ทางอีศาน 72 : ปิดเล่ม

คอลัมน์ : ปิดเล่ม โดย กอง บ.ก.
Column : Last but not least
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๒
ปีที่ ๖ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

“ชื่อว่าโลกีย์กว้างเมืองคนมันบ่เที่ยง
มันหากเงี่ยงช้อยง้อยคือค้อยตลิ่งของ
ลางเทื่อศิษย์กลับได้เป็นครูสอนสั่งก็มี
ลางเทื่อลุกออกก้นสอนฉ้อพ่อแม่คีง
ลางเทื่อแนวเด็กน้อยสอนคนหัวด่อนก็มี
ลางเทื่อลูกไพร่บ้านสอนท้าวบ่าวพญาก็มี”
(โบราณ)

คนต่างรุ่นวัย ต่างชั้นชน ต่างเป็นครูสอนบทเรียน สอนประสบการณ์ สอนความรู้ใหม่ ฯลฯ ให้แก่กันและกันได้

โบราณเป็นอย่างนี้ สมัยนี้ยิ่งเป็นอย่างนี้พุทธะสอน “กาลามสูตร” ลัทธิมาร์กซ์สอนให้ “ค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง”

แต่คนไทยบางส่วนก็ยังเชื่อข่าวในโซเชียลมีเดียกันง่าย ๆ ยังหลงเชื่อการต้มตุ๋นหลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่กันง่าย ๆ

แม้แต่บางคนที่นึกว่าตนเป็นปราชญ์ ก็ยังหลงติดกับดัก “ความคิด – อัตวิสัย” ของตนเองและของผู้ที่ตนนับถือเป็นอาจารย์

“ทางอีศาน” ขอเป็นเวทีแห่งการ “ค้นหาสัจจะจากความเป็นจริง” และถอดบทเรียนจาก “การปฏิบัติ”

การสร้างสังคมให้ดีงาม ไม่มี “วิถีรูปธรรมสัมบูรณ์แบบ” ที่ใครคนใดคนหนึ่งจะ “ตรัสรู้เอง” ได้วิถีรูปธรรมที่สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละภาคกระทั่งแต่ละชุมชน ควรสรุปมาจากการปฏิบัติที่เป็นจริงของมวลชน

แน่นอนว่า การสร้างสรรค์พัฒนานี้มิอาจหวังพึ่งพิง “อำนาจรัฐ” ได้ การปฏิบัติจึงไม่ควรหวังเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ ในสถานการณ์ปัจจุบันยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมคือ “ช่วงชิงโอกาสสร้างชุมชนของตนเองให้เข้มแข็งขึ้นเร็ว ๆ” เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ “เสาหลักสังคมที่มีบทบาทง่อนแง่นโคลงเคลงอยู่บนทางแพร่งวิกฤต”

อะไรคือ “ทางแพร่งวิกฤต”? มันคือภาวะที่สังคมเกิดปัญหาวิกฤต ปัญหาใกล้จะถึงจุด “เปลี่ยนแปลงระดับคุณภาพ”

ตอนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หากเราไม่รู้สึกตัว ปล่อยมันเปลี่ยนไปตามยถากรรม ปัญหาสังคมอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม แต่ถ้าเรารู้ตัวมีการเตรียมตัวเราอาจสามารถ “คัดท้าย” ให้สังคมมุ่งไปในทางที่ดีขึ้นได้

“ทางอีศาน” ยินดีเป็นเวทีถ่ายทอดวิสัยทัศน์ว่าควรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์อนาคตอันใกล้นี้กันอย่างไร?

Related Posts

ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (ตอนจบ)
วัฒนธรรมแถน (๔) : แถนในวัฒนธรรมมลายูดั้งเดิม
ข ว ย จี ห ล่ อ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com