หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: แก่นเมือง
Column: Noble Monks
ผู้เขียน: ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต


ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพระมหาเถระหลายรูป แต่เพียงไม่กี่รูปที่ดำรงขันธ์ถึง ๑๐๐ มีรูปหนึ่ง คือ พระอุดมญาณโมลี หรือหลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป แห่งวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี อายุ ๑๐๑ และอีกรูปคือ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ อายุ ๑๐๔ ปี

กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ พระมหาเถระชื่อดังแห่ง วัดป่าวิเวกวัฒนาราม อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ละสังขารอย่างสงบแล้ว ด้วยโรคปอดติดเชื้อ หลังจากที่ศิษยานุศิษย์ช่วยกันนำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลมุกดาหารอินเตอร์ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน รวมสิริอายุได้ ๑๐๔ ปี ท่ามกลางความโศกเศร้าของชาวบ้านในชุมชนและศิษยานุศิษย์

วันนี้ ๒๐ มกราคม เวลา ๑๔.๒๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานพระราชพิธีน้ำสรงศพ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม อำเภอคำชะอีจังหวัดมุกดาหาร และทรงรับสรีระสังขารหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ไว้ในพระราชานุเคราะห์เป็นเวลา ๗ วัน

หลังจากนั้นคณะศิษยานุศิษย์ทั้งสายบรรพชิตและฆราวาส ขอพระราชทานพวงมาลาและรับการบำเพ็ญกุศลสรีระสังขาร ไปยังราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้ทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อน้อมนำศรัทธาแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนให้ปฏิบัติตามปฏิปทาอันดีงามของหลวงปู่จาม มหาปุญโญต่อไป และเป็นการบูชาคุณความดีในสาธารณกิจ ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดอื่น ๆ ทั้งในด้านการบริจาควัตถุสิ่งของ และการสอนสั่งให้รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ในความเมตตาอันประมาณมิได้ จนจวบอวสานแห่งชีวิตของหลวงปู่ ท่ามกลางศิษยานุศิษย์จากทุกสารทิศที่ทราบข่าวการมรณภาพของหลวงปู่จาม มหาปุญโญ เดินทางมากราบร่างและสรงน้ำศพหลวงปู่เป็นจำนวนมาก

ภายในงาน นอกจากการสรงน้ำศพหลวงปู่แล้ว ยังมีการแจกหนังสือ ๑๐๔ ปีธรรมวิพากษ์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ และออกโรงทานสำหรับผู้มาร่วมในพิธีสรงน้ำศพ และจังหวัดมุกดาหารพร้อมคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ได้กำหนดให้ งานพระราชทานพิธีเพลิงสรีระสังขารของหลวงปู่จามมีขึ้น ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เป็นพระที่อารมณ์ดีมีเมตตาสูง ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยสงฆ์อย่างเคร่งครัด แม้ว่าสุขภาพไม่ดีท่านก็ยังออกบิณฑบาตทุกเช้า ไม่เบื่อหน่ายในความเพียร จึงทำให้มีศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลมาฟังพระธรรมเทศนาของหลวงปู่จามอยู่มิได้ขาดวันหนึ่ง ๆ มีญาติโยมมาเป็นจำนวนมาก แต่หลวงปู่จามก็ไม่เคยบ่น มีแต่ความพึงพอใจที่ได้เทศนาสั่งสอนด้วยใบหน้ายิ้มละไมอยู่เป็นนิจ

ครั้งหนึ่งท่านเคยกล่าวว่า “คนเราเมื่อประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม อยู่ในความไม่ประมาท หมั่นบำเพ็ญบุญ สวดมนต์ไหว้พระทุกวันแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปหาพระที่ไหน ชีวิตก็เป็นสุข” ซึ่งหลวงปู่ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ประวัติหลวงปู่จากหนังสือจังหวัดมุกดาหารและที่รวบรวมโดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน บอกเล่าเรื่องราวของหลวงปู่ไว้ว่า

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เกิดวันพฤหัสบดีที่๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นบุตรของ นายกา ผิวขำ กับ นางมะแง้ ผิวขำ ที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๘) หลวงปู่จาม มีอายุ ๙๕ ปี

เมื่ออายุ ๗ ขวบได้บวชเรียนที่วัดหนองแวงบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ต่อมาได้ติดตาม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เพื่อศึกษาพระวิปัสสนากรรมฐาน ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือเป็นเวลา ๑๕ ปีและได้ลาสิกขาออกมาอยู่กับบิดามารดาเนื่องด้วยสุขภาพไม่ดี

ครั้นอายุ ๒๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๒) จึงได้บวชอีกครั้งหนึ่ง โดยมี พระเทพกวี (จูม พนฺธุโล) สมณศักดิ์ในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากอุปสมบทแล้วได้ตระเวนธุดงค์ในภาคอีสาน ก่อนจะเดินทางไปเส้นทางจังหวัดเพชรบูรณ์และได้เดินทางต่อไปโดยเดินข้ามเทือกเขาตะกุดรังพิจิตร ตะพานหิน ถึงอุตรดิตถ์ต่อไปยังพระแท่นศิลาอาสน์ พักแรมที่นั่นแล้วออกเดินทางต่อไปตามเส้นทางรถไฟ เดินนับไม้หมอนรถไฟจากพระแท่นศิลาอาสน์ ลอดอุโมงค์เขาพึง เด่นชัย – แม่เมาะ – แม่ทะ ถึงแม่ตาลน้อย นายสถานีรถไฟแม่ตาลน้อยเกิดความเลื่อมใสจึงซื้อตั๋วรถไฟถวายถึงทาชมภูจึงได้ขึ้นรถไฟช่วงสั้น ๆ ไปลงที่สถานีทาชมภู แล้วเดินเท้าตามทางรถไฟต่อไปยังสถานีแม่ทา – ลำพูน – เชียงใหม่ เข้าไปพักที่วัดเจดีย์หลวงเมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ และจำพรรษาอยู่วัดเจดีย์หลวง

ระหว่างเดินทางมาอยู่เชียงใหม่นี้เอง หลวงปู่ออกจากวัดเจดีย์หลวงมุ่งหน้าไปจำพรรษาที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้พบกับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร (พระญาณสิทธาจารย์) ซึ่งเป็นสหธรรมิกกันในสมัยที่เป็นสามเณร แม้ว่าจะเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่ขณะนั้นก็ต่างพรรษากัน เป็นระดับครูบาอาจารย์แล้ว ความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ยังเป็นเชื้อให้มีการถกแถลงด้านธรรมะกันอย่างออกรสในธรรม ในปีนั้น หลวงปู่จามได้เคยโต้วาทีกับบาทหลวงคริสต์ที่บ้านพุงต้อม ต.ยุวา อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

หลังจากนั้น หลวงปู่สิม ได้พาหลวงปู่จามออกธุดงค์ขึ้นไปถ้ำเชียงดาว และต่อมาได้พบกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่บ้านป่าฮิ้น เสนาสนะป่าแม่กอย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ อายุ ๓๖ ปี (พรรษาที่ ๘) ได้พบกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่บ้านแม่หนองหาน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

หลวงปู่จาม กับ พระอาจารย์น้อย สุภโร ไปฟังธรรมจากหลวงปู่ขาว ซึ่งท่านแสดงสติปัฏฐานสี่ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้งกินใจมาก

พระอาจารย์น้อยองค์นี้รุ่นราวคราวเดียวกับท่านพ่อลี (วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ) ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นอาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตและต่อมาท่านพระอาจารย์น้อยได้มรณภาพที่ถ้ำพระสบาย

หลวงปู่จามได้ศึกษาธรรมะกับหลวงปู่ขาว อยู่เสนาสนะป่าบ้านป่าเต้ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ โดยอยู่กับ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และหลวงปู่ชอบด้วยกันที่นั่น

ต่อมาหลวงปู่จามได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่มั่นอยู่อีสาน ที่บ้านหนองผือนาใน จึงได้กราบเรียนหลวงปู่แหวน หลวงปู่ชอบได้ทราบ หลังจากนั้นจึงเดินทางจากเชียงใหม่เพื่อมุ่งไปอีสาน บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยเดินทางเลาะมาทางหนองคาย และเดินทางต่อไปบ้านหนองผือนาใน กราบหลวงปู่มั่นที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงปู่อายุขณะนั้น ๕๙ ปี พรรษาที่ ๓๑ ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด และได้อยู่พำนักที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี นับแต่นั้นตลอดมา จนมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ที่ผ่านมา

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com