ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมบ้านกนกพงศ์

ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมบ้านกนกพงศ์


กนกพงศ์ใส่เสื้อตัวโปรด

ฉันได้มีโอกาสไปพัทลุงเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะได้ติดตาม “ลาว คำหอม” ไปงานแจกรางวัลผู้ชนะประกวดเรื่องสั้น รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ 2539 ผู้ได้รับฉายาว่า “นักเขียนหนุ่มตลอดกาล” ถึงแม้เขาจะจากไปได้ 13 ปีแล้ว แต่เขายังคงเป็นตัวแทนความคิดของนักเขียนรุ่นใหม่อยู่เสมอ งานนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 (2 ปี/ครั้ง) เป็นเรื่องสั้นที่ได้รับการคัดเลือกมาจากนิตยสารราหูอมจันทร์

ในกำหนดการวันที่ 8-10 ก.พ. 2562 มีกิจกรรมให้เยาวชน 120 คน มาเข้าค่ายวรรณกรรมบ้านนักเขียน ห้องเรียนสีสันศิลปะ ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นอกจากนี้มีงาน หลาดใต้โหนดและพิธีประทับมือศิลปินแห่งชาติ “ลาว คำหอม” และ “กฤษณา อโศกสิน”

เมื่อได้ทราบข่าวว่าจะได้ไปงานกนกพงศ์ ภาพชายหนุ่มผอมสูง ใบหน้าคมเข้มเคร่งขรึม แต่ยิ้มง่ายเวลาพูดคุยกัน เขามีผมหยิกยาวหยองน้อยในสไตล์เร็กเก้ นั่งตำน้ำพริกครกยักษ์อย่างตั้งอกตั้งใจอยู่หน้าครัวหลังคามุงจาก ที่บ้านไร่ธารเกษม

“กนกพงศ์จะทำอะไร”

“คั่วกลิ้งครับ”

เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้จักคำว่า “คั่วกลิ้ง” ด้วยฝีมือเลิศรสของกนกพงศ์มันอร่อย จนฉันแทบกลิ้งเลยแหละ

ที่สนามบินตรังฉันได้พบกับ แพรพลอย  วนัช ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและพี่สาวของเธอร่วมเดินทางสู่พัทลุง ผ่านเขาพับผ้าที่มีถนนคดเคี้ยวเป็นคลื่นขึ้นลงไปตามเทือกเขา สมัยโบราณถือว่าเป็นเส้นทางที่ยากลำบากมาก แต่เดี๋ยวนี้เป็นผ้าที่พับไว้เรียบร้อยสวยงาม

เมื่อรถเฉียดเข้าตัวเมืองพัทลุง บนพื้นที่ราบมีเขาหินปูนผุดขึ้นกระจัดกระจายอยู่กลุ่มหนึ่ง

“ลูกไหนคือเขาอกทะเล” ฉันถามถึงภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์ของพัทลุง

“นั่นไงครับ แต่เรามองไม่เห็นด้านที่มีโพลงถ้ำทะลุตรงกลางบนส่วนของยอดเขา ต้องไปดูตรงสถานีรถไฟครับ”

เราไปถึงบ้านงานยามบ่าย ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากครอบครัวของกนกพงศ์ นำโดยพี่ชายใหญ่ คุณเจน สงสมพันธุ์ ผู้เป็นประธาน “กองทุน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งปทท. พี่น้องทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เคยไปเที่ยวไร่ที่ปากช่องมาแล้ว กนกพงศ์พาไป  น้องสาวคนเล็กเสริมว่า “หนูชอบนมสดที่เอามาชงกาแฟอร่อยมาก”

คุณเจนพาชมบ้านไม้ทรงไทยแบบชนบทภาคใต้ มีห้องสมุดร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟที่คุกรุ่นด้วยเตาดินและเปลวเพลิงที่โชติช่วงจากฟืน ด้านในมีเวทีที่มีฉากหลังเป็นต้นตาลสูงใหญ่หลายต้น เด็ก ๆ กำลังทำกิจกรรมกันอยู่อย่างสดใส ร่าเริง พบนักเขียนและผู้คนในวงการศิลปะมากมายหลายสิบท่าน เช่น จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, สถาพร ศรีสัจจัง (ทั้งสามท่านนี้เป็นศิลปินแห่งชาติ), วัชระ สัจจะสารสิน, โชคชัย บัณฑิต’ (นักเขียนซีไรต์), กฤตศิลป์ ศักดิ์ศิริ (ผู้ชนะประกวดรางวัลกนกพงศ์ครั้งที่แล้ว) รติรัตน์ รถทอง, นรีภพ สวัสดิรักษ์, ศุ บุญเลี้ยง ฯลฯ

คุณเจน สงสมพันธุ์ ประธานกองทุนกนกพงศ์สัมภาษณ์ “ลาว คำหอม” ที่ห้องสมุด

วันเสาร์ที่ 9 ก.พ. 62 มีปาฐกถา “วรรณกรรมและเสียงแห่งมนุษยชาติ” โดย “ลาว คำหอม” มี พินิจ นิลรัตน์ ดำเนินรายการซักถาม ลำดับต่อไปเป็นรายการมอบรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผู้ได้รับรางวัลได้แก่

กำพล นิรวรรณ รางวัลยอดเยี่ยม เรื่อง คนธรรพ์แห่งภูเขาบรรทัด

จารุพัฒน์ เพชราเวช รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง ความทรงจำที่ไม่อาจเล่าด้วยตัวเอง

แพรพลอย วนัช รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง พิซซ่า

นอกจากนี้มีการมอบรางวัลงานเขียนดีเด่นให้กับเด็ก ๆ มอบเกียรติบัตรแล้วปิดค่าย

ตอนเย็นเราเดินทางไปรับประทานอาหารกันที่แก่งหูแร่ ผ่านอำเภอเมือง คุณเจนผู้เป็นโชเฟอร์ได้เล่าให้ฟังถึงตำนานเขาอกทะเล เป็นเรื่องเมียน้อยเมียหลวงทะเลาะกัน เมียหลวงทอผ้า (ทอหูก) อยู่ใต้ถุนบ้าน เมียน้อยตำข้าวโดยมีสากใหญ่ตำลงในครก พวกเธอทะเลาะกันรุนแรงมาก เมียหลวงใช้ไม้ทอผ้าฟาดหัวเมียน้อยอย่างแรงจนหัวแตกเลือดแดงฉาน เมียน้อยต่อสู้ด้วยการใช้สากตำข้าว ตำกระทุ้งไปที่หน้าอกเมียหลวงจนอกทะลุ แล้วทั้งคู่ก็ตายไป เมียหลวงกายเป็นเขาอกทะลุ เมียน้อยกลายเป็นเขาหัวแตก อยู่บริเวณใกล้ ๆ กัน…เป็นตำนานที่เศร้ามาก

ผ่านวัดถ้ำเขาชัยสน มีธารน้ำเย็นลอดถ้ำ มีเรือรูปหงส์ให้พายเล่น รถอ้อมเขาไปอีกด้านหนึ่งพบบ่อน้ำร้อน มีบ้านพักสำหรับผู้ไปแช่น้ำร้อนที่ดีต่อสุขภาพ คุณเจนบอกว่าถ้าเราตบมือน้ำร้อนก็จะพุ่งขึ้นมา ทำให้ฉันอยากลงไปตบมือทั้งวันเลย

ผ่านวัดเขาอ้อที่มีชุมชนบ้านลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ตั้งแต่สมัยตกเป็นประเทศราชของสยาม แต่คุณเจนก็หาหมู่บ้านลาวไม่พบ คงเปลี่ยนชื่อไปแล้ว วัดนี้มีชื่อเสียงทางคาถาอาคม แช่ว่านหนังเหนียว

แล้วเราก็ถึงร้านอาหารชื่อธารทิพย์ เป็นร้านของญาติ อ.ไพฑูรย์ ธัญญา ที่ อ.บางแก้ว ตั้งอยู่ริมธารน้ำหูแร่ เป็นลำธารใหญ่น้ำใสไหลแรงกระทบโขดหิน ทำให้เกิดดนตรีธรรมชาติสุดไพเราะ ลำธารนี้ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัดลงสู่ทะเลสาบสงขลา อาหารอร่อยแต่การได้พูดคุยกับนักเขียนกลุ่มใหญ่อร่อยมากกว่า ที่คุณกำพลเล่าว่าแกบินมาจากนิวยอร์กเพื่อมารับรางวัลนี้ ตอนนี้กำลังเขียนนิยายจากประสบการณ์ที่เคยอยู่อูกันดา เกือบจบแล้ว แค่เล่าพล็อตเรื่องฉันก็ติดใจแล้ว จะรออ่านค่ะ

ที่ร้านธารทิพย์ แก่งหูแร่ทุกร้านในงานนี้ใช้กระบอกไม้ไผ่แทนแก้ว“ลาว คำหอม” คุยกับพ่อหลวงข้าวยำห่อใบบัวข้าวเหนียวมูลในหม้อข้าวหม้อแกงลิง เรียก หยอดหม้อนึ่ง ที่หม้อเล็กเพราะโดนพายุปาบึกถล่ม หม้อจึงโตไม่ทันเครื่องประกอบผัดไทประทับมือศิลปินแห่งชาติ

วันอาทิตย์ที่ 10 ก.พ. 62  เป็นวันที่บ้านกนกพงศ์ คึกคักสนุกสนานมาก เป็นวัน “หลาดใต้โหนด” ตลาดใต้ต้นตาลนั่นเอง เป็นตลาดนัดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช้โฟมและพลาสติก มีร้านค้ามาร่วม 150 ร้าน มีทั้งของกินของใช้ พืชผักพื้นบ้านแปลก ๆ เช่น ใบทำมังกลิ่นเหมือนแมงดา น้ำพริกที่อัดแน่นกับกะลาแล้วเอาไปเผา ปลาดุกร้าแสนอร่อย ข้าวยำห่อใบบัว ขนมจีนข้าวสังข์หยด

ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง เมล็ดเล็ก ๆ เยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อนปนม่วง มีสีขาวปนมาเล็กน้อยทำให้ดูลาย ๆ มีวิตามินมากมาย กากใยสูง หุงนุ่ม มีกลิ่นหอมแบบธรรมชาติเฉพาะตัว เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของพัทลุง ร้านกระเป๋ากระจูดก็มีลูกค้ารุมแน่น สินค้าทุกอย่างใหม่สดสะอาด ไม่ใช่เฉพาะชาวพัทลุงเท่านั้น มีรถทัวร์พาลูกค้าต่างถิ่นมาลงหลายคัน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรี มโนราห์ หนังตะลุงเด็ก การแสดงเปิดหมวก สาธิตการทำขนมและวิถีชุมชน มีคอนเสิร์ตบนเวทีใหญ่ นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด

เวลา 10.00 – 11.00 น. มีพิธีประทับมือศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2562 “ลาว คำหอม” (คำสิงห์ ศรีนอก) กับ “กฤษณา อโศกสิน” (สุกัญญา ชลศึกษ์) แต่กฤษณามาไม่ได้ จึงประทับมือส่งมาจากกรุงเทพฯ

วันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 62 เป็นวันที่ฉันรอคอยอย่างตื่นเต้นที่จะไปชมทะเลน้อย เราเดินทางกันตั้งแต่ตีห้าครึ่ง คณะเรามีคุณเจนเป็นโชเฟอร์  นอกจากฉันกับลาว คำหอม ก็มีคุณแม่ของคุณเจน และหลานสาวชื่อจิตรัตน์ คุณกฤตศิลป์ รวม 6 คน ไปถึงท่าเรือหางยาวที่จะเช่าออกสู่ทะเลน้อยยังมืดอยู่เลย อากาศดีมากเย็นสบายสดชื่น

ทะเลน้อยเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ตั้งอยู่เหนือสุดของทะเลสาบสงขลา อยู่ในเขต ต.พนางตุง ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นอุทยานนกน้ำ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีพื้นที่ 17,500 ไร่ กว้าง 5 กม. ยาว 6 กม. เชื่อมต่อทะเลสาบสงขลาด้วยคลองนางเรียมยาว 2 กม.

เรือหางยาวแล่นเร็วฉิวสู่กลางทะเลสาบ พอฟ้าเริ่มสางฉันได้พบควายน้ำ ว่ายน้ำตะคุ่ม ๆ เป็นทิวแถว ห่างเป็นระยะ ๆ ประมาณสามสี่กลุ่ม เรือหางยาวชะลอความเร็วให้เล็กน้อย มีลูกน้อยตัวเล็ก ๆ ว่ายลอยคอตามแม่ที่เป็นควายเผือกมาติด ๆ ฉลาดและน่ารักมาก แม่เล่าว่าฝูงควายน้ำเป็นควายปล่อย  มีมันน้อยคนไม่นิยมกิน ไม่อร่อย ปกติที่นี่ใช้วัวไถนา เพราะไถได้ละเอียด ช่วงตัวเล็กสั้น  ส่วนควายใช้ไถหยาบ  ควายน้ำใช้ย่ำนาพรุ เพราะเป็นโคลน ต้นกกเยอะย่ำสัก 20 ตัวจะเรียบเร็ว พวกเขาจะแช่น้ำอยู่ทั้งวัน ดำน้ำเก่งเพื่อลงไปกินพืชใต้น้ำ กลางคืนก็จะกลับเข้าคอกในที่ดอน เจ้าของนาน ๆ จะแวะมาดูสักครั้ง เมื่อไม่นานมานี่ พายุปาบึกเข้าพัดลูกควายน้ำหายไปหลายตัว

เมื่อฟังแจ้งจางปาง เราเห็นธรรมชาติในทะเลน้อยชัดเจน ที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชลอยน้ำ บัวสาย ผักตบชวา ต้นกงสีเขียวเป็นกลุ่มใหญ่  แม่บอกว่าเป็นที่อยู่ของงู เรือแล่นฝ่าดงกระจูดหนู ดงสาหร่ายข้าวเหนียวที่ออกดอกสีม่วงอมชมพู แพรวพราว เราพบสีเหลืองดอกเดียว สาหร่ายข้าวเหนียวเป็นพืชน้ำ ทอดยาว ใบเรียวเล็กเป็นพวง มีกระเปาะเล็ก ๆ ไว้รับแมลงกิน  ดอกบัวแดงเริ่มมีประปรายแล้วค่อย ๆ หนาขึ้น ๆ จุดที่เราชมดอกบัว หันไปทิศไหนก็เห็นน้ำจรดฟ้าเป็นสีชมพูไปหมด สวยสุดบรรยาย ถึงแม้เราไปในช่วงเริ่มมีดอกบัวบานก็มากมายสำหรับฉันที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บัวสายจะโตเต็มที่ในเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม และต้องออกมาดูตั้งแต่เช้าเหมือนเรา พอสายแดดร้อนแล้วดอกบัวจะหุบ  นอกจากนี้ยังมีนกน้ำมากมายหลายชนิดอาศัยอยู่ที่นี่ ถ้ามาเดือนธันวาคมนกจะเยอะ เราล่องเรือชมธรรมชาติอยู่ประมาน 2 ชั่วโมงก็กลับขึ้นฝั่ง ใกล้ ๆ  ท่าเรือเป็นที่ทำการอุทยานนกน้ำ มีสะพานยาวยื่นไปในทะเลน้อย แยกไปตามศาลาดูนกหลายหลัง

คุณเจนพาเราไปดูสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกสะพานเอกชัย ที่ยาวถึง 11 กม. เชื่อมพื้นที่ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กับ ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา  ก่อนสร้างสะพานนี้การเดินทางไประโนดยากลำบากมาก ติดต่อได้ทางเรือที่แล่นไปบนโคลน จะส่งลูกไปโรงเรียนต้องตื่นแต่ตีสี่ พระกับชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างสะพาน แต่ช้ามากเพราะขาดเงินและเครื่องมือ  เมื่อเอกชัย ศรีวิชัย ไปเปิดคอนเสิร์ตแสดงที่พัทลุงทราบเรื่องนี้ เขาได้บริจาครายได้ทั้งหมดเป็นเงิน 3 ล้านบาทให้สร้างสะพานนี้ แต่ก็ยังไม่พอพระท่านจึงเดินทางเข้าไปของบประมาณจากรัฐบาลในยุคทักษิณ ชินวัฒน์ ทำให้สร้างสะพานได้เสร็จสมบูรณ์ในปี 2550  เรานั่งรถชมสะพาน ฝั่งซ้ายเป็นฝั่งทะเลน้อย ฝั่งขวาเป็นทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีทุ่งหญ้ากว้างไกล เห็นฝูงควายน้ำจำนวนมากเล็มหญ้าอยู่ในทุ่ง  แม่บอกว่าเป็นพวกควายที่อ่อนแอและกลุ่มแม่ลูกอ่อนจะอาศัยอยู่ที่นี่ มองไปฝั่งทะเลสาบสงขลาไม่มีพืชน้ำเลย ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนฝั่งทะเลน้อย

มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ช้างแกลบ รอบ ๆ ทะเลน้อยและบริเวณตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา จะมีช้างอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นช้างขนาดเล็ก ตัวโตเท่าควาย สูงเท่าคน หากินแดนป่าพรุในถิ่นนี้ บางครั้งก็เข้ามาทำลายพืชผลของชาวบ้าน จึงถูกตามล่าจนสูญพันธ์หมด เมื่อประมาณ 60 ปีมานี้เอง มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ช้างแคระ ช้างแกลบ ช้างค่อม ช้างทุ่ง ช้างพรุ พวกเขาเป็นสัตว์โลกที่น่ารักและน่าสงสารมาก ถ้าเขาเกิดในยุคนี้ พวกเขาจะได้รับความคุ้มครองเป็นสัตว์สงวนแน่นอน

พบฝูงควายน้ำทุ่งบัวแดงยกสาหร่ายข้าวเหนียวหากระเปาะจับสัตว์น้ำ

จุดสุดท้ายที่คุณเจนพาไปชมคือ ยอยักษ์ที่บ้านปากประ คลองปากประ เป็นจุดที่ลำน้ำสายต่าง ๆ มาบรรจบกัน แล้วไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา จึงเป็นแหล่งชุมนุมของปลาจำนวนมาก กลายเป็นแหล่งจับปลาของชาวบ้านที่ตั้งยอยักษ์ หรือยอขนาดใหญ่มากมาย ทั้งริมฝั่งและกลางน้ำ จุดที่เราชมวิวกันคือร้านอาหารชื่อ “SRI PAK PRA”  ประมาณ 9.00 น. ร้านยังไม่เปิด  นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูปยามพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อจะได้ถ่ายรูปยกยอยักษ์ตักตะวัน

คุณเจนบอกว่า ยอใหญ่ ๆ เขาเอาไว้ตักปลาตัวเล็ก ๆ ชื่อปลาเบล่ คล้ายปลากระตักที่เรากินเมื่อวานนี้ไง ฉันนึกขำขึ้นมาทันที เมื่อนึกถึงคำพูดของพ่อหลวง (ภาคกลางเรียกหลวงพ่อ) ท่านเป็นพ่อของคุณเจนที่บวชเป็นพระมา 24 พรรษาแล้ว ตั้งแต่ท่านเกษียณ

“ปลานี่แพงนะ โลละสามพัน” นิ่งกันไปทั้งโต๊ะ แล้วท่านก็พูดต่อ

“สามพันตัว” ฮากันไปทั้งโต๊ะ

กนกพงศ์ ตอนนี้พี่เข้าใจแล้วว่าทำไมน้องจึงอยากให้พี่มาเที่ยวพัทลุงนัก น้องคงดีใจนะที่พี่ได้มาเยี่ยมแล้ว พี่ได้พบผู้คนที่มีความจริงใจ ใสซื่อ บริสุทธิ์ และธรรมชาติอันงดงามเป็นเสน่ห์ของพัทลุง ทำให้พี่อยากกลับมาอีก

พี่คำสิงห์พูดว่า “เป็นเพราะกุศลผลบุญของกนกพงศ์ เราจึงได้มาที่นี่”


ครั้งหนึ่งกนกพงศ์เคยพาพี่น้องและหลาน ๆ เที่ยวสงขลา

****

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๘๕ | พฤษภาคม ๒๕๖๒

Related Posts

เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
งาน “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา ฯ” ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – เที่ยงวันที่ 30 ถึงงานคอนเสิร์ต
ฟอสซิลปลาโบราณ “ภูน้ำจั้น” บ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com