แคนเก่าสุด 2,500 ปีมาแล้ว หมอแคนยุคแรกเป็นหญิง

แคนเก่าสุด ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว หมอแคนยุคแรกเป็นหญิง

แคนเก่าสุดอายุราว ๒๕๐๐ มีหลักฐานจากลายเส้นบนเครื่องมือสำริด พบฝังรวมกับศพที่เวียดนามและที่อื่น เช่น มณฑลยูนนานทางภาคใต้ของจีน

[หลักฐานโบราณคดีมีในหลายภาษาเกี่ยวกับแคน ซึ่งผมได้จากนักวิชาการหลายคน และเคยเขียนบอกไว้นานมาแล้วในหนังสือ ร้องรำทำเพลง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๒ (หน้า ๑๐๙-๑๑๔)]

หมอแคนยุคแรกเป็นหญิง เพราะผู้หญิงเป็นเจ้าของงานศิลปะและวัฒนธรรมทั้งมวล รวมถึงหมอลำกับหมอฟ้อนก็เป็นผู้หญิง

มาจากปี่

กว่าจะพบลายเส้นบนเครื่องมือสำริด แคน มีพัฒนาการก่อนหน้านั้นนับพันปีมาจากปี่ (ไม้กู่แคน) หลายเลารวมกันเสียบในลูกน้ำเต้าแห้ง ใช้เป่าได้หลายเสียงจากขั้วน้ำเต้า

เริ่มจากปี่เลาเดียวเสียบลูกน้ำเต้า เป่าได้เสียงเดียว เรียกปี่น้ำเต้า (ต่อมาไทยเคยเรียกเรไร) อีกนานมากจึงใช้หลายเลาเสียบเพิ่ม โดยลองผิดลองถูกยาวนานมาก ไม่มีใครประดิษฐ์คิดค้นด้วย ตัวคนเดียว

ศาสนาผี

แคนมีกำเนิดและพัฒนาการเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรมในศาสนาผี เพื่อสร้างเสียงศักดิ์สิทธิ์สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ใช้วิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์ และเจริญในพืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงชุมชน

น้ำเต้าที่ใช้ทำแคน เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาผีของคนทั้งโลกหลายพันปีมาแล้ว

ตระกูลไต-ไทลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ต่อเนื่องเชื่อว่าน้ำเต้าเหมือนมดลูกของแม่ ดังนั้นคนมีกำเนิดออกมาจากน้ำเต้า ครั้นตายไปผีขวัญก็คืนสู่ครรภ์มารดาผ่านมดลูกของแม่ คือน้ำเต้าด้วยวิธี ๒ อย่าง ได้แก่

(๑.) เป่าแคนผ่านน้ำเต้า ส่งผีขวัญคืนสู่ครรภ์มารดา และ (๒.) เก็บกระดูกคนตายไว้ในภาชนะ ดินเผารูปน้ำเต้า


หมอแคน, หมอลำ, หมอฟ้อน ล้วนเป็นผู้หญิง ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ร่วมกันขับลำคำคล้องจองทำนองง่าย ๆ
แล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบในพิธีเรียกขวัญคืนร่างคนตาย ลายเส้นจำลองจากลายสลักบน
ขวานสำริด ขุด พบในหลุมศพที่เวียดนาม

หมอแคน, หมอลำ , หมอฟ้อน เป็นผู้หญิง

แคนเก่าสุดอายุราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีหลักฐานจากเครื่องมือสำริดหลายชิ้น บางชิ้นสลัก ลายเส้นรูปคนคล้ายผู้หญิงนุ่งผ้ายาวปล่อยชายสองข้าง มีเครื่องประดับสวมหัว แล้วทำอาการต่างกันดังนี้

๑. บางคนสองมือถือแคน ทำท่าเป่าพร้อมย่อเข่าเต้นฟ้อน (สมัยหลังเรียก หมอแคน, ช่างแคน)

๒. บางคนยืนฟ้อนนำหน้า ทำท่าเหมือนขับลำคำคล้องจองเพื่อเรียกขวัญส่งขวัญ (สมัยหลัง เรียก หมอลำ, ช่างขับ)

๓. บางคนยืนฟ้อนตามหลังเป็นกลุ่มมีหลายคนก็ได้ (สมัยต่อมาเรียก หมอฟ้อน, ช่างฟ้อน)

ที่ว่าคล้ายผู้หญิงเป็นหมอแคน, หมอลำ, หมอฟ้อน เพราะงานศิลปะและวัฒนธรรมยุคดั้งเดิม เป็นสมบัติของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายไม่มีสิทธิ์

นอกจากนั้น ผู้หญิงเป็นเจ้าพิธีกรรมในศาสนาผี เป็นหมอมด, หัวหน้าเผ่าพันธุ์ ส่วนผู้ชายเป็นบริวารของผู้หญิง

ด้วยเหตุดังนี้ แคนซึ่งมีลิ้นทำจากโลหะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในยุคนั้น จึงไม่เป็นสมบัติของคนทั่วไป แต่เป็นของคนชั้นนำหัวหน้าเผ่าพันธุ์

คนทั้งหมดอยู่ในพิธีกรรมหลังความตาย (เพราะพบสำริดในหลุมศพ) มีการละเล่นเต้นฟ้อน เป่าแคนและขับลำเพื่อเรียกขวัญและส่งขวัญไปสู่โลกหลังความตาย (สมัยหลังเรียก งันเฮือนดี) ซึ่งอาจอยู่บนฟ้าหรือที่ไหน ๆ ไม่มีใครรู้อันเป็นที่สิงสู่ของผีแถน และเป็นที่สิงสู่ของผีขวัญบรรพชน ผู้ตายไปก่อนแล้วอยู่รวมกันเป็นหน่วยเดียว คอยปกป้องคุ้มครองผู้คนยังไม่ตายกับบันดาลให้ชุมชนรับความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร

กำเนิดแคนไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธและพราหมณ์ แต่หลังรับอารยธรรมจากอินเดีย มีผู้พยายามผลักดันให้แคนเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธและพราหมณ์ จึงผูกนิทานว่ามีกษัตริย์อินเดียเกี่ยวข้องกับกำเนิดแคน มีเสียงไพเราะเสนาะโสตราวเสียงนกการเวกแห่งฟากฟ้าป่าหิมพานต์ตามคติอินเดีย

นิทานเหล่านี้ไม่เป็นหลักฐานโดยตรงเรื่องกำเนิดแคน แต่เป็นพยานว่ามีผู้พยายามชุบแคนให้เหมือนทองคำที่นำเข้าจากอินเดียเหมือนเรื่องอื่น ๆ เช่น ชาดกนอกนิบาต (เรียกปัญญาสชาดก)

แคนในราชสำนักอยุธยา

แคนเป็นเครื่องเป่าของทุกชาติพันธุ์ในอาเซียน ทั้งบริเวณกลุ่มเกาะและภาคพื้นทวีป

ราชสำนักอยุธยายกย่องแคนเป็นเครื่องมือชั้นสูง ใช้บรรเลงในวงดนตรี (ชื่อวงอย่างหนึ่งคู่กับวงมโหรี) ทำหน้าที่คลอคำขับลำด้วยทำนองเสนาะยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน มีบอกในอนิรุทธคำฉันท์ (สมัยต้นอยุธยา) ดังนี้

 

       จำเรียงสานเสียง
ประอรประเอียง กรกรีดเพยียทอง
เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง
สำหรับลบอง ลเบงเฉ่งฉันท์
ระงมดนตรี
คือเสียงกระวี สำเนียงนิรันดร์
บรรสำนเสียงถวำย เยียผลัดเปลี่ยนกัน
แลพวกแลพรรค์ บรรสานเสียงดูริย์

วรรคที่ว่า “ปี่แคนทร” ถ้าสะกดแบบปัจจุบันจะเป็น “ปี่แคนซอ” หมายถึง เครื่องดนตรี ๓ ชนิด บรรเลงด้วยกัน ได้แก่ ปี่, แคน, ซอ

วรรคที่ว่า “ระงมดนตรี” หมายถึง เสียงจากวงบรรเลงในราชสำนักเรียก “ดนตรี” (มีเครื่องมือ เช่น พิณ, ปี่, แคน, ซอ) บรรเลงคลอขับลำทำนองเสนาะยอพระเกียรติด้วยกาพย์กลอน (เรียกรวม ๆ ว่า ฉันท์ หมายถึง ร้อยกรองไม่หมายถึงคำประพันธ์จากอินเดีย ที่มี ครุ, ลหุ)

เพลงดนตรีและกาพย์กลอนซึ่งเป็นคำขับลำทั้งปวง จะแยกเป็นส่วน ๆ มิได้ เพราะทั้งหมดมีกำเนิดและมีพัฒนาการควบคู่สอดคล้องกัน

การศึกษาไทยแยกส่วนทุกอย่างไม่เกี่ยวดองกัน สมดังท่านพุทธทาสบอกว่าเหมือนหมาหางด้วน


ขวานสำริดมีลายสลัก ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ขุดพบในหลุมศพที่เวียดนาม (Victor Goloubew, L’ Age du Bronze
au Tonkin et dans le Nord-Annam ใน BEFEO: Tom XXIX 1929)

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๓
ปีที่ ๗ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

อายหลาวก๊ก 哀牢国
วัฒนธรรมแถน (๕) ปู่แถน ย่าแถน
ห่ากวาดเมือง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com