ปักหลักให้แน่น แก่นต้องมี

ท่ามกลางสังคมแสงสีเมืองใหญ่ ภาคส่วนอุตสาหกรรม ธุรกิจท่องเที่ยวบริการ ฯลฯ ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์และการสื่อสารล้ำสมัย บันดาลให้กิจการการค้าขายเกิดดอกผลกำไรงาม แต่ในภาคส่วนการเกษตร ชีวิตชุมชนคนหมู่บ้านที่เปรียบดั่งกระดูกสันหลังประเทศ กลับไม่อาจหยัดยืนตรงให้คงมั่น ยิ่งนับวันยิ่งไร้หลักไร้แก่น ไร้ความคิดฝันจินตนาการ

ครัวเรือนไทยเรามีหนี้เฉลี่ยกว่า ๒ แสนบาท ข้าราชการร้อยละ ๘๐ มีภาระหนี้สิน พ่อบ้านแม่เรือนกว่าร้อยละ ๗๐ ต้องผ่อนชำระหนี้ในระบบ อีกกว่าร้อยละ ๒๐ ผ่อนชำระหนี้นอกระบบ ยังไม่นับหนี้ที่รัฐนำเม็ดเงินมาลงทุนและใช้จ่ายสร้างมูลค่าความนิยม ซึ่งถึงที่สุดชาวบ้านตาดำ ๆ ทุกคนต้องแบกรับภาระ

ทุกวันนี้ไม่มีผลผลิตทางการเกษตรตัวไหนชนิดใดที่ราคาดี มีความยั่งยืน ซ้ำร้ายรายได้ลดลงแต่ค่าครองชีพสูงขึ้น ไหนจะค่าใช้จ่ายเลี้ยงปากท้อง ค่าเล่าเรียนลูกหลาน ค่ารักษาพยาบาล เผชิญภัยพิบัติและปัญหาการว่างงานที่ยิ่งเพิ่มขึ้น

เรื่องที่รัฐจะแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ดูแลสวัสดิการ สร้างเสริมการมีรายได้ จัดหาแหล่งเงินใน

ระบบที่ดอกเบี้ยต่ำ หาช่องให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน

ล้วนแล้วแต่ฝากความหวังไว้ไม่ได้ เพราะนอกจากแนวทางประชานิยมที่โปรยปลิวไปตามกระแสแล้ว

มีนโยบายใดที่ถูกต้อง มีการปฏิบัติใดที่ทุ่มเทเสียสละจนบังเกิดผลขึ้นบ้าง

ทางออกทางแก้เฉพาะหน้าอยู่ที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนต้องพึ่งลำแข้งตนเอง ประหยัดมัธยัสถ์เลิกละอบายมุข ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่กินได้ขายง่ายทุ่มเทเรียนรู้ วางแผนชีวิตและการงานทั้งระยะสั้นระยะยาว ปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้แก่ตัวเองและลูกหลาน

ที่สำคัญต้องหยุดก่อหนี้เพิ่ม รักษาสินทรัพย์ที่ดินไว้ด้วยชีวิต วางแผนการศึกษาของลูกหลานให้มีเป้าหมายทิศทางสอดคล้องกับวิถีทำมาหากิน วางแนวทางการคิดประดิษฐ์งาน สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นจากแผ่นดินจากหมู่บ้านฐานถิ่นตน

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำเนิดจักรวาล
จาก “นายผี” ถึง “ทางอีศาน”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com