การเรียนรู้และการสืบทอดภูมิปัญญา (๑)

เมื่อประมาณปี ๒๕๒๗ ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีการพบปะทุกเดือนของหมอยาพื้นบ้าน ๑๒๓ คน โดยการประสานงานของเรด บาร์นา องค์กรพัฒนาเอกชนต่างชาติดำเนินงานโดยคนไทย โดยมีคุณอภิชาต ทองอยู่ และคุณยงยุทธ ตรีนุชกร เป็นหัวเรือใหญ่

หมอยาพื้นบ้านทั้งหมดมาจากขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง เป็นหมอยาที่ยังดำเนินการแบบดั้งเดิม คือทำหน้าที่รับใช้ชุมชน ไม่เรียกค่ารักษา มีแต่ค่าครูเล็กน้อย หากเมื่อหายแล้วจะตอบแทนด้วยข้าวปลาอาหาร หรือไปช่วยทำงานในไร่นาที่บ้าน เพื่อชดเชยเวลาที่หมอยาต้องออกไปช่วยเหลือชุมชน

หมอยาในลักษณะดั้งเดิมขณะนั้นยังพอมีอยู่ แต่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ไปดูแลรักษา ให้ยาสมุนไพรคล้ายแพทย์แผนปัจจุบัน มีอัตราการรักษาค่าหยูกยาเท่านั้นเท่านี้

จุดมุ่งหมายของการเชิญชวนหมอยามาพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเอง และกับแพทย์แผนปัจจุบันที่ใจกว้างและอยากร่วมมือกับหมอยาพื้นบ้านเพื่อช่วยชุมชนอย่างผู้อำนวยการโรงพยาบาลพล คุณหมอสุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ คุณหมอสุริยะ วงศ์องคาเทพ และคุณหมอ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช (คนนี้เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองสองห้องก่อนเมืองพล จากนั้นไปเรียนต่อ และไปทำงานการเมือง)

หมอชนบทในยุคนั้นนับได้ว่าเป็นหมอที่มีอุดมการณ์มาก แม้อยู่ไกลถึงบัวใหญ่ โคราช หมอสงวน นิตยรัมพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ก็ไปร่วมงานแลกเปลี่ยนกับหมอยาพื้นบ้านที่เมืองพลอยู่บ่อยครั้ง

ยังมีหมออื่น ๆ ที่ขอนแก่นและที่โคราชอย่างคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน คุณหมอสำเริง แหยงกระโทก ที่โรงพยาบาลชุมพวง มีคุณหมอบุษกร อนุชาติวรกุล ผู้อำนวยการ และมีหมอหนุ่มคนหนึ่งชื่อ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (ที่เคยเอาหมอลำผีฟ้าไปรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล) ซึ่งต่อมาได้ร่วมงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมชุมชนกับการพัฒนา

คนที่ทำหน้าที่ “ครูใหญ่” ตำแหน่งที่ทุกคนมอบให้ด้วยความเต็มใจ คือ พ่อทองอ่อนสิทธิไกรพงษ์ ท่านเป็นผู้นำด้านความรู้วิชาการเพราะสอบได้ใบประกาศนียบัตรแพทย์แผนไทยทั้งเภสัชกรรมและเวชกรรม และมีประสบการณ์การทำงานมานาน

พ่อทองอ่อนได้สืบสานงานของคุณหมออวย เกตุสิงห์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และผู้ก่อตั้งอายุรเวทวิทยาลัย ท่านจบการศึกษาแพทยศาสตร์ที่ศิริราช ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี ให้ความสำคัญแก่วิธีการรักษาแบบตะวันออก ตามแนวของหมอชีวกโกมารภัจจ์        

พ่อทองอ่อนเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยแบบอีสาน ที่กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดล ยอมรับและแต่งตั้งท่านเป็นที่ปรึกษา เพราะมีปัญหาเรื่องภาษาและข้อมูลที่ไม่ตรงกันและเข้าใจผิดกันมากจนทำให้ผู้รู้จำนวนมากที่อยากได้ใบประกาศสอบตก เพราะความเข้าใจศัพท์ ชื่อ ภาษาและนิยามที่ไม่ตรงกัน

พ่อทองอ่อนมีครอบครัวอยู่ที่บ้านฝาง มีศูนย์เรียนรู้และมีโรงอบสมุนไพรเล็ก ๆ อยู่ด้านหลัง ผมไปขอนแก่นทีไรก็มักไปเยี่ยมท่านและอบสมุนไพร ท่านจะนั่งอยู่ด้านนอก คอยดูไฟและพูดคุยด้วย ให้มั่นใจว่าคนที่อยู่ในห้องเล็ก ๆ นั้น ยังสบายดีอยู่ ท่านจะถามว่ารู้สึกอย่างไร ร้อนไปทนได้หรือไม่อย่างไร                                                                     

อบสัก ๑๐ นาที ออกมาอาบน้ำเย็น แล้วเข้าไปใหม่ ทำเช่นนี้สามครั้ง รู้สึกสดชื่นบอกไม่ถูก พ่อทองอ่อนอธิบายว่า สมุนไพรที่ท่านใช้มีอะไรบ้าง เป็นของแท้ ท่านบอกว่า ที่อบสมุนไพรหลายแห่งในกรุงเทพฯ มักจะใช้ “ของเทียม” ที่ราคาถูก ไม่มีประสิทธิภาพ

การประชุมทุกเดือนที่เมืองพลของบรรดาหมอยาพื้นบ้าน มีทั้งการให้ความรู้จากพ่อทองอ่อน การแลกเปลี่ยนระหว่างหมอยาพื้นบ้านที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน และแลกเปลี่ยนกับแพทย์จากโรงพยาบาล เรื่องสุขอนามัย การป้องกันการติดเชื้อ ฯลฯ

นับเป็นประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน

เมื่อปี ๒๕๓๒ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในยุคสมัยที่ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลางเป็นเลขาธิการ ท่านสนใจเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านมาก และร่วมมือกับมูลนิธิหมู่บ้านและเครือข่ายผู้นำชุมชนจัดการสัมมนาเรื่องวัฒนธรรมกับการพัฒนา

เป็นการสัมมนาระดับชาติที่แปลกมากเพราะผู้เปิดการสัมมนามี ๒ ท่าน คือ หลวงพ่อนาน (พระครูพิพิธประชานาถ) จากสุรินทร์ และพ่อบัวศรี ศรีสูง จากมหาสารคาม ประธานเครือข่ายอุ้มชูไทอีสาน พ่อทองอ่อนเป็นวิทยากรที่สัมมนา ผู้ดำเนินรายการ คือ นายแพทย์โกมาตรจึงเสถียรทรัพย์

พ่อทองอ่อนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนรู้และประสบการณ์ของท่านอย่างยาวนาน รวมทั้งให้แนวคิดเชิงวิชาการด้วย ท่านบอกว่า มีเภสัชกรคนหนึ่งถามท่านว่า ไวรัส ในภาษาแพทย์แผนโบราณเขาเรียกอะไร ท่านตอบว่า “จัก” (ไม่ทราบ) คนนั้นถามต่อไปว่า “แบคทีเรีย” เขาเรียกอย่างไร พ่อทองอ่อนตอบเช่นเดิมว่า “จัก” (ไม่ทราบ)

ท่านสรุปว่า คนถามเขาไม่รู้ว่า แพทย์แผนโบราณกับแผนปัจจุบันแตกต่างกันที่วิธีคิด วิธีปฏิบัติ แล้วที่นักวิชาการวันนี้ท่านบอกว่า ต่างกันที่ “กระบวนทัศน”์ ต่างกันทั้งสมมุตฐิ านที่มาของการเจ็บป่วย ไปจนถึงการดูแลรักษา ฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย อีกฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องความสมดุล ร้อน เย็น

เครือข่ายหมอยาพื้นบ้านที่เมืองพลเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของการสร้าง “เครือข่าย” ผู้นำชุมชน เป็นที่ “นัดพบ” คนจากแวดวงต่าง ๆ ที่อยากเรียนรู้และทำงานร่วมกับชุมชน มากกว่าที่จะไปสั่งไปสอน เอาโครงการไปให้ แต่เริ่มจากการไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชุมชน จนรู้และเข้าใจปัญหาและศักยภาพของชาวบ้าน หรือที่เรียกกันว่า “แนววัฒนธรรมชุมชน”

มีคนอย่างนายอำเภอเจตน์ ธนวัช ของหนองสองห้อง ที่ร่วมงานกัน หลายปีต่อมาเคยไปเยี่ยมท่านตอนเป็นผู้ว่าฯ อุทัยธานีและผู้ว่าฯ ขอนแก่น ท่านขอถ่ายเอกสารหนังสือ “ฐานคิด” ของผมแจกข้าราชการในจังหวัดให้อ่านกันทุกคน

มีคนอย่างผู้ว่าไสว พราหมณี ที่เคยเป็นปลัดที่โคราช ทำโครงการโคราชพัฒนา ไปเป็นผู้ว่าฯ ที่มหาสารคาม แล้วกลับไปเป็นผู้ว่าฯ โคราชแม้จะไม่ได้คิดเหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็เป็นกัลยาณมิตรที่ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

มีคนอย่างอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินระดับเหรียญทองที่ลาออกจากราชการไปอยู่หมู่บ้านที่ขอนแก่นและร่วมกันไปศึกษาวัฒนธรรมชุมชนที่อีสานศึกษา “เส้นทางข้าว” ที่อีสาน ร่วมกับชุมชนช่วยกันหาทาง “คืนสู่รากเหง้า” ค้นหาตัวตน เพื่อจะได้เป็นตัวของตัวเอง

เครือข่ายหมอยาพื้นบ้านนำไปสู่เครือข่ายผู้นำชุมชนที่ไม่ใช่หมอยา เป็นปราชญ์ชาวบ้าน คือ เครือข่ายอุ้มชูไทอีสาน และแยกย่อยเป็นเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ ในเวลาต่อมาอย่างเครือข่ายอินแปง เครือข่ายขอนแก่น เครือข่ายโคราช เครือข่ายบุรีรัมย์ เครือข่ายมหาสารคาม

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pixabay.com/

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com