วันนี้ของครูเพลง สัญญา จุฬาพร

วันนี้ของครูเพลง สัญญา จุฬาพร

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: คนบนที่ราบสูง
Column: People of the Plateau
ผู้เขียน: แดง ชบาบาน

ส่วนตัว ฉันไม่รู้จักกับครูเพลง สัญญา จุฬาพร เลย มีโอกาสพบเจอท่านเพียงครั้งสองครั้งในงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดขึ้นเท่านั้น แต่พอต้องมาร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อจัดงาน มุฑิตาคารวะครูเพลง สัญญา จุฬาพร เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา และต้องเป็นหนึ่งในคนเขียนประวัติและผลงานของท่านตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันนี้ในวัย ๘๐ ปี เพื่อนำมาทำเป็นหนังสือฉบับพิเศษแจกในงาน ทำให้ต้องศึกษาเรื่องราวของท่านพอสมควร

และยิ่งศึกษาข้อมูล ยิ่งทำให้ทึ่งกับหนึ่งในคนอีสานคนบนที่ราบสูงคนนี้ ที่ประวัติชีวิตแสนโชกโชน บุกป่าฝ่าดง และมีความอดทนเป็นเลิศก่อนจะได้ร้องเพลง ก่อนจะได้แต่งเพลง ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง ที่หากชอบและอยากเป็นอะไรสักอย่าง จงมุ่งมั่นฟันฝ่า ยึดแบบอย่างเหมือนคนรุ่นก่อนรับรองชนะอุปสรรคได้แน่

ครูสัญญา จุฬาพร เป็นครูเพลงชื่อดังที่แต่งเพลงให้กับนักร้องหลายคน โดยเฉพาะเพลงที่คุ้นหูฉันมากสุดและอาจจะร้องท่อนฮุกได้คือเพลง “แก้มเปิ่นเวิ่น” ขับร้องโดย นพดล ดวงพร เพลง “ซามาคักแท้น้อ” ขับร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่คนในรุ่น ๆ นั้นคงพอจะจำได้ และถ้อยคำที่ใช้ล้วนเป็นภาษาอีสานแบบดั้งเดิมขนานแท้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

เพราะจากประวัติชีวิตของครูสัญญานั้น ชื่อเดิมของท่านคือ สวัสดิ์ สิงประสิทธิ์ เกิดในครอบครัวคนจนเมืองขอนแก่น ตัวบ้านที่เกิดปัจจุบันไม่หลงเหลือซากและเค้าเดิม ว่ากันว่าบ้านท่านอยู่แถวร้านศึกษาภัณฑ์ที่อยู่ตรงข้ามสวนรัชดานุสรณ์นั่นเอง

ครอบครัวประกอบอาชีพเยี่ยงเดียวกับครอบครัว “เจ๊ก” ทั่วไปในเมืองใหญ่ คือ ค้าขายในตลาด ปัจจุบันคือตลาดสดขอนแก่น สมัยก่อนข้าง ๆ ตลาดสดยังเป็นโรงภาพยนตร์ อาชีพของครอบครัวคือขายขนมแต่ไม่ได้ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีนัก เมื่อลูก ๆ โตขึ้นก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายและยิ่งทวีภาระให้กับพ่อแม่จนกระทั่งพี่สาวไปแต่งงานกับพนักงานรถไฟ และย้ายไปประจำตามสถานีตามวิถีของลูกรถไฟ และล่าสุดย้ายลงใต้ไปอยู่ สถานีรถไฟทุ่งสง เขาจึงถูกส่งให้ไปอยู่กับพี่สาว-พี่เขยที่บ้านพักพนักงานรถไฟสถานีทุ่งสงจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนสวนสนุกเทศบาล ๒ ในตัวจังหวัดขอนแก่น และไปเรียนต่อระดับชั้นป.๒ ที่โรงเรียนในอำเภอทุ่งสง แต่เรียนได้ไม่นาน พี่เขยก็ย้ายไปอยู่ที่สถานีกันตัง จ.สงขลา เขาจึงย้ายไปเรียนต่อ ป. ๓ เอาที่นั่น แต่พอจบ ป. ๔ ก็มีอันต้องระเห็จอีกหน โดยเลื่อนลงใต้เรื่อย ๆ สุดท้ายก็ไปจอดป้ายที่สถานีสงขลา จ.สงขลา และได้เรียนชั้น ม. ๑ ที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์

ต่อมาแม่ได้เดินทางจากขอนแก่นไปขออาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขยด้วย ทำให้ครอบครัวพี่สาวและพี่เขยมีปัญหามากขึ้นอีก เขาจึงตัดสินใจเดินทางจากใต้เพื่อหวังจะไปทำงานที่เวียงจันทน์ประเทศลาว กับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อสุชาติ โดยพอไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองที่หนองคาย ไม่มีเอกสารไปแสดงจึงได้ถูกส่งตัวกลับไม่ได้ไปทำงานที่เมืองลาวตามฝัน

ขาไปที่ว่าลำบากแล้ว แต่ขากลับกลับยิ่งหนักหน่วงกว่า เพราะขาไปมีความฝันเป็นแรงขับเคลื่อน ส่วนขากลับมีแต่ความผิดหวังเป็นเพื่อนร่วมทาง ไหนจะต้องกลับไปสู่สภาพเดิม ๆ และยิ่งความผิดที่หนีออกจากบ้าน คงเป็นข้อหาหนักรออยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องกลับปักษ์ใต้ไปสู้กับความเป็นจริง

แต่การจะกลับไปสู่ความเลวร้ายก็ใช่ว่าจะง่ายดาย ทั้งคู่ต้องเอาแรงเข้าแลก เพื่อหาเงินเป็นค่าเดินทางและค่าอยู่ค่ากินระหว่างทาง ต้องรับจ้างขุดดิน ตัดไม้ และงานใช้แรงงานสารพัดตลอดรายทางตั้งแต่อีสาน-สงขลา โดยใช้เวลาเดินทางไปและกลับร่วม ๓ เดือน และประสบการณ์ช่วงนี้เองที่เขาได้เอามาเป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลง

และพอกลับถึงบ้านเขาเข้าเรียนต่อในโรงเรียนเดิมจนจบ พร้อมกับสอบเข้าเป็นตำรวจ สอบผ่านแต่ต้องรอบรรจุเจ้าตัวไม่อยากรอนานจึงเดินหน้าเข้าเมืองกรุง มุ่งตามฝัน เพราะฝันลึก ๆ ของเขาอยากเป็นนักร้อง

เขาตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ได้พักที่วัดสิริอำมาตย์ หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ แถบคลองหลอด หลังศาลอาญา สนามหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีพระและลูกศิษย์เป็นชาวปักษ์ใต้จำพรรษาและอยู่กันมาก จากนั้นก็เดินไปอีกซอย และตรงไปที่ซอยอำนาจศิริ ที่สำนักงานของวงดนตรีของ ครูล้วน – ล้วน ควันธรรม นักร้องดังแห่งยุค ด้วยเสียงเพลงที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง เจ้าของเสียงอมตะมากหลาย แม้ในปัจจุบัน และแม้ตัวครูจะลาโลกไปนาน แต่เสียงเพลงของ ครูล้วน ควันธรรม ก็ยังอยู่คู่วงการและผู้ฟังชาวไทย เช่นเพลง แหวนประดับก้อย คำปฏิญาณ เสียงกระซิบสั่ง ค่ำแล้วในฤดูหนาว ผีเสื้อกับดอกไม้ เพลินเพลงเช้า ระกำดวงจิต พรานเบ็ด ใจเป็นห่วง เป็นต้น

ครูล้วนรับเขาไว้เป็น “คนถือกระเป๋า” มีหน้าที่ล้างรถ วิ่งซื้อของ ส่งจดหมาย ตลอดจนติดตามครูไปงานรับเชิญ ขณะเดียวกัน เขาได้ฝึกหัดเรียนโน้ตดนตรีสากลจากครูล้วนพอได้แนวทาง ซึ่งขณะนั้น เป็นช่วงที่ครูล้วนลาออกจากวงดนตรีกรมโฆษณาการ ที่ก่อตั้งโดย หลวงสุขุมนัยประดิษฐเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยครูเป็นนักร้องแรกร่วมรุ่นกับ รุจี อุทัยกร, มัณฑนา โมรากุล

ครูล้วนตั้งวงดนตรีของตัวเอง เป็นวงดนตรีแชมเบอร์ มิวสิก ขนาด ๔ คน มีงานเล่นประจำที่ศาลาเฉลิมกรุง และตระเวนเล่นตามวิกทั่วไปหน้าที่ของคนถือกระเป๋าจึงพอมีความสำคัญอยู่บ้าง ขณะเดียวกัน ครูล้วนก็ดัดแปลงดนตรีประกอบหนังตะลุงของภาคใต้ ให้เข้ากับจังหวะสากล เรียกว่า “ตะลุงเทมโป้”

สำหรับสวัสดิ์แล้ว แม้ครูจะมีชื่อเสียงและมีความสามารถแต่ก็ไม่ตอบโจทย์ของเขา เขาอยากเป็นนักร้อง อยากมีชื่อเสียง และอยากมีเงิน เขาถือกระเป๋าให้ครูล้วนอยู่ได้ไม่นานก็ลาออก เมื่อเห็นว่า สมยศ ทัศนพันธ์ กำลังเป็นนักร้องดาวรุ่งพุ่งแรง เจ้าของเสียงเพลง เซียมซีเสี่ยงรัก รอยแผลเก่า น้ำตาผู้ชาย ดาวร่วง รักครั้งแรก ขวัญอ่อน เกร็ดแก้ว เป็นต้น นักร้องและนักแต่งเพลงประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ผู้ชื่นชอบเพลงของ ครูล้วน ควันธรรม โดยใช้เพลง “บางปู” ของครูล้วนสมัครเข้ากองดุริยางค์ฯ และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการรุ่นเดียวกับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, เสน่ห์ โกมารชุน, สมศักดิ์ เทพานนท์ และ ปิติ เปลี่ยนสายสืบ

สวัสดิ์อยู่กับสมยศในตำแหน่งเดิมกับที่เคยอยู่กับครูล้วน คือ คนถือกระเป๋า แต่ได้เขยิบฐานะเข้าใกล้วงการเพลงด้วยการเป็นผู้จัดบันทึกเพลงที่สมยศประพันธ์ และนานเข้าเขาก็ช่วย “พี่ยศ” แต่งเพลง และมีหลายเพลงที่เขามีส่วนร่วมในการประพันธ์แต่ไม่มีชื่อร่วม ซึ่งเขารู้สึกคุ้มค่าและพอใจในฐานะความเป็นอยู่ และอยู่กับสมยศยาวร่วม ๑๐ ปี ซึ่งในระยะหลังที่สมยศรับราชการจนมียศเป็นเรือตรี และลาออกจากราชการในที่สุด แล้วตั้งวงดนตรี สมยศ ทัศนพันธ์ และออกเดินสายทั่วประเทศ

ต่อมา เขาได้ตามสมยศไปอยู่ที่ซอยสารภี ๓ เมื่อสมยศย้ายสำนักงานวงดนตรี เป็นซอยสารภี ๓ ที่ “ราชาเพลงลูกทุ่ง” สุรพล สมบัติเจริญ ตั้งสำนักงานดนตรี โดยสมยศอยู่ลึกท้ายซอย ส่วนสุรพลอยู่ปากซอย ใกล้โรงภาพยนตร์ และใกล้ถนนใหญ่

ที่สำนักงานวงดนตรีสมยศ ทัศนพันธ์ คนทั่วไปรู้จักเขาในชื่อ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ อันเป็นทั้งชื่อของนักร้องและนักแต่งเพลง

ขณะที่อยู่กับ สมยศ ทัศนพันธ์ แววของนักแต่งเพลงของ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ เริ่มฉาย เมื่อแต่งเพลงให้กับ ทูล ทองใจ ขณะที่กระแสความนิยมของนักร้องเสียงทองอย่าง ทูล ทองใจ เริ่มลดระดับ และผลงานเพลง “สวนสน” ได้ฉุดให้ทูลกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ขณะที่ตัวเขาเองกลับไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งที่ร้องหน้าเวที และขับร้องบันทึกแผ่นเสียงกับห้างกมล สุโกศลฯ เช่น เพลงวิญญาณรัก ป่าเหนือรำลึก เป็นต้น เพราะน้ำเสียงและลีลาออกกึ่ง ๆ คือ “ไม่ทุ่ง-ไม่กรุง” หมายถึงจะว่าเป็นลูกทุ่งอย่าง สมยศ ทัศนพันธ์ ก็ไม่ใช่ และจะเป็นลูกกรุงอย่างครูล้วนก็ไม่เชิง ขณะเดียวกันชื่อเสียงและบทเพลงของ สมยศ ทัศนพันธ์ เริ่มมีคลื่นลูกหลังไล่มาติด ๆ กระแสความนิยมก็เริ่มซา

ที่วงดนตรี สมยศ ทัศนพันธ์ นอกจากทำหน้าที่ที่ตนรักด้วยการเป็นนักร้องควบคู่ไปกับนักแต่งเพลงแล้ว เขายังได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายการเงินบัญชี ตลอดจน “บุคเกอร์” คือ คนประสานงานจองคิวการแสดงให้กับวงด้วย เขาต้องเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับโรงภาพยนตร์ ก่อนที่วงจะออกเดินสาย และเดินสายกันเป็นเดือน ๆ ทั่วประเทศ

ความจำเจผสมปนเปกับกระแสความนิยมของสมยศตกต่ำลงทุกขณะ เขาเริ่มมีปากเสียง ทะเลาะเบาะแว้งกับสมยศ ประสาคนรักใคร่และอยู่กันมายาวนาน จนที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากวงดนตรีบ่ายหน้าสู่อีสาน เปลี่ยนอาชีพชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ คือเป็นชาวไร่ข้าวโพด โดยไปอยู่กับทหารสรรพาวุธจากสงขลา ที่ไปรับราชการที่กรมสรรพาวุธที่ปากช่อง และมีไร่ข้าวโพด

“ทำไร่ไม่รุ่ง”

สันต์ ศิลปะสิทธิ์ ในวันนั้น หรือ สัญญา จุฬาพร ในวันนี้พูดเหมือนเหนื่อยหน่ายชีวิต

การทำไร่ที่อาศัยพันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย ยา จากนายทุน แล้วขายผลผลิตเมื่อเก็บเกี่ยว อันเป็นการทำไร่แบบพันธสัญญา แบบไทย ๆ ที่เปิดโอกาสให้นายทุนเอาเปรียบเกษตรกร และไม่มีทางที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ ทนก้มหน้าทำไร่ข้าวโพดอยู่เพียงปีเดียวก็เริ่มมองหาทางออกให้ชีวิต

เมื่อวงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล มีนักร้องชูโรงอย่าง ทูล ทองใจ, พร ภิรมย์ กำลังดังสุดขีด ปอง ปรีดา ที่โด่งดังมานมนาน “กุงกาดิน” ชื่อนักร้องของ ครูนคร ถนอมทรัพย์พร้อมด้วย วันทนา สังข์กังวาน ประจวบ จำปาทอง ขณะที่ยังไม่มีแววของนายห้าง ได้เดินสายมาทำการแสดงที่โรงภาพยนตร์ที่ปากช่อง เขาจึงนำเพลงที่แต่งไว้ในช่วงที่ทำไร่ และร้องคร่าว ๆ ให้ “ครูมงคล” ฟัง เพลงนี้คือเพลง กระท่อมชาวไร่ เนื้อร้องมีว่า

พี่นี้ไม่มีสมบัติพัสถาน ที่จะบันดาลวิมานห้องหอ มีเพียงกระท่อมไม้ไผ่ ของชาวไร่มอซอ….

เมื่อครูมงคลตอบตกลง เขาจึงอำลาไร่ข้าวโพดเข้ากรุง ตรงไปที่สำนักงานย่านวัดโบสถ์ สามเสนและร่วมงานกับจุฬารัตน์ และที่นี่ ครูมงคล ได้เปลี่ยนชื่อให้ สันต์ ศิลปะสิทธิ์ เป็น “สัญญา จุฬาพร” และที่นี่อีกเช่นกัน ที่ทำให้สัญญา จุฬาพร ได้รู้จักกับ “นพดล ดวงพร” ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักร้องจุฬารัตน์

สัญญา จุฬาพร ได้แต่งเพลงให้กับ นพดล ดวงพร ซึ่งเป็นเพลงที่ได้เค้าทำนองมาจากลาว ที่นำมาให้โดยตัวนพดล จนเป็นเพลง หนุ่มอุบล ดังเนื้อร้องมีว่า

… เดือนหก นกกาเหว่ามันฮ้อง ยูงทองออกมาร้องรำแพน จากถิ่นหากินไกลแดน นกยูงรำแพนจากแดนมาไกล

ครูสัญญา จุฬาพร ในวัย ๘๐ ที่ยังดูแข็งแรงแม้จะเดินเหินไม่ค่อยสะดวกนัก ต้องถือไม้เท้าเดินไปมา แต่ใบหน้าท่านยังอิ่มเอิบ และระบายยิ้มเสมอ

พอถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนเห็นคุณค่าและยังไม่ลืมเรา จัดงานให้วันนี้ ท่านบอกว่า “ปลื้มใจที่มีวันนี้ ที่มีการจัดงานให้กับคนรุ่นเก่า ๆ ที่เริ่มจะหายไป การร้องรำทำเพลงภาษาอีสานของเราเริ่มหายไป หากสืบทอดกันไว้ก็จะดี”

พอถามถึงวงการลูกทุ่งสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกันไหม ท่านบอกว่า “ต่างกันมาก ทุกวันนี้เขาจะประยุกต์เข้าสู่สากลมากขึ้น ในขณะที่สมัยก่อนจะรักษารูปแบบ และคำไทย การเอื้อน เอาไว้หมดแต่จะว่าไป ทุกอย่างเป็นไปตามยุคสมัย ประเทศไทยก็เป็นแบบนั้น หากไม่ดีจริงก็จะอยู่ไม่ได้ ของเก่าแม้จะเก่าแค่ไหน หากดีจริงก็ยังมีคนฟังอยู่”

“อยากฝากไปถึงเด็ก ๆ รุ่นหลังว่า แต่งเพลงเขียนเพลง ให้คิดถึงความเป็นไทย อย่าให้โป๊ อย่าให้เปลือยมาก เอาแต่พองาม สนุกสนานได้ เสียดสีสังคมได้ แต่ต้องรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเรา นึกถึงเด็กรุ่นหลังต่อไปด้วย เราเขียน เราแต่งเพลง แต่เด็กเป็นคนเสพ เป็นคนฟัง เขาจะเป็นอย่างไร กว่าเขาจะคิดเองได้ก็นาน”

“การเข้าสู่วงการบันเทิงสมัยนี้ง่ายไป สมัยก่อนแต่ละคนกว่าจะดังได้ ต้องคอยถือกระเป๋าตามครูเพลง คอยทำงานให้ครูเพลงก่อน อย่างทูล ทองใจ, ปอง ปรีดา กว่าจะได้ร้องหน้าเวที ก็ต้องช่วยงานในวงก่อน แต่เด็กทุกวันนี้แค่ประกวดออกทีวีก็ดังแล้ว แต่ดังเร็วไปเร็ว เพราะพื้นฐานยังไม่ดี แต่หากดีจริงเก่งจริงก็จะอยู่ได้นาน แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกดังเร็ว ไปเร็วมากกว่า”

“ทุกวันนี้สื่อมันเยอะ ทีวี ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต แต่ดังช้าเร็วไม่ว่ากัน แต่อยากจะให้รักษาความดีความเก่งของตัวเองเอาไว้นาน ๆ ศิลปินเยอะก็จริง แต่มีคนคุณภาพไม่กี่คน อยากให้เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่รักษาคุณภาพเพื่อจะได้ทำให้วงการบันเทิงบ้านเราดี และสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้สังคมยิ่งขึ้น”

นั่นคือเสียงฝากของครูเพลงวัย ๘๐ ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนไปของสังคมวงการบันเทิงบ้านเราด้วยความเป็นห่วง

แม้ในวันนี้ท่านจะไม่ได้แต่งเพลงและร้องเพลงแล้ว แต่ยังฟังเพลงและเป็นที่ปรึกษาให้กับครูเพลงรุ่นใหม่ และเป็นที่ปรึกษาให้กับนักร้องรุ่นใหม่ ๆ ที่เข้าไปหา ทั้งยังปวารณาตัว ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยหลักคิดที่ว่า “คนดีคนเก่ง หากยังรักษาคุณภาพเอาไว้ได้ นานแค่ไหนก็ยังมีคนคิดถึง”…

ชื่อ-นามสกุล นายสวัสดิ์ สิงประสิทธิ์

นามปากกา ร้องและแต่งเพลง “สัญญา จุฬาพร”, “สันต์ ศิลปะสิทธิ์”

วัน-เดือน-ปีเกิด วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ จังหวัดขอนแก่น

การศึกษา ชั้น ม. ๕ โรงเรียนสงเคราะห์ประชา จังหวัดสงขลา

บิดา-มารดา นายเจียม และนางศรีนวล สิงประสิทธิ์ เชื้อสายทางบิดามาจากเมืองจีน เชื้อสายทางมารดามาจากจังหวัดกาฬสินธุ์

พี่น้อง มีพี่น้องร่วมท้อง ๓ คน คนโตชื่อ นายประหยัด สิงมะสิ เสียชีวิตที่บ้านทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย คนรองชื่อ นางบานเย็น ลักษณวารี (สิงประสิทธิ์) เสียชีวิตที่ปักษ์ใต้ จังหวัดภูเก็ต ผมจึงมีญาติอยู่ที่กาฬสินธุ์ เลย และภูเก็ต ส่วนผมเป็นลูกคนที่ ๓ ของพ่อแม่ และเป็นคนสุดท้อง

ที่อยู่ปัจจุบัน ๖๐/๓๒๗ หมู่ ๖ หมู่บ้านพฤกษ์ลดา ๒ ซอย ๑๐/๑ ถนนไสวประชาราษฎร์ ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๕๐ โทรศัพท์ ๐๒-๑๙๘๔-๐๗๓

เข้าสู่วงการเพลง ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๗ “ครูล้วน ควันธรรม” เป็นครูเพลงคนแรกต่อมามี “ครูสมยศ ทัศนพันธ์” “ครูไพบูลย์ บุตรขัน” “ครูมงคล อมาตยกุล”

ประพันธ์เพลงแรกสำหรับตัวเองร้อง “ป่าเหนือรำลึก”

เพลงแรกให้คนอื่นร้อง “น้ำมนต์น้ำตา” สมยศ ทัศนพันธ์ ร้อง

รางวัลเกียรติยศ คือ “เสาอากาศทองคำ” ของสถานีวิทยุเสียงสามยอด สมัยเปิดใหม่เป็นสถานีที่สนับสนุนเพลง “ลูกทุ่ง” อย่างจริงจัง ในยุค “ผ่องศรี วรนุช” ยังดังอยู่ ผมได้รางวัลเพลงยอดนิยมยอดเยี่ยม คือเพลง “ฝากฟ้า-สั่งลม” ผ่องศรี วรนุช ขับร้อง ประจำปี ๒๕๑๘

สิ่งที่ประทับใจ คือ วันที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าโดยในหลวงท่าน มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวัง เชิญนายสัญญา จุฬาพร ไปในงานสังคีตมงคล ทรงพระราชนิพนธ์เพลง ครบ ๒๐ ปี ณ พระที่นั่งอัมพร
สถาน พระราชวังดุสิต วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๐๙ เวลา ๑๗.๓๐ น. วงดนตรี “จุฬารัตน์” บรรเลงเพลง “ชะตาชีวิต” ถวาย ทรงพระราชทานเหรียญ ภ.ป.ร. ให้แก่ศิลปินทุกท่าน

ผลงานเพลงที่สร้างชื่อ

ไวพจน์ เพชรสุพรรณ “ลาก่อนบางกอก” “ซามาคักแท้น้อ” “เซิ้งกระติบข้าว” “เรือรักริมฝั่งโขง” “ตามเมีย” และเพลงแหล่ชื่อเพลง “แม่”

ทูล ทองใจ “กระท่อมชาวไร่” “สวนสน” “ทหารเสือพระราชินี”

มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ “ดอกฟ้าเวียงจันทน์”

พนม นพพร “เซิ้งสวิง” “หนุ่มเมืองเลย”

นพดล ดวงพร “หนุ่มอุบล” “แก้มเปินเวิน” “พ่อหม้ายเมียหนี”

นกน้อย อุไรพร “ดำขี่หลี่” “สัจจาหญิง” “อีสานบ้านเฮา”

เพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงมีประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เพลง หลากหลายนักร้องทั้งลูกทุ่งลูกกรุง.

ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ คือครูสัญญา จุฬาพร ของ แวง พลังวรรณ.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com