เผยโฉมผู้สร้างปรากฏการณ์ ณ บ้านปิน


เขาคือผู้สร้างปรากฏการณ์ที่บ้านปิน – มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ และภริยา

 

เผยโฉมผู้สร้างปรากฏการณ์ ณ บ้านปิน

อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นอำเภอเล็ก ๆ แต่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เกี่ยวพันกับตำนานการเดินทางไกลจากละโว้สู่หริภุญชัย ของพระนางจามเทวี เมื่อกว่า ๑,๒๐๐ ปีก่อน อำเภอนี้เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมสวยงามแปลกตา เพียงหนึ่งเดียวของสยามประเทศ 

นั่นคือสถานีรถไฟบ้านปิน สถานีรถไฟขนาดเล็กระดับอำเภอ แต่โดดเด่นด้วยรูปทรงสไตล์ “เฟรมเฮ้าส์” แบบบาวาเรียน (BavarianTimber Frame House) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในแคว้นบาวาเรียของเยอรมัน ผสมผสานเข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทย ๆ ประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้ เหนือบานประตูหน้าต่าง และหน้าช่องจำหน่ายตั๋วประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาดูน่ารักน่าเอ็นดู

จึงน่าสนใจใคร่รู้ยิ่งนักว่าเหตุใดจึงมีสถานีรถไฟสไตล์บาวาเรียของเยอรมัน มาตั้งโดดเด่นอยู่ท่ามกลางป่าสักใหญ่ในอำเภอเล็ก ๆ เป็นเวลานานนับศตวรรษมาแล้ว

 

สถานีบ้านปินกลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวภายในอาคารสถานีรถไฟบ้านปิน

เฟรมเฮ้าส์แบบบาวาเรีย ผสมผสานเข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทย ๆ

คำตอบคือ เพราะผู้ออกแบบอาคารสถานีรถไฟบ้านปิน คือ มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ นายช่างใหญ่ชาวเยอรมัน ผู้ควบคุมการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟขุนตาน ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๐ – ๒๔๖๑

โดย มร.โฮเฟอร์ เข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง ปลายสมัย ร.๕ ซึ่งมีกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการกรม และได้ว่าจ้างชาวเยอรมันทำงานเป็นช่างเทคนิคด้านต่าง ๆ ถึงราว ๒๕๐ คน

มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิคที่มิวนิก เยอรมนี เคยมีประสบการณ์ก่อสร้างทางรถไฟในเยอรมนี และการสร้างอุโมงค์ในเวสปาเลีย งานก่อสร้างประตูน้ำ และทำนบในแม่น้ำที่แฟรงก์เฟิร์ตมาแล้ว

  
สถานีบ้านปิน ในวงล้อมผืนป่าสักแห่งอำเภอลอง จังหวัดแพร่บาวาเรียน ทิมเบอร์ เฟรมเฮ้าส์ โดดเด่นที่บ้านปิน

ถึงตรงนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ ว่าเหตุใดสถานีบ้านปินจึงเป็น “บาวาเรียน เฟรมเฮ้าส์” เพราะมิวนิกเป็นเมืองเอกของแคว้นบาวาเรีย แคว้นหรือรัฐที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมัน นายช่างใหญ่โฮเฟอร์ท่านทำงานหนัก เพราะต้องออกแบบและควบคุมการขุดเจาะถ้ำขุนตาน ซึ่งเป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย
(๑,๓๖๒.๑๕ เมตร) เป็นระยะเวลายาวนาน ท่านจึงคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน

เมื่อได้รับมอบหมายให้สร้างสถานีรถไฟ จึงออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมยอดนิยมของชาวบาวาเรีย เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่งท่านเคยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นนายช่างใหญ่อยู่ที่นี่ ประกอบกับจังหวัดแพร่อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้สักอยู่แล้ว จึงสอดคล้องกับศิลปะ “บาวาเรียนทิมเบอร์ เฟรมเฮ้าส์” ยิ่งนัก

อุโมงค์รถไฟขุนตาน และสถานีรถไฟบ้านปิน จึงเปรียบเสมือนอนุสาวรีย์แห่งชีวิตนายช่างใหญ่ มร.เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ ทั้งยังเป็นกระจกสะท้อนสภาพสังคมไทย ที่เป็นสังคมผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่บาวาเรียน ทิมเบอร์ เฟรมเฮ้าส์ จะมาโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียว อยู่ที่อำเภอเล็ก ๆ อย่างอำเภอลอง จังหวัดแพร่ แห่งนี้ได้

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๔
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

วัฒนธรรมแถน (๖) พิธีส่งแถน
บทกวี โบยบินจากความกลัว
ที่นี่…เมืองบางขลัง : ปฐมบทแห่งชาติไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com