ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย กลุ่มบ้านหม้อ ขอนแก่น

ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย

ของกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ บ้านหม้อ ขอนแก่น


ทางอีศานฉบับที่๕ ปีที่๑ ประจำกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: เรื่องจากปก
column: Cover story
เรื่องและภาพ : กอง บ.ก.

ทุกวันนี้คนในสังคมตื่นตัวเรื่องดูแลสุขภาพ การผลิตผัก/ผลไม้ปลอดภัยจากสารพิษจึงเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมมาก ผนวกกับการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโครงการอาหารปลอดภัยโครงการวิจัยการปลูกผักปลอดสารพิษ ก็ยิ่งทำให้ผักปลอดสารพิษเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากพืชผักมีคุณค่าทางอาหารและมีวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างที่ชุมชนบ้านหม้อ หมู่ที่ ๕ ตำบลคูคำ อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ก็เหมือนกัน เพราะที่นี่นับว่าเป็นต้นแบบของการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยยึดเป็นอาชีพมากว่า ๒๐ ปี จนจัดตั้งขึ้นเป็น “กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษบ้านหม้อ ตำบลคูคำ อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น”

บ้านหม้อ มีทั้งหมด ๒ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๕ และหมู่ที่ ๖ ตำบลคูคำ อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น จำนวน ๑๙๖ ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรประมาณ ๒.๓๐๒ ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกผักประมาณ ๓๗๑ ไร่ ห่างจากอำเภอซำสูงประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ ๒๔ กิโลเมตร เกษตรกรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ประมง และปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่นได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ แต่ก่อนเกษตรกรยังใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชกันมาก ครั้งแรกสำนักงานเกษตรอำเภอซำสูงให้มุ้งตาข่ายไนล่อนมา ๔ หลังตอนแรกกลุ่มผักปลอดภัยจากสารพิษซึ่งขณะนั้นมีสมาชิก ๒๐ ราย ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการระบาดของแมลงศัตรูพืชผัก แต่ต่อมาทางตลาดบางลำภูได้เข้าไปชักชวนให้กลุ่มเกษตรกรผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษเพื่อนำมาขายที่ตลาดบางลำภู โดยจัดโต๊ะให้วางขายผัก จำนวน ๒ โต๊ะ ๒ ปีแรกไม่ได้เสียค่าเช่าพื้นที่ แต่หลังจากนั้นเกษตรกรก็ขอจ่ายค่าโต๊ะเหมือนคนอื่น ๆ

ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอซำสูง ได้สนับสนุนมุ้งตาข่ายไนล่อนให้แก่กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษบ้านบ้านหม้อ จำนวน ๒๔ หลัง โดยมีสมาชิกจำนวน ๘๙ รายได้รับการอบรมการผลิตผักปลอดสารพิษ แนะให้เกษตรกรใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย ปัจจุบันเน้นเกษตรกรไม่ให้ใช้สารเคมีเปลี่ยนเป็นใช้สารสกัดชีวภาพสะเดาแทน

ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โครงการผักปลอดภัยจากสารพิษจังหวัดขอนแก่น ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนมุ้งตาข่ายให้กลุ่มผักปลอดภัยจากสารพิษบ้านหม้อ จำนวน ๑๐ หลัง และสร้างศูนย์เรียนรู้จำนวน ๑ หลัง

ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงปัจจุบัน โครงการผักปลอดภัยจากสารพิษ จังหวัดขอนแก่น ได้สนับสนุนมุ้งตาข่ายให้กลุ่มอีก ๑๐ หลัง และต่อเติมศูนย์เรียนรู้ สร้างอาคารเก็บปุ๋ย ๑ หลัง อาคารเก็บวัสดุการเกษตรต่าง ๆ ๑ หลัง อาคารตรวจสารพิษ ๑ หลัง และห้องน้ำ ๑ หลัง

ชาวบ้านหม้อมีอาชีพหลักคือการทำนาจำนวน ๘๙ ครัวเรือน หรือร้อยละ ๘๑.๖๕ อาชีพเสริมคือ การปลูกผักปลอดสารพิษ จำนวน ๕๐ ครัวเรือน หรือร้อยละ ๔๘.๘๗ รายได้รวมของหมู่บ้าน ๒๒,๗๖๕,๕๐๐ บาท รายจ่ายรวมของหมู่บ้าน ๑๖,๖๘๘,๔๐๐ บาท และรายได้เฉลี่ยของประชาชนในหมู่บ้าน ๕๒,๐๙๔.๙๗ บาท ต่อคน/ต่อปี (ข้อมูลจาก : รายงานการพัฒนาหมู่บ้านสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๕๔)

ที่บ้านหม้อ ตำบลคูคำนี้ ถือเป็นแหล่งปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ผักปลอดสารพิษบ้านหม้อเป็นพืชผักที่ขึ้นชื่อและสร้างชื่อเสียงให้แก่อำเภอซำสูง ชาวบ้านหม้อปลูกผักปลอดสารพิษโดยใช้วิธีกางมุ้งนอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านการวิจัยการปลูกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเฉลี่ยแล้วมีพื้นที่ปลูกมากกว่า ๕๐ ไร่ สมาชิกกลุ่มมีประมาณ ๓๐ กว่าครัวเรือน ผักที่ปลูกมีหลายชนิด เช่น พริก ถั่วฝักยาว คะน้าตระไคร้ หอมแบ่ง คึ่นฉ่าย แตงกวา ผักกวางตุ้ง มะเขือเปราะ ฯลฯ ผักทุก ชนิดที่กล่าวมาปลอดภัยจากสารพิษ ๑๐๐ % เพราะนอกจากจะกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มาจากแมลงแล้ว ชาวบ้านยังใช้ปุ๋ยที่ได้จากมูลวัวมูลควาย และปุ๋ยชีวภาพที่ทำไว้ใช้เอง

นางหนูอาจ เผ้าหอม ซึ่งเป็นอีกคนที่ปลูกผักปลอดสารพิษมากว่า ๑๙ ปี เริ่มมาพร้อม ๆ กับการก่อตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดจากสารพิษนั่นเองเล่าว่า ช่วงแรก ๆ ที่ปลูกผักยังใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชกำจัดแมลง แต่หลังจากนั้นก็มีเกษตรที่มาประจำอยู่ตำบลคูคำชื่อ พงษ์สิทธิ์ เฉลยพจน์ มาริเริ่มโครงการเลิกใช้สารเคมี แม้ปัจจุบันท่านย้ายไปตำบลบ้านโนนแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินการตามที่ท่านวางแผนไว้ จากนั้นนายสุเทพ นาร่อง ก็เข้ามาสานต่อโครงการจนถึงวันนี้

บรรยากาศวงสนทนาเริ่มคึกคักขึ้น ท่ามกลางการขายผักของแม่ค้ากับประโยคเด็ด ๆ เชิญชวนลูกค้า “ผักปลอดสาร กินแซบ กินนัว กินแล้วปลอดภัยจ้า” พอพูดจบคนพูดก็หันมายิ้มและหัวเราะกับเราอย่างเป็นกันเอง ช่วยเพิ่มสีสันบรรยากาศระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และเรา

หลังจากที่เกษตรพงษ์สิทธิ์ เฉลยพจน์ ซึ่งเรียกได้ว่าตอนนั้นเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ ได้สอนและชักชวนชาวบ้านให้หันมาปลูกผักปลอดสารพิษแล้ว แม้เริ่มแรกจะไม่ประสบความสำเร็จแต่ระยะหลังชาวบ้านก็เริ่มสนใจ และหันมาปลูกผักปลอดสารพิษกันมากขึ้น

“เริ่มแรกท่านพงษ์สิทธิ์สนับสนุนชาวบ้านด้วยการนำมุ้งตาข่ายมาให้ หลังจากนั้นชาวบ้านก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้น แม้ช่วงแรกจะกระท่อนกระแท่นไปบ้าง ต่อมาพอทำแล้วก็ได้ผลดี ท่านก็ได้สั่งมุ้งมาให้อีก ยิ่งทำก็ยิ่งเห็นผลดี จากนั้นก็เริ่มออกมาขาย ซึ่งกลุ่มของแม่ก็จะมาขายที่ตลาดบางลำภูที่เดียว ไม่ไปขายที่อื่น” นางหนูอาจกล่าว

หลังจากเริ่มวางขายที่ตลาดบางลำภู เขตเทศบาลนครขอนแก่นแล้ว ปัจจุบันผลผลิตผักปลอดสารพิษก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของคนทั่วไป ปัญหาของกลุ่มคือยังขาดไฟฟ้าที่จะใช้ในการเกษตร คือปั๊มน้ำบาดาลขึ้นมารดผักในแปลงซึ่งถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการไฟให้แสงสว่างในขณะที่เก็บผลผลิตเพื่อนำส่งตลาดสมาชิกในกลุ่มจึงคาดหวังว่าในอนาคตจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้าเพื่อการเกษตรจากทางราชการ และสามารถเพิ่มผลผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษให้มากขึ้น

“ด้วยความกรุณาของคุณชาญ เนียมประดิษฐ์ เจ้าของตลาด ตอนที่เข้ามาขายแรก ๆ ท่านก็ไม่เก็บค่าเช่าที่ตลอดระยะเวลากว่า ๒ ปี เพราะท่านอยากสนับสนุนผักที่ปลอดสารพิษ ท่านเป็นคนช่วยสร้างแผงขายผักนี้ให้ด้วย แต่หลังจากนั้นก็มีเรื่องเกิดขึ้นคือ แม่ค้าอื่นในตลาดเกิดความไม่พอใจ เหมือนกับมองว่าเจ้าของตลาดท่านลำเอียง เพราะไม่เก็บค่าเช่าที่จากเรา ทางเราจึงปรึกษากับสมาชิกในกลุ่มและตกลงกันว่าจะให้คุณชาญเก็บค่าเช่าพวกเราพอตกลงได้อย่างนั้นเรื่องที่เป็นปัญหาก็คลี่คลายลงโดยในแต่ละเดือนเราจะเสียค่าเช่าที่ ๖,๐๐๐ บาท เท่ากับวันละ ๒๐๐ บาท แต่เราจะจ่ายเป็นรายเดือน เฉลี่ยแล้วก็ตกคนละ ๖๐๐ บาทต่อเดือนสมาชิกในกลุ่มที่เวียนกันมาขายจะช่วยกันเสียค่าเช่า และแต่ละวันก็จะเวียนกันมาขาย ใครขายหมดก็กลับ พูดง่าย ๆ ก็คือ ขายไม่หมดก็ไม่กลับ”

สิ่งที่น่าสนใจของหมู่บ้านนี้คือ ทุกคนแม้จะทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่กลับจ้างคนอื่นทำนาแทนส่วนตนเองจะลงแรงปลูกผักปลอดสารพิษ นางสัมพันธ์ อินพล เกษตรกรชาวบ้านหม้อที่อยู่ในกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ เล่าว่า “ปลูกผักมานานเท่า ๆ กับแม่หนูอาจ เผ้าหอม คือ เริ่มพร้อมกันตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดสาร เท่าที่ทำมาทุกวันนี้ก็พอกินพอใช้ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง แค่นี้ก็เหลือกินเหลือใช้แล้ว ปลูกเอง กินเองและขายเอง”

“ผักของเรากินแล้วอร่อย คนอื่นชอบว่าเราขายแพง อ้างว่าเป็นผักปลอดสาร อยากให้เขาไปเห็นว่าเราใช้กรรมวิธีอย่างไรในการผลิต ในการปลูก อยากให้เขาไปเห็นจริง ๆ เราทำจริงไม่โกหกหลอกลวงผู้บริโภคแน่นอน ในกลุ่มเราจะร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ทอดทิ้งกัน แต่ลงทุนและผลกำไรก็คือเงินใครเงินมัน (หัวเราะ) ไม่เกี่ยวข้องกันในส่วนนี้ใครทำมากก็ได้มาก กลุ่มของเรายืนหยัดอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ก็นับว่าสามารถพิสูจน์ให้หลาย ๆ คนเห็นแล้ว” นางสัมพันธ์กล่าวเสริม

ด้านการลงทุนในแต่ละครั้ง แม้จะไม่สามารถคำนวณให้ละเอียดว่าได้กำไรหรือขาดทุน แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านตระหนักถึงอยู่เสมอก็คือ อยากให้ผู้บริโภคได้รับและบริโภคแต่สิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่ปลอดภัยเขาจึงใส่ใจและไม่ได้คำนึงเรื่องกำไรกันมากนักอย่างช่วงที่ราคาพืชผักในตลาดสูงขึ้นนั้น ราคาที่ชาวบ้านหม้อตั้งไว้สูงสุดสำหรับผักทุกชนิดก็เพียงกิโลกรัมละ ๕๐ บาทเท่านั้น ส่วนราคาต่ำสุดก็เพียง ๓๐ บาท ไม่ว่าจะเป็นพริก ถั่วฝักยาว คึ่นฉ่าย แตงกวา ผักกวางตุ้ง มะเขือเปราะ ฯลฯ ส่วนมากเป็นผักสวนครัว

“การปลูกผักปลอดสารเป็นสิ่งที่ดีในความคิดของแม่ เพราะกลุ่มลูกค้าก็ชื่นชอบและนิยมกินผักปลอดสารพิษ คุณหญิงคุณนายเขาก็กินผักของเราเพราะเขาบอกว่าอร่อย ปลอดสารเคมี ถ้าผักปลอดสารถึงจะมีแมลงมากแต่ก็ถือว่าปลอดภัยเพราะไม่ได้ใช้สารเคมี ส่วนผักที่สวยแต่แฝงด้วยสารเคมีนั่นแหละ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ” แม่หนูอาจกล่าวทิ้งท้าย.

Related Posts

เกษตรอินทรีย์ ฟื้นชีวิตเกษตร กอบกู้โลก
นวนิยาย : กาบแก้วบัวบาน (๕)
เครือญาติ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com