“วันอาทิตย์นี้พ่อไปธารโตนะ” ผมบอกภรรยา หลังจากขับรถตระเวนไปพบปะพี่น้องหมู่เฮาที่สวนทดลองยางยะลาแล้วกลับมานั่งที่ม้าหินอ่อนหน้าบ้าน

“ไปทำไมหล่าว ?”

“จะไปคุยเรื่องทอดผ้าป่ากับพวกพี่ ๆ น้อง ๆ หน่อย”

“ผ้าป่าอะไรเธออีกล่ะ ?”

“ผ้าป่าทางอีศาน จะหาสมาชิกให้นิตยสารทางอีศานหน่อย”

ภรรยาผมเงียบอยู่ครู่หนึ่ง

“ทำไมต้องไป โทรคุยไม่ได้หรือ ?”

“ไม่ได้ไปเยี่ยมพวกพี่อาจ พี่คำ นานแล้ว ว่าจะหาปลาไหลไปให้แกแกงอ่อมสักโลสองโลด้วย”

พี่อาจที่ผมพูดถึงเป็นคนอาจสามารถ เมืองเกินร้อย ส่วนพี่คำเป็นคนบ้านเทิน กันทรารมย์ ศรีสะเกษ พี่อาจทำงานอยู่สวนทดลองยางธารโตหลายปีแล้ว ส่วนพี่คำเกษียณอายุจากสวนทดลองยางยะลา แล้วไปทำสวนยางอยู่บนภูเขาหลังสวนทดลองยางธารโต

จังหวัดยะลามีสวนทดลองยางอยู่สองแห่ง แห่งแรกอยู่ชานเมืองยะลา แห่งที่สองตั้งอยู่ในเขตอำเภอธารโต ห่างจากตัวเมืองยะลาออกไปอีกหกสิบกิโลเมตรในสวนทดลองยางยะลามีพี่น้องหมู่เฮาทำงานอยู่หลายครอบครัว ร่วมกับพี่น้องที่อพยพมาจากนครศรีธรรมราช จากสงขลา และปัตตานี ส่วนพี่น้องมุสลิมยะลาเองนั้นมีบ้าง แต่จำนวนน้อยกว่าพี่น้องไทยพุทธอีสานบวกใต้

ผู้ทำงานในสวนทดลองยางทั้งสองแห่งรับรู้ร่วมกันว่าถ้าเอ่ยถึง “พวกสวนใน” ก็จะหมายถึงผู้ทำงานในสถานีทดลองยางธารโต ส่วน “พวกสวนนอก” คือผู้ที่ทำงานในสวนทดลองยางยะลา

ที่สวนในมีพี่อาจ ป้าน้อย เป็นรุ่นแรก ๆ รุ่นหลัง ๆ ทยอยติดตามกันมาจากอุบลฯ บ้าง นครพนมบ้าง ส่วนพี่น้องทางใต้มีมาจากสงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี ส่วนพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ธารโตจะเป็นส่วนน้อยเช่นเดียวกันกับสวนนอก

ผมสนิทสนมกับพี่น้องสวนในตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ปีแรกของการทำงานเป็นหมออนามัยในพื้นที่ชายแดนธารโต

ในวัยหนุ่มระเริงไปกับน้ำสีอำพัน น้ำนั้นนำพาให้ไปคลุกคลีกับพี่น้องสวนนอก ซดไก่ต้มผสมกัญชาแล้วไม่หนำใจ พากันขับมอเตอร์ไซค์ฮ่างอีกหกสิบกิโลเมตรจากธารโตออกมากินลาบเป็ดที่สวนนอกยะลา

ช่วงที่ผมสมบุกสมบันกับน้ำจัณฑ์มากที่สุดคือช่วงอยู่ธารโตนี่แหละครับ ภรรยาผมทราบเรื่องนี้ดี เพราะช่วงต้นปี ๒๕๓๙ ผมเคยพาเธอตระเวนทั่วธารโตเพื่อแจกการ์ดงานแต่งของเรา

“คิดดีแล้วม้ายน้องที่จะแต่งงานกับหมอเม่น” เพื่อนผมชื่อโมทย์ หนุ่มสงขลา ซึ่งทำงานอยู่สวนนอกแหลงใต้ทีเล่นทีจริงกับว่าที่ภรรยาผม “หมอเม่นขี้เมาอิตาย”

“มึงอย่าปากหลายบักโมทย์” ผมเบรกเพื่อน

“กูเอาควมจริงมาเว้าเล่นมึงกะอย่าเคียดแหม” 

บักโมทย์พูดกลั้วหัวเราะ เพื่อนคนสงขลาของผมคนนี้เว้าลาวได้สนิทปาก เช้า สาย บ่าย เย็น คลุกคลีตีโมงแต่กับพี่น้องหมู่เฮา บวกกับมันดื้อมันมึน เลยเว้าลาวได้จ้อย ๆ

และเมื่อต้นปี  ๒๕๕๕ ผมไปแจกซองให้กับพี่น้องที่สวนในอีกครั้ง ครั้งนั้นเป็นซองผ้าป่าที่ผมนำกลับไปทอดที่วัดบ้านเกิด วังสามหมอ

ทั้งสองครั้งที่ผมไปกับเธอ ผมขับรถกลับไม่ไหว เพราะขัดศรัทธาญาติโยมที่ธารโตไม่ได้

ครั้งนี้เมื่อผมบอกจะไปธารโต เธอจึงไม่อยากให้ผมไปนัก แต่ผมอธิบายให้เธอฟังถึงความจำเป็นว่างานนี้จะทำบุญใหญ่ด้วยการระดมทุนเพื่อสมัครสมาชิกหนังสือทางอีศานให้กับโรงเรียน หรือวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเน้นที่อีสานก่อน

“แล้วพ่อจะไปคนเดียวหรือ ?”

“ใช่ คนเดียว หนูอยู่กับลูก งานบ้านก็เยอะมิใช่หรือ เตรียมตัวแจกซองช่วยพ่อก็แล้วกัน พ่อจะไปหากรรมการที่ธารโตก่อน”

ผมบอกเธอแล้วยิ้ม เปิดโน้ตบุ๊ก นึกถึงชื่อเพื่อน ๆ พี่น้องหมู่เฮาที่อยู่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา กรุงเทพฯ อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี ฯลฯ

 เพื่อนๆ พี่น้องป้องปายทั้งหลาย คอยรับซอง “ผ้าป่าทางอีศาน” แล้วมาทำบุญใหญ่ด้วยกันนะครับ

“เจ้าเข้ามาเฮ็ดหยังหมอเม่น” เอื้อยลัมภ์ คนบ้านเทิน กันทรารมย์ถาม แกกำลังไปทำงานที่บ้าน ผอ.สวนทดลองยางยะลา

“เข้ามาหาพี่น้องซุมเฮานี่ล่ะ ว่าสิชวนกันเฮ็ดบุญทอดผ้าป่า” ผมคุยจากในรถ

“บักสอนอยู่เฮือนพุ้นเด้อ ไปหามันโลด”

“คือซำบายแท้อ้าย บ่ได้เฮ็ดหยังติ” ผมถามพี่อ่อน คนตำบลบัวน้อย กันทรารมย์ แกเกษียณอายุได้ห้าปีแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่กับน้องในสวนนอก

“กำลังสิไปหายิงหมูป่า นั่งเล่นคอยหมู่อยู่นี่ล่ะ”

“ไปหายิงที่ไหนอ้าย ยังพากันหากินแบบนี้อยู่หรือ”

“แถวกรงปินัง”

“ป้าดดด บ่ย่านโจรดักยิงติอ้าย คือพากันกล้าไป”

“ย่านเฮ็ดหยัง โจรก็เป็นพี่น้องเฮาเนาะ…” พี่อ่อนจบคำพูดด้วยเสียงหัวเราะหึ ๆ

“มา ๆ กินข้าว” อ้ายบุญถิน เอื้อยทา คนบ้านเทิน เรียกผมเข้าบ้าน “หมอเม่นมาเฮ็ดหยัง”

“มาหาพี่น้องซุมเฮานี่ล่ะครับ เดี๋ยวแวะเด้อ ไปหาถ่ายรูปเทิงภูเขาก่อน” สวนทดลองยางยะลาตั้งอยู่บริเวณเนินเขา จุดสูงสุดจะมองเห็นเมืองยะลาได้สามร้อยหกสิบองศา

หนุ่มยะลา คนงานของสวนทดลองยาง กำลังเก็บน้ำยางขึ้นรถไปแปรรูป

เมืองยะลา มองจากบนสุดของเนินเขาสวนทดลองยางยะลา

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com