ปฐมบทแห่งชีวิต: อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ตอนที่ ๒

ปฐมบทแห่งชีวิต: อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ตอนที่ ๒

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๑ ปีที่ ๑​ เดือนมีนาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: หอมดอกผักกะแญง
Column: Sweet Smelling Vegetables
อัตชีวประวัติ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา

ด้วยรำลึกถึง…ตาอ่อนขี้เหล้า

เริ่มจากวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ เดือนข้างขึ้น ๘ ค่ำ สาดแสงนวลกระจ่างทุ่งบ้านดอนใหญ่ ตำบลดอนใหญ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

แม่เล่าให้ฟังว่า ผมถือกำเนิดตอนยามต้นของคืนนั้น ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ ปีชวด เป็นยามที่ผู้บ่าวเป่าแคน ดีดซุง (พิณ) เลาะบ้าน ไปแอ่วสาวเข็นฝ้ายตามบ้านเรือน หรือไม่ก็ไปเว้าสาวตำข้าวครกมอง ซึ่งจุดไต้ขี้กระบองเป็นแสงสว่างเว้านัวหัวม่วนชวนชิดพิศวาส ตามประสาบ่าวบ้านนอกสาวบ้านนา

ยามเช่นนี้แหละที่ผมถือฤกษ์เกิดมาเป็นลูกผูกสายอู่ของคุณพ่อคุณแม่ ท่ามกลางความปลาบปลื้มปีติยินดีของคนในบ้าน โดยเฉพาะคุณตานั้นเห่อหลานคนนี้มาก เพราะเป็นลูกคนแรกของลูกสาวคนเดียวที่เป็นครู และเป็นลูกคนเดียวที่ได้รับราชการเป็นครู แม่ตั้งชื่อเล่นว่า “ตึ๋ง” แต่ตาเรียก “บักตึ๋งหัวโป” เหตุเพราะผมหัวโต หรือที่ภาษานรลักษณ์ หรือ โหงวเฮ้ง เรียกว่า หัวสิงห์

ผมคงต้องคุยโม้ถึงตาตามที่ได้ฟังจากคำบอกเล่าของแม่ เพราะเมื่อตาเสียชีวิตนั้นผมยังไม่เดียงสา คือจำรูปร่างหน้าตาของท่านไม่ได้ ชะรอยปุ่มสัญญาความจำยังไม่เปิดใช้งาน จึงต้องอาศัยคำบอกเล่าของแม่

สมัยหนุ่ม ตาเป็นนายฮ้อย ต้อนควายลงไปขายทางเมืองใต้−เมืองล่าง แถบบางกอก นครนายก ปราจีนบุรี ซึ่งต้องไปกันเป็นคาราวาน ทั้งเกวียน ทั้งม้า และเดินเท้า ตาจึงต้องมีวิชาลูกผู้ชาย เวทย์มนต์คาถา สักเลขลงยันต์ อาบว่าน อาบน้ำมัน แม้กระทั่งมีดดาบที่ถือก็ต้องเป็นดาบมนต์ มีดมนต์ ผมเคยเห็นดาบลงยันต์ของตาที่บ้านของลุง พี่ชายของแม่ ตอนยังเป็นวัยรุ่นเรียนอยู่ราว ๆ ม.๓-ม.๔ มันเป็นดาบที่งามจริง ๆ ทั้งด้ามทั้งฝักถักด้วยเชือกป่านลงรัก เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมตามหาดาบเล่มนั้น เพื่อจะได้ยลสิ่งที่เป็นเครื่องหมายสำคัญในชีวิต แต่ก็ไม่เจอร่องรอย

ก็แน่ละ…เวลาจากวันนั้น อายุของผมมันก็สิบห้าหยก ๆ สิบหกหย่อน ๆ เข้าไปแล้ว ถึงวันนี้ตัวเลขของอายุมันเตลิดไปเจ็ดสิบสี่เข้าเจ็ดสิบห้าเข้าไปแล้ว…มันนานมาก

อะไรกัน ผมอายุเจ็ดสิบห้าแล้วจริง ๆ หรือนี่ทำไมทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาและผ่านออกไปจากชีวิตจึงดูเหมือนว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันก่อนนี่เองทุกอย่างยังแจ่มอยู่ในความทรงจำ ก็คงเพราะอย่างนี้กระมัง พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่า

“ชีวิตนี้เป็นของน้อย สั้นนัก เหมือนพยับแดด เหมือนน้ำบนใบบัว รอยขีดบนผืนน้ำ และน้ำค้างบนยอดหญ้า”

ทุกสิ่งที่ทรงตรัสถึงนี้ เป็นของปรากฏอยู่เพียงครู่เพียงยาม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สิ้นไป วูบวาบวับดับหาย ไม่จีรังยั่งยืน ไร้สาระแก่นสาร เป็นธรรมชาติที่เป็นจริงของชีวิต เป็นเช่นนั้น ถ้าหากไม่สรรค์สร้างสาระให้กับชีวิตแล้ว ชีวิตก็จะผ่านไปเพียงเพื่อการดิ้นรนแสวงหามาปรนเปรอ เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ หรือ กิน-นอน-สืบพันธุ์ แล้วก็จากโลกนี้ไป ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เป็นอนุสรณ์ของการที่ได้เกิดมา

ย้อนมาพูดถึงตาอีกที เมื่ออายุตามากขึ้น เริ่มมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง แต่ละคนก็มีไร่มีนาที่ตาแบ่งปันให้ทำมาหากินกันถ้วนทั่วแล้ว ตาก็เลิกเดินทางไกล เลิกร่วมขบวนนายฮ้อยที่ลงไปค้าควายเมืองล่างเหมือนเคย แต่ก็เลี้ยงวัวควายไว้ขายให้นายฮ้อยผู้ที่เขายังประกอบอาชีพอยู่ ซึ่งนายฮ้อยคนนี้เป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งของบ้านดอนใหญ่

ตาชอบดื่มเหล้า ชาวบ้านจึงเรียกแกว่า “พ่อใหญ่อ่อนขี้เหล้า” แต่ตาก็เป็นที่รักใคร่นับถือของคนทั่วไป เพราะตาเป็นคนใจดี ตลกโปกฮาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใครมาออกปากขอพึ่งพา ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงแล้วมักไม่ผิดหวัง ตาจะแบกผมขึ้นบ่าหรือไม่ก็ขี่คอเลาะบ้านอยู่เสมอ เที่ยวอวดหลานด้วยความปลาบปลื้มฮักแพง

และก็มาถึงวันสุดท้ายของตา แม่เล่าว่า มือของตายังเกาะสายอู่ของผมจนต้องแกะออก

ผมสวดมนต์ไหว้พระหรือทำบุญทำทานคราใด ไม่ลืมที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ตาเสมอมา…คุณตาอ่อนตา ฐิตะสาร


ปฐมบทแห่งนักพากย์

 

กว่า ๗ ปีที่ผมเป็นนักพากย์ แต่ใครเลยจะรู้ว่าผมเริ่มชีวิตนักพากย์อย่างไร

แม้ท่อนเพลงกระท่อนกระแท่นข้างต้น ผมจะไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้แต่ง แต่เพลงท่อนนี้ก็ฝังในหัวและติดตามผมตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งบัดนี้

ตอนที่ผมเริ่มจำความได้ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นครูทั้งคู่ ได้ย้ายไปสอนตามโรงเรียน ๒-๓ แห่ง จนมาหยุดลงที่บ้านนาเอือด ตำบลนาคำ อำเภอโขงเจียม (ศรีเมืองใหม่) ในจังหวัดอุบลฯ บ้านนี้เป็นหมู่บ้านใหญ่ เป็นชุมทางค้าขายที่คนต่างหมู่บ้านนำของป่า พวกน้ำมันสน ชัน ครั่ง หนังสัตว์และอื่น ๆ มาขาย ขากลับก็พากันซื้อข้าวของเครื่องใช้ เช่น เสียม มีด พร้า ฝ้าย ทั้งที่ยังเป็นดอกและเป็นเส้นด้าย เพื่อนำไปทอผ้าไว้ใช้ หมู่บ้านนี้เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่เจริญกว่าหมู่บ้านใด ๆ ในละแวกเดียวกัน

ผมเริ่มเรียนชั้นมูล (อนุบาล) และประถม ๑ ที่นี่ และที่นี่เอง ที่ผมเริ่มซึมซับเอาการร้องรำทำเพลง รำวงรำโทนเข้าสู่ชีวิต ซึ่งผลของการซึมซับในครั้งนั้นมันช่างรุนแรงและส่งผลต่อชีวิตของผมทั้งชีวิตทีเดียว สาเหตุก็เนื่องมาจากแม่เป็นครูสอนนาฏศิลป์ มักพานักเรียนมาร้องรำทำเพลงในเวลากลางคืนที่บ้าน และผมก็จะออกไปร้องไปรำกับพี่ ๆ ประสาเด็ก ทั้งร้องทั้งรำสนุกสนานอย่าบอกใคร

ช่วงนี้เองที่บริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งมีแผนจะขยายสาขาจากตัวจังหวัดออกไปที่บ้านนาเอือดด้วยรายได้ที่ยั่วยวนใจ ทำให้พ่อตัดสินใจลาออกจากครูมาก่อตั้งบริษัทสาขา แล้วอีกพักหนึ่งแม่ก็ลาออกตามมา

แล้วชีวิตครอบครัวที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ แบบครอบครัวครูก็เริ่มผกผัน แล้วก็ผกผันอย่างรวดเร็วชนิดที่ตั้งตัวไม่ติด เมื่อผู้จัดการใหญ่บริษัทแม่ในจังหวัดถูกยิงตาย แล้วบริษัทลูกของพ่อก็มีอันพังพาบพับฐานไปด้วย

ต่อมา พ่อแม่ได้อพยพเข้าไปค้าขายในตัวจังหวัด ผมย้ายที่เรียนมาเรียนชั้น ป. ๒ ที่โรงเรียนอุบลวิทยาคม ตรงกับช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นแพ้สงครามแก่ฝ่ายพันธมิตร ทหารญี่ปุ่นถูกปลดอาวุธ ถูกจับเป็นเฉลย และถูกนำตัวมาไว้ที่โรงเรียนเตรียมอุดม ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนฝึกหัดครู และต่อมาเป็นวิทยาลัยครู และเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในปัจจุบัน

เวลานั้น ทหารพันธมิตรเต็มบ้านเต็มเมืองร้านอาหารบาร์รำวงผุดขึ้นราวดอกเห็ด สาว ๆ ใส่กระโปรงนิวลุค แต่งตัวฉูดฉาด ออกจับฝรั่ง ตบเงินแขก ควงทหารฝรั่งเศสและแขกนิโกรนั่งรถจี๊ปฉุยฉาย จนมีเพลงกระเซ้าจากหนุ่มไทย ที่บางวรรคบางท่อนของเพลงนี้มันฝังแน่นในความทรงจำมาจนบัดนี้

เมื่อวานเย็น             เห็นเธอนั่งรถจี๊ป
ซุบซิบหยิบทรัพย์    เจ้าแขกดำ
นุ่งสแล็ครองเท้า    ชวนเต้นรำ
หมวกทรงงามขำ    เจ้าแขกดำซื้อให้ฟรี…

จังหวัดอุบลราชธานีมักจะต้องเกี่ยวพันกับสงครามอยู่เสมอ ซึ่งก็เหมือนกับจังหวัดชายแดนทั่วไป อย่างเมื่อสงครามเวียดนามที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ ๔ ทศวรรษ เมืองอุบลฯ ก็เป็นฐานทัพแห่งหนึ่งที่รองรับทหารอเมริกัน เงิน เซ็กส์ เหล้าเบียร์ ชักแถวหน้าพาความเสื่อม ซ่อนรูปมากับความเจริญหูเจริญตาเจริญใจ เกิดความนิยมที่แทรกซึมแปลงเป็นวัฒนธรรมใหม่ เป็นมรดกตกค้างเมื่อวันเวลาผ่านไป พร้อมกับการเสื่อมไปของวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทย

ชีวิตที่ผ่านมาที่ว่าผกผันแล้วยังไม่เท่ากับความผกผันใหม่ในช่วงสงคราม คุณพ่อที่รับราชการมาทั้งชีวิต พอเปลี่ยนมาค้าขายก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าซ้ำยังถูกจับฐานค้าของที่เป็นอุปกรณ์เหลือจากสงคราม เหตุเพราะไปรับซื้อของจากคนที่ขโมยมาโดยไม่รู้ ก็รับซื้อของโจรนั่นแหละ กว่าจะจัดการให้เรื่องเรียบร้อยก็นานเป็นเดือนสองเดือน และในที่สุดก็ผ่านไปได้อย่างทุลักทุเล

เมื่อผมเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนศรีทองวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดในเวลานั้น ก็เป็นช่วงที่พ่ออพยพเข้าป่า ไปซื้อที่ดอนทำไร่อ้อย ที่บ้านคำโพธิ์ อำเภอวารินชำราบ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ผมถูกนำตัวไปฝากไว้กับหลวงลุงซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ที่วัดสุทัศน์วราราม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของทุ่งศรีเมือง สวนสาธารณะใจกลางเมืองในปัจจุบัน

ที่นี่ ผมเริ่มเป็นเด็กหนีเรียน แต่ไม่ได้หนีไปเกเรที่ไหน คือผมชอบเช่าหนังสือนิยายไปหลบอ่านอยู่แถวริมฝั่งมูล บางวันก็ข้ามไปหาดวัดใต้หามุมสงบอ่านนิยาย นิยายที่อ่านส่วนมากเป็นบทประพันธ์ของ ป.อินทรปาลิต อย่างเรื่อง เสือดำ เสือใบ แดนดาวโจร และหัสนิยาย พลนิกรกิมหงวน ชุดสามเกลอ อ่านแล้วหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง ทั้งงานประพันธ์ของ จ. ไตรปิ่น ไม้ เมืองเดิม ยาขอบ มนัส จรรยงค์ อ่านลุยไปเรื่อย ทั้งกาพย์กลอนโคลงฉันท์

…การเรียนอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ผมหมายถึงพอเอาตัวรอด ผลสอบอยู่ในระหว่าง ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์ ถูกครูลงโทษและตักเตือนเรื่องหนีเรียนโดนทีก็ปรับปรุงตัวเองที เวลาเรียนก็พอมีสิทธิ์สอบลำดับเลขที่สอบได้มักจะอยู่ที่ ๒๐ ขึ้นในจำนวนนักเรียน ๔๐ คน ไม่เคยได้ที่ที่เป็นตัวเลขเดียวสักครั้ง

วิชาที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ ภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อาศัยจากการเป็นนักอ่านนั่นเอง ความรู้ภาษาไทยวัดผลจากการที่มักจะมีเพื่อน ๆ ให้ช่วยแต่งจดหมายรัก กลอนรักอยู่เสมอ ๆ และก็ส่งอานิสงส์ให้เพื่อน ๆ ได้แต่งงานจากปลายปากกาของผมไปก็หลายคน

ในอีกด้านหนึ่ง ผมเป็นเด็กวัด และต้องย้ายวัดอยู่ถึง ๔ วัด จึงเรียนจบ

สมัยนั้นเด็กวัดต้องลงทำวัตรเย็นร่วมกับพระเณร และบางวัดก็ร่วมทำวัตรเช้าด้วย ถ้าเป็นวันพระก็มีฟังเทศน์ ตามด้วยนั่งสมาธิภาวนาต่ออีกแรก ๆ ก็เหมือนถูกบังคับให้กินยาขมหม้อใหญ่เป็นเวลาที่เบื่อและเซ็งของบรรดาเด็กวัด แต่พอต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน และหลวงลุงหลวงตาอบรมขูดกะลาเข้าบ่อย ๆ ก็เริ่มเห็นอานิสงส์ของการสวดมนต์บ้าง

ที่ต้องใช้คำว่า “บ้าง” ก็เพราะภายหลังต่อมาที่ออกเดินทัพจับศึกในสงครามชีวิต เกิดเลอะเลือนหลงลืม มีชีวิตร้อนเร่าเผาลน เมื่อยามที่เกิดวิกฤติก็เลือกเอาวิธีซมซานเข้าวัด แทนที่จะเตลิดไปจนเกินกู่ และในที่สุดชีวิตก็ลอยกลับมาทำวัตรนั่งสมาธิภาวนาเหมือนตอนเป็นเด็กวัดอีกครั้ง เมื่อสังขารแทบจะลุกโอยนั่งโอย ชีวิตบ่ายคล้อยใกล้ย่ำสนธยาอย่างในเวลานี้

ที่ถูกหลวงลุงหลวงตาเฆี่ยนและอบรมค่อนข้างบ่อย ก็คือการแอบหนีเรียนไปฟังดนตรีเวลามีงานตามวัดต่าง ๆ เพราะเสียงเพลงที่ลอยมาจากลำโพงนั้น มันเย้ายวนกวนใจจนทนไม่ไหว ลืมหมดลืมรสไม้เรียว ลืมคำหลวงตาอบรมสั่งสอน ต้องแอบไปจนได้ ไม่มีดนตรีก็หนีไปดูรำวงหนังประโมทัย หรือหนังตะลุงอีสาน ของ “ครูทิม” ซึ่งคนชอบดู โดยเฉพาะเด็ก ๆ ชอบกันมาก ผมเองก็ติดงอมแงม เรียกว่าดูจนจำบทจำเนื้อเรื่องได้ ระหว่างที่เรียนอยู่ ม.๔-ม.๕ ผมก็เชิดหนังตะลุงได้

มีอยู่วันหนึ่ง…

ผมติดตามหลวงพี่รูปหนึ่ง ซึ่งมาบวชอยู่ในเมืองที่วัดเลียบ ไปเยี่ยมบ้านที่บ้านคูเดื่อ อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองอุบลฯ ปัจจุบันนั่งรถไปไม่ถึง ๑๐ นาที แต่เวลานั้นต้องนั่งเรือกันเป็นชั่วโมง โดยไปลงเรือที่ท่าตลาด

พ่อแม่พี่น้องของหลวงพี่ให้ความรักต่อผมเหมือนลูกเหมือนหลาน และในหมู่บ้านมีเด็กรุ่นผมคนหนึ่งรักทางหนังประโมทัย ตัดตัวหนังด้วยสังกะสีจนเกือบครบทุกตัว พูดคุยถูกคอกันและเป็นเสี่ยวกันกับผม

แรก ๆ ก็ดูการแสดงของเขา แกเป็นคนที่มีใจรักและกล้าแสดง ถึงการแสดงจะตะกุกตะกักทุลักทุเลไม่เร้าใจคนดูนัก แต่ความพยายามนั้นสูง พอแกรู้ว่าผมเล่นหนังประโมทัยได้ คืนหนึ่งแกก็เลยให้โอกาสผมลองแสดง ส่วนแกก็ลงไปนั่งดูปะปนกับชาวบ้านที่มาดูกันเป็นประจำ เพราะยุคนั้นความบันเทิงมีน้อย

หลังจากการแสดงในคืนนั้นผมก็ถูกจองตัวให้ไปเล่นหนังตะลุงที่หมู่บ้านคูเดื่อทุกคืนวันเสาร์ โดยมีเรือมารับที่ท่าตลาดทุกเย็นวันศุกร์ เมื่อกลับวัดในวันอาทิตย์ก็จะได้ข้าวสาร ปลาสด ปลาแห้ง ปลาร้า ปลาเจ่าเพียบ ช่วยให้ลูกศิษย์วัดที่ค่อนข้างอัตคัดอาหาร ได้อานิสงส์อิ่มหนำสำราญไปตาม ๆ กัน

เสี้ยวหนึ่งของชีวิตผมเป็นนักพากย์ แต่ใครเลยจะรู้ว่าผมเริ่มชีวิตนักพากย์จากหนังตะลุง

ขอบคุณภาพหนังตะลุง ประโมทัย จาก http://www.roietphotoclub.com/

อ่านตอนที่ ๑ คลิกที่นี่ 

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com