ขุนทึง : ตำนานหนึ่งของศรีสัตตนาคนหุต

ขุนทึง : ตำนานหนึ่งของศรีสัตตนาคนหุต

ผู้เขียน: ช้างเฒ่า
ภาพ: ห้องสมุดศูนย์ข้อมูลลาว ม.ขอนแก่น http://laoslibrary.kku.ac.th


 

“ขุนทึง” หรือ “ขุนทึงขุนเทือง” เป็นชื่อวรรณคดีลาว–อีสาน อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ประเด็นที่น่าสนใจมีหลายเรื่อง แต่ “ช้างเฒ่า” ขอเสนอจุดเดียวคือเรื่องเกี่ยวกับเมืองนาค ซึ่งความเชื่อเรื่อง “นาค” (ดั้งเดิมคือ “เงือก”) นี้ฝังลึกในวัฒนธรรมลาว-อีสาน

ขอเล่าเรื่อง “ขุนทึง” อย่างย่อ ๆ ดังนี้

มีนครแห่งหนึ่งชื่อ เชียงเงื้อม หรือเชียงใหญ่ มีกษัตริย์ นามว่า ขุนเทืองและนางบุสดี ปกครองบ้านเมือง ครั้งหนึ่งขุนเทืองต้องการจะออกเดินเที่ยวป่า จึงออกเดินทางจากเมืองไปในป่าประมาณ 2 เดือน จึงถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งเป็นสวนของพญานาค นางแอกใค้ธิดาพญานาคเนรมิตสวนและศาลาไว้สวยงามมากดังนี้

๐ เป็นที่อัศจรรย์แท้   อุทิยานสวนดอก
หอมฮ่วงเฮ้า               ใผเข้าบ่อยากหนี ได้แล้ว
ฮสทะฮ่วงเฮ้า             เท้าทั่วอุทิยาน
บาคราญพระ             ล่ำดูใจสะอื้น
อันนี้เมืองใดสร้าง      อุทิยานสวนดอก ไว้นี้
อยู่ขอกน้ำ                  ชัยกว้างแม่ชะเล นี้เด
มีดอกไม้                     หลายส่ำนานา
มาลาหลาย               จ่อจีเจือก้าน
บางพ่องบานเหลือต้น  จูมจีหอมอ่อน
ทองเทศอ้วน              เขียวอ้วนอ่อนหอม

แล้วพระองค์ได้พบลูกสาวพญานาค ชื่อว่า นางแอกใค้ นางแอกใค้จำแลงกายเป็นหญิงสาวงาม บทกวีบรรยายว่า

๐ ตาคมค้อม     คอคางคิ้วก่อง
งามล้องค้อง      สองแก้มดั่งคำ
ย่องย่องเนื้อ      ขาวเกิ่งฟองสมุทร
สอยวอยสุด       ยอดญิงตรองไว้
แสนแวนหน้า     งามดีเสมอแว่น
แขนก่องส้วย       ขาวแจ้งแจ่มพระจันทร์
งามอ้อนแอ้น      แมนหล่อเหล่าโฉม
ตระโนมพรรณ     ฮูปคำซาวเบ้า ๐

ขุนเทืองกับนางแอกใค้ เกิดรักใคร่กัน ขุนเทืองจึงตามนางไปยังบาดาล บทกวีบรรยายนาคพิภพไว้ว่า พิภพซึ่งงามวิจิตร ดังความบรรยายว่า

๐ เห็นแต่เงินลวาดไว้  กองคำเดียรดาษ
มาบมาบเหลื้อม           ฝาแก้วส่องเงา
เหมือนดั่งน้ำบ่อแก้ว  ใสส่องรังษี
คำดีสุก                        แผ่ตีตางแป้น
กระดานเงินซ้อน         กระดานคำสัพพะฮูป
ปูแผ่นแก้ว                  คือน้ำอ่างคำ
มีทังรัสมีแก้ว              พิฑูรย์เฮืองเฮื่อ
เหมือนดั่งประทีปไต้   มันย้อยฮุ่งโพยม ๐

ขุนเทืองและอยู่ที่นั่นถึง 2 ปีกว่า จนกระทั่งคราวหนึ่งนางนาคลืมตัว ไปเล่นน้ำ จนต้องถูกเตือนเพราะโลกเกิดความแห้งแล้ง มนุษย์และสัตว์ประสบความเดือดร้อน เมื่อขุนเทืองเห็นนาคเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์จึงตระหนักว่าตนเป็นคน ไม่น่าจะอยู่กับนาค

ประกอบกับ ระหว่างที่ขุนเทืองไม่อยู่นี้ นางบุสดีได้เอาหมอมอ(โหร) มาทายดูว่าขุนเทืองอยู่ที่ใด

ได้รู้ว่าขุนเทืองอยู่ที่เมืองพญานาคกับลูกสาวพญานาค นางบุสดีจึงบนบานให้พวกผีต่างๆ เช่น ผีน้ำ, ผีเสื้อ, ผีตายาย ผีเมือง เป็นต้น ตามไปบอกท้าวขุนเทืองกลับมาเมือง ขุนเทืองเลยขอลานางแอกใค้และพญานาคกลับ นางแอกใค้ได้มาส่งขุนเทืองถึงท่าน้ำ ก่อนจะจากกันนางได้ล้วงเอาลูกในท้องแล้วเอาใบตองทึงห่อให้ขุนเทืองตอนกลับเมืองเพื่อเอาไปเลี้ยง ลูกของขุนเทืองกับนางนาคจึงได้ชื่อว่าขุนทึง

เมื่อมาถึงเมืองแล้วนางบุสดีไม่พอใจพยายามหาเรื่องเพื่อทำอันตรายต่างๆ นานา ขุนเทืองจึงให้เสนาอำมาตย์เอาลูกชายชื่อขุนทึงไปปล่อยไว้ในป่า ขุนทึงอยู่ในป่าได้ เพราะมีเทวดาและสัตว์ต่างๆ มาดูแลรักษาเลี้ยงดู ต่อมาประมาณ 1 ปี ขุนเทืองคิดถึงขุนทึงลูกชาย จึงให้พวกอำมาตย์ออกไปสืบหา เมื่อทราบว่ายังมีชีวิตอยู่จึงไปเชิญเข้ามาอยู่ในเมือง

เมื่อขุนทึงโตเป็นหนุ่มขึ้นอยากจะพบแม่ที่แท้จริง จึงถามพ่อ ถึงที่อยู่ของแม่ พอทราบว่าแม่นั้นเป็นนาคอยู่ที่เมืองบาดาลจึงอำลาพ่อ เพื่อที่จะไปเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวแม่แล้วออกเดินทางไปตามที่พ่อบอกจนถึงท่าน้ำแล้วเอาไม้ตีน้ำเรียกพวกนาคให้มาหา

พวกนาคถามดูรู้ว่าเป็นลูกของนางแอกใค้ จึงพาขุนทึงไปเมืองบาดาลของพญานาค ขุนทึงได้พบแม่ ตา และยายแล้วอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ลาแม่เพื่อกลับเมืองเชียงเงื้อมของพ่อ นางแอกใค้แนะนำให้ลาตาแล้วขอของวิเศษเพื่อเป็นเครื่องติดตัวในการเดินทาง เมื่อขุนทึงไปลาตา ๆ ได้ให้ของที่วิเศษ 3 อย่าง มี หม้อทองแดง , ดาบ และของ้าว และมาถามวิธีใช้กับแม่ นางแอกใค้บอกวิธีใช้ว่า หม้อนั้นมีของ

ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใน ถ้าต้องการอะไรให้ตั้งจิตอธิษฐาน แล้วเคาะเบาๆ ของที่ต้องการนั้นจะออกมา ดาบนั้นใช้ในการต่อสู้กับข้าศึกศัตรู ส่วนของ้าวนั้นให้ลากไปอย่าแบกหรือถือไป ขณะที่ลากนั้นถ้าไม่เกี่ยวอะไรก็ให้เดินทางไปเรื่อยๆ ห้ามนอนแม้จะกี่วันก็ตาม แต่ถ้าง้าวไปเกี่ยวกับอะไรแล้วจึงหยุดนอน

เมื่อแม่มาส่งถึงท่าน้ำแล้วก็เดินทางต่อไปโดยปฏิบัติตามคำของแม่ ใช้เวลาเดินอยู่หลายวันจึงถึงแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่งของ้าวได้เกี่ยวหยุดอยู่ จะดึงอย่างไรก็ไม่หลุด จึงหยุดนอน ณ ที่นั้นพอเมื่อตื่นขึ้นที่นั้นกลายเป็นเมืองใหญ่ ชื่อว่า ศรีสัตตนาคนหุต พอเมื่อตื่นขึ้นที่นั้นกลายเป็นเมืองใหญ่ ชื่อว่า ศรีสัตตนาคคนหุต ดังนั้นขุนทึงจึงเคาะหม้อทองแดงแล้วมีหญิงสาวออกมา 2 คน ชื่อ ทึง และทอง จึงอภิเษกเป็นมเหสีทั้งสองคน แล้วขุนทึงก็ครองศรีสัตตนาคนหุตต่อมาอย่างมีความสุข

ต่อมาครั้งหนึ่งขุนทึงออกไปเที่ยวป่าคนเดียวเดินทางไปประมาณ 15 วัน ถึงป่าหิมพานต์ ได้พบนางชะนี ที่อยู่ใกล้กับอาศรมพระฤาษี นางชะนีได้แปลงกายเป็นคนแล้วใส่ยาเสน่ห์เพื่อให้ขุนทึงรัก ขุนทึงได้หลงเสน่ห์ของนางชะนีแล้วได้อยู่กับนางชะนีที่ถ้ำในป่าหิมพานต์นั้น ประมาณ 3 ปี ได้ลูกชายคนหนึ่งชื่อ อำคา หรือ อู่แก้ว ต่อมาขุนทึงได้ลานางชะนีกลับมาเมืองศรีสัตตนาคนหุต พร้อมกับท้าวอำคา ลูกชายและสัญญากับนางชะนีว่าจะมารับไปอยู่ในเมือง.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com