ทางอีศาน 75 : ปิดเล่ม

ปิดเล่ม

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๕
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

 

หยิบค้นเจอหนังสือภาษาลาวเรื่อง “ภูมิใจในวัฒนธรรมลาว” เขียนโดย ดร.พันดวงจิด วงสา (สำนักพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งรัฐ ค.ศ. ๒๐๐๘ หน้า ๕๘-๖๐) อ่านถึงหัวข้อ “สภาพแวดล้อมภายนอกได้ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมของลาว” แล้วอดไม่ได้ ที่จะถ่ายทอดให้ญาติมิตรสหายเพื่อนพี่น้อง ดังต่อไปนี้

“ปรัชญามาร์กซ์ได้ยืนยันว่า : ทุกสิ่งวัตถุและจิตใจไม่อาจอยู่โดดเดี่ยว หากมีความสัมพันธ์แบบอินทรียภาพต่อกัน ทั้งขัดแย้งกัน และทั้งพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในทางเป็นจริงชาติใด ๆ ก็ไม่อาจคงตัวและขยายตัวอย่างโดดเดี่ยวได้ แต่ละชาติล้วนแต่มีความสนิทติดพันกันทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ด้วยเหตุนั้นการคงตัวและขยายตัวของชาติเรา นอกจากจะมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศอีกด้วย

ประเทศเราตั้งอยู่ระหว่างกลางแหลมอินโดจีน มีชายแดนติดกับห้าประเทศ : จีน, เวียดนาม, กัมพูชา, ไทย และเมียนมาร์ ประชาชนบรรดาเผ่าลาวดำรงชีวิตอยู่ตามชายแดนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงได้ไปมาหาสู่ ทำให้ประชาชนลาวและประชาชนประเทศเพื่อนมิตรรับเอาผลสะท้อนทางด้านวัฒนธรรม, รีตคองประเพณีซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะภาษา คำเว้าพูดจาระหว่างลาวและไทย

ด้านหนึ่งเนื่องจากภาษาลาวและไทยมีเค้าอันเดียวกัน
ด้านสองเนื่องจากจุดพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ของสองชาติ ลาว-ไทย สมัยศักดินา ฉะนั้นคนลาวและคนไทยจึงใช้ภาษาด้วยกันได้ วัฒนธรรมส่งผลต่อกัน รีตคองประเพณีส่วนมากคล้ายคลึงกัน ส่วนลาวและเวียดนามประชาชนลาวอยู่ตามชายแดนอันยืดยาว ลาว-เวียดนาม ย่อมมีความสัมพันธ์ตามมูลเชื้อไปมาหาสู่ของประชาชน บวกกับจุดพิเศษความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันละกันต่อต้านจักรพรรดินิยม ฉะนั้นประชาชนสองประเทศจึงมีความสัมพันธ์ร่วมมือกันหลายด้าน กลายเป็นความสามัคคีพิเศษภาษาพูดบางชนเผ่าในแขวงหัวพันก็ได้ปนเปกับภาษาเวียดนาม

ในทางตรงกันข้าม บางชนเผ่าเวียดนามอยู่ตามชายแดนก็พูดเว้า แต่งกาย(นุ่งถือ) แบบคนลาว อยู่แคมชายแดนลาวกับประเทศจีน…แต่และชาติก็มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของตนไม่อาจยื้อแย่งแอบอ้างเอาวัฒนธรรมของผู้อื่นเป็นของตนเอง ต้องตีถอยแนวคิดที่ถือตนเองสูงกว่าชาติอื่น ๆ …”

หนังสือเล่มดังกล่าวข้างต้น ยังได้เน้นถึงผลสะเทือนจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศสปป.ลาว อย่างมากมาย เนื่องจากการปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ (IT) รัฐจึงต้องมียุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมเราเห็นว่าขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหานี้หนักหน่วงยิ่งกว่าประเทศ สปป.ลาว เสียอีก

ทุกชาติมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นความภาคภูมิใจ แต่ปัจจุบันน่าห่วงว่า “วัฒนธรรมไทย” อาจจะคงเหลือแค่ “เปลือก” แต่ จิตใจ (วัฒนธรรมทางจิตวิญญาณ) ใกล้จะสิ้นลมหายใจ เราเห็นว่า “ปัญหาสังคม” มากมาย ทางด้านการเมือง, ด้านพฤติกรรมของคน เช่น อาชญากรรมความรุนแรง, อาชญากรรมหลอกลวงต้มตุ๋นทางเศรษฐกิจ, ภาวะเป็นทาสยาเสพติด, ความเสื่อมถอยทางศีลธรรมในครัวเรือน ในชุมชน ในสังคมทั่วไป มีรากมาจาก “ความเสื่อมของวัฒนธรรม”

“ทางอีศาน” จึงถือว่า “แนวรบด้านวัฒนธรรม” สำคัญที่สุด

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com