ปมด้อย

ทางอีศานฉบับที่๔ ปีที่๑ ประจำสิงหาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: อัตลักษณ์แห่งชาติพันธ์อีสาน
column: Identity of the Esan Ethnics
ผู้เขียน : วีระ สุดสังข์


 

เมื่อครั้งเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ห้องเรียนของข้าพเจ้าประกอบด้วยนักเรียนชาติพันธุ์ลาว, ชาติพันธุ์เขมร, ชาติพันธุ์กวยหรือกูย ซึ่งถูกเรียกด้วยศัพท์ใหม่ว่า “ส่วย” (ในบทความนี้ข้าพเจ้าอาจจะเผลอเขียนคำว่า กวย บ้าง, กูย บ้าง ขอให้เข้าใจว่า เป็น กลุ่มชนเดียวกัน) และชาติพันธุ์จีน

การใช้ภาษาในโรงเรียนนอกเหนือจากเวลาเรียนและเวลาสอนของครูแล้ว มักจะใช้ภาษาลาวเป็นภาษาสื่อสาร ครูส่วนใหญ่เป็นคนลาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนน้อยเป็นคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา นักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนลาว รองลงมาเป็นเขมร และกวย ตามลำดับ ทั้ง ๆ ที่อำเภอนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรมากกว่าลาวและกวย

ชาติพันธุ์ลาวในอำเภอนี้ ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ ในสมัยสงครามพระเจ้าตากสินมหาราชและสงครามพระเจ้าอนุวงศ์ แม้กลุ่มชาติพันธุ์ลาวจะน้อยกว่า แต่บทบาททางวัฒนธรรมของลาวนั้นสูงกว่า กลุ่มชาติพันธุ์จีนก็จำเป็นต้องใช้ภาษาลาวในการสื่อสารแทนที่จะใช้ภาษาเขมร

กลุ่มคนลาวน้อยกว่ากลุ่มคนเขมร หรือพอ ๆ กับกลุ่มคนกวย แต่กลุ่มคนลาวกลับเรียนหนังสือมากกว่ากลุ่มคนเขมรและกลุ่มคนกวย นั่นแสดงว่าวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้สมัยใหม่ของกลุ่มคนลาวมีสูงกว่า

เรื่องภาษานี้ ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า ภาษาลาวเป็นภาษาดั้งเดิมเก่าแก่กว่าภาษาไทย สังเกตว่า การพูดภาษาไทยของคนไทยแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้ เปล่งคำออกมาเป็นภาษาลาวเกือบทั้งสิ้น ลิ้นของพวกเขาเป็นลิ้นลาว เพียงแต่พูดเป็นสำเนียงไทยและพูดตามภาษาบาลีสันสกฤตภาษาลาวไม่มีเสียงคำควบกล้ำและไม่มีเสียงพยัญชนะ ร เรือ

เมื่อเราได้ยินคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาพูดคำว่า “เคร่งเครียด, ครอบครัว, ครอบคลุม, คลี่คลาย, ปราบปราม, ปรับปรุง, เปลี่ยนแปลง, ตรวจตรา ฯลฯ ออกเสียงเป็น เค่งเคียด, คอบคัว, คอบคุม, คี่คาย, ปาบปาม, ปับปุง, เปี่ยนแปง, ตวจตา ฯลฯ” เรายิ่งมั่นใจว่า ภาษาลาวมาก่อนภาษาที่เรียกว่า ภาษาไทย

ภาษาลาวจึงแผ่อิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวางเหนือกว่าภาษาอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ภาษาเขมรจะเก่าแก่กว่าภาษาลาวไปอีกแต่ชาติพันธุ์เขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด สื่อสารภาษาเขมรโดยไม่ใช้ตัวหนังสือในกลุ่มชนของตนเอง พอออกนอกเขตชุมชนวัฒนธรรมของตนก็จำเป็นต้องใช้ภาษาลาวและภาษาที่เรียกว่าภาษาไทย

ในหมู่นักเรียนของเรานั้น นอกจากจะนำชื่อพ่อแม่มาล้อกันตามประสาวัยรุ่นแล้ว มักจะนำภาษามาล้อกันเล่น นักเรียนลาวซึ่งมีมากกว่ามักจะล้อนักเรียนเขมรและนักเรียนกวยเรื่องภาษาพวกเขาจะหัวเราะนักเรียนเขมรและนักเรียนกวยที่พูดภาษาลาวไม่ชัด โดยเฉพาะนักเรียนเขมรหรือคนเขมรทั่วไป แม้จะพูดภาษาลาวได้ สำเนียงเขมรก็ยังติดอยู่ในภาษาลาว การล้อกันด้วยภาษานี้ทำให้นักเรียนเขมรหลายคนไม่พูดภาษาลาว แต่ข้ามไปพูดภาษาไทย แม้สำเนียงเขมรจะยังติดอยู่ก็ตาม

ส่วนนักเรียนกวยนั้น วัฒนธรรมทางภาษาถูกนักเรียนลาวและนักเรียนเขมรล้อเลียนมากที่สุดโดยล้อว่า “ตัวหนังสือกวย, กูยถูกหมากินหมด (อา จอ จา ฉิ่ม หรือ อะ จอ เจีย ฉิ่ม)” ล้อกันแล้วเพื่อนนักเรียนก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนานข้าพเจ้าก็ถูกล้อเป็นประจำ เพราะพูดคำว่า “เฮ็ดหยัง” ออกเสียงเป็น “เห็ดหยัง” (แปลว่า ทำอะไร) ทุกทีไป

นักเรียนกวยหรือชาติพันธุ์กวยโดยทั่วไป เมื่ออยู่ใกล้หรืออยู่ติดกับชุมชนลาวก็พยายามเรียนรู้วัฒนธรรมภาษาลาวจนสามารถพูดภาษาลาวได้อย่างชัดเจน ไม่ให้มีสำเนียงกวยติดอยู่ และเมื่ออยู่ใกล้หรืออยู่ติดกับชุมชนเขมรก็พยายามเรียนรู้วัฒนธรรมภาษาเขมร จนสามารถพูดภาษาเขมรได้อย่างชัดเจนไม่ให้สำเนียงกวยติดอยู่

กลุ่มชาติพันธุ์กวยส่วนใหญ่จึงสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้งนี้ เพราะจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในละแวกเดียวกัน และทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาษาลาวนั้น ถือว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ในแถบนี้ และถูกนำไปใช้ในวิถีชีวิตประจำวันในทุกระดับ ทั้งในระดับล่างจนถึงระดับบน โดยเฉพาะการใช้ภาษาผ่านสถานีวิทยุและคณะหมอลำทั้งด้วยการพูด การขับ การร้องและการลำ ที่ครอบคลุมไปทั้งพื้นที่ ภาษาลาวจึงซึมซับเข้าไปในทุกกลุ่มชาติพันธุ์ และล่วงผ่านอาณาเขตไปถึงชุมชนคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อย่างไรก็ตาม ชาติพันธุ์อีศานทั้งมวลนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรสยาม และภายใต้การครอบงำทางวัฒนธรรมด้วยเหตุผลความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว

ระบบการเมือง การปกครองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาที่นักเรียนทุกคนต้องฟัง พูด อ่าน และเขียนด้วยภาษาไทย ทำให้ภาษาที่ยิ่งใหญ่อย่างภาษาลาวกลายเป็นภาษาระดับชาวบ้านเท่านั้น ไม่ใช่ภาษาในระดับราชการ แม้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีภาษาของตนเอง ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต้องอ่อนข้อให้แก่ภาษาไทย จนถึงขั้นอับอายที่จะพูดภาษาของตนเองในท่ามกลางสาธารณชนและกลายเป็นปมด้อยไปในที่สุด

จึงไม่แปลก!! ที่จะเห็นกลุ่มชาติพันธุ์อีศานทั้งกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ใช้ภาษาไทยกับกลุ่มชาติพันธุ์กันเอง เช่น พ่อแม่พูดภาษาไทยกับลูกหลาน, ผัวเมียพูดภาษาไทยใส่กัน (ฮา), เพื่อนกับเพื่อนพูดภาษาไทยใส่กัน (ฮา), ครูและนักเรียนพูดภาษาไทยใส่กัน (ฮา) หลายคนไม่ยอมรับชาติกำเนิดของตนเองถึงกับพูดว่า “ผมเกิดที่อีสานก็จริง แต่ผมโตที่กรุงเทพฯ”

ปมด้อยด้านวัฒนธรรมทางภาษานำไปสู่ปมด้อยด้านอื่น ๆ จนกระทั่งเกิดปมด้อยทางด้านวิถีชีวิต, ปมด้อยทางการคิดและการแสดงออกทางสังคมและการเมือง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ชาติพันธุ์อีศานจึงดำรงชีวิตอยู่เหมือนกับการยอมจำนน ถ้าตกอยู่ในสภาวะอดอยาก แร้นแค้น ทุกข์ยากเหมือนกันชาติพันธุ์อีศานมักจะมีน้ำใจปลอบประโลม ดูแลกันอย่างเป็นหนึ่งเนื้อเดียวกัน เสมือนเมล็ดข้าวเหนียวสุกเกาะกันแน่น แต่พอมีใครสักคนจะได้ผลประโยชน์เหนือกว่าหรือมากกว่าก็แตกสามัคคีกันทันที เปรียบไปก็เหมือนก้อนข้าวเหนียวก้อนหนึ่งแยกออกจากกันเพียงเพราะน้ำหยดหนึ่งหยดลงใส่

ในหมู่ชาติพันธุ์อีศาน จึงมีอัตลักษณ์ไม่ยอมรับกันเองในเรื่องที่เป็นจริงเป็นจัง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่อันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากหากให้การยอมรับคนอื่น ให้ความสำคัญกับคนต่างกลุ่มมากกว่า หมู่บ้านชาวกวยหลายแห่งถูกปกครอง (เป็นผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน) โดยคนลาวและคนเขมร, มีหมู่บ้านลาวหลายแห่งถูกปกครองโดยคนบ้านอื่นถิ่นอื่น ฯลฯ แต่ชาติพันธุ์อีศานมักจะยอมรับกันเองในส่วนที่ไม่สำคัญนักต่อการดำรงชีวิตหรือสำคัญน้อยกว่า เช่น การเป็นนักร้อง หมอลำ นักมวย ฯลฯ

และจึงไม่แปลกอีก ที่ผู้นำคนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ กวักมือเรียกคนชาติพันธุ์อีศานเมื่อใด คนชาติพันธุ์อีศานก็พร้อมจะเดินออกจากบ้านทันที ไม่ว่าจะเป็นระดับปัญญาชนหรือประชาชนระดับรากหญ้า ปมด้อยส่งผลถึงเพียงนี้…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com