วรรณกรรมพินิจ “ทาง” ของ ปรีดา ข้าวบ่อ โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา

วรรณกรรมพินิจ “ทาง” ของ ปรีดา ข้าวบ่อ โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา

(อาจารย์ชลธิรา อ่านสด พูดสด แทน “เสรี ทัศนศิลป์” ในโอกาสร่วมเปิดโครงการอีศานมีเดีย และเปิดตัวหนังสือรวมบทกวี”ทาง” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา)

ดิฉันอ่าน “ทาง” ผลงานรวมบทกวีของคุณปรีดา ข้าวบ่อ อย่างรวดเร็ว ได้ข้อสรุปในใจชัดเจน จะขอเริ่มต้นพูดคุยแลกเปลี่ยนเลยนะคะ

ถ้าจะจับ ‘ทางกวี’ ของคุณปรีดาในแง่ของความเป็น “อรรถกวี” หมายถึงกวีที่เน้นทางด้านเนื้อหา ดิฉันให้คะแนนค่อนข้างสูงมาก ขออภัยที่พูดแบบครูเพราะความเคยชิน เนื่องจากพูดสด ที่ว่าให้คะแนนสูงเพราะว่า 

ประการที่หนึ่ง มีหลายบทที่คุณปรีดาเขียนถึงท่านที่ล่วงลับไปแล้ว อาจจะเรียกว่า “บทคารวาลัย” คือ เขียนไว้อาลัยให้กับนักเขียนนักคิดนักแปลทั้งหลาย นักต่อสู้เพื่อประชาชนทั้งหลาย ที่ล้วนมีอุดมการณ์และจัดว่าเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่จำนวนไม่น้อย เช่น ตั้งแต่คุณเตียง ศิริขันธ์ คุณสุภา ศิริมานนท์ “ศรีบูรพา” หรือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ท่านอาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย รวมไปถึงท่านอาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร ซึ่งประวัติของท่านหลังสุดนี้เพิ่งเป็นที่เปิดเผยไม่นานมานี้ว่ามีความลึกล้ำลึกซึ้งเพียงใดในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

หลายสิ่งหลายอย่างที่คุณปรีดาเขียนเชิงคารวาลัย ถึงท่านนักเขียน นักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์รุ่นพ่อรุ่นแม่ ดิฉันให้ความคารวะอย่างสูง ถ้าเผื่อว่ามีการจัดพิมพ์ครั้งต่อ ๆ ไป ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งบทกวีที่เขียนถึงกวีท่านอื่นด้วย ควรจะมีมือชั้นครูอย่างท่านบรรณาธิการ ทองแถม นาถจำนง ช่วยเขียนประวัติให้… มันจะช่วยให้ฝ่ายประชาชนได้มีการรวมชีวประวัติบุคคลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ของกวี ของนักต่อสู้เพื่อประชาชน ในรูปแบบของบทกวี หรือบทคารวาลัย ซึ่งเป็นการยกย่องและเทิดทูนเกียรติของท่าน… แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าแม้นดิฉันอาจจะไม่มีโอกาสเห็น แต่ก็อยากเห็นนะคะ พิพิธภัณฑ์หรือหอเกียรติยศเพื่อกวีของประชาชน เพื่อนักต่อสู้ของประชาชน อย่างเช่นที่เวียดนามมีและอีกหลายประเทศมี การรวบรวมบทคารวาลัยและชีวประวัติแนวนี้จะเป็นเนื้อหาที่อุดมสมบูรณ์เพื่อเตรียมการสำหรับ “พิพิธภัณฑ์ประชาชน” ในโอกาสต่อไปข้างหน้า แล้วก็ยังเผยแพร่ออกไปทาง “อีศานมีเดีย” ได้ด้วย ก็จะสามารถไปได้ทั่วโลก

ประการที่สอง คนที่จะเขียนถึงสิ่งเหล่านี้คือ “บทคารวาลัย” ถึงนักคิดนักเขียนนักต่อสู้เพื่อประชาชนได้นั้น ถ้าเขาไม่มีอารมณ์รักทางชนชั้น ถ้าเขาไม่มีอารมณ์ร่วมทางอุดมการณ์ แล้วก็ไม่มีอารมณ์รักฉันสหายต่อรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ล่วงลับไป เขาก็คงจะไม่เสียเวลาครุ่นคิดและเขียนถึง เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ คุณปรีดาก็ควรจะได้คะแนนไปอีก

ในสายตาของดิฉัน การเขียนด้วยอารมณ์รักและเทิดทูนต่อ “คนของประชาชน” จะดีจะเพราะแค่ไหน นั่นเป็นเรื่องของการประเมินเชิงกวี เชิงศิลปะการประพันธ์ แต่ในเรื่องของจิตวิญญาณ ‘ผ่าน’ นะคะ เอาเป็นว่าครูวรรณคดีอย่างดิฉันให้ผ่านด้วยคะแนนสูงไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะความสำคัญของเนื้อหาที่ลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ คุณปรีดาจึงเป็น ‘อรรถกวี’ ที่มีอุดมการณ์ฝ่ายประชาชน ที่ชัดเจนและจริงจัง

ประการที่สาม ในแง่ของ ‘ทางกวี’ ที่พิเศษมาก ๆ ในสายตาของดิฉัน สังเกตได้ว่าเวลาคุณปรีดาเขียนถึงกวีบางท่านที่ท่านชื่นชอบ ท่านจะทำได้ดีเป็นพิเศษ บทที่เด่นที่สุด ก็คือบทที่เขียนถึงกวี ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘รุ่นพี่’ คือ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ในบทนี้ดิฉันมองว่า ความสามารถพิเศษของคุณปรีดาคือ การถอดบุคลิกลักษณะที่มีความพิเศษ ที่แหวกแนวของท่านอังคารออกมาได้อย่างดีมาก แล้วก็ไม่เพียงแต่ ‘ถอดบุคลิก’ ได้ หากยังสามารถถ่ายทอดออกมาเป็น ‘บทกวี’ ที่โดดเด่นได้ด้วย
“พลันที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ เดินทางไปถึงสวรรค์”

คือชื่อบทกวีที่เด่นด้านการถอดบุคลิกอันเป็น ‘อัตลักษณ์บุคคล’

“ท่านอังคารเดินทางถึงพรหมโลก ผ่านแม่น้ำตาดโตรกภูผาถ้ำ
ชุดฝ้ายขาวสะพายย่ามไพลินประคำ เงยหน้าดุ่มด่ำเข้าหาเทวราชันย์
ดิ่งเข้าจับเนื้อต้องตัวเทพองค์อินทร์ มุ่งบริภาษสิ้นถ้อยคำสุดแสบสันต์
ผู้เฝ้าแหนเต็มท้องพระโรงตะลึงงัน ดุจนรกแตกพลันต่อหน้าต่อตา
คำท่านอังคารหลั่งจากใจ “กี่กัปกัลป์อสงไขยละเหวยหวา
เฝ้านั่งนอนบริกรรมสอนเทวา แต่ปวงข้าฯมนุษย์โลกยิ่งพ่ายพัง
หยุดพูดเลิกประทับแท่นวิมานเมฆ หยุดเสกคาถามนตราขลัง
ลงมาได้แล้วจากแก้วบัลลังก์ จงมานั่งนิ่งฟังความเป็นจริง”

………..

ยังมีอีกยาวนะคะ รบกวนเวลาคัดบทกวีมาหลายวรรคเพื่อที่จะให้เห็นตัวอย่างว่า คุณปรีดามีความสามารถพิเศษในด้านการถอดบุคลิกลักษณะของกวี และถอดความคิดของกวีได้อย่างเหมาะเจาะ ตรงจุดมาก ๆ ดิฉันถือว่าเป็น “ทางกวี” ที่ดิฉันชื่นชอบมากเป็นพิเศษในงานเขียนของคุณปรีดา เพราะมันบ่งบอกความสามารถเฉพาะของกวีคนนี้ หมายความว่าเขาสามารถถอดรหัสอัตลักษณ์บุคคลที่เขากำลังเขียนถึงให้เป็นบทกวีได้ด้วย ตรงนี้สำคัญมาก เพราะไม่ใช่ว่าใครจะทำเช่นนี้ได้ทุกคน

มาถึงตอนนี้ดิฉันเริ่มใช้ภาษาแบบโพสต์โมเดิร์นนะคะ ในส่วนที่เป็นประการต้น ๆ ไม่ใช่

ดิฉันคิดว่าสำคัญเพราะ การทำเช่นนี้ได้ คือ ‘การถอดรหัสอัตลักษณ์บุคคล’
จะขอยกอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ดูง่าย ๆ แต่ก็ลึกซึ้ง คือบทที่มีชื่อว่า “เล่นนอก” ซึ่งดิฉันชอบมากเป็นพิเศษอีกบทหนึ่ง ดิฉันคิดว่าคุณปรีดาเขียนถึง “คุณทองแถม นาถจำนง” ด้วยอารมณ์รัก ที่จริงใจและจริงจัง ‘อารมณ์รัก’ ในฐานะอะไร ในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์~ร่วมสุข เช่นอาจจะ ‘ร่วมสุข’ นิด ๆ เมื่อหนังสือคลอดออกจากโรงพิมพ์ได้สำเร็จ แต่ส่วนใหญ่นี่ ‘ร่วมทุกข์’

ดิฉันขออ่านบท “เล่นนอก” เพื่อให้เห็นว่าความหมายของการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ความหมายของการเป็นกัลยาณมิตรที่ฝ่าฟัน สร้างสรรค์ ต่อสู้ร่วมกัน แล้วก็ไม่ทิ้งกัน มันลึกซึ้งนะคะ ลึกซึ้งมาก ๆ เลย จริง ๆ แล้วเราต่างโหยหาสิ่งเหล่านี้มากในหมู่พวกเรา เช่นว่าทำอย่างไรถึงจะประคับประคองกันไปให้ได้ไกลแสนไกลจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตร่วมกัน จะชนะหรือไม่ชนะไม่สำคัญอีกต่อไป สำหรับอารมณ์รักระหว่างเพื่อนที่ต่อสู้มาด้วยกัน เคียงบ่าเคียงไหล่กัน จึงขออนุญาตอ่านบท “เล่นนอก” (อาจารย์ทองแถมก็ไม่ต้องเขินนะคะ)

“เขาชอบแต่งกายมอซอ (ต่างจากดิฉันนะคะ ดิฉันชอบแต่งกายสวย ๆ สักหน่อย)
แว่บวับลับล่อทั่วทุกหน
ไม่ใช่คนร้ายคนสัปดน
เขาเช่นพลเมืองดีทั่วไป
วันวันวะวุ่นวะวาย สับส่ายซ้ายขวาคว้าไขว่
หามือถือปัดหยากไย่อยู่ไวไว กองหนังสือเก่าใหม่พอกพะเนิน
ยามนั่งเขียนอ่านหนังสือ ค้นรื้อเอกสารนั้นนานเนิ่น
กดแป้นเครื่องคอมฯเพลิดเพลิน ก้นบุหรี่ล้นเกินจานรอง
(ตรงนี้เห็นใจภรรยาท่านอาจารย์ทองแถมจริง ๆ เลย ดิฉันโชคดีกว่าที่ไม่ต้องทนทุกข์แบบนี้)
ใต้โต๊ะขวดสุราหลายหลาก เหลือมากเหลือน้อยรอฉลอง
ไม่ขะลำเหล้าในนอกแม้ยาดอง รินใส่ฝายกถองฉ่ำใจ
(วันนี้คุณพิรุณเอามาฝากด้วยนะคะ ขวดเบ้อเร่อเลยเดี๋ยวจะได้ถองกันแหละ อนุญาตรึเปล่าไม่ทราบ ขออนุญาต… ดิฉันเห็นประชุมกันเคร่งเครียดทางการมาก ก็เลยพูดเล่นสนุก ๆ สุดท้ายค่ะ…)
นานวันลุกออกจากบ้าน สังสันทน์การงานไกลใกล้
เหนือใต้ ‘ทางอีศาน’ ม่วนไป เขาคือใคร? ชายผมสีดอกเลา”

ปรบมือให้เขาหน่อย ให้กำลังใจเขาทั้งสองคนเลย จะเห็นได้ว่า “เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข” ทั้งสองคนนี้ เขารักกันจริง แล้วคุณปรีดาก็ถอดอัตลักษณ์บุคคลของท่านบรรณาธิการทองแถมออกมาได้ นี่คือ “รหัสประจำตัว” ของอาจารย์ทองแถมทีเดียว

จากความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ที่สะท้อนผ่านออกมาทางบทกวีในลักษณะนี้ เราก็จะเห็นว่ามันคือ ‘ตัวตน’ ของ “ทางอีศาน” ผลผลิตของการร่วมทุกข์ร่วมสุขที่ออกมาแล้ว ชัดเจน จริงแท้ แน่นอน มันก็คือ นิตยสาร “ทางอีศาน” ที่เขาสองคนร่วมฝ่าฟันกันมากับท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ ที่ร่วมเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้สนับสนุนด้านต่าง ๆ ทุก ๆ ด้าน จนกระทั่งถึงวันนี้ได้
ดิฉันมีความประทับใจกับหนังสือชื่อ “ทาง” เพราะว่ามันได้บอก “ทาง” ของคุณปรีดา แล้วมันก็บอก ‘ทิศทาง’ ของ “ทางอีศาน” ที่ได้เคยผ่านทั้งร้อนทั้งหนาวมาแล้วและกำลังจะเดินไปข้างหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ประการสุดท้าย ดิฉันขออนุญาตสรุปอีกสักนิดว่า “ทางอีศาน” ที่สะท้อนออกในหนังสือรวมบทกวี “ทาง” ของคุณปรีดา ข้าวบ่อ บทไหนเป็นบทกวีที่ดิฉันประทับใจที่สุด

ขอเล่าสู่กันฟังอีกสักนิดว่า เพราะความที่ชื่นชอบบทกวีวรรณคดีท้องถิ่นอีสาน ดิฉันเคยรู้สึกโหยหาว่า เอ๊ะ…ทำไมกวีปัจจุบัน หมายถึงสมัย 20 – 30 ปีก่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ค่อยใช้ภาษาอีสานแต่งบทกวี หายากมากเลย ถ้าดิฉันอยากจะอ่าน ดิฉันต้องเข้าไปในเฟซบุ๊กบ้าง หรือในกูเกิ้ลบ้าง เจาะเข้าไปในงานของเพื่อนนักเขียนลาว เพื่อที่จะได้ไปสัมผัสดื่มด่ำอารมณ์ของบทกวีด้วยภาษาอีสาน ซึ่งดิฉันรู้สึกว่าชอบ เหตุผลที่ดิฉันชอบก็เพราะว่า นั่นคือ “ภาษาไท ไม่มี ย” เป็นภาษาไทโบราณของเรา ภาษาไทดั้งเดิมของเรา ดิฉันโหยหาสิ่งนี้เนื่องจากดิฉันอาจจะมีวิญญาณผูกพันกับอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งเป็นพิเศษกับ ‘ภาษาไทไม่มี ย’ เพราะฉะนั้นก็เลยโหยหามาก เมื่อโหยหาก็จะมีสายตาเป็นพิเศษที่คอยสอดส่ายว่า กวีปัจจุบันท่านใดบ้างที่ใช้ภาษาอีสานแต่งบทกวี แล้วแต่งได้ถึงไหม ถึงบรมครูรุ่นก่อนไหม ก็พยายามที่จะหยั่งลงไปตรงนั้น ในหนังสือรวมบทกวี “ทาง” นี้จะมีราวสองบทที่ดิฉันคิดว่า แม้มีน้อยแต่มันคือ ‘เพชร’ ก็คือบทชื่อว่า “หมาเก้าหาง” (หน้า 123) มีหลายตอน ขออ่านท่อนนี้

“…ปู่ย่าส่งหมาเก้าหางดั้นเมฆฟ้า ลอบใช้หางจุ่มแนวกล้ายุ้งสวรรค์
นำมาปลูกตามไร่นาสารพัน จึงได้ทันเลี้ยงพี่น้องทั้งป้องปาย
วีรกรรมบรรพหมาอ่าองอาจ เปรี้ยง! สายฟ้าเทวาฟาดปาดหางหาย
โทษขโมยหางแปดเส้นกระเด็นกระจาย เหลือหางเดียวกระดิกดายในวันนี้…”

มันเป็นบทกวีนะคะ ดิฉันคิดว่ามัน ‘ถึง’ ทั้งอรรถ สาระ และชั้นเชิงกวี แนวกวีบทนี้ทำให้ส่งทอดถึงบทต่อไปด้วยคือบทชื่อว่า “สายแนนชีวิต” เป็นบทที่ถือว่าเป็นการ ‘ถอดรหัสความเป็นอีสาน’ ซึ่งเป็น ‘ทางไท’ แต่อ้อนแต่ออกเลย

“ ‘น้ำเต้าปุ้ง’ – กำเนิดเลือดเนื้อชีวิต       ‘หมาเก้าหาง’ – ดังจิตวิญญาณมั่น
‘กบ’ – จินตนาการสานสัมพันธ์               ‘รวงข้าว’ – นั้นต้นธารวัฒนธรรม…”

ไม่กล้ารบกวนเวลามากไปกว่านี้นะคะ ขอเชิญชวนว่าให้ไปอ่านเอาเอง อ่านให้ลึก ๆ นะคะ บทที่เกี่ยวกับ

“ ‘น้ำเต้าปุ้ง’ ผุดจากซากควายเขาลู่   ฝูงคนหมู่อาศัยได้อุปถัมภ์
ปู่ลางเซิงขุนคานซีเจาะนำ   ได้ป่องเกิดอยู่ก้ำเมืองลุ่มเพียง…”

ยังมีต่อไปอีกหลายบทหลายตอน ดิฉันคิดว่า “สายแนนชีวิต” เป็นบทกวีที่คุณปรีดา สามารถทำได้โดดเด่นที่สุด ได้ให้คะแนนในฐานะครูสอนวรรณคดีวิจารณ์เป็นหลัก มาถึงสองบทหลังก็ให้คะแนนในฐานะครูสอนมานุษยวิทยาด้วย เพราะว่าในวงการกวีนิพนธ์ไทยเรานั้น หายากมากเลยนะคะบทกวีทางด้านชาติพันธุ์วรรณนา คุณปรีดาสามารถนำเสนอบทกวีที่มีความทระนงองอาจ มีความเป็นชาติพันธุ์ไท~ลาว อันเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม (ดิฉันไม่ค่อยชอบคำนี้ แต่ใคร ๆ ก็ใช้กัน จึงอนุโลมใช้ด้วย) “ทางกวี” สองบทนี้ “หมาเก้าหาง” กับ “สายแนนชีวิต” คือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาโหยหามานานอีกเหมือนกัน เพราะในวงการกวีไทยยังมีน้อยมาก “ทางกวี” แนวนี้ ภาษาอังกฤษอาจจะเทียบเคียง “ethnopoetics” ซึ่งหายากมาก หายากมากจริง ๆ เพราะว่าสมัยหนึ่งก็ไปฟุ้งกับสายลมแสงแดด อีกสมัยหนึ่งเมื่อถึงบทกวีเพื่อชีวิตก็แรงไปเลย แล้วก็เน้นบทกวีเพื่อชีวิต ที่ผ่านมาก็มีบ้าง เช่น “นายผี” กับ จิตร ภูมิศักดิ์ นำร่องด้าน “ethnopoetics” แล้วก็… ห่างหายไปนาน จนกระทั่งมาถึง “ทาง” ในวันนี้

ดิฉันคิดว่า ถ้าอรรถกวีท่านนี้ขัดเกลาตัวเองเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างที่อาจารย์ทองแถมแนะนำเอาไว้ โดยไม่ต้องไปทุกข์ระทดระท้อกับเรื่องไม่มีทุนจัดพิมพ์ “ทางอีศาน” เขาจะเป็นกวีที่โดดเด่นได้
โปรดให้เวลากับปรีดา ข้าวบ่อ แล้วเราจะพบกับสิ่งที่ดี ๆ บทกวีเด่น ๆ มากไปกว่านี้…

Related Posts

ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 10
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 9
ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 5
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com