การส่งส่วยในภาคอีสาน

Suay’ tributes originated from far out provinces. Mostly and almost half of them, i.e. 72 out of 152 provinces, were from the Northeast, which was fertile and full of forest produces. The suay commoners had to deliver their tributes yearly to the tribute centers when they reached adulthood until retired. The tribute centers would then forward the tributes with lots of hardship after the rainy season to the capital city. It would take them three or four months until they got home again. Part of the tributes had Bangkok as their destination. Some tributes even went as far as China, Middle East and Europe.

The suay system was also related to the benefits sharing between the provincial lords and the king, and in wealth distribution among the Esan lords themselves. This will be dealt with in another article.


ผลเร่วหรือหมากแหน่ง ซึ่งหัวเมืองอีสานหลายเมืองส่ง กรุงเทพฯ ก่อนสมัยปฏิรูปการปกครอง ร.5

การส่งส่วย คือ การส่งภาษีของไพร่หลวงที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงให้รัฐบาลนั่นเอง ภาคอีสานมีความสำคัญต่อรัฐบาลมากที่สุดในการส่งส่วย เพราะมีเมืองที่ส่งส่วยมากที่สุดในประเทศ กล่าวคือมีถึง ๗๒ เมือง ในขณะที่ภาคกลางมี ๓๗ เมือง ภาคตะวันออก ๑๕ เมือง ภาคใต้ ๑๒ เมือง  ภาคตะวันตก ๘ เมือง ภาคเหนือ ๖ เมือง (สุวิทย์ ธีรศาศวัต ๒๕๔๘:๑๒๖)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงการส่งส่วยในภาคอีสาน ตั้งแต่ภาคอีสานและลาวมาขึ้นกับรัฐไทยทั้งหมดตั้งแต่สมัยธนบุรีปี ๒๓๒๒ จนมาถึงสมัยปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ ๕ (๒๔๑๑-๒๔๕๓) ใน ๕ ประเด็น คือ คนที่เสียและไม่เสียส่วยเป็นใคร  เสียอะไร  เสียเท่าใด  เสียกับใคร  วิธีการส่งส่วยมาส่วนกลางทำอย่างไร

๑. ใครที่เสียส่วยและใครที่ไม่เสีย

คนที่ต้องเสียคือชายฉกรรจ์ ได้แก่ ชายที่สูง ๒ ศอก ๑ คืบ (๑๒๕ ซม.) วัดจากเท้าถึงไหล่ และต้องเสียไปจนอายุ ๗๐ ปีจึงปลดชรา

คนที่ไม่เสียส่วยมี (๑) เด็ก (๒) ผู้หญิง (๓) คนชรา ๗๐ ปีขี้นไป (๔) ไพร่หลวง ไพร่ส่วยที่มีลูกเป็นไพร่หลวง ไพร่ส่วยแล้วสามคนขึ้นไป (๕) พระ เณร (๖) ทาส ข้าพระ (๗) คนบ้า ใบ้ พิการ (๘) ขุนนางศักดินา ๔๐๐ และครอบครัว (สุวิทย์ ธีรศาศวัตและคณะ ๒๕๕๘:๕๑)

 ๒. เสียอะไร

รัฐบาลเป็นผู้กำหนดว่าเสียอะไร เสียคนละเท่าใด ตามหลักฐานชั้นต้นพบว่าหัวเมืองลาว  อีสานมีสิ่งของ ๒๐  ชนิดที่เป็นส่วยคือ ผลเร่ว (หมากแหน่ง) ไม้สัก ขี้ผึ้ง ครั่ง กระวาน งาช้าง ป่าน น้ำรัก (ใช้ลงรักปิดทองเอามาจากต้นรัก อีสานเรียกต้นน้ำเกี้ยง) ผ้าขาว ทองแดง นอแรด อบเชย ไม้กฤษณา ปลาบึก ควาย ดินประสิว เส้นไหม ทอง หากไม่มีสิ่งที่ว่านี้ให้จ่ายเงินแทนคนละ ๔ บาท (บุญรอด แก้วกัณหา ๒๕๑๘:๙๑-๙๓ ; ธีรชัย บุญมาธรรม ๒๕๓๖:๑๒๖-๑๒๙)

๓. เสียเท่าใด

ไพร่ส่วยแต่ละคนในเมือง ๆ หนึ่งจะเสียส่วยชนิดเดียว ปีละครั้งตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดเช่น งาช้าง ขี้ผึ้ง คนละ ๒.๔ กก.ครั่ง  ผลเร่ว คนละ ๑๒ กก.ป่านคนละ ๓๐ กก. ภายหลังลดเหลือ ๑๕ กก. ผ้าขาวคนละ ๖ ผืน ภายหลังลดเหลือ ๔ ผืน เมืองในอีสานเสียคล้ายกันก็มี ต่างกันก็มี บางเมืองเปลี่ยนชนิดของส่วยไปหลายอย่างก็มี เช่น ขอนแก่นเสียผลเร่ว กระวาน ป่าน  โคราชเสียทองคำผุย (คือทองคำผงคนละ ๒ สลึง) น้ำรัก ป่าน  อุบลเสียทองคำผุย  ขี้ผึ้ง น้ำรัก ป่าน  สุรินทร์เสียควาย  ศรีสะเกษเสียเร่ว  ร้อยเอ็ดเสียกระวาน ขี้ผึ้ง ผ้าขาว ป่าน  กาฬสินธุ์เสียผลเร่ว กระวาน ขี้ผึ้ง ผ้าขาว น้ำรัก ป่าน เมืองเล็ก ๆ เช่นภูเวียงเสียทองคำผุย รัตนบุรี  อำนาจเจริญ อากาศอำนวย เรณูนคร อาทมาต กุสุมาลย์ เสียควาย หากเมืองใดไม่สิ่งของที่กำหนดก็ให้เสียเป็นเงินหนัก ๔ บาท เงิน ๑๐ บาทสมัยนั้นแลกทองคำได้ ๑ บาท ปัจจุบันทองแท่งบาทละ ๑๘,๘๐๐ บาท  ๑ บาทสมัยนั้นจึงราว ๆ ๑,๘๘๐ บาท  เงิน ๔ บาทสมัยนั้นจึงมีค่าราว ๗,๕๒๐บาทในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าไพร่ส่วยสมัยนั้นเสียภาษีไม่น้อยเลย

 ๔. เสียให้ใคร

รัฐได้ให้หัวเมืองอีสานแต่ละเมืองควบคุมไพร่โดยแบ่งเป็น ๔ กองคือ กองเจ้าเมือง กองอัปฮาด กองราชวงศ์ กองราชบุตร แต่ละกองมีนายกอง นายหมวด นายหมู่ ตามลำดับ ถึงกำหนด ผู้มีตำแหน่งเหล่านี้ก็จะป่าวร้อง ส่งข่าวให้นายบ้านบอกลูกบ้าน นำส่วยมาส่งที่นายหมู่ ๆ ก็นำส่งนายหมวด นายกองตามลำดับ

 ๕. วิธีการส่งส่วยสู่เมืองหลวงทำอย่างไร

เจ้าเมืองจะสั่งให้ราชวงศ์หรือราชบุตรนำส่วยทั้งหมดส่งเมืองหลวง ในช่วงสิ้นฤดูฝนเพราะการเดินทางจะสะดวก โดยนำส่วยใส่กระทอ ๆ ละราว ๆ ๑๕ กก. บรรทุกหลังวัวตัวละสองกระทอ เดินทางผ่านโคราช ตรงนี้มีทางไป กทม.สองทาง ทางหนึ่งไปทางปากช่อง ซึ่งมีอันตรายมากจากไข้ป่าจึงเรียกว่าดงพญาไฟ ตอนสร้างทางรถไฟสมัย ร.๕ มีวิศวกรเยอรมันตายไป ๓๖ คน กรรมกรจีนตาย ๔๑๔ คนเพราะไข้ป่า (สมิธ ๒๕๔๔:๒๖๒-๒๖๔) แต่เป็นทางตรงที่สุดที่จะไปสระบุรี แล้วพักกองส่วยที่สระบุรี เปลี่ยนกระทอ ชั่งน้ำหนัก แล้วบรรทุกเรือล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก  เจ้าพระยาถึง กทม.  อีกทางจากโคราช ผ่านปักธงชัย เปลี่ยนไปลงเรือที่กบินทร์บุรี ล่องไปตามแม่น้ำกบินทร์บุรี บางปะกง คลองแสนแสบ ถึง กทม.

กองส่วยต้องไปที่กรมมหาดไทยเพราะกรมนี้ดูแลหัวเมืองเหนือ อีสาน มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พนักงานกรมมหาดไทยจะพากองส่วยมาที่กรมพระคลังมหาสมบัติ เพื่อชั่งและทำบัญชีส่วยรายงานกรมทั้งสอง กรมมหาดไทยยังต้องแจ้งหัวเมืองส่งส่วยว่าได้รับส่วยเท่าใด ขาดไปเท่าใด พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทราบจากรายงานของเสนาบดีกรมพระคลังว่าปีนี้เมืองใดได้ส่วยเท่าใด ลด เพิ่ม หรือเท่าเดิม ถ้าลดหรือเพิ่มจะมีเหตุผลแจ้งมาด้วย (สุวิทย์ ธีรศาศวัต ๒๕๗๗:๑๑๕-๑๑๘)

หากเป็นส่วยที่จะส่งออกต่างประเทศ กรมมหาดไทยจะพากองส่วยไปส่งที่กรมพระคลังสินค้า ส่วยหลายชนิดต่างชาติต้องการมาก เช่น ผลเร่วจีนเอาทำยารักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ปัจจุบันเอาทำครีมทาหน้าราคาแพงมาก งาช้าง กระวาน ไม้กฤษณาต่างชาติโดยเฉพาะอินเดีย ตะวันออกกลางเอาไปทำน้ำหอม อบเชยเป็นสมุนไพรและปรุงอาหาร น้ำรักเอาไปทำเครื่องเขิน เป็นต้น  ส่วยหลายชนิดเป็นสินค้าผูกขาดของรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยอยุธยาใครลักลอบค้ามีโทษถึงประหารชีวิต

สรุป ส่วยมีต้นทางจากหัวเมืองไกล ที่มากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งคือ ๗๒ เมืองจาก ๑๕๐ เมืองมาจากภาคอีสาน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าและของป่า โดยไพร่ส่วยจะต้องนำมาส่งกองส่วยปีละครั้งตั้งแต่วัยฉกรรจ์จนปลดชรา กองส่วยจะต้องลำเลียงส่วยมาส่งเมืองหลวงหลังฤดูฝนด้วยความยากลำบากราวสามสี่เดือนจึงจะกลับถึงบ้าน ปลายทางของส่วยส่วนหนึ่งสิ้นสุดที่ กทม. แต่บางส่วนส่งไปไกลถึงจีน ตะวันออกกลาง และยุโรป 

เรื่องส่วยยังเกี่ยวพันไปถึงการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าเมืองกับพระเจ้าแผ่นดิน  ระหว่างเจ้าเมืองกับเจ้าเมืองในอีสานด้วยกัน ซึ่งจะเขียนเป็นอีกบทความหนึ่งต่างหาก

กระวาน เป็นส่วยที่หัวเมืองอีสานส่งเมืองหลวง

 

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๘
ปีที่ ๗ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com