รอยพระพุทธบาทในตำนานอุรังคธาตุ

ปาทลักษณะนิทาน หรือเรื่องราวของการประทับรอยพระพุทธบาทในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง เป็นสาระสำคัญหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ ดังนั้น แนวคิดเรื่องรอยพระพุทธบาท จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตำนานอุรังคธาตุ ดังที่ปรากฏเรื่องราวของการประทับรอยพระพุทธบาทในที่ต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญในลุ่มแม่น้ำโขงปัจจุบัน เช่น พระธาตุเชิงชุม พระบาทเวินปลา พระบาทโพนสัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทในดินแดนล้านนาปรากฏในตำนานอุรังคธาตุอีกด้วย

เรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทนั้น ในชั้นพระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงสืบต่อกันมา ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ที่ชื่อว่า “ปุณโณวาทสูตร” พระสูตรหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก มัชฌฺมนิกาย มีเนื้อหาที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมและสนทนากับพระปุณณเถระ ผู้จาริกไปจำพรรษาใน “หมู่บ้านสุนาปรันตชนบท” อันเป็นที่อยู่อาศัยของชนผู้ดุร้าย แต่เรื่องราวในปุณโณวาทสูตรมีเพียงหัวข้อธรรมเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทแต่อย่างใด

ในพระสุตตันตปิฎกได้กล่าวถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีลักษณะ ๖ ประการของรอยพระพุทธบาท

ประกอบด้วย

๑. พระพุทธเจ้ามีพระบาทเรียบเสมอกัน

๒. ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีจักร (ล้อ) ที่มีขอบล้อ ดุม และซี่ล้อครบถ้วน

๓. พระพุทธเจ้ามีฝ่าพระบาทนูน

๔. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทยาว

๕. พระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

๖. พระพุทธเจ้ามีพระหัตถ์และพระบาทเหมือนตาข่าย

ลักษณะของรอยพระพุทธบาทนั้น มีลักษณะเด่นคือที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีจักร(ล้อ) ที่มีขอบล้อ ดุม และซี่ล้อครบถ้วน กงจักรจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงการเป็นรอยพระพุทธบาท ดังที่ในโคลงสารปถมสมโพธิฉบับล้านช้าง ได้บรรยายไว้ในตอนที่พราหมณ์ทั้ง ๘ เข้ามาดูลักษณะของพระกุมารสิทธัตถะว่าตรงตามมหาปุริสสลักษณะ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้า มีข้อความดังนี้

“…พอแต่ เหียนห่างชี้ ประเหียนกล่าวทูลถวาย

สามสิบสองครบ ลักขณาดูได้

อันว่า บาทาตีน กงจักรเวียนรอบ

รัศมีแจ่มแจ้ง ทั้งเกลี้ยงอ่อนนวล…”

ส่วนเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทที่ยอมรับกันว่า เป็นรอยพระพุทธบาทของพระโคตมพุทธเจ้าที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมี ๕ แห่ง คือ ที่สุวัณณมาลิกา ที่สุวัณปัพพตะ ที่สุมนกูฏ ที่เมืองโยนกบุรี และที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที

เรื่องราวของรอยพระพุทธบาทได้มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ โดยหลวงจีนฟา เหียน ที่บรรยายไว้ในหนังสือ Records of Buddhist Kingdoms ที่กล่าวถึงการเดินทางในอินเดียและลังกาของท่านในช่วง พ.ศ.๙๔๒ – ๙๕๗ ในหนังสือดังกล่าวหลวงจีนฟา เหียน ได้บันทึกเรื่องพระพุทธเจ้าปราบทิฏฐิของนาค แล้วประทับรอยพระพุทธบาททางเหนือของกรุงอนุราธปุระ

ภาพรอยพระบาทพระพุทธเจ้าที่ดอยผารังรุ้งในสมุดภาพไตรภูมิภาพรอยพระบาทพระพุทธเจ้าทั้งสี่ที่เขาสุมณกูฏในสมุดภาพไตรภูมิภาพรอยพระพุทธบาทจากหลักฐานทางโบราณคดี

(ภาพจาก http://www.vanishingtattoo.com/tattoos_designs_symbols_buddhas_footprint.htm)

ในศตวรรษต่อมามีการเขียนพงศาวดารสิงหล หรือ คัมภีร์มหาวงศ์ ได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่อภัยคีรีวิหารที่อยู่นอกประตูเมืองอนุราธปุระด้านทิศเหนือในศรีลังกาว่าคือรอยพระพุทธบาทของพระโคตมพุทธเจ้าที่สุวัณณมาลิก และในคัมภีร์มหาวงศ์ได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาสุมนะว่าพญานาคเมืองเกลานิยะ ได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้มายังประเทศของตนเพื่อแสดงธรรมและประทับรอยพระพุทธบาทข้างซ้ายไว้ที่สุมนกูฏ ส่วนรอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีนั้น เชื่อว่าคือแม่น้ำนรมทาในอินเดียภาคกลาง ส่วนรอยพระพุทธบาทที่เมืองโยนกบุรีอยู่ที่ยอดเขารังรุ้งในเชียงใหม่ และรอยพระพุทธบาทที่สุวรรณบรรพตอยู่ที่พระบาทของพระพุทธเจ้า จังหวัดสระบุรี

จากคติเรื่องรอยพระพุทธบาทใน “ปุณโณวาทสูตร” ได้มีการนำสาระสำคัญนั้นมากล่าวถึงในตำนานอุรังคธาตุกับเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่ง โดยในตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏที่ “ยอดเขารังรุ้ง” ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในรอยพระพุทธบาทใน ๕ รอยตามตำนาน

การกล่าวถึงเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ยอดเขารังรุ้งในเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในการรับรู้ตำนานรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่ของอาณาจักรล้านนา สะท้อนถึงความสัมพันธ์ขององค์ความรู้เรื่องรอยพระพุทธบาทของล้านนาและล้านช้าง ดังปรากฏเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทที่เขารังรุ้งในตำนานอุรังคธาตุ ดังนี้

“…รอยบาทหมายจิตแก้วชมพูทีปอันมีในเมืองโยนกวตินครนั้น คือว่าเมืองเชียงใหม่พุ้น ดอยอันประเสริฐชื่อว่า ดอยผารังรุ้ง พุ้น มีหินเป็นรูปสะเภางามยิ่งนัก พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ตนไปฉันข้าวในที่นั้น ก็ซ้อนรอยกันอยุดลงไว้ด้วยลำดับ ในหินรูปสะเภาหั้นซุตนแล

พระตถาคตไปบิณฑบาตในเมืองแพร่ อันเป็นที่บุราณบิณฑบาตแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ก่อนซุตนดีหลีแล คนชาวเมืองแพร่ทั้งหลายเห็น เอาข้าวแลปลาขาซะเบียนไฟมาใส่บาตรพระเจ้าแล้วแล พระตถาคตเจ้าก็ถอยหนี ก็จีงขึ้นสู่ไปสู่เทิง ดอยเทพดอยไชยชุมพูทีป แล้วจีงลงเมือขึ้นไปดอยผารังรุ้ง

พระเจ้าเห็นรูปปลาขาปลาซะเบียนไฟมีในรอยปาทลักษณ์แห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ตนแต่ก่อน อันเป็นอปหาริยธรรม พระตถาคตก็บ่ฉันยังปลาอันชาวเมืองแพร่ใส่บาตรให้ทานนั้น พระตถาคตจีงอธิษฐานให้มีชีวิตซุตัว แล้วปล่อยไว้ในน้ำที่นั้น ปลาทั้งหลายยังเป็นรอยไม้หีบคีบไม้ปี้งซุตัวดาย จักตั้งอยู่เท่าเสี่ยงกัปพุ้นดีหลีแล คนทั้งหลายฝูงอยู่ในเมืองอันนั้น เห็นปลาขาปลาซะเบียนไฟ รู้อปหาริยธรรม ย่อมเคารพอยำแอยงรักษาที่นั้นเอานำมาบ่กินยังปลาขาแลปลาซะเบียนไฟ แม้นว่าได้แล้ว เจาะใส่หัวปล่อยเสียดีหลีซะแล…”

ในล้านนามีวรรณกรรมตำนานที่แสดงถึงการเชื่อมโยงตำนานรอยพระพุทธบาทและพระธาตุในดินแดนล้านนา เรื่องตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุธาตุทั้งมวล ฉบับที่พบเป็นคัมภีร์ใบลานจารด้วยอักษรไทยวน พบที่วัดป่าเดื่อ ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อหากล่าวถึงพระธาตุและรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในดินแดนภาคเหนือของไทย และในประเทศพม่ารวมจำนวน ๒๘ แห่ง เป็นเรื่องของสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุจำนวน ๑๘ แห่ง และสถานที่ประทับรอยพระพุทธบาท จำนวน ๑๐ แห่ง ในตอนท้ายได้บันทึกไว้ว่าต้นฉบับพระมหาสามีธรรมสาระได้เดินทางไปพบที่ลังกา เมื่อปีจุลศักราช ๘๒๕ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๒๐๐๖ จึงได้คัดลอกกลับมา และได้เดินทางไปสักการะพระธาตุตามที่ต่าง ๆ จากนั้นจึงมีการคัดลอกสืบต่อมาในดินแดนล้านนา ตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุธาตุทั้งมวลนี้ ซึ่งเรื่องราวตำนานพระธาตุและรอยพระพุทธบาทตามคติลังกาคงได้เผยแพร่ในดินแดนล้านนา น่าจะเป็นต้นแบบตำนานที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตำนานพระธาตุและตำนานรอยพระพุทธบาทในดินแดนล้านนา

เมื่อเชื่อมกับเนื้อหาจาก “ชินกาลมาลีนี” ที่กล่าวถึงการที่พระเทพมงคลเถระพร้อมคัมภีร์พระไตรปิฎก ๖๐ คัมภีร์จากล้านนาเข้ามาสู่ล้านช้างใน พ.ศ.๒๐๖๖ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากมีตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุธาตุทั้งมวลในดินแดนล้านนา ๖๐ ปี เรื่องราว คติการบูชาพระธาตุและรอยพระพุทธบาทจึงได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนล้านช้างด้วย

เมื่อพิจารณาประกอบกับเรื่องการอัญเชิญพระบาง อันเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกามาจากเมืองพระนคร แต่ไม่สามารถนำมาที่เชียงทองได้ จนกระทั่งในรัชสมัยของพญาวิชุล (พ.ศ.๒๐๔๓ – ๒๐๖๓) จึงมีการอัญเชิญพระบางเข้าประดิษฐานในเมืองเชียงทองและเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองหลวงพระบาง อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาที่พึ่งเข้ามามีความมั่นคงในสมัยพญาวิชุล การรับเอาตำนานพระพุทธเจ้าบรรจุธาตุทั้งมวลที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุและรอยพระบาทไว้ยังที่ต่าง ๆ และเมื่อพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาประดิษฐานมั่นคงในล้านช้างแล้ว เมื่อพญาโพธิสาลราชได้เรื่องราวตำนานพระธาตุและรอยพระพุทธบาทจากล้านนาเข้ามาใน พ.ศ.๒๐๖๖ และได้รับอุรังคธาตุนิทานมาจากอินทปัตถนคร ใน พ.ศ.๒๐๗๐ เรื่องราวเหล่านี้จึงได้เข้ามาสู่การรับรู้ของพระสงฆ์และชนชั้นนำล้านช้าง ต่อมาเมื่อมีการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุจงึ มีการนำเอาแนวคิดเรื่องพระธาตุและรอยพระบาทเข้ามาผสานกับนิทานอุรังคธาตุ

จะเห็นได้ว่า ในตำนานอุรังคธาตุ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทที่ปรากฏในท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ได้มีการกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ดอยผารังรุ้ง ที่อยู่ในเมืองโยนกวตินครหรือเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เก่าว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับไว้ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องราวของรอยพระพุทธบาททั้ง ๕ รอยจากคัมภีร์ฝ่ายลังกาและลักษณะของการประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในที่ต่าง ๆ ทั้งบนภูเขาหรือริมแม่น้ำ ได้กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญอีกแนวคิดหนึ่งที่ผู้แต่งนำมาใช้ในการแต่งตำนานอุรังคธาตุ

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com