มัณฑเลย์…สะพานข้ามกาลเวลา ตอนที่ ๑

“ชุมชนใกล้สะพานอูเบ็ง ริมทะเลสาบตองตามัน เชลยศึกจากอยุธยาครั้งกรุงแตกใน พ.ศ.๒๓๑๐ ได้ถูกกองทัพของหงสาวดีกวาดต้อนเข้ามา เชลยจำนวนหนึ่งได้มาเป็นพลเมืองและมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ หนึ่งในจำนวนนั้นมีบรรพชิตรูปหนึ่งเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินของอยุธยาในช่วง เวลาสั้น ๆ นามว่า พระเจ้าอุทุมพร หรือที่เรียกกันภายหลังว่า ขุนหลวงหาวัด พระองค์เคยช่วยให้อยุธยารอดพ้นจากกองทัพพม่าในศึกอลองพญา ทำให้บ้านเมืองสงบได้อีก ๗ ปีก่อนจะมาเสียกรุงให้กับพระเจ้ามังระ พระราชโอรสของพระเจ้าอลองพญา…” แทบทุกครั้งที่หน้าประวัติศาสตร์ไทยมักจบลงที่การเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า อย่างไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ครั้งนี้คือการได้มาไกลกว่าเดิมตามเส้นทางสองขาของเชลยศึก

ดิฉันได้มามัณฑเลย์สองครั้ง ครั้งแรกเป็นเวลาที่พม่าเปิดประเทศใหม่ ๆ ในเดือนธันวาคม ช่วงฤดูหนาวกับอีกสามปีต่อมาในเดือนสิงหาคมช่วงฤดูฝน สิ่งที่น่าประทับใจของสถานที่นี้คือการได้รอชมอาทิตย์อัศดงท่ามกลางผืนน้ำที่มีสะพานไม้ทอดยาวผู้คนสองฟากฝั่งยังคงเดินไปมา ทันทีที่แสงบนท้องฟ้าค่อยหรี่ลง ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีส้มห่มคลุมลงมา ความอบอวลช่างประหลาด พอไปกระทบกับหัวใจของคู่รักที่มายืนใกล้กันสบตากัน พาให้รัศมีนัยน์ตาของคนมีความรักเรืองรอง บรรยากาศนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาวในวันท้องฟ้าแจ่มใสอีกครั้งที่เดิม ในฤดูฝนยามเย็นบนสะพานไม้อูเบ็ง สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก มีฝนตกปรอย ๆ ท้องฟ้าครึ้ม ลมพัดแรงมาก ผู้คนยังคงเดินไปมาขวักไขว่ ความแจ่มใสของผู้คนยังคงสัมผัสได้ราวกับเป็นสายลม สีหน้า แววตา รอยยิ้ม เสียงหัวเราะหยอกล้อกัน

ดิฉันไม่อาจบอกได้ชัดแจ้งว่าบรรยากาศของผู้คนที่เดินไปมา ได้เกิดเป็นมุมมองที่มหัศจรรย์ได้อย่างไร การมาครั้งที่สองมีเวลาเดินข้ามไปอีกฟากหนึ่งของสะพาน เห็นว่าเป็นชุมชนแบบทั่วไป มีบ้านเรือนร้านขายของชำเล็ก ๆ มีวัดเจดีย์บรรยากาศพ้นจากสะพานโดยรวมเหมือนตัดขาดจากบรรยากาศชวนฝันนั้น แต่สิ่งที่ชัดเจนของการมาที่นี่ทั้งสองครั้ง คือเราได้เห็นจังหวะชีวิตของผู้คนที่เดินสวนทางกันไปมาได้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าในวิถีชีวิต ภาพ ของผู้หญิงนุ่งซิ่นวางของบนศีรษะเดินตัวปลิว ชายวัยกลางคนนุ่งโสร่งจูงจักรยานรุ่นเก่า รู้สึก เพลินกับการมองลวดลายทานาคาบนแก้มทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่เด่นสะดุดตาเป็นจีวรสีเหลือง ของภิกษุที่มองเห็นเป็นระยะ พระพม่าเท่าที่สังเกตดูหลายท่านรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นผู้ใฝ่รู้มี ความแจ่มใส อัธยาศัยไมตรีดีท่านกระตือรือร้น เวลามีนักท่องเที่ยวฝรั่งซักถามอย่างสนใจในเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงเรื่องพุทธศาสนาครั้งหนึ่งขณะที่เราเดินตามกันถ่ายรูปไปช้า ๆ บนสะพาน ภิกษุรูปหนึ่งท่านเอ่ยทักทายถามว่าเป็นคนไทยใช่ไหม ท่านถามสารทุกข์สุกดิบเรื่องน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ท่านบอกว่าดูจากข่าวเห็นว่าน้ำท่วมเยอะมาก

 

 

 

วิถีชีวิตของผู้คนบนสะพานอูเบ็งระหว่างทางบนสะพานอูเบ็งมีของกินเล่นจำหน่าย

บางช่วงของสะพานจะมีแม่ค้านำสินค้ามาวางขาย เป็นพวกผลไม้และขนมที่ดูแปลก เหลือบมองไปที่พื้นมีกรงไม้สองอัน ในกรงมีนกฮูก ทราบมาว่านกฮูกเป็นสัตว์มงคลของพม่าซึ่ง เราจะเห็นได้จากของที่ระลึกที่จะทำเป็นนกฮูกหลากหลายแบบ ด้วยวัสดุที่แตกต่างกันไป มี ตั้งแต่ทำด้วยกระดาษ ทำเป็นกระปุกเครื่องเขิน มองไกลออกไปยังผืนน้ำ มีเรือรับจ้างลำเล็กหลายลำพานักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ ในเงาของน้ำมีภาพสะท้อนของเจดีย์ที่มองเห็นไกลลิบ  ๆ ใกล้กับสะพานช่วงน้ำตื้น มีชาวประมงพร้อมอวนและอุปกรณ์กำลังสาละวนกับการหาปลา

ไม่ไกลนักจากที่ตรงนี้มีสถูปองค์หนึ่งในบริเวณสุสานล้านช้างสันนิษฐานจากคำบอกเล่า ของชาวบ้านที่ตรงกับนักวิชาการประวัติศาสตร์พม่าและพระสงฆ์ว่า น่าจะเป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ในข่าวของ ไทยรัฐ ได้รายงานว่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ทางการพม่าได้อนุญาตให้ไทยส่งนักโบราณคดีไปขุดค้นหาหลักฐาน เพราะหลังจากระหว่างทางบนสะพานอูเบ็งมีของกินเล่นจำหน่าย รถม้าจอดรับนักท่องเที่ยวที่เมืองอังวะนี้จะถูกรื้อออกตามโครงการพัฒนาเมืองใหม่ ในเวลาต่อมาจึงเกิดโครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร นำโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมทีมงาน ร่วมกับสมาคมมิตรภาพพม่าไทย ตามข่าวไทยรัฐวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ในที่นี้ได้แยกโครงการนี้กับการรอการพิสูจน์ยืนยันตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นสถูปของพระเจ้า อุทุมพรจริงหรือไม่ ที่น่ายินดีคือเพิ่งมีการค้นพบหลักฐานใหม่เพิ่มเติม เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่มีตัวอักษรโบราณเขียนกำกับไว้จึงคาดการณ์ว่าในบริเวณนี้น่าจะเคยเป็น “วัดอโยธยา”

เรื่องราวของพระเจ้าอุทุมพรมีอยู่ว่า แต่เดิมพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓) ตั้งพระทัยมอบราชสมบัติให้ พระเจ้าอุทุมพร พระราชโอรสองค์น้องด้วยเห็นพระปรีชาสามารถมากกว่าพระเจ้าเอกทัศน์ซึ่งเป็นพระเชษฐา ครั้นเมื่อทรงสวรรคต พระเจ้าอุทุมพรได้ครองบัลลังก์เพียงแค่ ๓ เดือนก็ถูกแย่งชิงจากพระเจ้าเอกทัศน์ด้วยความที่ไม่อยากให้เกิดการนองเลือดฆ่ากันระหว่างพี่น้องและบริวาร พระองค์จึงออกผนวช ครั้นพระเจ้าเอกทัศน์ครองราชย์ได้ไม่นาน พระเจ้าอลองพญาได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาช่วง พ.ศ.๒๓๐๒- ๒๓๐๓ พระเจ้าอุทุมพรขณะทรงผนวชได้ถูกเรียกร้องจนต้องลาผนวชมาบัญชาการรบผล ของการรบครั้งนี้พระเจ้าอลองพญาได้ถอยทัพ กลับไปและสวรรคตระหว่างทาง

เมื่อศึกสงบ พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงทวงบัลลังก์คืน ไม่ยินยอมให้พระเจ้าอุทุมพรพระอนุชาได้ครองราชย์ พระเจ้าอุทุมพรทรงยินยอมกลับไปผนวชอีกครั้ง จนได้สมญาว่า “ขุนหลวง หาวัด” ต่อมาอีกไม่กี่ปีพระเจ้ามังระ พระราชโอรสของพระเจ้าอลองพญาได้ยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ด้วยความเพียรพยายามปิดล้อมถึงปีครึ่ง ใช้วิธีการต่าง ๆ กรุงศรีอยุธยาจึงแตกใน พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าเอกทัศน์สวรรคต พระเจ้าอุทุมพรขณะทรงผนวชกับเจ้านาย ขุนนาง และผู้คนเป็นจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปพม่า

ถึงตรงนี้ในใจดิฉันคิดว่า ท่ามกลางผู้คนที่มองเห็นอาจจะมีใครสักคนที่มีบรรพบุรุษเคยอยู่ กรุงศรีอยุธยา กาลเวลาผ่านไปก็ย่อมที่จะกลมกลืนกันไปไม่อาจแบ่งแยก

พระราชวังมัณฑเลย์มองจากมุมสูงพระราชวังมัณฑเลย์ที่สร้างใหม่จำลองของเดิมพระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีมองทางด้านข้างองค์พระมหามัยมุนี
ดวงอาทิตย์อัศดงที่สะพานอูเบ็งรถม้าจอดรอรับนักท่องเที่ยวที่เมืองอังวะระฆังมิงกุน

สำหรับคนที่มาเที่ยวมัณฑเลย์แล้วลองจัดโปรแกรม จะพบว่าวันเดียวสามารถไปได้หลายเมือง เช่นวันแรกมาลงที่สนามบินนานาชาติมัณฑเลย์ ช่วงเช้าช่วงบ่ายสามารถไปชมตำหนักไม้สักที่วัดชเวนันดอจอง พระตำหนักไม้สักที่งดงามวิจิตรเพียงหลังเดียวของพระราชวังมัณฑเลย์ ที่เหลือรอดจากการทิ้งระเบิดจากของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเข้าชมพระราชวังมัณฑเลย์ที่สร้างจำลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ครั้นถึงช่วงเย็นสามารถข้ามไปเมืองอมรปุระระยะทาง ๑๒ กิโลเมตรไปเดินเที่ยวสะพานอูเบ็ง วันรุ่งขึ้นตื่นเช้าตีสี่ไปเข้าร่วมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีพระพุทธรูปทองคำองค์สำคัญของเมือง พอตอนสายก็เลียบแม่น้ำอิรวดีไปเที่ยวเจดีย์มิงกุนและชมระฆังยักษ์ ที่เมืองสะกายจากนั้นก็ไปท่าเรือเพื่อข้ามฟากไป นั่งรถม้าชมชนบทของเมืองอังวะ

ชื่อเมืองต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน ในอดีตเมืองเหล่านี้ล้วนเคยเป็นราชธานีหรือ เมืองหลวงของพม่าในยุคราชวงศ์คองบอง ช่วง พ.ศ.๒๒๙๕ – ๒๔๒๘ โดยเรียงลำดับการเป็นเมืองราชธานีเริ่มจากเมืองชเวโบ เมืองสะกาย เมืองอังวะ เมืองอมรปุระ (เคยเป็น ๒ สมัย) และเมืองมัณฑเลย์ ราชธานีสุดท้ายของระบอบกษัตริย์ของพม่า จากนั้นมาพม่าถูกอังกฤษ ปกครองแล้วมาได้เอกราชในปีพ.ศ.๒๔๙๑ (นับรวมเวลาที่อังกฤษปกครองพม่าตั้งแต่บางส่วน จนถึงทั้งหมดคือ ๑๒๔ ปี)

ที่มัณฑเลย์นี้ไปเดินชมสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วค้างคาใจชวนคิดไม่รู้จบ นั่นคือพระราชวังมัณฑเลย์ซึ่งของเดิมที่เป็นพระราชวังไม้สักแกะสลักทั้งหลัง มีตำหนักใหญ่เล็กกระจายกันหลายหลัง พร้อมหอคอยสูงทรงกลมมีบันไดเวียนขึ้นไปอีกหลังหนึ่ง พระราชวังมัณฑเลย์ที่สร้าง จำลองขึ้นใหม่และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ให้ความรู้สึกแบบการเดินชมพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่อลังการ ขณะเดินขึ้นไปทีละขั้นบนหอคอยใจก็นึกถึงฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่สุดหน้าหนึ่งก่อนการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ของพม่า จากหนังสือเรื่องราชินีศุภยาลัภ จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน โดย แฮโรลด์ ฟีลดิ้งฮอลล์

“หลังจากทหารยามทูลพระราชินีว่า เห็นกองเรืออังกฤษใกล้ชายฝั่งจากการมองกล้องส่องทางไกล พระราชินีศุภยาลัภที่ทรงครรภ์ ทรงไต่ช้า ๆ ขึ้นบันไดเวียนสูงชันของหอคอยเพื่อให้ประจักษ์กับสายตาตนเอง ภาพที่ทหารอังกฤษหลายพันนายเดินแถวมุ่งหน้ามายังพระราชวัง ดูเหมือนจะเป็นนาทีที่พระนางได้เผชิญความจริงของชีวิต

“…แล้วจู่ ๆ พระนางก็ทรุดพระวรกายหมอบซบพระพักตร์ลงกับพื้น ทรงกันแสง พระเกศารุ่ยร่าย น้ำพระเนตรอาบพระพักตร์ ผู้คนที่เห็นต่างเดินหลบไปจนไม่เหลือใครอยู่ในบริเวณนั้นอีกนอกจากพระราชินีและพวกเรา (นาง กำนัล) พระนางหยัดตัวขึ้นมาในท่าคุกเข่ายก พระหัตถ์ทุบพระอุระ ร้องฟูมฟายเสียงดังว่า พระนางคนเดียวที่นำความหายนะมาสู่พระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดิน ข้า-ข้าคนเดียวที่นำความพินาศมาสู่พระเจ้าอยู่หัวสวามีของข้า และราษฎรของข้า เพราะข้า-ข้าคนเดียวเท่านั้น”

เหมือนเป็นการเที่ยวตามรอยจากสิ่งที่ได้อ่าน แม้ภาพจะไม่มาปรากฏตรงหน้าด้วยเส้นกั้นของฉากใหม่ ๆ รอบกายที่เปลี่ยนไป แต่ทว่าความลึกลับของจินตนาการ กลับดึงฉากนั้นมาฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก พ.ศ.๒๔๒๘ กองทัพอังกฤษบุกเข้ามายึดพระราชวัง จัดการกวาดทรัพย์สมบัติของมีค่าปลดพระเจ้าธีบอออกจากบัลลังก์ เนรเทศพระองค์พร้อมพระราชินีศุภยาลัภกับพระธิดาสี่พระองค์ไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ตั้งแต่นั้นมาพระราชวังมัณฑเลย์ก็กลายเป็นวังที่ไร้กษัตริย์และทรัพย์สมบัติเหลือให้คนจดจำ จากบันทึกของอังกฤษเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิตของพระนางศุภยาลัภว่าเป็นผู้สั่งการสังหารหมู่พระญาติพระวงศ์จำนวนมากมายเพื่อให้พระสวามีคือพระเจ้าธีบอได้ขึ้นครองราชย์

จากนั้นมาอีกหกสิบปีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘ กองทัพญี่ปุ่นได้เข้าไปยึดพระราชวังมัณฑเลย์โดยก่อนหน้าอังกฤษนำไปใช้ในกิจการกองทัพให้ชื่อว่า ป้อมดัฟเฟอริน พอญี่ปุ่นเข้าไปใช้บ้าง กองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยอังกฤษและอเมริกา ได้นำฝูงบินมาทิ้งระเบิดใส่พระราชวังมัณฑเลย์จนย่อยยับด้วยแรงระเบิดและเปลวเพลิง

หากย้อนดูช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น กรุงเทพฯก็โดนทหารฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพของทหารญี่ปุ่น อย่างที่เราคุ้นเคยในเวลาดูหนังละครจากบทประพันธ์เรื่องคู่กรรมของทมยันตีจุดที่ระเบิดจากท้องฟ้าทิ้งลงมากลางกรุงเทพฯช่วง พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๘ มี ๕ จุดใหญ่คือ สถานีรถไฟบางซื่อ โรงพยาบาลศิริราช สถานีรถไฟบางกอกน้อย สะพานพุทธ และย่านพระราม ๖ ซึ่งไม่ได้ไกลจากพระบรมมหาราชวังหรือวัดวาอารามสถานที่สำคัญเครื่องบินที่มาทิ้งระเบิดมี ๒ แบบคือบี-๒๔ และบี-๒๙ มีทั้งการมาทิ้งระเบิดในเวลากลางวันและกลางคืน ระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงมากลางกรุงเทพฯ มีประมาณ ๑๘,๖๐๐ ลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑,๙๐๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๓,๐๐๐ คน อีกทั้งอาคารบ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมากหลายพันหลัง ปัจจุบันก็ยังมีข่าวว่าพบลูกระเบิดที่ยังตกค้างอยู่โดยไม่ระเบิดทันทีในช่วงนั้น โดยวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ เกิดเหตุที่ร้านรับซื้อของเก่าที่ซอยลาดปลาเค้า ๗๒ ได้เกิดระเบิดมีผู้เสียชีวิต ๘ รายผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบพบว่าเป็นระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่คาดว่าเครื่องบินทิ้งลงมาไปตกลงในบริเวณพื้นน้ำหรือโคลน ทำให้ระเบิดไม่ทำงาน แต่วงจรภายในและดินระเบิดยังใช้การได้ล่าสุดในวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ในพื้นที่ก่อสร้างใกล้สะพานกรุงธนหรือสะพานซังฮี้ฝั่งพระนครขณะกำลังลงเสาเข็ม ได้พบระเบิดฝังกระจายอยู่ในดินลึกประมาณ ๑.๕ เมตร หน่วยเก็บกู้ระเบิดนำขึ้นมาได้ ๙๘ ลูกตรวจสอบเบื้องต้นเป็นระเบิดซ้อมทิ้งจากอากาศชนิด BDU 33 ไม่มีสะเก็ดระเบิด ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วตอนนี้ใครจะรู้ว่ากลางเมืองหลวงของไทยยังมีระเบิดที่ โปรยจากอากาศฝังจมในโคลนอีกกี่ลูก

สงครามโลกครั้งที่สองที่ประเทศมหาอำนาจไปรบกันในประเทศอื่นเป็นสงครามที่เลวร้ายมาก สำหรับประเทศไทยแม้ว่าระเบิดไม่ได้ทำลายสถานที่สำคัญที่สุด แต่จำนวนคนบาดเจ็บล้มตายมีเป็นจำนวนมาก สำหรับพม่าสมบัติของชาติมรดกทางวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมพระราชวังไม้สักอันสง่างามบนพื้นพิภพ เป็นสงครามที่คนพม่าไม่ได้รบกับใครเลย เป็นคนอื่นชาติอื่นมาใช้สถานที่ก่อความพินาศอับปางแล้วก็จากไป เคยมีประโยคที่ดิฉันอ่านผ่านตามาแล้วสะดุดใจ เขากล่าวไว้ว่าอย่าได้หาความยุติธรรมกับสงครามและความรัก

แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะผ่านไปมากกว่าเจ็ดสิบปี จนผู้คนจำนวนมากคิดไปว่าจบไปแล้วเหมือนหนังสือจบเล่ม แต่ความจริงคือทุกวันนี้นาทีนี้ มันยังไม่จบสถานการณ์ของไทย พม่า และอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่เคยมีเครื่องบินชาติมหาอำนาจมาบินอยู่บนท้องฟ้า ความเสี่ยงใน ฉากเหล่านี้ยังมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ผู้นำไม่ฉลาดทันเล่ห์เหลี่ยม ผู้คนไม่มีสติปัญญา เรื่องราวเหล่านี้จะกลับมาอีก

นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมนักท่องเที่ยวทุกคน จึงได้พากันมาที่วัดชเวนันดอจอง เพื่อมาดูพระตำหนักไม้แกะสลักเก่า ๆ หลังหนึ่งพระตำหนักแห่งนี้รอดมาได้เพราะได้มีการขนย้ายมาจากพระราชวังมัณฑเลย์เพื่อนำมาถวายแก่วัด ครั้งแรกที่ดิฉันได้ไปมัณฑเลย์ได้แต่มองผ่านรั้วเข้าไป ไม่สามารถเข้าไปชมได้ตามปกติเนื่องจากที่วัดแห่งนี้มีงานสำคัญของทางการพม่า ได้มีการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาจากประเทศจีนให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะภายในวิหารของวัด ทำให้มีประชาชนเข้ามากราบสักการะอย่างมากมายทั่วทุกสารทิศ ซึ่งถ้าเปิดให้คนจำนวนมากเข้าไปเดินพร้อม ๆ กันในพระตำหนักไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง อาจจะเกิดความเสียหายได้

กรอบบานประตูอันสวยงามของพระตำหนักไม้สักเณรกำลังเดินชมพระตำหนักไม้

แม้การไปพม่าครั้งแรกจะพลาดการเข้าชมพระตำหนักไม้สักอย่างใกล้ชิดแต่การได้ต่อแถวเข้าไปกราบพระเขี้ยวแก้วพร้อมกับพุทธศาสนิกชนชาวพม่าก็เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ พร้อมกับได้มุมมองแบบไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในชีวิต พระเขี้ยวแก้วคือพระบรมสารีริกธาตุของ พระพุทธเจ้าเมื่อมาสถิตอยู่บนแผ่นดินนี้คนพม่า ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่นี่ อยู่ตรงนี้มีทหารเป็นจำนวนมากมาคอยดูแลประชาชนมาคอยอารักขาพระพุทธเจ้ามีการตรวจเข้มไม่ให้นำสิ่งของใด ๆ ติดตัวเข้าไป

ครั้งนั้นเดินไปรอบแรก ดิฉันได้แค่สังเกตหน้าประตูที่มีทหารจำนวนมากตั้งด่านตรวจอยู่ทางเข้า เพราะไม่ให้นำสิ่งใดติดตัวเข้าไป จึงเห็นตรงพื้นดินบริเวณทางเข้ามีกระเป๋าสตางค์หลายใบวางไว้แบบไม่กลัวหาย ส่วนพวกกระเป๋าหิ้วก็เห็นแขวนกันไว้แถว ๆ นั้นหลายใบ การเข้าไปเขาตรวจเข้มแยกชายหญิงสำหรับผู้หญิงต้องนุ่งซิ่นด้วย ก็ได้คนขับรถเป็นธุระพาไปเช่าผ้าซิ่น

จากนั้นก็เดินไหลตามผู้คนเข้าไปรอบนี้ไม่เหมือนเดิมตรงที่นุ่งซิ่น ความที่ไม่เคยนุ่งก็เลยขลุกขลักเนื่องจากเป็นนักท่องเที่ยวจึงไม่ควรไปไหนโดยไม่มีพาสปอร์ตติดตัว จึงนุ่งซิ่นแบบประหลาดโดยนุ่งทับกางเกงขายาวที่พับขาขึ้นมา สตางค์กับเอกสารก็ซ่อนไว้ที่กระเป๋ากางเกง ทีนี้ยิ่งเดินยากเข้าไปอีก เดิน ๆไป ผ้านุ่งก็ขยับหลุด ได้คนพม่าใจดีมีน้ำใจมาช่วยจัดช่วยนุ่งผ้าลำบากไม่ใช่เล่น เท่านั้นไม่พอ ช่วงผ้าหลุดทำตั๋วเข้าชมสถานที่แบบเที่ยวทั้งวันรวมสองเมืองคือมัณฑเลย์และอังวะที่เพื่อนฝากไว้หายไปอีกหนึ่งใบจากที่กลัวหายเลยหายจริง พอดีว่าช่วงตรวจเนื้อตัวทหารหญิงเค้าไม่ได้เรียกดูตั๋วและไม่ได้เพ่งเล็งอะไรจึงผ่านเข้าไปได้ง่าย

เมื่อเข้าไปในโถงห้องที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว มองไปทางใดได้เห็นและสัมผัสได้กับความศรัทธาของผู้คน เนื่องจากมีคนหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก แต่ละคนจึงมีเวลาเพียงแค่เดินเรียงแถวผ่านเข้าไปใกล้แท่นประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วในผอบกันเพียงชั่วครู่เท่านั้น เพียงเท่านี้แต่ละคนต่างรู้สึกตื่นเต้นปีติยินดีอย่างสุดซึ้งถึง แม้จะเป็นชาวพุทธและชอบทำบุญ

แต่ความรู้สึกอย่างนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันรู้สึกได้ทันทีว่า ตนเองเข้าไม่ถึงสิ่งที่อยู่ในใจในแววตาของพวกเขา

****

โปรดติดตามตอนต่อไป

มัณฑเลย์… สะ พา น ข้า ม กา ล เ ว ลา ตอนจบ

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

วัฒนธรรมแถน (๖) พิธีส่งแถน
บทกวี โบยบินจากความกลัว
ที่นี่…เมืองบางขลัง : ปฐมบทแห่งชาติไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com