เดิม ดั้งเดิม ประเดิม

ภาษาไทยมีคำนี้ใช้มานานเนกาเลโข ทั้งไทยกลาง ไทยเหนือ ไทยใต้ ไทยอีศาน

พูดไทยอ่านไทยได้ต้องคุ้นเคย ได้ยิน ได้พูด และบางฅนได้ใช้เขียนสื่อสาร ตัวอย่างเช่น

แรกเริ่มเดิมทีเขามาจีบฅนน้อง แต่เอาไปเอามากลับได้พี่สาวแทนเสียนี่

ดั้งเดิม นั้นภาคอีศานตอนล่าง ประชากร ส่วนมากเป็นเชื้อสายเขมร กวย

เธอใช้ธนบัตรใบหนึ่งพันบาทตบลงบนสินค้าแต่ละอย่างบนแผงขายพลางก็ว่า “หมาน ๆ” หลังจากมีลูกค้ามาประเดิม

คำกุญแจ คือ เดิม ดั้งเดิม ประเดิม = แรก เริ่ม แรกเริ่ม เริ่มต้น

ผู้เขียนเกิดวาบสันนิษฐานว่า ด้ำเดิม > ดั้งเดิม คือ “ด้ำเดิม” น่าจะเก่ากว่า(?)

ดั้ง ไทยเราใช้กับสันจมูกฅน หรือวัตถุมีสันนูนขึ้น เช่น ดั้งเขน = เครื่องมือป้องกันศัสตราวุธ

ดั้ง + เดิม ไม่ค่อยสื่อสอดรับพ้องกัน!
ด้ำ = ล้ำ (มีกลุ่มชนออกเสียง ล แทน ด) เป็นที่มาคำว่า ลึกล้ำ

ในทางกลับกันอาจเป็น ลึกล้ำ > ดึกด้ำ (?) ถ้าสมมติฐานนี้จริง ดึกด้ำ = โคตรบรรพชนแรกเริ่มนั่นเอง

สะท้อนมิติเวลาพ้องกับ ดึกด้ำบรรพ์, ดึกดำบรรพ์ < ตึกตบัล/ทึกตบัล/ (เขมร)

ตึกตบัล = ตำน้ำ. ในบริบทใหญ่สื่อตำนานชักนาคดึกดำบรรพ์หรือกวนเกษียรสมุทร

การกวนทะเลน้ำนมในครั้งนั้น เป็นคติความเชื่อว่าได้ก่อเกิดสรรพสิ่งสารพัน

ตึกตบัล > ดึกด้ำบรรพ์, ดึกดำบรรพ์ < ลึกล้ำบรรพ์ เกือบพ้องเสียงและเป็นไวพจน์อย่างไม่สงสัย

ด้ำ (ดั้ง) ควรเป็นศัพท์ร่วมในภาษากลุ่มไท-กะได

แต่ “เดิม” ไม่น่าจะใช่!

กระนั้น กลุ่มไต ไท ไทย ลาว รู้ใช้ “เดิม” พ้องกันได้อย่างไร?

สรุปสันนิษฐาน คำนี้น่าจะรับมาจากกลุ่มภาษามอญ-เขมร

– ศัพท์มอญ ตะนอม, ฮฺนอม (มีแนวโน้มเป็นตะเนิม, ฮเนิม ด้วย) = ต้น(ไม้)

– ศัพท์เขมร เฎีม(เดิม) คำบุพบทใช้ประจำ ๆ คือ ปีเฎีม = จากต้น แต่เดิม เดิมที จากแรก เริ่มแรกก็ว่า.

– กลุ่มไท-กะได ปะทะสังสันทน์กับมอญ, เขมรมาช้านาน จึงจับมาผสมกันลงตัว นั่นคือ

ด้ำ (ไท-กะได) + เฎีม (เขมร) + บุรพ > บรรพ์ (บา., สํ) นั่นเอง


กวนเกษียรสมุทรหรือชักนาคดึกด้ำบรรพ์ (บน) จิตรกรรมอินเดีย (กลาง) แบบร่วมสมัยไทยรัตนโกสินทร์ และ (ล่าง) ทับหลังสลักเรื่องเดียวกัน ณ ปราสาทหินแห่งหนึ่งในประเทศไทย

Related Posts

บทกวี : ความรักพาเรากลับบ้านเสมอ
เที่ยวไปตามความ (ใฝ่) ฝัน – ๑
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 7
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com