วิจารณ์ “บันทึกการเดินทางในลาว” ของ เอเจียน แอมอนิเย

บันทึกการเดินทางในลาว-เอเจียน_แอมอนิเย

บันทึกแอมอนิเย – ข้อวิจารณ์ความคลาดเคลื่อนสับสนในข้อมูล และร่วมเหตุพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร
เขียนโดย: ประสิทธิ์ ไชยชมพู
2 มิ.ย. 2558

๐ หนังสือแปล “บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๘” กับ “ภาคสอง พ.ศ.๒๔๔๐” [๑] จากบันทึกของ เอเจียน แอมอนิเย (Etienne Aymonier) มาสำรวจหาศิลาจารึกทำสำเนาและสำรวจภูมิประเทศเพื่อสร้างแผนที่ก่อแนวเขตดินแดนสยาม-ลาว-เขมร เบื้องต้นตามอำเภอใจ ก่อนหน้า ๑๐ ปีจะเกิด “วิกฤตปากน้ำ ร.ศ.๑๑๒” เรือรบฝรั่งเศสบุกมาใกล้พระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ

๐ หนังสือสองเล่มนี้มีความแปลคลาดเคลื่อนไม่น้อยในชื่อเฉพาะหมู่บ้านสถานถิ่น, มีอคติต่อชนชาติ และอติต่อความเชื่อชาวพื้นถิ่น

๐ ในที่นี้จะเน้นวิจารณ์เฉพาะคำนำของผู้แปล และความสับสนเรื่องศักราช การบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ฅนไท, ลาว, กวย ไม่แจ่มชัด ดังที่พบในภาค ๑ มีความว่า:

๐ (หน้า-ข-)…หนังสือ “Voyage Dans Le Laos, TOME PREMIER” ภาษาไทย “บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๙”(แต่หน้าปกเขียน ๒๔๓๘?)…การเดินทางครั้งนั้นอาจพูดได้ร้อยละ ๘๕ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย…งานสำรวจเมื่อกันยายน ค.ศ.๑๘๘๒โดยหัวหน้าคณะสำรวจบอกจุดประสงค์เพื่อสำรวจหาศิลาจารึกในเขตประเทศลาวซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรมาก่อน เพราะผู้สำรวจเองได้เคยสำรวจหาศิลาจารึกตามภาคต่างๆของราชอาณาจักรเขมรและจังหวัดใกล้เคียงที่เคยอยู่ภายใต้สยามมาแล้ว การสำรวจเสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๘๘๓ ใน ค.ศ.๑๘๙๕ (พ.ศ.๒๔๓๘) จึงแปลและพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศส

๐ (หน้า -ง-) เอเจียน แอมอนิเย หัวหน้าคณะ ผู้ช่วยชาวเขมร ๑๐ ฅนกับฅนรับใช้ชาวจีนอีก ๒ ฅน ไม่นับลูกหาบว่าจ้างเป็นช่วงๆ บางครั้งมากถึง ๑๖๐ ฅน …เรือรบได้แล่นทวนน้ำขึ้นไปตามลำน้ำโขงไปสู่จุดหมายแรก คือเมืองกระแจะในดินแดนเขมร…จึงเปลี่ยนมาใช้เรือฝีพายธรรมดา ผ่านเมืองสามโบก สามบวก (เขมรเรียกเสียมโบก, เสียมบวก) และสตึงเตรง หรือลาวเรียกเชียงแตง จากเชียงแตงแยก ๒ สายพวกหนึ่งไปตามลำน้ำเซกองมุ่งแขวงอัดตะปือ แขวงสาละวัน จากสาละวันล่องเรือตามลำน้ำเซโดน กลับมาสมทบที่เมืองปากเซ จากนั้นต่อไปอุบล

๐ อีกสายหนึ่งออกจากเมืองปากเซ พายเรือทวนน้ำโขงขึ้นไปถึงปากมูล…มุ่งหน้าไปพิมูล…ไปอุบล จากนั้นแยกไปเขมราฐ มุกดาหาร ธาตุพนม นครพนม อุเทน ไชยบุรี โพนวิไสย แล้วไปสุดปลายทางหนองคาย (…) อีกสายหนึ่งออกจากอุบลพายเรือทวนน้ำมูลแยกไปทางอีสานใต้ ผ่านศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และไปสุดโคราช เพื่อพบกับพวกจะลงมาจากหนองคาย…

คำนำของผู้แปล ภาค ๒ มีสารัตถะว่า

๐ (หน้า ข)…แปลมาจากหนังสือ “Voyage Dans Le Laos, TOME PREMIER” ซึ่งเป็นผลงานสำรวจหาศิลาจารึกของคณะสำรวจชาวฝรั่งเศสเมื่อค.ศ.๑๘๙๗ [ขัดกับในภาค ๑ ระบุสำรวจ กันยา ๑๘๘๒ สิ้นสุด มีนา ๑๘๘๓ อีก ๑๒ ปีถัดมา(ค..ศ.๑๘๙๕) จึงพิมพ์เผยแพร่]…ว่าด้วยเรื่องราวต่างๆ ในภาคอีสานของไทยทั้งหมด ซึ่งในเวลานั้นคนในภาคอีสานยังมีความรู้สึกตนเอง “เป็นลาว”… สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ ย้อนกลับไป ดูเหมือนจะไม่มีนโยบายรวมชาติเป็นรูปธรรมเช่นทุกวันนี้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการติดต่อไปมาหาสู่กันในเวลานั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากนั่นเอง ดังนั้น ฝรั่งต่างชาติจึงเรียก “ลาว” ตามนั้น เมื่อการเดินทางสำรวจประมาณร้อยละ ๙๕ (ภาคแรกว่าร้อยละ ๘๕) อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

วิจารณ์

(๑) รัฐบาลฝรั่งเศสส่ง แอมอนิเย มาทำงาน โดยสารเรือรบมา, ใช้เงินจำนวนมากจ้างลูกหาบ เช่าเกวียน วัว ม้า ช้าง ร่วม ๗ เดือน และของรฦกมอบเจ้าเมืองตามรายทางเพื่อซื้อความสะดวก

(๒) ศักราชสับสน ศักราชบนปกหนังสือ “ภาคหนึ่ง พ.ศ.๒๔๓๘ ภาคสอง พ.ศ.๒๔๔๐” คือศักราชพิมพ์ในฝรั่งเศส ไม่ใช่ช่วงสำรวจ (๑๘ กันยา ๒๔๒๕ – มีนา๒๔๒๖ = ๑๐ ปีก่อนเกิดวิกฤติปากน้ำ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ซึ่งอ้างอิงข้อมูล ๑๖ ปีก่อน [ของ คณะกรรมาธิการสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๐๙ ได้แก่ ฟรานซิสการ์นิเยร์, เดอลาปอร์ต, จูแบร์, ทอเรล, การ์เน่, ดูดาร์เดอ ลาเกร ฯลฯ = ชุดนี้ก็อ้างอิงจดหมายเหตุ “ลาลูแบร์” (ทูตฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ซึ่งตีความตามพอใจ และล้าสมัยแล้ว]

(๓) บันทึกนี้ ลงพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวง อย่างละเอียด โดยเฉพาะเมืองสำคัญๆ เช่น เมืองจำปาสัก กับเมืองบริวาร, เมืองโคราช และทำแผนภาพเส้นทางเดินสำรวจค่อนข้างละเอียด เพื่อปูทางสร้างแผนที่ ชิงความได้เปรียบ รวมถึงเพิ่มเรื่องมานุษยวิทยา อักษร ภาษา ประวัติความเป็นมาของเมืองต่างๆ อย่างเป็นระบบ

(๔) ระบุว่า …เวลานั้นคนในภาคอีสาน ยังมีความรู้สึกว่าตนเอง “เป็นลาว”

– ในส่วนลึกความรู้สึกของชนเผ่าในดินแดนนี้ ที่ไม่ใช่ “ลาว” อีกมาก แต่ถูก “กด” ไว้ ต้องยอมรับเอาภาษาลาวมาใช้สื่อสารกับกลุ่มลาว, กลุ่มไท ดังนั้น “การยกลาวในอีสานใหญ่ฝ่ายเดียว = กดขี่ชนกลุ่มอื่นๆ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาแต่โบราณของแทบทุกชนชาติในโลกนี้ ย่อมจะเหยียดชนชาติด้อยกว่าอื่น

– ชุดวาทกรรมผลิตซ้ำของฝรั่งเศสได้ผลิผล(ท่องจำ)ว่า บรรพชนในแดนอีศานของประเทศไทย เป็น “ลาว” ไปหมด เช่นเดียวกับ “จดหมายเหตุลาลูแบร์” อ้างถึงฅนส่วนหนึ่งที่พบในกรุงศรีอยุธยา บอกมีบรรพชนเป็น “ไทน้อย = ลาว” อีกส่วนเป็น “ไทใหญ่” (เขาไม่ระบุถึงฅนเชื้อสายมอญ และอื่นๆ ในกรุงศรีฯเลย) ทั้งนี้ หลายเผ่าในตระกูลภาษาไท-ลาว พวกเขาเรียกตัวเองเป็น “ไท” ในประเทศลาวก็เพิ่งนับชนเผ่ากลุ่มน้อยร่วมเป็นประชาชาติลาว เมื่อร่วมรบขับไล่จักรวรรดิเมื่อ ๔ ทศวรรษผ่านมานี่เอง

– ควรเข้าใจให้ชัดต่อการ”ได้” และ“เสีย” ดินแดนในสมัยโบราณเกิดขึ้นสมอ แต่จะต้องถือเอา “ล่าสุด” ก่อนชาติจักรวรรดิตะวันตกจะรุกรานยึดครองดินแดนค่อนทวีปเอเชีย ซึ่งสยามประเทศครั้งนั้นได้ผนวกไว้มาก และเป็นประเทศราชอีกไม่น้อย

– ดังนั้น ฝรั่งเศสเรียกภาคอีศานของไทยเหมาเป็น“ลาว” ทั้งหมด (ไม่พูดถึงชนเผ่าอื่นๆ อย่างเท่าเทียม) จึง “เจือ” ด้วยอคติเต็มที่มุ่งจะผนวกดินแดน พร้อมกับพกปืนจังก้า, ใช้เรือรบคุมเชิงไปพร้อมๆ การเจรจาและตีความตามพอใจ

(๕) พ.ศ.๒๔๓๘ บันทึกฯ พิมพ์ออกมารับใช้ฝรั่งเศสช่วงสร้างเงื่อนไขบีบให้ประเทศสยามลงนามสัญญาเสียเปรียบ โดยเฉพาะตั้ง คณะกรรมการปักปันเขตแดน “ผสม” ฝรั่งเศส-สยาม เพื่อสำรวจทำแผนที่เขตแดนระหว่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๗-๒๔๕๐ [๑๑ ระวางแผ่น เฉพาะแผนที่เขาพระวิหาร (ระวางดองเร็ก) ฝรั่งเศสงุบงิบทำฝ่ายเดียว (เชื่อว่าใช้ข้อมูลสำรวจของแอมอนิเย ด้วย)]

– “…โดยเลี่ยงไปใช้ “คณะกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศส-สยาม” ซึ่งพันเอกแบร์นารด์เป็นประธาน และได้อนุมัติเงินพิมพ์แผนที่ชุดนี้จากงบประมาณของอินโดจีนโดยไม่ปรึกษาประเทศสยามเลย…ฉะนั้น การพิมพ์และเผยแพร่แผนที่จึงมิได้เป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานของคณะกรรมการ –ผสม- ค.ศ.๑๙๐๕-๑๙๐๗” (เซอร์เพอร์ซี สเปนเดอร์ ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.๒๕๐๕) [๒]

– นัยสำคัญ คือ ฝรั่งเศสรับรู้การ “มีอยู่” ศาสนสถานบนเขาพระวิหาร และกระหายใคร่ได้ครอบครอง แต่ซ่อนเจตนานี้ไว้ด้วยเล่ห์อุบายเพื่อรอก่อเงื่อนไขสร้างหลักฐานเท็จรวบเอาประสาทพระวิหาร

(๖) คำนำของผู้แปล เล่ม ๒ ย่อหน้าสุดท้ายความว่า;

– “…ขอขอบคุณโครงการร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ที่ได้สนับสนุนการแปลครั้งนี้…”

ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ เพราะไม่เข้มข้นในหลักวิชา หรืออิทธิพลใดแทรกแซง? ทุนแปลจากสถานทูตฝรั่งเศส จะมีอิทธิพลต่อการรับเอาวาทกรรมฝรั่งเศสสร้างไว้มาผลิตซ้ำหรือไม่?

สรุปย้ำดังนี้

๑. ศักราชสับสน คณะแอมอนิเย ออกสำรวจช่วงกันยา พ.ศ.๒๔๒๕ ถึง มีนา ๒๔๒๖ อีก ๑๐ ปีเศษคือ พ.ศ.๒๔๓๘ จึงพิมพ์ภาษาฝรั่งเศส = หน้าปกหนังสือใช้ปีพิมพ์ (มิใช้ปีสำรวจ) แต่คำนำผู้แปล ภาค ๒ ยังระบุข้อมูลอนาคตลงไปว่า คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสสำรวจหาศิลาจารึกใน ค.ศ.๑๘๙๗

๒. ฝรั่งเศสผลิตซ้ำชุดวาทกรรม ว่า บรรพชนในแดนอีศานของประเทศไทย เป็น “ลาว” โดยเมินกลุ่มชาวเผ่าอื่นๆ เช่น กวย, โซ่ ฯลฯ รวมถึงกลุ่มใช้ภาษาไท-ลาว แต่เรียกตัวเองเป็นไท เช่น ไท-ยวน, ไทยอง, ไทดำ ฯลฯ ยังไม่นับรวมกลุ่มชาวมอญ ส่วนผสมกลมกลืนเป็นไทยสยาม อย่างยิ่ง

การไม่พูดถึงชนเผ่าอื่นๆ อย่างเท่าเทียม จึง “เจือ” ด้วยอคติเต็มที่มุ่งจะผนวกดินแดนที่มีกลุ่มใช้สำเนียงลาว เพื่อขยายดินแดนเมืองขึ้นจากประเทศลาวอาณานิคมนั่นเอง

ปัจจุบัน ลาว กัมพูชา พม่า ต่างพยายามสมานแผลอดีต และกลมกลืนเพื่อปรองดองในชาติ เช่นเดียวกับไทยได้ทำสำเร็จมาก่อนแล้ว

๓. พ.ศ.๒๔๓๘ พิมพ์บันทึกฯ นี้ออกมารับใช้รับช่วงฝรั่งเศสสร้างเงื่อนไขบีบบังคับให้ประเทศสยามลงนามสัญญาเอาเปรียบต่างๆ อย่างแน่นอน

———————–
[๑] บันทึกการเดินทางในลาว ภาค ๑ พ.ศ.๒๔๓๘. เอเจียน แอมอนิเย สำรวจบันทึก, (ทอสมุทร โดเร และสมหมาย เปรมจิตต์ แปล).สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๙

บันทึกการเดินทางในลาว ภาค ๒ พ.ศ.๒๔๔๐ เอเจียน แอมอนิเย สำรวจบันทึก, (ทอสมุทร โดเร และสมหมาย เปรมจิตต์ แปล).สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๔๑

[๒ ] คำพิพากษาปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕. (กระทรวงการต่างประเทศ แปล). สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. มิถุนายน ๒๕๐๕.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com