ทำไมจึงได้ชื่อว่าแก่งคุดคู้และภูควายเงิน

กาลอันล่วงเลยมาสามารถที่จะกำหนดช่วงเวลา กำหนดวัน กำหนดเดือน กำหนดปีที่เกิดเหตุการณ์ได้ และสามารถที่จะกำหนดเป็นศตวรรษได้ โดยเริ่มต้นจากกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยหนึ่งประมาณปีพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือราว พ.ศ.๑๒๘๐ พระราชโอรสของขุนบรมที่ชื่อว่า ขุนลอ ได้มาสร้างเมืองหลวงพระบางขึ้นเอาชื่อมงคลตามพระบาง ในยุคนั้นเองมีหญิงวัยกลางคนหนึ่งเป็นโสดเป็นชาวหลวงพระบางเขตดินแดนประเทศลาวปัจจุบัน มีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลักและมีควายอยู่ตัวหนึ่งไว้ไถนา ได้ปล่อยควายตัวนี้ไปหากินหญ้าตามยถากรรมที่ทุ่งนาควายตัวนี้บางครั้งก็จะกลับมาเข้าคอกที่บ้านบ้างนานเข้าก็ไม่กลับบ้านอีกเลย เจ้าของก็ไม่สนใจกาลต่อมาก็กลายเป็นควายเถื่อนปราดเปลี่ยวดุร้ายน่ากลัวมาก ด้วยเหตุนี้เวลาฤดูทำนาก็ไม่สามารถจับมาเข้าคราดไถนาได้เลย

หลังจากที่เจ้าของได้สิ้นชีวิตไปเจ้าควายตัวนี้จึงระหกระเหินหากินอยู่ตามป่า จนกลายเป็นควายป่าที่ไม่มีเจ้าของดูแล ได้เที่ยวหากินมาทางทิศใต้ตามลำดับซึ่งเป็นแหล่งที่มีหญ้าอุดมสมบูรณ์มาก สมัยนั้นยังมีนายพรานป่าคนหนึ่งชื่อว่า จึ่งคึ่งดังแดง* เอกลักษณ์มีจมูกสีแดงใหญ่เป็นพิเศษจึงได้ชื่อเช่นนั้น กล่าวขานกันว่า นายพรานมีรูปร่างที่ใหญ่เวลานอนตะแคงสูงเท่าเด็ก ๕ ขวบ และรูจมูกก็ใหญ่เห็นชัดมาก เด็ก ๆ สามารถเข้าไปวิ่งเล่นในรูจมูกได้อย่างสบาย คนโบราณบางท่านเล่าว่า “บางครั้งมีเสียงเหมือนฟ้าร้องดังครืน ๆ นั้นไม่ใช่เสียงฟ้าแต่เป็นเสียงเด็กวิ่งเล่นในรูจมูกของนายจึ่งคึ่งดังแดง” นายจึ่งคึ่งดังแดงจะออกป่าหาล่าสัตว์เป็นประจำซึ่งได้ยึดอาชีพนี้มาเป็นเวลานาน

*คำว่า จึ่งคึ่งและดัง เป็นภาษาท้องถิ่นอีสาน ‘จึ่งคึ่ง’ หมายถึงลักษณะใหญ่มีสีแดงสดใสสมบูรณ์ หรือสีแดงเข้ม คำว่า ‘ดัง’ หมายถึง จมูก

 


แก่งคุดคู้ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

อยู่มาวันหนึ่ง นายจึ่งคึ่งดังแดงได้ออกป่าล่าสัตว์ โดยมีอาวุธคู่กายคือธนูขนาดใหญ่ เผอิญว่าวันนี้ได้เจอควายตัวดังกล่าวนั้นกำลังกินหญ้าอยู่กลางทุ่งหญ้าในป่านี้ ไม่เคยมีควายขนาดใหญ่เช่นนี้มาก่อนเลย จึงได้ย่องเข้าไปใกล้ ๆ พร้อมกับอาวุธคู่กายขณะที่กำลังจะเหนี่ยวสายธนูจะยิ่ง ควายได้กลิ่นมนุษย์ก็ตื่นตกใจรีบวิ่งหนีไปก่อนที่จะลั่นธนูออกไป

สถานที่นายจึ่งคึ่งดังแดงจะเอาลูกธนูพลาดยิงควายนั้น ชื่อว่า เมืองแพด (คำว่า แพด เพี้ยนมาจากคำว่า พาดหรือเทียบ เป็นลักษณะการพาดหรือแนบเข้าหากัน เพื่อให้รู้ระยะและเที่ยงตรง) คำว่าเมืองแพดจึงเรียกกันมาตั้งแต่บัดนั้น

นายจึ่งคึ่งดังแดงก็ไม่ลดละความพยายามได้ออกติดตามควายตัวนี้ไปอย่างกระชั้นชิด ครั้นมาถึงเขตเมืองควายได้เอาเขาสีเป็นรอยไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นรอยลึกมากมองเห็นได้ชัดเมืองนี้จึงได้ชื่อว่า เมืองเขาสี กาลต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นเกาสีและกาสีตามลำดับ ฝ่ายนายจึ่งคึ่งดังแดงได้ติดตามมาทางทิศใต้เป็นเวลาอยู่หลายวันด้วยความยากลำบากบริเวณที่ติดตามควายมาครั้งนั้น ตอนหลังจึงมีชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์มาจนทุกวันนี้ เช่น บ้านนาม่น มาจากการดั้นด้นฝ่ามาตามป่าทึบ บ้านนามอย มาจากที่ค่อยด้อม ๆ มอง ๆ บ้านนาจอบ มาจากการแอบคอยดู เป็นต้น

ภายหลังติดตามควายหลายวันจนกระทั่งวันหนึ่ง ได้พบควายตัวนั้นกำลังนอนแช่น้ำอยู่ในลำแม่น้ำโขง ที่บริเวณคกแอ่งน้ำไหลวนแห่งหนึ่งตรงแก่งคุดคู้ในปัจจุบัน แอบดูควายนอนแช่น้ำเห็นนัยน์ตาควายเป็นสีแดง สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า คกตาแดง ควายนอนแช่น้ำเพราะเหนื่อยล้าและร้อนจึงไม่ได้ระวังตัว นายจึ่งคึ่งดังแดงจึงเตรียมพิชิตควายอย่างรอบครอบมิให้พลาดอีกจึงได้ปลดแหล้ง (คำว่า แหล้ง คือที่อยู่แห่งกระบอกใส่ลูกศร) ที่ใส่ลูกธนูออกจากตัวแล้วเอาแขวนไว้ที่ผาลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามบ้านผาแบ่น ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน ปัจจุบันเรียกว่า ผาห้อยแหล้ง

ครั้นแล้วนายจึ่งคึ่งดังแดงก็คลานกำบังตัวเข้าไปในระยะใกล้ ๆ ขณะกำลังเล็งธนูจะยิงอยู่นั้นเผอิญว่ามีพ่อค้าเรือพายเรือเลียบตามฝั่งโผล่มา ควายเห็นเช่นนั้นก็ตกใจตื่นจึงรีบตะกายขึ้นจากแม่น้ำโขง วิ่งเผ่นหนีไปทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไม่ทันที่จะได้ลั่นธนูอีก นายจึ่งคึ่งดังแดงไม่พอใจมากที่พ่อค้าทำให้พลาดโอกาสนี้ไป ธนูที่ขึ้นคันโกงไว้แล้วนั้นครั้นจะปลดสายธนูออกก็ลำบากยิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการระบายอารมณ์เสียที่ไม่ได้ยิงควายจึงได้ยิงไปที่เขาลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากแก่งนี้เท่าใดนัก และอยู่ห่างจากบ้านผาแบ่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๔ กิโลเมตร ด้วยความแรงของลูกธนูทำให้ภูเขาลูกนั้นพังทลายลง ภูเขาลูกนั้นเรียกว่า ภูผาแบ่น (แบ่น ก็คือ เป้า เล็ง) ต่อมาจนทุกวันนี้

เมื่อควายปีนขึ้นจากฝั่งโขงได้แล้ว ก็เดินลัดเลาะไปตามภูเขาหลายลูก ฝ่ายนายจึ่งคึ่งดังแดงก็ไม่ลดความพยายามออกติดตามต่อไปอีกจนกระทั่งควายตัวนั้นหนีตายมาที่บริเวณภูเขาลูกหนึ่ง ถัดบ้านผาแบ่นไปทางทิศตะวันตก ควายได้ถ่ายมูลไว้ มีลักษณะสีขาวบริสุทธิ์คล้ายแร่เงิน ต่อมาจึงได้ชื่อว่า ควายเงิน และภูเขาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ภูควายเงิน ซึ่งเป็นภูเขาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเชียงคาน

ต่อมาภายหลังควายตัวนั้นได้หนีกลับย้อนขึ้นไปทางทิศเหนืออีก นายจึ่งคึ่งดังแดงก็สังเกตตามรอยเท้าข้ามเขาไปหลายลูก จนมาถึงลำธารแห่งหนึ่งได้เห็นควายอยู่ในระยะไม่ไกลมากนักจึงได้คลานเข้าไปหมายจะยิงแต่พลาดโอกาสอีกครั้ง ควายรู้ตัวก่อนแล้วหนีไปอีก บริเวณที่คลานจะยิงนั้น เรียกว่า ลำน้ำคลาน และต่อมาเพี้ยนเป็นลำน้ำคาน ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย

นายจึ่งคึ่งดังแดงได้ตามควายต่อไปอีก จนไปถึงเมืองหนึ่งฝนได้ตกลงมาทำให้เปียกปอนไปหมดทั้งตัวจนหนาวสั่น สถานดังกล่าวนี้จึงเรียกว่า เมืองฮำ ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งอยู่ในประเทศลาว เรียกว่า บ้านเมืองฮำ หลังจากฝนหยุดแล้วจึงออกเดินทางติดตามควายต่อไปอีกหลายวัน จนมาถึงทุ่งนาแห่งหนึ่งในเขตเมืองน้ำปาด ได้โอกาสเหมาะขณะควายตัวนั้นเผลอตัวเล็มกินหญ้าเพลินอยู่ จึงได้ยิงควายตัวนั้นถูกจุดที่สำคัญจึงล้มลงตาย ณ ทุ่งนาแห่งนี้ ต่อมาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า ทุ่งนายิง จนถึงทุกวันนี้

พอควายเงินตายแล้วจึงทำการปาดเอาเนื้อ (ปาด หมายถึง ตัดหรือเชือด) ตรงที่ปาดหรือแล่เนื้อนี้จึงเรียกว่า เมืองน้ำปาด หลังแล่เนื้อเสร็จนายจึ่งคึ่งดังแดงเอาเนื้อควายไปย่างไฟ และเอาอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไปชำระล้างอยู่หลายแห่ง เอาเนื้อไปย่างที่ภูย่างซิ้นซึ่งตั้งอยู่ถัดบ้านหนองสิมตำบลนามาลาไปทางทิศตะวันออก เขตอำเภอนาแห้ว เรียกว่า ภูย่างซิ้นหรือภูข่าซิ้น เอาหูไปล้างที่ลำน้ำหูตำบลนาแห้วและที่อำภอด่านซ้าย ได้เอาพุงคือกระเพาะและลำไส้ไปล้างที่ลำน้ำพุง ตำบลโป่ง อีกทั้งเอาตับไปล้างที่ลำน้ำตับ ตำบลนาหอ ในเขตจังหวัดเลย เป็นต้น

หลังจากนั้นนายจึ่งคึ่งดังแดงได้จัดการกับชิ้นส่วนของควายเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยความโกรธแค้นที่มีต่อชาวเรือคนนั้น ทำให้ต้องออกติดตามล่าควายเงินด้วยความทุกข์ยากลำบากอยู่หลายวัน ตั้งใจจะแก้แค้นให้ได้ และความคิดที่เห็นแก่ตัวจึงคิดว่า “ถ้าตนกั้นลำน้ำโขงชาวเรือก็จะเดินเรือไม่ได้อีกต่อไป และจะจับสัตว์น้ำได้อย่างสบาย พร้อมทั้งจะล่าสัตว์ป่าได้อย่างสะดวกด้วย”

เมื่อได้คิดเช่นนี้แล้วจึงได้เดินทางกลับมาที่บริเวณแม่น้ำโขง ใกล้กับคกตาแดงจุดที่พบพ่อค้าเรือนั้น เมื่อมาถึงแล้วก็เดินสำรวจหาตรงที่เหมาะที่จะกั้นลำน้ำโขงได้ ขณะที่กำลังสำรวจอยู่นั้นได้พบหญิงสาวใหญ่คนหนึ่งนางชื่อ แก้วหลวง กำลังหาจับปลาอยู่ เมื่อทั้งสองได้พบกันความรักก็เกิดขึ้น ในที่สุดก็ได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยา
และได้ตั้งบ้านสร้างครอบครัวอาศัยอยู่บริเวณใกล้แก่งคุดคู้สืบมาจนถึงกาลปัจจุบัน

หลังจากได้เมียสมใจแล้วจึงได้กั้นแม่น้ำโขงโดยการใช้ไม้คานเหล็กอันหนึ่งและไปค้นหาแหล่งหินที่จะมาถมแม่น้ำโขง ได้พบหินที่ภูผาบ่องนาเวียงซึ่งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแก่งคุดคู้ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ภูผาบ่องนาเวียงอยู่ในเขตประเทศลาว หินก้อนแรกที่หาบมานั้นมีน้ำหนักถ่วงกันกับห่อข้าวเช้าที่เมียจัดเตรียมให้นำมาทิ้งไว้ริมแม่น้ำโขงทางฝั่งประเทศไทย จึงได้ชื่อว่า ก้อนบัว ซึ่งขนาดเท่ายุ้งข้าวขนาดใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงบัดนี้ เนื่องจากมีรูปร่างใหญ่และแข็งแรงสามารถใช้ไม้คานเหล็กหาบหินก้อนโต ๆ ได้อย่างสบาย ซึ่งเริ่มต้นจากฝั่งประเทศลาวมาก่อน ใช้เวลาขนหินมาอยู่หลายวันจึงแล้วเสร็จ คงเหลือเพียงช่องแคบเพื่อให้น้ำไหลผ่านบ้าง สุดท้ายก็จะเอาก้อนหินปิดให้เหลือช่องน้ำเพียงเท่าเข็มเย็บผ้าเท่านั้น เป็นรูน้ำไหลแห่งหนึ่งที่แก่งคุดคู้นั้นจึงได้ชื่อว่า ดอนเข็ม (ดอนหมายถึง ร่องน้ำไหล) จนตราบเท่าทุกวันนี้

วันหนึ่งขณะที่กำลังขนหินกั้นน้ำใกล้จะแล้วเสร็จนั้น ได้หาบก้อนหินผ่านมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ชื่อว่าภูถ่ายคาน (ถ่ายหมายถึงเปลี่ยน) เพราะเป็นภูที่เปลี่ยนไม้คานหาบ ช่วงเวลานั้นเผอิญได้พบหญิงหม้ายคนหนึ่ง นางสงสัย
พฤติกรรมการกระทำเข้าจึงได้ถามว่า “เพราะอะไรเป็นเหตุท่านจึงได้มาทำเช่นนี้เล่า…?” จึงได้เล่าความคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ฟังโดยมิปิดบังอำพราง เมื่อนางทราบจุดประสงค์จึงได้พิจารณาดูแล้วเกรงว่า “ถ้าปล่อยให้ทำจนสำเร็จหากฝนตกมามาก ๆ น้ำอาจท่วมบ้านเมืองได้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้นจะเดือดร้อนและถ้าหากพ่อค้าเดินเรือไม่ได้การไปมาค้าขายก็คงลำบากเช่นกัน” เมื่อนางคิดได้เช่นนี้จึงได้คิดหาวิธีการที่จะทำลายแผนการนั้นเสีย

นางคิดแผนการได้จึงแกล้งบอกไปด้วยความหวังดีว่า “การขนหินนั้นถ้าจะให้ดีน่ะ ควรจะใช้ไม้เฮี้ยมาหาบหินแทนไม้คานเหล็ก เพราะว่าการใช้ไม้คานเหล็กจะได้คราวละน้อยเพราะเหล็กมันหนักอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ไม้เฮี้ยเป็นไม้คานจะได้เที่ยวละมากขึ้นเพราะไม้คานเบามาก จะขนหินได้คราวละมาก ๆ การกั้นลำน้ำโขงก็จะเสร็จเร็วขึ้นแน่…” (ไม้เฮี้ย คือไม้ไผ่ชนิดหนึ่งมีลำปล้องยาวและบางมาก)

นายจึ่งคึ่งดังแดงก็หลงกลเชื่อเหตุผลของนางและยอมทำตาม จึงรีบไปตัดไม้เฮี้ยตามป่ามาหลายลำ เอาหวายมัดรวมกันเข้าแน่นหนาเป็นไม้คาน แล้วเอาไปหามก้อนหินขนาดใหญ่มายังลำน้ำโขง ขณะนั้นเองหินก้อนใหญ่ที่หนักได้หาบมาถึงพอดีเกิดอุบัติเหตุไม้คานที่ทำด้วยไม้เฮี้ย ก็เผอิญหักคร่อมทับลงไม้ไผ่เกิดแตกออกเป็นคมจึงบาดเข้าที่คอจนเป็นแผลลึก ทำให้เส้นเลือดใหญ่ขาดออกจนเลือดไหลไม่หยุด เป็นผลทำให้สิ้นใจตายคาที่ในที่สุด ด้วยลักษณะท่าทางการตายนั้นอยู่ในท่าคุดคู้ ที่สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า แก่งคุดคู้ ตามท่าทางการตายนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเป็นชื่อของสถานที่มีจริงอยู่ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากในภาคอีสานจนตราบเท่าทุกวันนี้ (จึงมีคำสำนวนที่ว่า “คุดคู้”)

นิทานปรัชญาชาวบ้านปรัมปราเรื่องนี้ ได้เสนอแนวคิดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถานที่ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย หากกล่าวอีกมุมมองหนึ่งอาจเป็นเรื่องไร้สาระก็ได้แต่ทัศนะที่เป็นประโยชน์ถือเป็นความฉลาดของคนในพื้นที่ต้องการสืบทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นี้ให้คงอยู่สืบไป จึงได้ร้อยเรื่องราวต่าง ๆ เป็นนิทานที่มีความ สนุก ตื่นเต้น ทำให้คนรุ่นหลัง ๆ จดจำเรื่องราวทางภูมิศาสตร์ในท้องถิ่นของตนได้ง่าย

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.packgrapao.com


Related Posts

ประวัติและที่มา ทำไมเจ้าของแผ่นดินจึงได้ชื่อว่า เจ้าแม่นางธรณี และนกกะแดดเด้า
ประวัติและที่มาทำไมต้องหาฤกษ์ก่อนทำกิจและพิธีกรรม
บทกวี : ความรักพาเรากลับบ้านเสมอ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com