แถน ในตำนานอุรังคธาตุ

ตำนานอุรังคธาตุ เป็นวรรณกรรมประเภทตำนานที่ถูกเรียบเรียงจารึกลงบนใบลานเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในราชสำนักล้านช้าง ที่รวบรวมนิทาน ๓ เรื่อง ได้แก่ ศาสนานครนิทาน ปาทลักษณะนิทาน และอุรังคธาตุนิทาน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จเลียบโลกในลุ่มแม่น้ำโขงของพระพุทธเจ้า เรื่องราวของราชวงศ์ล้านช้าง และเหตุการณ์บ้านเมืองในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ตำนานอุรังคธาตุมีวิธีการดำเนินเรื่องตามรูปแบบของวรรณกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อแสดงสิทธิธรรมของพญาธรรมิกราชาธิราชซึ่งเป็นผู้ปกครองอาณาจักรล้านช้าง ที่มีการสืบทอดกันมาตามพุทธวงศ์และราชวงศ์ ผ่านการกลับชาติมาเกิดหลายยุคหลายสมัย

แม้ว่า ตำนานอุรังคธาตุจะเป็นเรื่องราวของราชวงศ์กับพุทธวงศ์ แต่ในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ล้านช้าง ไม่อาจปฏิเสธการก่อร่างสร้างอาณาจักรตามคติแถน ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม ก่อนที่จะถูกซ้อนทับกลืนกลายด้วยคติพุทธ

ยุครุ่งเรืองของคติแถนในอาณาจักรล้านช้าง

แนวคิดผู้มีบุญและสิทธิธรรมในการขึ้นครองอาณาจักรล้านช้าง มีอิทธิพลมาจากคติแถนในวัฒนธรรมล้านช้างโบราณ แนวคิดนี้ปรากฏเด่นชัดในพงศาวดารล้านช้าง ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นผู้มีบุญผนวกเข้ากับความเชื่อเรื่องแถน โดยมีแนวคิดว่า ผู้มีบุญที่มีสิทธิธรรมในการปกครองต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายจากแถนหลวง

ในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางฉบับนิทานขุนบรมราชาธิราช กล่าวว่า “ขุนบรมเป็นบุตรแถนฟ้า” (พญาอินทราธิปติราช – พระอินทร์) และเริ่มลำดับเหตุการณ์จากบรรดาสมันตรพรหมได้มาหมายที่ตั้งเมืองใหญ่ในชมพูทวีปไว้ ๑๖ เมือง เมืองน้อย ๑๕ เมือง และแยกกันไปรักษา โดยมีพระโพธิสัตว์โคตมสมัตรพรหมเป็นผู้รักษาศูนย์กลางของเมือง แล้วจึงเกิดมีพระโพธิสัตว์มาจุติเป็นพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ตั้งแต่ พระกกุสันธะ โกนาคม กัสสปะ และพระสมณโคดม

ในเมืองล้านช้าง มีฤษีสองพี่น้องชื่อ “ฤษีทอง” กับ “ทวาทฤษี” ได้มาตั้งหลักเมืองไว้ชะตาเมืองที่ “เชียงทอง” แล้วเรียกพญานาคที่อาศัยอยู่ตามทิศต่าง ๆ ๑๕ ตัว มารักษาเขต จากนั้นฤษีจึงไปขอให้พระอินทร์มาช่วยสร้างเมืองพระอินทร์หรือพญาผีแถนจึงให้ท้าวขุนบรมราชามาเกิดเป็นพญาในเมืองลาว

ท้าวขุนบรมลงมาตั้งเมืองที่ “เมืองนาน้อยอ้อยหนู” อยู่ได้ ๙ ปี ขุนบรมมีบุตรเกิดกับนางยมมะพาลา ๔ คน คือ ขุนลอ ขุนจูสง ขุนบานจิ่งเหล่า (ขุนอิน) ขุนเจ็ดเจือง และกับนางเอ็ดแคง ๓ คน คือ ขุนลาน ขุนคำพวง ขุนเจ็ดเจืองจิ่งเหล่าขุนบรมจึงส่งบุตรทั้ง ๗ ไปครองเมืองต่าง ๆ ดังนี้

๑. ขุนลอ ไปครองเมืองชวาล้านช้าง เชียงดง เชียงทอง

๒. ขุนลาน ไปครองเมืองห้อวอง (ฮุนหนำ – ยูนนาน)

๓. ขุนจูสง ไปครองเมืองระณีพรหมทัตราช (ญวน – เว้)

๔. ขุนคำพวง ไปครองเมืองกุมกามโยนกราชละพุนเชียงใหม่

๕. ขุนบานจิ่งเหล่า (ขุนอิน) ไปครองเมืองละโว้โยธิยา

๖. ขุนเจ็ดเจืองจิ่งเหล่า ไปครองเมืองพวนเชียงขวาง

๗. ขุนเจ็ดเจือง ไปครองเมืองมวน (เชียงลม)

พงศาวดารเมืองหลวงพระบางฉบับนิทานขุนบรมไม่ได้ระบุชัดว่า การปกครองในล้านช้างจากขุนลอมีกษัตริย์พระองค์ใดบ้าง แต่กล่าวไว้โดยรวมว่าล่วงมาแล้ว ๑๓ ชั่วคน จนถึงญาหลวงโงม และคนยาคำเฮียว พ่อพญาฟ้าหล้าธรณี (เจ้าฟ้างุ้ม) ถูกลอยแพไปถึงแก่งลีผี พระมหาเถรเจ้าปาสมันและพญานครหลวงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม

ต่อมาพญานครหลวงพระราชทานนางแก้วเก่งกัญญา (นางแก้วฟ้า) พระธิดาให้เป็นมเหสีเจ้าฟ้างุ่มได้ปราบปรามเมืองต่าง ๆ และกลับไปครองเมืองเชียงทอง อัญเชิญพระบางมาไว้เมืองเวียงคำ จนมีการก่อสร้างวัดวิชุลขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบางในรัชกาลพญาวิชุลราช

พงศาวดารล้านช้างนี้จึงสะท้อนเรื่องราวความเชื่อว่าราชวงศ์ล้านช้างสืบเชื้อสายมาจากแถน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงยุคหลังการล่มสลายของอาณาจักรกัมพูชา และอาณาจักรพุกาม อย่างไรก็ตาม เรื่องราวการอัญเชิญพระบางมาจากเมืองอินทปัตถนครของพญาฟ้างุ่ม ยังให้ภาพของการยอมรับพุทธศาสนาเข้ามาซ้อนทับกับคติแถนในอาณาจักรล้านช้างด้วย

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ มีการเกิดขึ้นของรัฐต่าง ๆ ของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท – ลาว บนพื้นที่อิทธิพลของอาณาจักรกัมพูชาและอาณาจักรพุกาม เช่น การสร้างเมืองเชียงใหม่ในเขตลุ่มแม่น้ำปิง สมัยพญามังรายเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ การเกิดรัฐสุโขทัยในเขตลุ่มน้ำยม – น่าน สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๒ การตั้งเมืองอโยธยาศรีรามเทพนครในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ และการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างในเขตลุ่มแม่น้ำโขง สมัยพญาฟ้างุ่มเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖ การเกิดขึ้นของรัฐเหล่านี้ทำให้ภาษาไท – ลาว กลายเป็นภาษากลางสำหรับการค้า และมีศาสนาพุทธเถรวาทเป็นศาสนาระดับรัฐที่เชื่อมโยงกลุ่มการค้า

ศาสนาพุทธเถรวาทได้เข้ามาในอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคทวารวดี แต่ได้กลายเป็นอุดมการณ์ทางเลือกของรัฐใหม่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๑๙ เป็นต้นมา เนื่องจากความพยายามในการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ดังนั้น การที่พระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๖๙๖ – ๑๗๒๙) ทรงชำระพุทธศาสนาในลังกาให้บริสุทธิ์ ส่งผลให้ศรีลังกากาลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาเถรวาทที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น และเป็นการง่ายที่จะให้ศาสนาที่บริสุทธิ์กว่าปฏิเสธความเชื่อเดิมว่าเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง เป็นองค์กรของรัฐที่สามารถใช้งานในการปกครองประชาชนให้สงบสุข ศาสนาพุทธเถรวาทจึงมีบทบาทสำคัญต่อระบบการปกครองที่ทำให้อำนาจรัฐมีลักษณะรวมศูนย์ ผู้นำในอุษาคเนย์จึงใช้พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาวงศ์เป็นอุดมการณ์ใหม่ในปกครองรัฐ เพื่อการตอบโต้อำนาจการปกครองของกลุ่มพราหมณ์และพุทธมหายานซึ่งเป็นอำนาจเก่าจากยุคพราหมณ์ – ฮินดู (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, ๒๕๕๙ : ๘๗ – ๙๖)

ในพงศาวดารล้านช้างและหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า ตั้งแต่รัชสมัยของขุนลอถึงพญาคำผงเข้ามาปกครองเมืองหลวงพระบางในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถึง ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี มีกษัตริย์ปกครองเมืองหลวงพระบางถึง ๒๐ ชั่วขุนพญา แต่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาน้อยมาก จึงเชื่อได้ว่าในยุคนั้นมีการนับถือผีอันเป็นความเชื่อดั้งเดิม และความเชื่อดังกล่าวได้ฝังรากลึกมาถึงรัชกาลพญาฟ้างุ่ม

ดังปรากฏในตำนานขุนบรมว่า เมื่อพญาฟ้างุ่มปราบปรามบ้านเมืองไว้ในอำนาจแล้ว

คนทั้งหลายในเมืองล้านช้างทั้งมวลเอาผีฟ้า ผีแถน ผีพ่อผีแม่เป็นที่ตั้งที่เพิ่ง เขาก็ฮ้ายนักเขาก็บ่ฮู้จัก คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เจ้าสักอัน

จึงเป็นเหตุให้นางแก้วกัญญาธิดาพญากรุงอินทปัตถนครผู้เป็นมเหสีพญาฟ้างุ่มจะกลับไปเมืองอินทปัตถนคร พญาฟ้างุ่มจึงส่งคนไปเมืองอินทปัตถนครเพื่อนำพุทธศาสนา พระบาง และคัมภีร์มายังเมืองหลวงพระบาง แต่ไม่สามารถนำมาที่เมืองหลวงพระบางได้เพราะขุนนางและชาวเมืองยังยึดถือประเพณีเดิม ทำให้ต้องนำพระบาง และคัมภีร์ไปไว้ที่เมืองเวียงคำ ความขัดแย้งเรื่องการเปลี่ยนศาสนานี้น่าจะทำให้พญาฟ้างุ่มต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองน่านจนสวรรคต แต่ความพยายามดังกล่าวของฝ่ายกษัตริย์น่าจะยังมีต่อมาจนกระทั่งรัชสมัยพญาหล้าแสนไท ได้โปรดให้พญาวิชลุ ราชพระอนุชาผู้เป็นเจ้าเมืองเวียงคำไปอัญเชิญพระบางมาประดิษฐานในนครหลวงพระบาง ราว พ.ศ. ๒๐๓๘ – ๒๐๓๙ (สุรศักดิ์ ศรีสำอาง, ๒๕๔๕ : ๔๒ – ๔๓)

จะเห็นได้ว่า อาณาจักรล้านช้างมีรากฐานความเชื่อเกี่ยวกับคติแถนมาก่อน ต่อมาจึงเป็นยุคที่ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงได้เปิดรับพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาเป็นศาสนาประจำรัฐ ในช่วงต้นคงเป็นการปะทะกันทางแนวคิดโดยที่ฝ่ายพุทธเถรวาทยังไม่สามารถทำให้คนในอาณาจักรล้านช้างยอมรับได้ทั้งหมด ดังนั้น ฝ่ายพุทธเถรวาทจึงดำเนินกุศโลบายในการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง โดยการปรับคติการนับถือผีแถนให้เข้ากันได้กับคติพุทธศาสนาเถรวาทอย่างประนีประนอม โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนผีแถนให้เป็นเทวดาในทางพุทธศาสนา เช่น พญาแถนหลวงคือพระอินทร์ที่ต้องคอยปกป้องพุทธศาสนา ดังที่ปรากฏเนื้อหาในตำนานขุนบรมที่แต่งขึ้นในสมัยพญาวิชุลราช อันเป็นสมัยที่สามารถเชิญพระบางมาประดิษฐานในเมืองหลวงพระบางได้สำเร็จแล้ว

ยุคเสื่อมของคติแถนในอาณาจักรล้านช้าง

หลังจากการประดิษฐานพระบางและเปลี่ยนเมืองเชียงทองเป็น “เมืองหลวงพระบาง” ในรัชสมัยพญาโพธิสาลราช ต่อมาอีกประมาณ ๑๕๐ ปี จึงได้มีการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุขึ้นในอาณาจักรล้านช้าง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพญาสุริยวงศาธรรมิกราช ที่ขึ้นครองราชย์สมบัติระหว่าง พ.ศ.๒๑๘๑ – ๒๑๓๘ โดยสันนิษฐานว่าการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุน่าจะทำขึ้นในช่วง ๔ ปีแรกของการปราบดาภิเษก

ด้วยระยะเวลาที่ล่วงมาแล้วกว่า ๑๕๐ ปี นับจากการประดิษฐานพุทธศาสนาอย่างมั่นคงในอาณาจักรล้านช้าง จึงทำให้คติแถนไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการรองรับสิทธิธรรมของผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง แต่มีการปรับมาใช้คติว่าผู้เป็นเจ้าครองอาณาจักรคือผู้สืบพุทธวงศ์ตามคติทางพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เอกสารประวัติศาสตร์สำคัญของลุ่มแม่น้ำโขงที่ชื่อ ตำนานอุรังคธาตุ ปรากฏคำว่า แถน อยู่เพียงที่เดียว ซึ่งเป็นการกล่าวถึงการสิ้นสุดยุควัฒนธรรมแถนไว้ในเนื้อหาตอนพุทธทำนาย ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยพญาโพธิสาลราชที่โปรดฯ ให้ยกเลิกการนับถือผีฟ้าเลี้ยงแถนทั้งหลาย ปรากฏความในตำนานอุรังคธาตุว่า

“…สาลโพธิกุมารได้เสวยราช แล้วจึงเอานางแก้วปัจฉิมกุมารีอันร่วมชาตินั้น เป็นราชเทวี ดังเก่าหั้นแล ยามนั้น พุทธศาสนาแลบ้านเมืองรุ่งเรืองมากนัก ปราศจากมิจฉาทิฏฐิทั้งหลายเหตุพระกษัตริย์อันนั้นให้ม้างให้ลึบเสียการขึ้นฟ้าเลี้ยงแถนทั้งหลายปางนั้น ก็มีแล…

เนื้อหาในตำนานอุรังคธาตุที่ยกมาข้างต้นนี้ตรงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ล้านช้างในรัชสมัยพญาโพธิสาลราช (พ.ศ.๒๐๖๓ – ๒๐๙๐) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์การให้เลิกนับถือผีเหย้า ผีเรือน ผีเสื้อ ผีฟ้า ผีแถน ในรัชสมัยพาโพธิสาลราช ดังที่ปรากฏเนื้อหาในพงศาวดารล้านช้างว่า

“…เมื่อพญาโพธิสาราชเสวยสิริสมบัติได้ ๗ ปี จึงปลงพระราชอาญาไปในอาณาเขตเมืองล้านช้างทั้งมวล ให้ม้างรีตยังมิจฉาทิษฐิผีเหย้า ผีเรือนทั้งผีเสื้ออันอยู่เรือนอยู่กว้าง (กว้าน) ขึ้นแทนที่สบดงหั้นก็ให้ม้างเสีย ให้ริดเลิกเสียหมด แล้วให้สร้างแปงให้เป็นวัดวามหาพิหารอันใหญ่ ก็ใส่ชื่อวัดศรีสวรรคเทวโลก ในปีเมิงไก้ ศักราช ๘๘๙ (พ.ศ.๒๐๗๐) ตั้วหั้นแล…”

แม้ตำนานอุรังคธาตุจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวราชวงศ์ล้านช้างกับคติแถนดังเช่นที่ปรากฏในตำนานขุนบรม แต่อย่างน้อยยังปรากฏเรื่องราวที่ยืนยันข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ล้านช้างที่เลิกคติแถนมาเป็นคติพุทธในการรองรับสิทธิธรรม จึงถือได้ว่า พ.ศ. ๒๐๗๐ เป็นปีสิ้นสุดวัฒนธรรมแถนของอาณาจักรล้านช้างแล้วเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุควัฒนธรรมพญาธรรมิกราชาธิราช ที่ยกย่องว่าพระมหากษัตริย์ของราชวงศ์ล้านช้างคือหน่อพุทธังกูรอย่างชัดเจน แม้ว่าในตำนานอุรังคธาตุไม่ได้ระบุปีที่มีการยกเลิกติแถนไว้อย่างชัดเจน แต่เนื้อหาที่กล่าวถึงพญาโพธิสาลราชได้รับอุรังคธาตุนิทานมาจากเมืองอินทปัตถนครและให้เลิกการนับถือผีแถนจึงเป็นภาพสะท้อนเรื่องราวของตำนานอุรังคธาตุที่มีนัยยะสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคแถนมาสู่ยุคพญาธรรมิกราชาธิราช

เอกสารอ้างอิง

       พิทูร มลิวัลย์. (๒๕๓๐). พื้นขุนบูรมราชาธิราช กฎหมายธรรมศาสตร์ขุนบูรม ปีและศกไทยโบราณ. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

       พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. (๒๕๕๙). ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน.

       ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ. (๒๕๖๐). ตำนานอุรังคธาตุ : ภาพสะท้อนวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น.

       สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. (๒๕๔๕). ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร.

 

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง

Open the curtains before the show

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๐
ปีที่ ๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com