อมตะอีสาน ไม่รู้จบ

แผ่นเสียงเพลงไตเติลภาพยนตร์เรื่อง “แผ่นดินแม่” คือเพลง “คืนเพ็ญเข็นฝ้าย” แต่งให้ บานเย็น รากแก่น ขับร้อง

เมืองไทยยุค พ.ศ.๒๕๐๐ ต้น ๆ คนไทยยังไม่พัฒนา เห็นคนอีสานเป็นลาวบักเสี่ยวกินข้าวเหนียวไม่ล้างมือ พวกลาวบักสิเด๋อ เซ่อซ่า ฯลฯ

เมื่อถูกดูถูกดูแคลนกลั่นแกล้ง คนอีสานที่มาบวช มาเรียน มาประกอบอาชีพอยู่กรุงเทพฯ จึงเก็บตัวไม่กล้าแสดงตัวเป็นคนอีสาน กลัวจะถูกดูหมิ่นกลั่นแกล้ง จึงอำพรางตัวตลอดเวลา ไม่บอกถิ่นเกิด ไม่พูดลาว

ผมเป็นคนอีสานที่เข้ากรุงเทพฯ ในยุคนี้ ยังสงสัยและคิดหาเหตุผลว่าทำไม บัตรประจำตัวประชาชนของเราก็บ่งบอกว่า เชื้อชาติสัญชาติไทย แต่ทำไมคนภาคอื่นจึงผลักไสให้เราเป็นลาว

สมัยผู้นำ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยังพยายามรณรงค์ด้วยเสียงเพลง ให้กรมโฆษณาการแต่งเพลงปลุกใจให้คนอีสานเป็นคนไทย เช่นเพลง “นครราชสีมา” เพลง “แดนอีสาน” ที่มีเนื้อร้องว่า “แดนอีสานเป็นของไทย เราใฝ่ใจรัก เตรียมให้พร้อมพรัก” แต่ทำไมจึงปล่อยให้คนไทยภาคอื่น ชี้หน้าว่าคนอีสานเป็นลาว ทำไม จอมพล ป. ไม่สั่งให้แต่งเพลงปลุกใจให้คนไทยภาคอื่นอย่าดูถูกว่าคนอีสานเป็นลาว “จะอยู่ภาคไหนไหน ก็ไทยด้วยกัน รักกันไว้เถิดเราเกิดร่วมแดนไทย” ผมสงสัย

ไม่เป็นไร ผู้นำไม่รณรงค์ให้คนภาคอื่นรู้จักอีสาน ผมนี่แหละลูกอีสานแท้ล้านเปอร์เซ็นต์ ถึงจะไม่ใช่เลือดอีสานเต็มร้อย เพราะเป็นลูก จ.ป.ล. จะต้องทำให้คนไทยภาคอื่นรู้จักคนอีสานดีขึ้นกว่านี้ ภาคอีสาน คนอีสานมีอะไรดี ๆ ที่จะทำให้คนภาคอื่นชอบและยอมรับ คิดอยู่ไม่นาน ผมเองเป็นคนชื่นชอบศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของอีสานอยู่แล้ว “ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงข่วงเข็นฝ้าย ขับลำต่าง ๆ”

เสียงเพลงเสียงลำ เสียงพิณเสียงแคนของอีสาน เมื่อจากบ้านเกิดเมืองนอนมาไกลบ้าน คิดถึงบ้านได้ร้อง ได้ลำ เปล่งเสียงออกมาก็ผ่อนคลายหายคิดถึงบ้าน “คึดฮอดบ้าน” ได้ยินเสียงแคนน้ำตาไหลทุกครั้ง วัฒนธรรมด้านเสียงเพลงเสียงลำเสียงดนตรี นี่แหละ น่าจะนำล่องพาลาวอีสานให้แทรกซึมเข้าสู่อารมณ์ของคนภาคอื่นได้สนิทกว่า

เพลงรำวงพื้นบ้านอีสานเคยเป็นที่สนใจของคนภาคอื่นมาบ้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ เพลง “ลำเต้ย” ของครูเบญจมินทร์ เพลง “เบิ่งโขง” ของครูเฉลิมชัย ศรีฤาชา ดังเป็นที่สนใจของคนภาคอื่นบ้าง ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๔ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม เพลงลาวอีสานจากเสียงร้องของ “ศักดิ์ศรี ศรีอักษร” ดังไปทั่วเมืองไทย จนโกอินเตอร์ สถานีวิทยุ บีบีซี อังกฤษ ภาคภาษาไทยนำไปเปิดดังไปทั่วโลก นักร้องสาวจากอเมริกาเจ้าตำรับจังหวะ “วาตูซี่” ชื่อ “หลุย เคเนดี้” มาซื้อลิขสิทธิ์นำไปบันทึกแผ่นเสียงใหม่ เพลง “ผู้ใหญ่ลีวาตูซี่”

รุ่นครูบาอาจารย์นำร่องไว้เป็นยุคเริ่มต้น ผมบุกเบิกนำวัฒนธรรมเสียงเพลงเสียงดนตรี และภาษาอีสานให้เป็นที่นิยมได้ “นี่คือความคิดของผมสมัยวัยเด็กหนุ่มอายุเพิ่ง ๒๐ ต้น ๆ” มาจับปากกาเขียนย้อนอดีตตอนนี้ ตอนชราอายุ ๗๕ ปีแล้วจึงทบทวนตัวเองว่า “มันคิดได้อย่างไรสมัยนั้น”

เหมือนข้อเขียนของอาจารย์ทองแถม นาถจำนง เรื่อง หนึ่งสมองกับสองขา งานปฏิรูปประเทศและการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน ที่เน้นเรื่องวัฒนธรรมนำล่อง ในขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบ “กระทรวงวัฒนธรรม” ยังคลำแต่เปลือกไม่รู้จักแก่นแท้ของวัฒนธรรมไทย เหมือนตาบอดคลำช้างอยู่นั่น เหมือน คุณบรรณวัชร เขียนในหนังสือ คมชัดลึก ว่า “ท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรม รู้จักไหม ไพบูลย์ บุตรขัน” ฟังแล้วเขินไหม

ดีอยู่หน่อยตรงผู้นำท่านนายก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีจิตสำนึกเรื่องนี้อยู่ตอนปฏิวัติเสร็จก็นำด้วยเพลง “ขอเวลา” ได้ผลเลยตามมาอีกหลายเพลง เมื่อไม่นานยังแถมแต่งเพลงปลุกใจ ครม.อีกด้วย

ผมได้พิสูจน์แล้วว่า วัฒนธรรมศิลปะการรำการร้องเสียงเพลงเสียงดนตรี เป็นสิ่งที่จะซึมซับแทรกแซงไปได้อย่างแบบเนียนและยั่งยืน ทำไมประเทศเกาหลีที่มีวัฒนธรรมเสียงเพลงเสียงดนตรีไม่เท่าไทย ชิ้นดนตรีพื้นบ้านก็น้อยไม่โดดเด่น  การขับร้องฟ้อนรำก็ไม่หลากหลาย ของไทยก็มี “ฟ้อนเงี้ยว” “ระบำรองเง็ง” และ “ฟ้อนเซิ้ง” ทั้งเพลิดเพลินสนุกเร้าใจทุกลีลา การเต้น “กำนังสไตล์” ของนักร้องเกาหลีที่ดังไปทั่วโลกทั้งที่ท่าเต้นก็เชย ๆ สู้จังหวะ “ม้าย่อง” ของไทยเราไม่ได้ เรามีของดีไม่คิดนำเสนอให้ถูกวิธี การเอ็นเตอร์เทนก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนไทยมี

เป็นความโชคดี และดวงดี ของผมในช่วงที่เข้าสู่วงการใหม่ ๆ มีห้างแผ่นเสียงรองรับให้ผมผลิตแผ่นเสียงเพลงลูกทุ่งอีสาน ให้ผมมีสถานีวิทยุที่จะโปรโมท มีนักร้องลูกทุ่งมาให้สร้าง ผลิตแผ่นเสียงเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๐ ด้วยเพลง “ลำเกี้ยวสาว” มาจน “ฮักสาวลำชี” “หนุ่มบ้านแต้” “หนาวลมที่เรณู” “บ้องกัญชา” “เซียงบัวล่องกรุง” “อีสานลำเพลิน” “ทุ่งกุลาร้องไห้” ฯลฯ สอดรับกับเพื่อนนักแต่งเพลงลูกอีสาน ครูสัญญา จุฬาพร แต่งเพลง “ลาก่อนบางกอก” “ซามาคักแท้น้อ” ให้ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ขับร้อง ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แต่งเพลง “สารวันรำวง” ให้ไวพจน์ ขับร้อง “ตะวันรอนที่หนองหาร” ให้ศรคีรี ศรีประจบ ขับร้อง “อีสานบ้านของเรา” ให้ เทพพร เพชรอุบล ขับร้อง ตามมาด้วย ครูเทพพร เพชรอุบล แต่ง “คักใจเจ้าแล้วบ่” “สัญญาเดือนสาม” ให้ ศักดิ์สยาม เพชรชมภู ขับร้อง ครูดาว บ้านดอน แต่งเองร้องเอง “หนุ่มยโสธร” “ลำเพลิน เจริญใจ” บุกเบิกมาจากรุ่นสู่รุ่น ลูกศิษย์สร้างเพลงแนวลูกทุ่งอีสานตามมา “สรเพชร ภิญโญ” “เฉลิมพล มาลาคำ” “พรศักดิ์ ส่องแสง” ฝ่ายหญิงก็นับแต่ “ฉวีวรรณ ดำเนิน” “อังคนางค์ คุณไชย” “บานเย็น รากแก่น” “เย็นจิตร พรเทวี” “จินตหรา พูนลาภ” “พิมพา พรศิริ” เรื่อยมาไม่ขาดสายจนถึงยุค “ลูกทุ่งอีสานกลายพันธุ์” หรือ “ลูกทุ่งอีสานอินดี้” ก้อง ห้วยไร่ เบิ้ล ปทุมราช แซ็ค ชุมแพ ฯลฯ

กลุ่มนักเขียนญี่ปุ่น มาสัมภาษณ์เรื่องเพลง “อีสานลำเพลิน” นำไปเผยแพร่ที่ประเทศญี่ปุ่นแผ่นเสียงเพลงไตเติ้ลภาพยนตร์เรื่อง “แผ่นดินแม่” คือเพลง “คืนเพ็ญเข็นฝ้าย” แต่งให้ บานเย็น รากแก่น ขับร้อง

นี่คือผลพวงเส้นทางสายวัฒนธรรมอีสาน ที่คนรุ่นครูบาอาจารย์ได้สร้างแปลงไว้ให้ ที่สมควรจะรับรู้ ไม่จดจำก็ไม่ควรจะเหยียบย่ำ ไม่รู้คุณครูก็ไม่ควรหลู่วิชา ที่ได้ทำมาหากิน ตามแบบอย่าง “วัฒนธรรมที่ดี” ของคนอีสาน

 

ทางที่โล่ง      โปร่งใส     ไร้ขวากหนาม

ผู้เดินตาม      มาข้างหลัง    ถึงฝั่งฝัน

สพสำเร็จ      เสร็จหวัง      ดั่งใจพลัน

จนถึงขั้น       มีชื่อเสียง    เพียงไม่นาน

รู้บ้างไหม      ทางสายนี้    ที่เตียนโล่ง

ใครหักล้าง     ถางพง        ส่งประสาน

โรยด้วยกลีบ   กุหลาบ       ฉาบตระการ

เป็นตำนาน       ไร้คุณค่า      น่าเศร้าใจ…

*

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๘
ปีที่ ๗ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com