“แบปา” ผู้ซึ่งได้พบเจอและเป็นผู้บอกเล่าข้อมูลพื้นฐานของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมแห่งโลกมลายูให้ได้รับรู้ เป็นคนที่ นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอจะแนะ ช่วยประสานให้ครั้งที่ข้าพเจ้าเดินทางไปขอข้อมูล ณ ที่ว่าการอำเภอ
จะแนะ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ถือเป็น“ข้อต่อ” สำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมผู้คนในอดีตกับปัจจุบันให้ได้เจอกัน

ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ คณาคำ บอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับโอรังอัสลี ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่มีการจัดเก็บเมื่อปี ๒๕๕๓ ว่า โอรังอัสลีหรือชนเผ่าซาไกในพื้นที่บ้านไอร์กาเวาะ ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส มีจำนวน ๖๐ คน แยกเป็นเพศชาย ๑๕ คน เพศหญิง ๑๖ คน เด็กชาย ๑๐ คน เด็กหญิง ๑๖ คน ชายชรา ๑ คน และหญิงชรา ๒ คน โดยชนเผ่าโอรังอัสลี พื้นที่นี้แบ่งแยกออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีหัวหน้า คือ ๑ นายดอเล๊าะห์ ๒ นายมะนูยี และ ๓ นายปาดี ชนเผ่าเหล่านี้มีแหล่งที่อยู่อาศัยในป่าบนภูเขาสูง มีวงรอบการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยตามความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ หากพื้นที่หากินเริ่มขาดความอุดมสมบูรณ์ของป่าและสัตว์เริ่มหายากขึ้น จะเริ่มย้ายถิ่นฐานไปยังที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า แหล่งที่อยู่ใหม่ห่างจากแหล่งเดิมประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร

โอรังอัสลีดำรงชีพโดยการหาของป่า เช่น ผลไม้ต่าง ๆ ลูกหยี สะตอ กระวาน อาจมีการล่าสัตว์มาประกอบอาหารบ้าง เช่น นกหรือลิง และของป่าต่าง ๆ รวมถึงพันธุ์ไม้กล้วยไม้ป่า อาทิ ต้นหางช้าง นางคลี่ นางคลาย หางสิงห์ หรือ ไม้พ้อ ซึ่งเป็นลำต้นของต้นไม้ชนิดหนึ่งสามารถนำมาทำด้ามพร้าได้ คือสินค้าที่ชนเผ่าเหล่านี้จะนำมาแลกกับเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ จากคนพื้นราบ ทั้งข้าวสาร น้ำตาล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง เกลือเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเส้นเป็นที่ต้องการมากสุด นิยมสูบทั้งเพศชายหญิง แต่ไม่นิยมบริโภคกะปิ ไข่ไก่ และเกลือผง

ปัจจุบันชนสมาชิกชาวโอรังอัสลีสวมใส่เสื้อผ้ากันทุกคน อาจมีบ้างเพศชายไม่ใส่เสื้อท่อนบน แต่ไม่นิยมใส่รองเท้าด้วยเหตุผลทำให้เดินไม่สะดวก ที่สำคัญ ด้วยความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้นเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงบวกรวมกับค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้ชนเผ่าเหล่านี้พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการอพยพลงสู่พื้นราบเพื่อหางานทำ แลกเป็นเงินตราหรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ จากชาวบ้าน

 

จากรายงานการศึกษาวิถีชีวิตชนเผ่าชาวพื้นเมืองดั้งเดิมโอรังอัสลีในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์วิจัย วิถีชีวิตของชาวโอรังอัสลีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
จังหวัดนราธิวาส พบว่า วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของโอรังอัสลีในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ด้วยปัจจัยต่าง ๆ คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปการขยายตัวของอำนาจรัฐ การพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ถึงปี ๒๕๕๖ ประชากรของโอรังอัสลีในพื้นที่จากเดิมมีอยู่ ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มไอร์ลากา และไอร์กาเวาะ หมู่ที่ ๔ ตำบลช้างเผือก ต่อมากลุ่มไอร์ลากามีการแยกเป็น ๒ กลุ่มย่อย เช่นเดียวกับโอรังอัสลีกลุ่มไอร์กาเวาะก็มีการแยกตัวเป็น ๒ กลุ่ม

สิ่งที่น่าสนใจคือ ด้านหนึ่ง วิถีชีวิตชนเผ่าชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเหล่านี้ยังคงดำรงเช่นอดีตที่ผ่านมา คือการใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขา มีวิถีชีวิตความเชื่อเป็นอัตลักษณ์ชัดเจน ขณะเดียวกันด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกบุกรุกโดยน้ำมือมนุษย์แห่งโลกสมัยใหม่ ส่งผลต่อการหาอาหารเพื่อดำรงชีพประจำวัน ทำให้คนเหล่านี้ต้องพยายามปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

สิ่งสำคัญที่มีการกล่าวถึงกันมาก คือ ความเหมาะสมสอดคล้องในการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมกับโลกสมัยใหม่ ที่จักไม่ก่อผลกระทบซึ่งกันและกันมากนัก

สำหรับพื้นที่อีกฟากหนึ่งซึ่งต่อเชื่อมกันด้วยผืนป่าฮาลา-บาลา คือส่วนของจังหวัดยะลา ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ติดตาม นายอารี หนูชูสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง และนายแวมะยูโซ๊ะ ตุสาตู นายก อบต.อัยเยอร์เวง อำเภอเบตง เพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตโอรังอัสลีฝั่งเบตง โดยการบุกไปเยือนถึงเพิงพักบริเวณชายป่าฮาลา เพื่อรับทราบปัญหาและการทำกิน ทำให้ได้รับรู้ความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ในอีกด้านหนึ่ง

นายอารี หนูชูสุข ในฐานะผู้นำกลุ่มบันทึกไว้ว่า เมื่อเดินทางไปถึงเพิงที่พักของเผ่าอัสลี ภาพที่เห็นยังติดตา คือ บรรดาเด็กน้อย ๔-๕ คน ยืนเรียงหน้ากระดานอยู่ลิบ ๆ ในอารมณ์สีหน้าตื่นเต้นไม่แพ้ผู้มาเยือน ภาพที่เห็นตรงหน้าเมื่อเจอมนุษย์แปลกหน้า ลูกเล็กเด็กแดงวิ่งกันจ้าละหวั่นจนเวลาผ่านไปซัก ๕ นาที หัวหน้าเผ่าก็ตะโกนภาษาเผ่าซักสองสามประโยค พวกผู้ใหญ่เริ่มทยอยออกมา ตามมาด้วยเด็ก ๆ โดยภาพที่เห็นกลับเปลี่ยนไป ทุกคนดูจะพยายามแต่งตัว ใส่เสื้อตัวที่ใหม่ที่สุดของตน อัสลีสาว ๆ แต่งหน้าปากแดงแจ๋ แสดงถึงการปรับตัวเพื่อให้เหมือนสังคมชุมชน ตามแบบฉบับที่เราพอเข้าใจได้

“ผมสังเกตบริเวณรอบแล้วเห็นต้นมันสำปะหลังรอบบริเวณ เพิงที่พักก็สร้างแบบง่าย ๆ มีเตาไฟไว้ปรุง และบรรเทาความหนาวเย็นในตัวเพิง ข้าวของมีหม้อเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ใบ ปลูกใกล้เคียงกันเป็นตัวอักษรแอล ตรงลานกลางหมู่บ้านสร้างโต๊ะและเก้าอี้ยาวจากไม้ไผ่สามสี่ชุด โดยแยกระดับผู้ใหญ่กับเด็กไว้เสร็จสรรพ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของชนเผ่าเหล่านี้เลยทีเดียว เพราะจากในอดีตที่สร้างเพิงแบบไม่มีฝา ย้ายทันทีเมื่อมีคนตาย
หรือเมื่อคนเมืองเข้าไปพบ แต่สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลง มีการปรับตัวมากขึ้น”

จากการพูดคุยสารทุกข์สุกดิบ ทำให้ทราบว่า ชนเผ่ากลุ่มนี้มีทั้งหมด ๖ ครอบครัว รวม ๓๗ คน แต่เป็นเด็กถึง ๑๔ คน มีหัวหน้าเผ่าชื่อ “นายลาสะ” หรือ “ลิงสาน” ที่แปลว่า “ลางสาด” เป็นการตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ที่ได้คลอดใต้ต้นตามหลักปฏิบัติของบรรพบุรุษ และที่น่าสนใจคือ มีแม่ม่ายอัสลีสาวอายุเพียง ๑๒-๑๕ ปีถึง ๕ คน ตรงนี้เป็นที่น่าเป็นห่วง เพราะแม่ม่ายสาวเหล่านั้นล้วนมีลูกติดทั้งสิ้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ของชนเผ่า เพราะต้องอาศัยผู้ชายในการออกหาอาหารโดยการขุดหัวกลอยหัวเท่ากำมือในป่าลึก และอยู่ลึกลงในดินมากกว่าหนึ่งเมตร เป็นสาเหตุหนึ่งที่เผ่าอัสลีต้องออกมารับจ้างใช้แรงงานภาคเกษตรบริเวณชายขอบป่าฮาลา ซึ่งก็ถูกกดขี่
ค่าแรง ถูกหลอกใช้แรงงานในการแผ้วถางป่าไม้แล้วยังถูกรุกไล่ที่ เป็นสาเหตุสำคัญในการร้องขอสิทธิทำกินเพื่อปลูกมันสำปะหลัง ๒-๓ ไร่ เพราะปัจจุบันผลไม้ในป่าหายากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ ในผืนป่าฮาลา-บาลา ยังมีโอรังอัสลีอีกหลายกลุ่มซึ่งยังคงยึดมั่นในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมครั้งบรรพบุรุษ และพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ไปด้วย เหล่านี้จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของผู้คนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ “ชายแดนใต้” ที่มีความหลากหลายและมีประวัติศาสตร์ของการดำรงอยู่มายาวนาน

เพียงแต่ในภาวะที่ผู้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาช่วงชิงผืนแผ่นดิน แย่งชิงผลประโยชน์ อาจหลงลืมไปว่า เหล่านี้คือ “ผู้มาก่อน” ที่มีสิทธิ์ในแผ่นดินอย่างชอบธรรมเช่นเดียวกัน แต่เธอและเขาเหล่านี้ไม่เคยอ้างสิทธิ์เหล่านั้น เพราะต่างเชื่อว่าธรรมชาติรอบตัว แท้จริงแล้วเป็นสมบัติของทุกคนที่ต้องช่วยกันถนอมดูแลรักษา

ล่วงมาถึงปี ๒๕๖๒ เรื่องราวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของ “โอรังอัสลี” คนพื้นเมืองดั้งเดิมแห่งโลกมลายูในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยพยายามหาทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือสภาพความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ให้มีสถานะที่ดีขึ้นเช่นเดียวกันนักวิจัยด้านมานุษยวิทยาที่ลงไปเก็บข้อมูลของผู้คนเหล่านี้อย่างเข้าลึกเข้าถึงมากขึ้น กระทั่งวิถีความเป็นอยู่ จำนวนประชากร ฯลฯ รวมถึงความคิดความเชื่อบางอย่าง ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย

 

 

Related Posts

มะอื่อสูง… สวัสดีปีใหม่ (๕)
เมื่อนักเดินทางมาถึง เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (นาข่า)
ผลงานของซาตานโรงงานผลิตเม็ดเงิน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com