ปิดเล่ม
Last But Not Least
กอง บ.ก.

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๕๒
ปีที่ ๕ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙
ฉบับ: ตำนานเจ้าแม่สองนาง

tha4.0

ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยของคณะผู้กุมอำนาจรัฐ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองปัจจุบันนี้ คือ ยุทธศาสตร์ “โมเดลประเทศไทย 4.0” (ใช้เลขอารบิคให้เป็นสากล…ทันสมัย)

เรา ๆ ท่าน ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ว่า “โมเดลประเทศไทย 4.0” คืออะไร ? คำว่า “ประเทศไทย 4.0” นั้นมันมีที่มาจากวิสัยทัศน์เรื่อง “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔” ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง เขามีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหญ่มาสามครั้งแล้ว สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ที่กำลังจะมาถึงคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรงพูดง่าย ๆ ก็คือ โรงงานยุค 3.0 สามารถผลิตของแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว แต่โรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน (ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย) เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรแบบ “Smart Factory”

แนวคิด Industry 4.0 นี้ จะเป็นการบูรณาการโลกของการผลิต เข้ากับการเชื่อมต่อทางเครื่อข่ายในรูปแบบ “The Internet of Things (IoT)” คือการทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือแม้กระทั่งทำให้ตัวสินค้าเองเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น การมีระบบป้อนข้อมูลให้เครื่องจักรสามารถผลิตสิ่งของตามแต่การสั่ง (ออนไลน์) จากผู้บริโภคโดยตรง, การใส่ตัวส่งข้อมูลในเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อประมวลสถิติการใช้และแจ้ง (โดยอัตโนมัติ) กลับไปยังโรงงานเมื่อเกิดปัญหาทางเทคนิค, การใช้คอมพิวเตอร์จิ๋วกินได้ (ขนาดเท่ายาเม็ด) ให้ผู้บริโภคกลืนเข้าไปเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพในร่างกาย ฯลฯ

ผู้มีอำนาจกำกับควบคุมเศรษฐกิจไทย ก็เลยมองว่าประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรม 4.0 การประกาศนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้านเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลเน้นส่งเสริมการขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริม E-Commerce, E-Documents และE-Learning สิ่งเหล่านี้นอกจากจะวางพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้ไทยก้าวเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ยังเป็นการปูทางรองรับ Industry 4.0 อีกด้วย

สำหรับทางด้านเกษตรกรรม ก็มีนโยบายสนับสนุนการรวมพื้นที่ทำเกษตรแบบฟาร์มใหญ่ ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ รวมถึงพัฒนาการตลาดแบบครบวงจร พูดง่าย ๆ ก็คือ จะส่งเสริมทุนใหญ่ให้ขยายการเกษตรในเชิงอุตสาหกรรมนั่นเอง

ในส่วนภาคการเงินก็มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เริ่มต้นด้วยระบบพร้อมเพย์

“พร้อมเพย์คืออะไร ? ทางการชี้แจงว่าเป็นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน

การโอนเงินเป็นบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคลของประชาชน การโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการของภาคธุรกิจ รวมถึงการโอนเงินสวัสดิการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาครัฐ การมีระบบการบริการโอนเงินที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดำเนินไปได้อย่างคล่องตัว รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจของประเทศ โครงการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบ AnyID เป็นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทยให้สามารถรองรับการโอนเงินระหว่างธนาคารโดยใช้หมายเลขหรือรหัสใด ๆ (AnyID) ที่กำหนด ในการระบุผู้รับโอน เช่น หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ เลขประจำตัวประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) หรืออีเมล์แอดเดรส (e-mail address) ในการลงทะเบียนผ่านสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการชำระเงินเพื่อผูกกับบัญชีธนาคาร หรือ e-Wallet โดยในระยะแรกจะเริ่มจากการใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนก่อน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นพื้นฐานของบริการทางการเงินต่าง ๆ ในอนาคต

ในอนาคต สังคมไทยอาจจะเป็น “ดิจิทัล อีโคโนมี” สมบูรณ์แบบ!

อาการทรุดโทรมของนิตยสารรายเดือน รายสัปดาห์ รายปักษ์ ก็เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่า ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนแปลง

ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น แน่นอนว่าทุกคนต้องปรับตัว การปรับตัวในทางความคิดและรูปแบบการนำเสนอนั้น “ทางอีศาน” เตรียมพร้อมเสมอ เพราะเรา “ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต” อยู่แล้วมี “ทุนสมอง” อยู่แล้ว ห่วงหน่อยหนึ่งเรื่อง “ทุนการเงิน” ที่จำเป็นในการ “ปรับตัว”

จึงอยากชี้แจงว่า พวกเราใช้ยุทธวิธี “ค่อยสร้าง ค่อยสะสม เติบโตบนฐานรากที่มั่นคง” เพื่อ “ต่อสู้ยาวนาน” อำนวยพรแด่ทุกท่านตลอดเทศกาลเข้าพรรษาครับ

_________________________________

ติดตามเนื้อหาในเล่มได้ที่…
ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ซีเอ็ด นายอินทร์
สั่งซื้อ: 02-552-4070
อีเมล: e-shann@hotmail.com

อีบุคราคาเพียง 60 บาท ที่
MebMarket
4Dbook
DDeBook

นิตยสาร “ทางอีศาน” เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปอ่านหัวข้อข่าว เรื่องราวเด่น ๆ หรือดาวน์โหลดใบสมัครสมาชิก รวมถึงร่วมเสนอความคิดเห็น อ่านรายละเอียดและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ https://e-shann.com/

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com