึ้นรอบด้านไม่หยุดหย่อน เป็นทั้งคดีโลกย์ คดีธรรม ทั้งความโลภความงมงายหลายประการ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ ทำให้ฉันอยากจะหนีไปให้ไกล แต่ก็หนีมันไปไม่ได้  โลกนี้วุ่นวายหนอ อย่างยศกุมารพล่ามบ่นให้พระพุทธเจ้าได้สดับย่อมเป็นความจริง โลกคือที่นี่ และที่นี่วุ่นวายจริง ๆ มีเหตุมาจากอะไร? หากไม่ใช่เหตุจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ของคนที่ประกอบด้วยกิเลส ตัณหา เป็นหลัก ฉันมาคิด ๆ ดูชีวิตคนเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับเรื่องเหล่านี้ จึงไม่ไปผุดไปเกิดที่ใด

เมื่อฉันเพียงแต่ปรารภกับลูกน้องในจวนข้าหลวงว่า ฉันใคร่จะเขียนบันทึกเรื่องราวแต่หนหลังในการรับราชการ ทุกคนก็เห็นดีและว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแรงทีเดียว แต่สำหรับพระประจักษ์สนิทนึก ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดมาเป็นเวลานาน กลับมีความเห็นว่าจะเป็นโทษต่อตระกูลนั้นทีเดียว

“ท่านจางวางจะละเว้นเรื่องในอดีตของเราได้หรือไม่?” พระประจักษ์ฯ ถามขึ้นในวันหนึ่ง ขณะเราสองคนพูดถึงเรื่องการเขียนบันทึกนี้

“เป็นหัวใจสำคัญเชียว จะละเว้นได้ยังไง?”

“หัวใจสำคัญหรือ?” พระประจักษ์ฯแสดงอาการไม่พอใจทางสีหน้า “เหตุการณ์ผ่านไปตั้งนาน ผมเองก็อยากจะลืม ๆ แต่ท่านกลับจะย้ำความทรงจำที่ร้ายกาจ ท่านไม่รู้สึกเจ็บปวดบ้าง ดอกรึ?”

“ทำไมผมจะต้องเจ็บปวด ในเมื่อประวัติศาสตร์ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว จบลงแล้ว การที่เหตุการณ์นั้นยังวนเวียนตอกย้ำย่อมแสดงว่า ไม่อาจจะชำระล้างไปจากหัวใจได้ จึงรู้สึกเจ็บปวด แต่จะเป็นการดีทีเดียวถ้าบีบเค้นเอาความเจ็บปวดนี้มาเขียน บอกให้คนรุ่นหลังได้ติดตามความเก่าได้ อย่างน้อยก็เป็นการสารภาพบาป ขออโหสิกรรม อย่างมากก็เป็นการยอมรับว่าได้กระทำความผิด โทษมหันต์ก็อาจจะลดลงบ้างสักกึ่งหรือเมื่อเหล่าคณาญาติรู้ความจริง ก็อาจให้อภัย…”

“ไม่ได้ดอกท่านจางวาง” พระประจักษ์ฯเถียง ขึ้นเสียงขึงขัง “ไม่มีใครเปิดเผยความชั่วที่สู้ปกปิดมาตลอดชีวิตดอกนะ”

“มีสิ ผมเองนี่แหละจะเป็นผู้เปิดเผยความชั่วนั้น” ฉันบอก “มาถึงเวลาจะตายจากกันไป จะให้ผมเก็บไว้ในอกต่อไป เห็นจะนอนตายตาไม่หลับลงได้”

เราสองคนถกเถียงกันอยู่เป็นนาน ต่างไม่พอใจซึ่งกันและกัน แต่ฉันยังไม่อยากจะทำลายน้ำใจของพระประจักษ์จึงบอกว่า ผมจะเขียนเปิดเผยให้เป็นคุณมากกว่าเป็นโทษและจะเขียนในเวลาที่ท่านตายไปแล้วด้วย

“ใครจะไปรู้ว่าใครจะตายก่อนใคร”

“ถ้าหากผมตายก่อน ก็เป็นอันประกันได้ว่าไม่มีบันทึกของจางวางดนัยมนัสราษฎร์ก็แล้วกัน” เมื่อยืนยันเป็นมั่นเหมาะแล้วเช่นนี้ มิตรภาพของเราก็เมินหมางออกไป มิใคร่จะไปมาหาสู่เหมือนอย่างแต่ก่อน แม้ว่าจะได้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสยามเอต์ฟรองซ์ฯมาด้วยกัน และทางหนึ่งก็เป็นดองกัน เนื่องจากจรูญได้แต่งงานกับแม่ประเอียง ลูกสาวพระประจักษ์สนิทนึกก็ตาม

ขอให้ทราบไว้ว่า เมื่อฉันจะเกิดแรงดลใจว่าจะเขียนบันทึก ก็ให้รู้สึกเหมือนกับมีพรายกระซิบสั่งในโสตประสาทฉันตลอดเวลา  เสียงนั้นพูดว่า เจ้าคุณต้องเขียน เจ้าคุณต้องบอกความจริง อย่าเป็นเท็จ เจ้าคุณมีส่วนในบุญและบาปที่ก่อขึ้นโดยพระประจักษ์สนิทนึกเหมือนกัน

ฉันรู้สึกว่า นี่คือตราบาป มันประทับอยู่กับดวงวิญญาณ สิงอยู่ในดวงใจ วันนี้ฉันจึงจับปากกาขึ้นมาเขียนชนิดหามรุ่งหามค่ำ ฉันเขียนบันทึกด้วยความหวังว่า ลูกหลานผู้สืบสันดานจะเข้าใจและเข้าใจบรรพบุรุษของพวกมันดีไปกว่านี้ว่า ฉันเป็นคนมีหัวใจ ย่อมมีดีและมีชั่ว มีโลภและมีหลง  สิ่งดีก็ควรจดจำและนำไปประพฤติ ไม่ดีก็จงเก็บเอาไว้สอนสั่งตนเองและไม่สืบต่อความชั่ว ฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บันทึกนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนไป

Related Posts

ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 10
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 9
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com