จ้วงเป็นบรรพบุรุษไทยหรือไม่?

ตอบคำถามของน้องสาวคนหนึ่งเรื่องจ้วงกับไทยในเฟชบุ๊ค
คำถามโดย : จันทร์ อสงไขย
ตอบโดย : ทองแถม นาถจำนง
10 มกราคม 2560

ภาพชนชาติจ้วง มณฑลกวางสี โดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต

ถาม : ท่านพี่ทองแถมขอความเห็นหน่อย ตกลงจ้วงใช่บรรพบุรุษของ “ไทย” ไม๊เนี่ยะ (กำลังตามหารากเหง้าค่ะ)

ตอบ : จ้วงกับไท มีบรรพบุรุษร่วมรากกันครับ

ศ.ฟ่านหงกุ้ย นักวิชาการแถวหน้าสุดของกวางสี (ท่านเพิ่งเสียชีวิตไป) เห็นว่า จ้วงกับไท แยกห่างกันตั้งแต่ยุคราชวงศ์ถัง (ช่วง ค.ศ 700)

แต่ผมเห็นว่า จ้วงกับไท แยกกันอยู่ ตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจว (ก่อนขงจื๊อ) แล้ว จีนเรียกดินแดนที่จ้วงอยู่ว่า ซีโอว กับ ลั่วเยวี่ย สองชื่อ เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ลงมาของลั่วเยวี่ยว่า “เยวี่ยชาง” ผมเห็นว่า พวกไทพัฒนาขึ้นในดินแดนเยวี่ยชางนี้ ซึ่งกว้างขวางตั้งแต่เวียดนามภาคตะวันตกเฉียงเหนือลงมาจนถึงลุ่มแม่น้ำชี(ต่ำกว่านั้นลงมาเป็นกลุ่มภาษาเขมร) จุดนี้คือความเห็นของผมที่แตกต่างจากรุ่นอาจารย์ เช่น ศ.ฟ่าน, อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ฯ ครับ

ถาม : ตกลงบรรพบุรุษ “ไทย” (มี ย ยักษ์) ชาติพันธุ์ไหนกันแน่ล่ะคะเนี่ยะ? ไท ตกเป็นบรรพบุรุษของ ไทย แต่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับจ้วง เข้าใจอย่างนี้ใช้ได้ไม๊คะ?

ตอบ : บรรพบุรุษไทย คือ ไท ลาว (ลูกพี่ลูกน้องกับจ้วง), กลุ่มตระกูลภาษามอญ-เขมร บางส่วน (มอญ เขมร กูย ละว้า ลัวะ ชาวบน เวียด), กลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเนเซียนบางส่วน (จาม ชาวเล มลายู) รวมทั้ง ทมิฬ (ชาวอินเดียใต้) เปอร์เซีย (เช่นสายบุนนาค) ฯ ในแหลมทองที่ผสมผสานกัน บางส่วนหลอมรวมเป็นชาติพันธุ์ไทย (เปลี่ยนผี เปลี่ยนอัตลักษณ์ ฯ) บางส่วนยังรักษาความเป็นชาติพันธุ์เดิมได้ถึงปัจจุบัน

เยวี่ยชาง กลุ่มตอนเหนือ มีสองพวก ซีกตะวันออกของเทือกเขาอายหลาว (ในยูนนาน) ผมขอเรียกว่าไทน้อย (เพื่อให้เข้าใจง่าย) คือ ไท (ในเวียดนาม) ลาว (ไทเมืองแถนที่ลงมาอยู่หลวงพระบาง) ลื้อ ซึกตะวันตกของเทือกเขาอายหลาว เรียกว่าไทใหญ่ (ชาน,ฉาน)

กลุ่มตอนใต้อยู่ที่อีสานเหนือ ผสมผสานกับมอญ ในยุคราชวงศ์ถัง (เกือบพันห้าร้อยปีก่อน) รุ่งเรืองตั้งเป็นก๊กอยู่แถบ “ฟ้าแดด-กันทรวิชัย” จีนเรียกว่า “เหวินตาน” หรือ “เหวินส้าน” ต่อมานาน พวกนี้ถูกเรียกว่าศรีโคตรบูรณ์ เป็นผู้ตั้งสุวรรณโคมคำแถบเชียงแสน และต่อมาลงไปสร้างเวียงจัน

บรรพชนของคนลาว ใน สปป.ลาว จึงมีสามสายใหญ่ ได้แก่ สายเมืองแถน (ขุนลอ) สายสืบต่อจากสุวรรณโคมคำ (ต่อจากลาวจก ลงมาถึงท้าวฮุ่ง-ขุนเจื่อง-มังราย) และสายศรีโคตรบูรณ์แถบนครพนม (ลงไปสร้างเวียงจัน) แต่ทาง สปป.ลาว นับต้นตอสายเดียวคือสายขุนลอ ไม่นับสายขุนเจื๋อง (ลาวฝั่งขวา) และศรีโคตรบูรณ์ (ลาวฝั่งขวา)

ท่านหุมพัน รัตนะวง (อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สปป.ลาว) เสนอว่า ขุนกันฮางที่ครองเมืองเชียงดงเชียงทองก่อนขุนลอลงมาตี ไม่ใช่ข่าสายมอญเขมร แต่เป็นหลานเหลนของขุนเจื่อง แต่ทางการ สปป.ลาว ไม่สนับสนุนทฤษฎีนี้

———————————————

เพิ่มเติมโดยทีมงาน เกี่ยวกับขุนลอมาตีเมืองเชียงดงเชียงทอง

“…เรื่องหนึ่งที่อยากจะกล่าวในที่นี้คือ เราได้พบข้อมูลว่า “ขุนกันฮาง” เจ้าผู้ปกครองเชียงดงเชียงทองดั้งเดิมนั้น เป็นโหลนของ “ท้าวฮุ่ง” (ท้าวฮุ่งหรือเจือง ในมหากาพย์ ท้าวฮุ่งขุนเจือง”) “ขุนลอ” จากเมืองแถง (เชื่อว่าอยู่ในดินแดนประเทศเวียดนามปัจจุบัน) ยกทัพมารบชนะ “ขุนกันฮาง” แล้วราชวงศ์ของ “ขุนลอ” ได้ปกครองเชียงดงเชียงทองสืบต่อมา แต่ประเด็นสำคัญอย่างนี้ เราต้องขอเวลาตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้นก่อน โปรดติดตาม “ทางอีศาน” ต่อไป เราจะถก-แย้ง เรื่องนี้กันแน่นอน…”

ที่มา : สาส์นจากทางอีศาน 22 อาลัยหลวงพระบาง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ‘ซานเยวี่ยซาน’ ฟังสำเนียงเสียงรากร่วมวัฒนธรรม

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com