รำวงโบราณ อีสานย้อนยุค

เรื่อง : สุรินทร์ ภาคศิริ
คอลัมน์ : ลูกเถ้าแก่บ้านนอก (เจ๊กโคก)
Column : Son of a Rural Merchant (Hillbilly Shopkeeper)
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๖๓
ปีที่ ๖ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐


กล่าวถึงภาคอีสาน คนภาคอื่นเข้าใจว่าศิลปะการขับร้องมีแต่หมอลำเท่านั้น ความจริงภาคอีสานก็มีเพลงพื้นบ้านมาแต่โบราณไม่ใช่แต่หมอลำอย่างเดียว แต่เฉพาะหมอลำยังแยกย่อยสำเนียง ทำนองลำออกไปอีกหลายสาขา เช่น ลำสั้น ลำยาว ลำเต้ย ลำเพลิน ลำเดิน ลำผู้ไท ลำต้งหวาย เป็นต้น เพราะภาคอีสานเป็นภาคใหญ่มีประชากรหลากหลายเผ่าพันธุ์ มีวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนกันมากมาย

เพลงพื้นบ้านอีสานมีมานานแค่ไหนไม่ปรากฏ สันนิษฐานว่าคงมาพร้อมกับเพลง “รำโทน” นั่นเอง เพลงรำโทน ก็คือเพลง “รำวง” สมัยก่อน เรียกรำโทนเพราะ รำกับกลองโทนตัวเดียว “กลองโทน” คือกลองที่ทำด้วยดินเผา หน้ากลองจะใช้หนังงูเหลือมหรือหนังวัวก็ได้ ตีกลองโทนเป็นจังหวะ มีคนร้องเพลงเชียร์ ปรบมือเข้ากับจังหวะไปด้วย

การรำ หญิงชายจับกันเป็นคู่ จะยืนอยู่กับที่ หรือถอยหน้าถอยหลังแล้วแต่ถนัด ผู้รู้สันนิษฐานว่า รำวงมาจากประเทศลาว เผยแพร่เข้ามาทางภาคอีสาน ต่อมาในยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รณรงค์ส่งเสริมให้รำวงเป็นการละเล่นวัฒนธรรมของคนไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมา

ผู้เขียน เกิด พ.ศ.๒๔๘๕ พออายุได้ ๔ ขวบก็ได้ยินและจดจำเพลงพื้นบ้าน ที่นักแต่งเพลงชาวบ้านเขาแต่งขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ให้ชาวบ้านจดจำและร้องกันได้ทั่วไป คือเพลงที่มีเนื้อร้องว่า “พ.ศ.สองสี่แปดเก้า ไทยเราเงียบเหงากันทุกคน สมเด็จอานันทมหิดล สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนเรา” ในช่วงนั้นก็มีเพลงพื้นบ้านทำนองรำโทนเกิดขึ้นหลายเพลง เช่น “รำวงประสงค์หาคู่มองดูหาคู่ไม่เจอ”, “สายลมทะเลพัดต้องยูงทองออกมาร้องรำแพน”

ทั่วภาคอีสานมีงานบุญงานประเพณีต่าง ๆ จะต้องมี “รำโทน” ทุกหมู่บ้านทุกชุมชนจะฝึกหัดรำโทนกันตามนโยบายของรัฐบาล จนเป็นประเพณีเอกลักษณ์ไทยต่อมา สถานที่รำโทนก็จะจัดกันตามลานบ้านลานวัดใช้เสาไม้ไผ่ปักตรงกลางลาน เพื่อแขวน “ตะเกียงเจ้าพายุ” เป็นตะเกียงโบราณที่ให้แสงสว่างมาก หญิงสาวไม่สาว แต่ละชุมชนก็จะเป็นนางรำ ชายหนุ่มชายแก่ ต้องการรำกับใครก็เข้าไปโค้งขออนุญาตบางแห่งมีพวงมาลัยก็คล้องพวงมาลัยให้สาว ออกมารำฟรี ๆ

ต่อมา นายกจอมพล ป. ให้ศิลปินผู้รู้ทางนาฏศิลป์คิด่ท่ารำ และจับคู่กันรำ วนเป็นวงกลมเพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบ จึงเปลี่ยนชื่อจาก “รำโทน” มาเป็น “รำวง” ตั้งแต่นั้นมาสถานที่รำก็ให้ยกพื้นเป็นเวทีสูงประมาณ ๑ เมตร เสากลางเวทีก็ประดับด้วยกระดาษสายรุ้งโยงให้ระย้าสวยงามเป็นเวทีมาตรฐานรำวงยุคใหม่

ต่อมาชาวบ้านประยุกต์รำวงอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาเป็นที่ชื่นชอบของหนุ่ม ๆ นักรำ คือ “รำวงลอดถํ้า” สถานที่ก็ใช้พื้นดินลานบ้านปรับที่เป็นทางเดินวงกลม ระหว่างทางเดินหรือทางรำ ทิศเหนือกับทางทิศใต้จะสร้างซุ้มหรือถํ้า เพื่อให้

“…หญิงสาวไม่สาว แต่ละชุมชนก็จะเป็นนางรำ ชายหนุ่มชายแก่ ต้องการรำกับใครก็เข้าไปโค้งขออนุญาตบางแห่งมีพวงมาลัยก็คล้องพวงมาลัยให้สาว ออกมารำฟรี ๆ…”

หนุ่มสาวรำลอดผ่านซุ้มมีกติกาว่าเวลาหนุ่มสาววนมาถึงซุ้มสาวนางรำจะรอจังหวะให้หนุ่มเผลอแล้ววิ่งลอดผ่านซุ้มไปให้เร็ว เพราะถ้าหนุ่มวิ่งทันกันในซุ้มก็จะมีสิทธิ์ กอด หรือแตะต้องตัวสาวได้เฉพาะอยู่ในซุ้ม รำวงลอดถํ้าจึงเป็นที่นิยมสนุกสนาน ไม่เกินเลย ไม่เคยมีเรื่อง ทุกคนถือเป็นการละเล่นไม่ได้ล่วงเกินหากำไร เมื่อจบหมดเวลาแต่ละรอบ หนุ่มสาวจะหันมายกมือไหว้ขออภัยกัน เป็นประเพณีอันดีงาม และวัฒนธรรมของผู้เจริญแล้วจริง ๆ

เมื่อรำวงเป็นที่นิยมมากขึ้น ได้มีผู้คิดตั้งคณะรำวงเพื่อรับจ้างตามงานทั่วไป ใครจะรำต้องซื้อบัตรหรือซื้อพวงมาลัยไปโค้งนางรำแต่ละรอบ รำวงไทยพัฒนาขึ้นนอกจากจะรำเฉพาะจังหวะรำวง นานไปก็เบื่อ จึงมีคนคิดนำเอาจังหวะฝรั่งสากล รวมทั้งจังหวะลาตินอเมริกา มาประยุกต์ท่าเต้นท่ารำให้เป็นแบบไทย ๆ จังหวะลาตินที่สเตปท่ารำถูกใจคนไทยก็มี จังหวะแซมบ้า คาลิปโซ่ คองก้า ช่าช่าช่า ออฟบิท ฯลฯ

ยุคนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูของรำวงไทย มีเพลงรำวงบันทึกแผ่นเสียงออกมามากมายหลายจังหวะมีคณะรำวงก่อตั้งขึ้นมากมายทั่วทุกภาค คณะรำวงดัง ๆ มีชื่อเสียงในยุคนั้นเท่าที่จำได้ในกรุงเทพฯก็มีรำวง “คณะชาวสามย่าน” คณะนี้ดังสุดเพราะคิดท่ารำและแต่งเพลงบันทึกแผ่นเสียงเอง เช่นเพลง “อยุธยาเมืองเก่า” และเพลง “ศึกบางระจัน” ยังมีคณะ “บ้านบาตร” คณะ “ปากนํ้า” ส่วนภาคกลางที่จังหวัดลพบุรีก็มีคณะ “ป่าสักคอมโบ้” ทางภาคอีสานก็มีคณะ “จันทราคาลิปโซ” อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และคณะ “ศรีทรายมูล” ที่จังหวัดยโสธร เป็นต้นฯลฯ

จากเพลงร้องรำวงพื้นบ้านที่ร้องจดจำกันต่อ ๆ มา กลายมามีเพลงรำวงบันทึกแผ่นเสียงออกจำหน่ายมากมายขายดี นักร้องที่ร้องเพลงรำวงบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในยุคนั้นและมีเพลงดังมากที่สุดยุคแรก ๆ ก็คือ “ครูเบญจมินทร์” จนได้รับฉายาว่า “ราชาเพลงรำวง” ต่อมาก็มี “ครูเฉลิมชัย ศรีฤาชา”, “กุศล กมลสิงห์”, “สุรพล สมบัติเจริญ”, “เพลิน พรมแดน”, “ชาย เมืองสิงห์” มาจนถึง “นิยม มารยาท”

จน พ.ศ.๒๕๐๗ วงการเพลงมีการแยกเป็นเพลงแนวลูกกรุง ลูกทุ่ง เพลงรำวงจึงเริ่มซาลงกลายเป็นเพลงลูกทุ่งไป เพลงลูกทุ่งที่มีจังหวะใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาแทนที่ สถานบันเทิงเริงรมย์สมัยใหม่เข้ามาแทนที่ มีบาร์ มีไนท์คลับ ให้เต้นรำลีลาศทันสมัยขึ้น

ยุคเพลงลูกทุ่งรุ่งเรือง นักร้องลูกทุ่งตั้งวงรับงานเดินสายแสดงทั่วประเทศ พ.ศ.๒๕๔๐ มีเครื่องฟังเพลงสมัยใหม่ มีทั้งแผ่นซีดี ทั้งวีซีดีฟังเสียงดูภาพได้ด้วย รวมทั้ง “คาราโอเกะ” แพร่หลาย ดูมิวสิควิดีโอก็เหมือนได้ดูนักร้องดังพร้อมหางเครื่อง เปิดเครื่องนอนดูที่บ้านไม่ต้องออกไปซื้อตั๋วดูดนตรีตามงานให้เสียเวลา ความนิยมไปดูวงดนตรีก็เริ่มลดน้อยลง สุดท้ายวงดนตรีลูกทุ่งก็เริ่มทยอยยุบวงกันจนหมด

ผ่านมาหลายปีมีนักร้องลูกทุ่งเคยดังกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันตั้งวง “รำวงย้อนยุค” ขึ้นเพื่อให้นักร้องรุ่นเก่าได้มีงานมารวมตัวกันและเพื่อให้เจ้าภาพแฟนเพลงได้มีโอกาสขึ้นมารำด้วย เป็นที่นิยมอยู่ระยะหนึ่ง และยังมีคณะรำวงเกิดขึ้นอีกมากตามต่างจังหวัดมาสร้างความสนุกทดแทนวงดนตรีลูกทุ่งที่หายไป แต่น่าเสียดายคนรุ่นใหม่ คณะรำวงสมัยนี้ลืมเลือนท่ารำ สเตปการรำจังหวะต่าง ๆ ของสมัยอดีต ไม่มีผู้รู้ถ่ายทอดเอาไว้ กลัวว่าจังหวะรำวงย้อยยุคจังหวะฝรั่ง ลาติน ที่เคยนิยมมาเป็นท่ารำแปลก ๆ สนุกเช่น แซมบ้า คองก้า ออฟบิท บิกิน จะหายไปสถาบันนาฏศิลป์ต่าง ๆ ควรจะเก็บรักษาอนุรักษ์เอาไว้ เพราะนี่ก็คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทยเรา จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์รำวงย้อนยุคก็ได้

ทุกปีจัดให้มีงาน “รำวงเฟสติวัล” เหมือนงานคานิวาลเต้นแซมบ้า ของประเทศบราซิล ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง

การเสวนา สาธิต เรื่องรำ วงโบราณอีสานย้อนยุค

๑. ประวัติความเป็โทน” สู่ “รำวง”
๒. เพลงรำวง จังหวะที่นิยม (ให้ฟังเพลง)
๓. สาธิตการตีกลอง จังหวะต่าง ๆ รวมทั้ง ฉิ่ง ฉาบ ด้วย
๔. สาธิตท่ารำ สเตปการเต้น แต่ละจังหวะ

คณะรำวงประกอบด้วย

๑. นางรำ ๑๐ คน หรือมากน้อยกว่าฯ
๒. กองเชียร์ ร้องเพลง ชาย ๒ หญิง ๑ หรือตามความเหมาะ
๓. ดนตรี แซค ทรัมเป็ต คีย์บอร์ด ออร์แกน (ตามความเหมาะสม) กลองชุด กลองทอมบ้า ฉิ่ง ฉาบ

Related Posts

สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน
วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
ยาพิษแสลงใจ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com