ตามรอยคนพื้นเมืองดั้งเดิมแห่งโลกมลายู

เย็นย่ำวันหนึ่งนั้น ขณะเรือลำน้อยกำลังพาพวกเราท่องไปในแม่น้ำมะละกา คำของเพื่อนร่วมเดินทางยังเสมือนส่งเสียงก้องกังวานในความรู้สึก “ความหลากหลายเป็นสิ่งสวยงาม เหมือนดอกไม้ต่างสีหลากชนิด สามารถนำมารวมกันได้ อยู่ที่ว่าจะจัดวางอย่างไรให้อยู่ในแจกันเดียวกันได้อย่างลงตัว”

จากปลายสายแม่น้ำมะละกาก่อนจะไหลล่องสู่ท้องทะเลกว้างบริเวณช่องแคบมะละกา ธารน้ำสายนี้เคยเป็น “หัวใจสำคัญ” ของการค้าในเมืองมะละกาพลุกพล่านไปด้วยเหล่าพ่อค้าและนักผจญภัยเผชิญโชคจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ในเชิงประวัติศาสตร์ต้องเกี่ยวพันกับกลุ่มคนที่หลากหลายเชื้อชาติศาสนา ร่องรอยของสถาปัตยกรรมในปัจจุบันที่ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมมลายู จีน อินเดีย หรือคริสต์ สะท้อนการเชื่อมต่อโลกเข้าด้วยกันอย่างชัดเจน

หากย้อนขึ้นไปสู่ต้นน้ำมะละกาที่ไหลผ่านอาณาบริเวณหลายแห่ง ทำให้ข้าพเจ้าหวนคิดถึงสายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ระหว่างคนรุ่นใหม่กับ “คนพื้นเมืองดั้งเดิม” แห่งโลกมลายูอีกครั้ง ผ่านการเชื่อมโลกด้วย “เส้นทางสายไหมแห่งโลกมลายู” ด้วยสถานการณ์ที่เส้นแบ่งเขตแดนแห่งความเป็นชาติพันธุ์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ช่วงชิงเพื่อนำไปสู่การครอบครองในฐานะ “ผู้มาก่อน” ผู้คนอาจหลงลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพื้นที่ปลายแหลมมลายู โดยเฉพาะที่ “ชายแดนใต้” ยังคงมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้พำนักอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินแห่งนี้มายาวนาน

บนแผ่นดินที่ครั้งหนึ่งไม่มีการขีดเขียนเส้นพรมแดน และพวกเขาไม่เคยคิดหวังว่าจะถือสิทธิ์คิดครอบครองผู้คนกลุ่มนี้ยังคงยึดมั่นวิถีชีวิตครั้งบุพกาล พำนักอาศัยในที่พักหลังน้อยและรอนแรมเร่ร่อนหากินอยู่ในป่าเขารอยต่อยะลา-นราธิวาส เรียกตัวเองว่า “โอรังอัสลี” (Orang Asli) ชนพื้นเมืองดั้งเดิมเผ่าสุดท้ายแห่งชายแดนใต้ หรือแห่งโลกมลายู ซึ่งยังคงดำรงชีวิตกระจัดกระจายอยู่ในหลากหลายพื้นที่ทั้งในไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย

ปฐมบทของคนพื้นเมืองดั้งเดิมแห่งโลกมลายู โอรังอัสลี (Orang Asli) คือเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่สันนิษฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยยุคหิน ๑,๕๐๐-๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นคนพื้นเมืองเดิมกลุ่มหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่บริเวณปลายแหลมมลายูซึ่งถูกเรียกว่า “ซาไก” แต่ความจริงพวกเขาคือ Orang Asli – โอรังอัสลี แปลตามตัวอักษร คือ ประชากรดั้งเดิม หรือคนป่าพื้นเมืองเดิม สำหรับคนกลุ่มนี้ยินดีที่จะเรียกตัวเองว่า “มันนิ” หรือ “โอรังอัสลี” มากกว่าคำว่า “ซาไก” ซึ่งค่อนข้างเป็นคำดูถูกเหยียดหยามต่อกัน

ชาวโอรังอัสลี มีลักษณะเด่น คือ รูปร่างเตี้ย ผิวดำ ฝีปากหนา ท้องป่อง น่องสั้นเรียว ผมหยิกเป็นก้นหอยติดศีรษะ ชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือเนกริโต ตระกูลออสโตร-เอเชียติก อยู่กระจายกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ราว ๗-๖๐ คน ในรัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) สหพันธรัฐมาเลเซีย พื้นที่ส่วนลึกของนิวกินี ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะอันดามันเรียกตนเองว่า “มันนิ (Mani)  ส่วนคนทั่วไปมักเรียกว่า เงาะ เงาะป่า ชาวป่า ซาแก หรือ โอรัง อัสลี (Orang Asli) หรือ กอย การดำรงชีวิตกลุ่มชนชาวโอรังอัสลี จะกินเผือกมัน กล้วยป่า มะละกอ และสัตว์ป่า จับสัตว์น้ำด้วยมือเปล่าหรือเบ็ด

หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์มาเลเซีย’ กล่าวไว้ว่า “เช่นเดียวกับชาวมลายูกลุ่ม “ภูมิปุตรา” (Bumiputera-บุตรชาย/บุตรสาว แห่งแผ่นดิน) ในมาเลเซียด้านคาบสมุทร หมายรวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีประชากรไม่มาก แต่เป็นชนพื้นเมืองที่มีความสำคัญโดยทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเรียกรวม ๆ กันทั้งหมู่ว่า โอรังอา-ซลี (Orang Asli) แปลตามตัวอักษร คือ ประชากรดั้งเดิม หรือคนป่าพื้นเมืองเดิม ซึ่งเป็นคำที่ตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ เมื่อ ค.ศ.๑๙๙๔ นับจำนวนคนเหล่านี้ได้ ๙๒,๒๐๓ คน ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ ๑ ของประชากร แม้ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากประมาณการเมื่อ ค.ศ.๑๙๘๐ ว่ามี ๘๓,๔๕๓ คน การลดจำนวนลงอย่างรุนแรงจนแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้วในป่าลึก เนื่องมาจากการตัดไม้ การขยายตัวของเขตเมือง และความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม” และ…

“โดยทางการแล้ว มีการแบ่งพวกโอรังอา-ซลี เป็นกลุ่มย่อย ๆ ๑๙ กลุ่ม ซึ่งปกติแบ่งเป็น    ๓ กลุ่มกว้าง ๆ   … กลุ่มแรกคือ พวกโอรังอา-ซลีทางเหนือ นักโบราณคดีเรียกพวกนี้ด้วยถ้อยคำที่ไม่ถูกต้องนักว่า ‘นีกรีโต’ (Negrito) เพราะความที่มีร่างเล็กเตี้ยและผิวคล้ำของพวกเขา มีการพบอยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ทางเหนือและตอนกลางจำนวนไม่ถึง ๒,๗๐๐ คน ใน ค.ศ.๑๙๙๔ บางแห่งก็มีอยู่น้อยมาก เช่น พวกมันดริ (Mendriq) ทางต้นแม่น้ำกลันตัน ประมาณว่ามีน้อยกว่า ๑๕๐ คน และพวกเกินซิว (Kensiu) แห่งเกดะห์ มีประมาณ ๒๓๐ คน กลุ่มที่ ๒ คือพวก ซ-นอย (Senoi) พบเห็นกันในภาคกลางของคาบสมุทร และในอดีตเป็นผู้มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ พวกนี้ยังรวมเอาบางกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้นว่าพวก  ท-เมียร์ (Temiar) (๑๕,๑๒๒) และ ซ-ไม (Semai) (๒๖,๐๗๖) เข้าไว้ด้วย กลุ่มที่ ๓ คือพวกโอรังอา-ซลีทางใต้ ซึ่งถูกตีตราว่าเป็น “ชนเผ่ามลายูดั้งเดิม” และ “บรรพบุรุษของชาวมลายู” ทั้งนี้บางส่วนเป็นเพราะชุมชน เช่น พวก ต-มวน (Temuan) (๑๖,๐๑๕ คน) และฌากุน (Jakun) (๑๖,๖๓๗) คบหาสมาคมใกล้ชิดกับชาวมลายูชายฝั่งมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน และในหลาย ๆ กรณีดำรงชีวิตด้วยการทำไร่นา และได้เปลี่ยนไปเป็นมุสลิม” (บาร์บารา วัตสัน อันดายา & ลีโอนาร์ด วาย. อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย, พ.ย. ๒๕๕๑, น.๔-๕.)

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย จากข้อมูลยุคเก่าก่อน มักมีการแบ่งกลุ่มชาวโอรังอัสลีว่ามีอยู่ ๔ กลุ่มรวมประมาณ ๒๐๐ คน คือ กลุ่มกันซิว อยู่ในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา กลุ่มยะฮาย อยู่ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กลุ่มแตะเดะหรือเยแด อยู่บริเวณภูเขาสันกาลาคีรี แถบจังหวัดยะลา และอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กลุ่มแต็นเอ็น อยู่บริเวณเขาบรรทัดแถบคลองตง คลองหินแดง บ้านเจ้าพะ และถ้ำเขาเขียด อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง (รวมประมาณ ๑๐๐ คน) จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล ทั้งนี้กลุ่มที่อาศัยอยู่ที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ได้รับพระราชทานนามสกุลจากสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี โดยใช้ชื่อสกุลว่า “ศรีธารโต”


อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่ากลุ่มธารโตส่วนใหญ่ได้อพยพไปอยู่ในมาเลเซีย ด้วยเหตุผลด้านที่ทำกินและวิถีชีวิตที่ดีกว่า ประกอบกับเหตุผลด้านความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ก็มีการเคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน

กรณีของชาวโอรังอัสลีที่คงดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมในผืนป่าฮาลา-บาลา ทั้งในพื้นที่รอยต่อจังหวัดนราธิวาสและยะลาทุกวันนี้ จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของนักมานุษยวิทยาและบุคคลที่สนใจโดยทั่วไป ในฐานะผู้คนที่ไม่เคยรู้จักเส้นแบ่งเขตกั้นพรมแดนโลก ใช้ชีวิตรอนแรมเร่ร่อนไปตามวิถี ไม่เคยแม้แต่จะเรียกร้องสิทธิ์ของผู้มาก่อน มิหวังครอบครอง และไม่เคยคิดแบ่งแยก ธรรมชาติกลางไพรพฤกษ์คือมุ้งนอนผืนใหญ่ แผ่นดินกว้างใหญ่คือขุมทรัพย์แหล่งอาหาร ข้าพเจ้าและทีมงานเคยตามรอยผู้คนเหล่านี้ไปถึงกลางป่าลึกรอยต่อพรมแดนไทย-มาเลเซีย

เพียงเริ่มต้นไต่เนินเขาลูกแรกที่จะนำพาพวกเราไปสู่ “ยอดบูเก๊ะไอร์กียา” เขตผืนป่าฮาลา-บาลา สมาชิกในคณะเดินทางหลายคนก็ส่ออาการหอบแฮก ๆ ให้เห็น ต้องหยุดพักยืนประคองตัวไม่ให้กลิ้งตกจากไหล่เขา ขณะทอดสายตามองไปเบื้องหน้า ขบวนแถวของชาวโอรังอัสลีซึ่งเดินลิ่วนำหน้า มีทั้งลูกเด็กเล็กแดงรวมแล้วกว่า ๒๐ ชีวิต บ้างสะพายข้าวของเต็มหลัง บ้างกระเตงลูกไว้ด้วยเศษผ้าถุง ต่างเดินตีนเปล่าเปลือยตัวปลิวผ่านต้นยางรายเรียงไปอย่างสบายอกสบายใจ

“ไหวไหม ๆ นี่เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางเองนะ เราต้องใช้เวลาเดินทางกว่า ๓ ชั่วโมงกว่าจะถึงเป้าหมาย” พี่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยคณะของเราเอ่ยเหมือนขู่ ข้าพเจ้าอมยิ้ม พยักหน้า กัดฟันเดินหน้าต่อ ขณะเดียวกันหวนคิดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ตัดสินใจนำคณะมาผจญภัยเดินตะลุยป่าเขาครั้งนี้

การผจญภัยที่เชื่อว่าน่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มคนคณะแรก ๆ ในห้วงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีโอกาสดั้นด้นเดินทางไปสัมผัสถึงถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองดั้งเดิมแห่งชายแดนใต้ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งปกติแล้วจะไม่ยอมให้ใครเข้าไปพานพบได้ หรือหากบังเอิญมีใครไปเจอถิ่นที่อยู่ หลังจากนั้นก็จะรีบหนีภัยย้ายไปอยู่ยังถิ่นที่อยู่ใหม่ทันที

พวกเราใช้เวลาค่อนข้างนานในการสร้างความคุ้นเคยและไว้วางใจ สำหรับกลุ่มคนที่สื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องด้วยใช้กันคนละภาษา แต่ข้อต่อสำคัญที่เป็นเหมือนกุญแจไขรหัสลับเพื่อนำพาพวกเราไปสัมผัสวิถีผู้คนในยุคก่อนเก่าแห่งผืนแผ่นดินมลายู คือคนชื่อ “แบปา” หรือ นายอับดุลเลาะ ดอเลาะอูมา ชาวบ้านหมู่ ๔ ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส         ถิ่นฐานเดิมของแบปา เป็นชาวอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา แต่วันหนึ่งตัดสินใจย้ายถิ่นมาอยู่แถบนี้ ในยุคที่ยังเป็นป่ารกชัฏ อาศัยบุกเบิกทำสวนทำไร่ ปลูกไม้ยางพารา โดยมีชาวโอรังอัสลีมารับจ้างช่วยงานด้วยเป็นบางครั้ง กระทั่งเกิดความไว้วางใจต่อกัน บ้านแบปาจึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชาวโอรังอัสลีที่ออกจากป่าใช้เป็นที่นัดพบ นำของจากป่ามาแลกเปลี่ยนสิ่งของจากชาวบ้าน

“กลุ่มที่เคยอยู่กับแบปาตอนนั้น ถ้านับเป็นคนเก่าแก่เหลือเพียงคนเดียว ที่เหลือเสียชีวิตหมดแล้ว ปัจจุบันถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการขยายกลุ่มขยายครอบครัวกันออกไป” แบปาให้ข้อมูลพื้นฐานครั้งที่ได้เจอกันครั้งแรก

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com